25 พ.ค. 2024 เวลา 10:30 • ปรัชญา
"ฝึกตามลำดับ" อย่างย่อ
(เสียงธรรมโดย อ.อาจิต โตเกียรติรุ่งเรือง)
*ตั้งกายตรงดํารงสติเฉพาะหน้า
แต่ถ้าคุณหลับตาเมื่อไหร่ แสดงว่าคุณไม่ได้ตั้ง "กาย"
ตีความหมายคำว่ากายให้ได้นะครับ ไม่งั้นจะกลายเป็นพราหมณ์ไป
เจ้าชายสิทธัตถะได้เข้าป่าไปทรมานตนจริงๆ
*พร้อมกลับออกมาบอกว่า
"อัตตกิลมถานุโยค" การประกอบตนให้ลำบากเปล่า
แต่พราหมณ์, ปริพาชก นอกศาสนาชอบเอามาหลอกคุณว่าไปกินนอนในป่ามีอะไรดี แต่คนหลอกก็ยังนอนห้องแอร์เหมือนเดิม
การนั่งหลับท่านก็ทดลองจนถึงขั้นสูงสุด และท่านก็ได้บอกว่า "นี่มันไม่ใช่"
เสด็จสำนักอาฬารดาบส (สมาธิขั้นที่ 7)
เสด็จสำนักอุทกดาบส (สมาธิขั้นที่ 8)
ท่านประกาศความจริง แต่พราหมณ์ไม่ชอบ จึงตามจองเวรมาถึงบล็อคดิท ระวังให้ดีครับ
1
ทรงมีหลักเกณฑ์การฝึก "ตามลำดับ" อย่างย่อ
บาลี คณกโมคคัลลานสูตร อุปริ. ม. ๑๔/๘๒/๙๔. ตรัสแก่พราหมณ์ชื่อคณกโมคคัลลานะ ที่บุพพาราม ใกล้กรุงสาวัตถี
ดูก่อนพราหมณ์! ในธรรมวินัยนี้ เราสามารถบัญญัติกฏเกณฑ์แห่งการศึกษาตามลําดับ การกระทําตามลําดับ และการปฏิบัติตามลําดับ ได้เหมือนกันกับที่ท่านมีวิธีฝึกสอนศิษย์ของท่านให้นับตามลําดับ
พราหมณ์! เปรียบเหมือนผู้ชํานาญการฝึกม้า ได้ม้าชนิดที่อาจฝึกได้มาแล้ว ในขั้นแรกย่อมฝึกให้รู้จักการรับสวมบังเหียนก่อน แล้วจึงฝึกอย่างอื่น ๆให้ยิ่งขึ้นไป ฉันใด พราหมณ์เอย! ตถาคตครั้นได้บุรุษที่พอฝึกได้มาแล้ว ในขั้นแรกย่อมแนะนําอย่างนี้ก่อนว่า
"มาเถิดภิกษุ! ท่านจงเป็นผู้มีศีล สํารวมด้วยดีในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร มีปรกติเห็นเป็นภัยแม้ในโทษที่เล็กน้อย จงสมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายเถิด" ดังนี้
พราหมณ์! ในกาลใด ภิกษุนั้นเป็นผู้มีศีลเช่นที่กล่าวแล้ว ดีแล้ว ตถาคตย่อมแนะนําให้ยิ่งขึ้นไปว่า
"มาเถิดภิกษุ! ท่านจงเป็นผู้สำรวมในอินทรีย์ทั้งหลาย ได้เห็นรูปด้วยตาแล้ว จักไม่ถือเอาโดยนิมิต คือรวบถือทั้งหมดว่างามหรือไม่งามแล้วแต่กรณี, จักไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ คือแยกถือเอาแต่บางส่วนว่าส่วนใดงามหรือไม่งามแล้วแต่กรณี บาปอกุศลกล่าวคืออภิชฌาและโทมนัสมักไหลไปตามอารมณ์ เพราะการไม่สํารวมจักขุอินทรีย์ใดเป็นเหตุ เราจักสํารวมอินทรีย์นั้นไว้ เป็นผู้รักษาสํารวมจักขุอินทรีย์ (ในโสตินทรีย์คือหู, ฆานินทรีย์คือจมูก, ชิวหาอินทรีย์คือลิ้น, กายินทรีย์คือกาย, และมนินทรีย์คือใจ ก็มีข้อความนัยเดียวกัน)" ดังนี้
พราหมณ์! ในกาลใด ภิกษุนั้นเป็นผู้สํารวมอินทรีย์ เช่นที่กล่าวนั้นดีแล้ว ตถาคตย่อมแนะนําให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า
"มาเถิดภิกษุ! ท่านจงเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะอยู่เสมอ จงพิจารณาโดยแยบคายแล้วจึงฉัน, ไม่ฉันเพื่อเล่น, เพื่อมัวเมา เพื่อประดับตกแต่ง, แต่ฉันเพียงเพื่อให้กายนี้ตั้งอยู่ได้ เพื่อให้ชีวิตเป็นไป, เพื่อป้องกันความลําบาก, เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ โดยคิดว่า เราจักกําจัดเวทนาเก่าคือหิวเสีย แล้วไม่ทําเวทนาใหม่อิ่มจนอึดอัด ให้เกิดขึ้น ความที่อายุดําเนินไปได้ ความไม่มีโทษเพราะอาหารและความอยู่ผาสุกสําราญ จักมีแก่เรา" ดังนี้
พราหมณ์! ในกาลใด ภิกษุนั้นเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะเช่นที่กล่าวนั้นดีแล้ว ตถาคตย่อมแนะนําให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า
"มาเถิดภิกษุ! ท่านจงประกอบความเพียรในธรรมเป็นเครื่องตื่น, ไม่หลับ, ไม่ง่วง, ไม่มึนชา จงชําระจิตให้หมดจดสิ้นเชิงจากอาวรณิยธรรมทั้งหลาย ด้วยการเดิน, การนั่ง, ตลอดวันยังค่ำไปจนสิ้นยามแรกแห่งราตรี ครั้นยามกลางแห่งราตรี สําเร็จการนอนอย่างราชสีห์ (คือ) ตะแคงขวา เท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะในการลุกขึ้น ครั้นถึงยามท้ายแห่งราตรี ลุกขึ้นแล้ว ชําระจิตให้หมดจดจากอาวรณิยธรรมด้วยการเดิน, การนั่ง อีกต่อไป" ดังนี้
พราหมณ์! ในกาลใด ภิกษุนั้นเป็นผู้ประกอบความเพียรในธรรมเป็นเครื่องตื่นเช่นที่กล่าวนั้น ดีแล้ว ตถาคตย่อมแนะนําให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า
"มาเถิด ภิกษุ! ท่านจงเป็นผู้ประกอบพร้อมด้วสติสัมปชัญญะ รู้ตัวรอบคอบในการก้าวไปข้างหน้า การถอยกลับไปข้างหลัง, การแลดู การเหลียวดู, การคู้ การเหยียด, การทรงสังฆาฎิ บาตร จีวร, การฉัน การดื่ม, การเคี้ยว การลิ้ม, การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ, การไป การหยุด, การนั่ง การนอน, การหลับ การตื่น, การพูด การนิ่ง" ดังนี้
พราหมณ์! ในกาลใด ภิกษุนั้นเป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะเช่นที่กล่าวนั้น ดีแล้ว ตถาคตย่อมแนะนําให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า
"มาเถิดภิกษุ! ท่านจงเสพเสนาสนะอันสงัด คือป่าละเมาะ, โคนไม้, ภูเขา, ซอกห้วย, ท้องถ้ํา, ป่าช้า, ปุาชัฎ, ที่แจ้ง, ลอมฟาง อย่างใดอย่างหนึ่ง ในกาลเป็นปัจฉาภัตต์กลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรงดํารงสติเฉพาะหน้า, ละอภิชฌาในโลก มีจิตปราศจากอภิชฌา คอยชำระจิตจากอภิชฌา,
ละพยาบาท มีจิตปราศจากพยาบาท เป็นผู้กรุณา มีจิตหวังความเกื้อกูลในสัตว์ทั้งหลาย คอยชําระจิตจากพยาบาท, ละถีนะมิทธะ มุ่งอยู่แต่ความสว่างในใจ มีจิตปราศจากถีนะมิทธะ มีสติสัมปชัญญะรู้สึกตัว คอยชําระจิตจากถีนมิทธะ, ละอุทธัจจะกุกกุจจะ ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบอยู่ในภายใน คอยชําระจิตจากอุทธัจจะกุกกุจจะ, ละวิจิกิจฉา ข้ามล่วงวิจิกิจฉาเสียได้ ไม่ต้องกล่าวว่า 'นี่อะไร นี่อย่างไร' ในกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะความสงสัย คอยชําระจิตจากวิจิกิจฉา" ดังนี้
ภิกษุนั้น ครั้นละนิวรณ์ห้าประการ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองจิต ทําปัญญาให้ถอยกําลังเหล่านี้ได้แล้ว,
เพราะสงัดจากกามและสงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงบรรลุฌานที่ ๑ มีวิตกวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวกแล้วแลอยู่,
เพราะสงบวิตกวิจารเสียได้ จึงบรรลุฌานที่ ๒ เป็นเครื่องผ่องใสในภายใน เป็นที่เกิดสมาธิแห่งใจ ไม่มีวิตกวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่,
เพราะความจางแห่งปีติ ย่อมอยู่อุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุฌานที่ ๓ อันเป็นฌานที่พระอริยเจ้ากล่าวว่าผู้ได้ฌานนี้ เป็นอยู่อุเบกขามีสติ อยู่เป็นสุข,
และเพราะละสุข และทุกข์เสียได้ เพราะความดับหายไปแห่งโสมนัสและโทมนัสในกาลก่อน จึงได้บรรลุฌานที่ ๔ อันไม่ทุกข์ไม่สุขมีแต่ความที่มีสติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขาแล้วแลอยู่
พราหมณ์เอย ! ภิกษุเหล่าใดที่ยังเป็นเสขะ คือยังต้องทําต่อไป ยังไม่บรรลุอรหัตตมรรคยังปรารถนานิพพาน อันเป็นที่เกษมจากโยคะ ไม่มีอื่นยิ่งไปกว่าอยู่ คำสอนที่กล่าวมานี้แหละ เป็นคำสอนสำหรับภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น
ส่วนภิกษุเหล่าใด เป็นอรหันต์สิ้นอาสวะแล้ว จบพรหมจรรย์แล้วทํากิจที่ต้องทําสําเร็จแล้ว มีภาระอันปลงได้แล้ว มีประโยชน์ตนอันได้บรรลุถึงแล้ว มีสัญโญชน์ในภพสิ้นไปรอบแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบแล้ว, ธรรมทั้งหลายในคําสอนเหล่านี้ เป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรมและเพื่อสติสัมปชัญญะ แก่ภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ด้วย
โฆษณา