26 พ.ค. เวลา 03:39 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ธนาคารกลาง ใช้วิธีอะไร ในการแทรกแซงค่าเงิน ?

เหตุผลที่ธนาคารกลาง หรือแบงก์ชาติ ต้องเข้ามาแทรกแซงค่าเงิน แทนที่จะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดโดยสมบูรณ์ เพราะว่า หากค่าเงินผันผวนรุนแรงเกินไป ก็จะทำให้เศรษฐกิจมีปัญหาได้
ไม่ว่าจะเป็น ค่าเงินแข็งเกินไป ทำให้สินค้าส่งออกแพงขึ้น ในสายตาของต่างชาติ จนส่งผลให้ขายไม่ได้
หรือค่าเงินอ่อนปวกเปียก ทำให้สินค้านำเข้ามีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าจำเป็นอย่างน้ำมัน จนอาจก่อให้เกิดเงินเฟ้อในประเทศสูง
ธนาคารกลาง จึงต้องเข้ามาควบคุมค่าเงินไม่ให้ผันผวนมากจนเกินไป เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และรักษาอำนาจในการแข่งขันของประเทศ
1
แล้วมีวิธีใดบ้างที่ ธนาคารกลาง จะใช้เพื่อแทรกแซงค่าเงิน ?
1. การซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ในตลาดแลกเปลี่ยน ด้วยการใช้เงินตราที่มีอยู่ ถือเป็นวิธีหลักที่ธนาคารกลางใช้
เช่น ถ้าต้องการให้เงินบาทอ่อนค่า ธนาคารกลาง จะใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เพื่อปล่อยเงินบาทเข้าสู่ระบบมากขึ้น โดยการนำเงินบาท ไปแลกเป็นเงินสกุลต่างประเทศกลับเข้ามาเก็บไว้
 
หรือธนาคารกลาง จะออกคำสั่งหรือประกาศนโยบายให้ธนาคารพาณิชย์ ขายเงินสกุลต่างประเทศให้แก่ธนาคารกลาง เพื่อแลกกับเงินบาท
ทำให้ธนาคารพาณิชย์ มีเงินบาทในมือมากขึ้น ปริมาณเงินบาท (อุปทาน) ในระบบเศรษฐกิจ จึงเพิ่มขึ้น ค่าเงินบาทจึงอ่อนลง
กลับกัน ถ้าอยากทำให้เงินบาทแข็งขึ้น
ก็ขายเงินดอลลาร์สหรัฐที่ธนาคารกลางถือครองอยู่ หรือจากเงินสำรองระหว่างประเทศ เพื่อนำเงินบาทออกจากระบบ ลดอุปทานเงินบาท ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น
2. การใช้มาตรการทางการเงิน เช่น กำหนดวงเงินซื้อขายเงินตราต่างประเทศต่อวัน เพื่อจำกัดการเก็งกำไรของนักลงทุน หรือเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับการโอนเงินข้ามประเทศในวงเงินสูง เพื่อลดแรงจูงใจในการเก็งกำไรจากค่าเงินบาท
3. การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ กระทบต่ออุปสงค์-อุปทานของเงินบาท
เช่น ถ้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะดึงดูดเงินทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ไทย เพิ่มอุปสงค์ของเงินบาท ค่าเงินบาทจึงแข็งค่าขึ้น
กลับกัน หากปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ของไทยลดลง จึงน่าสนใจน้อยลง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า ดังนั้น อุปสงค์ของเงินบาท จึงลดลง
ประกอบกับต่างชาติ อาจถอนเงินลงทุนออกจากประเทศ
และเพื่อแลกเป็นเงินตราต่างประเทศกลับคืน ก็นำไปสู่การขายเงินบาท เข้าสู่ตลาด ทำให้อุปทานของเงินบาทในระบบเพิ่มขึ้น ค่าเงินบาทจึงอ่อนค่าลง
1
4. การสื่อสารและแถลงนโยบายอย่างเปิดเผย โปร่งใส ให้ข้อมูลเป้าหมาย และทิศทางอัตราแลกเปลี่ยน ที่ชัดเจน
การสร้างความโปร่งใสและความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและผู้ค้าในตลาด ทำให้สามารถคาดการณ์ทิศทางได้ดีขึ้น จะช่วยลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
อย่างเช่น
- แถลงเป้าหมายระยะยาวของอัตราแลกเปลี่ยนที่ตั้งเป้าไว้อย่างชัดเจน
- ชี้แจงทิศทางการดำเนินนโยบายในอนาคต เช่น มีแผนปรับลดหรือเพิ่มการแทรกแซงค่าเงินอย่างไร
- เปิดเผยข้อมูลตัวเลขสำคัญ เช่น ปริมาณการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ขนาดเงินสำรองระหว่างประเทศ
- ให้คำแนะนำหรือแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับภาวะตลาดอย่างสม่ำเสมอ
ซึ่งมาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ มักจะถูกนำมาใช้ควบคู่กันอย่างเหมาะสม เพื่อบริหารจัดการค่าเงินบาท ให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะ และมีเสถียรภาพ โดยจะต้องพิจารณาภาวะเศรษฐกิจ การเงินการคลัง และสถานการณ์โดยรวมในขณะนั้น ประกอบด้วย..
โฆษณา