26 พ.ค. เวลา 12:48 • ประวัติศาสตร์
ยอดเขาเอเวอเรสต์

เอเวอเรสต์ สุสานที่สูงที่สุดในโลก

บนโลกใบนี้มีสถานที่สุดอันตรายอยู่มากมาย แต่จะมีสักกี่ที่ ที่แม้จะอันตรายแค่ไหน มันก็ยังเป็นสถานที่ที่ผู้คนอยากไปสักครั้งก่อนตาย ด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงถึง 45,000 ดอลลาร์ หรือ 1,500,000 บาทเพื่อเป็นใบเบิกทางเพื่อพาคุณขึ้นไปบนนั้น
เท่านั้นไม่พอคุณจะต้องเตรียมร่างกายเพื่อให้ทนทานกับสภาพแวดล้อมอันเลวร้ายที่พร้อมจะแช่แข็งคุณตลอดเวลาและระดับออกซิเจนบนยอดเขานั้นมีระดับที่ต่ำเกินกว่าที่มนุษย์ควรได้รับ
เรียกได้ว่าแค่เพียงก้าวแรกที่คุณขึ้นไปทุกอย่างล้วนมีความเสี่ยงต่อชีวิตของคุณ แต่ผู้คนทั่วโลกก็ยังหมายมั่นขอเพียงแค่ขึ้นไปยืนอยู่ตรงนั้นแม้มันอาจพรากชีวิตของพวกเขาไปตลอดกาลเลยก็ตาม
เอเวอเรสต์ ยอดเขาที่ตั้งสูงตระหง่านอยู่บนเทือกเขาหิมาลัย เจ้าของตำแหน่งภูเขาที่สูงที่สุดในโลก และนอกจากนี้มันยังเป็นเจ้าของตำแหน่งยอดเขาที่อันตรายที่สุดในโลกอีกด้วย ในแต่ละปีมีผู้คนมากมายต้องจบชีวิตลงที่นี่ ด้วยความสูงจากระดับน้ำทะเล 29,035 ฟุต หรือ 8,848 เมตร ทำให้ความกดอากาศบนภูเขามีระดับที่ต่ำมาก มีอากาศหนาวเย็นจัดและหิมะปกคลุมตลอดทั้งปี เป็นสถานที่หนึ่งที่มีสภาพอากาศเลวร้ายที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้ แต่เพราะอะไรกันที่ทำให้ผู้คนมากมายทั่วโลกอยากจะพิชิตยอดเขานี้
กระแสการพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์เริ่มต้นในปี 1953 เมื่อ เอดมันด์ ฮิลลารี กับ เทนซิง นอร์เกย์ สองคนแรกที่พิชิตเอเวอเรสต์และมีชีวิตกลับมาได้สำเร็จ จากนั้นข่าวก็แพร่กระจายตามหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆดึงดูดผู้ชื่นชอบความท้าทายทั่วโลกให้เข้ามาพิสูจน์ขีดจำกัดของร่างกาย เหล่านักปีนเขาที่ต้องการความท้าทายหรือชื่อเสียงเกียรติยศเพียงชั่วครู่กว่า 4000 คนก็เดินตามรอยเท้าของพวกเขาไปติดๆ แต่บางคนก็ไม่เคยได้กลับมาเล่าเรื่องราวของเขาให้ผู้คนได้ฟัง
ภาพจาก the guardian
ในปี 2562 สำนักข่าวบีบีซี ได้รายงานว่า เจ้าหน้าที่สำรวจได้พบศพนักปีนเขาจำนวนมากกว่า 300 ศพ บนยอดเขาเอเวอเรสต์ หลังธารน้ำแข็งเกิดการละลายตัวเนื่องจากภาวะโลกร้อน
และบริเวณที่นักปีนเขาเสียชีวิตมากที่สุดคือส่วนยอด ที่อยู่สูงกว่า 26000 ฟุตขึ้นไป หรือรู้จักกันในชื่อ “แดนมรณะ” ที่นั่นมีระดับออกซิเจนอยู่หนึ่งในสามของระดับน้ำทะเลเท่านั้น และความกดอากาศจะทําให้คุณรู้สึกถึงน้ำหนักที่หนักขึ้นสิบเท่า ส่งผลให้คนที่ได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอเริ่มมีอาการเห็นภาพหลอน ระบบในร่างกายเริ่มทำงานล้มเหลว หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด ด้วยเหตุนี้จึงมีข้อกำหนดให้อยู่ในบริเวณนี้ได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง
ภาพจาก Wikipedia
ยอดเขาเอเวอเรสต์ที่สูงกว่า 29,000 ฟุต เมื่อรู้เช่นนั้นคุณอาจถูกล่อลวงให้เชื่อว่าสาเหตุหลักของการเสียชีวิตคือการตกเขา แต่อนิจจา นั่นเป็นเพียงสาเหตุการตายอันดับสองเท่านั้น จากข้อมูลของบีบีซีเปิดเผยว่าสาเหตุอันดับหนึ่งที่คร่าชีวิตของนักปีนเขาคือหิมะถล่ม อันดับสามคือการหนาวตายหรือถูกน้ำแข็งกัด ซึ่งคิดเป็นประมาณ 11% ของการเสียชีวิต
และอันดับสี่คือ "การเจ็บป่วยเฉียบพลันบนภูเขา" และประมาณ 27% ของผู้เสียชีวิตบนเอเวอเรสต์ ถูกระบุว่าเกิดจากสาเหตุ "อื่นๆ" ซึ่งอาจรวมถึงสาเหตุต่างๆอย่าง น้ำแข็งถล่ม อุบัติเหตุจากเชือกผูก โรคปอดบวม หรือแม้กระทั่งการจมน้ำ นอกจากนี้ผู้คนจำนวนมากมายมักเสียชีวิตระหว่างทางกำลังลงจากยอดเขามากกว่าระหว่างทางขึ้น
แม้ค่าใช้จ่ายในการขึ้นเขาจะมากแล้ว การเก็บกู้ศพที่เสียชีวิตบนนั้นยากยิ่งกว่า เพราะค่าใช้จ่ายในการเก็บกู้ศพหนึ่งศพนั้นสูงถึง 40,000-80,000 ดอลล่าร์สหรัฐ หรือราว 1.2 - 2.4 ล้านบาท ต่อหนึ่งศพ
และหนึ่งในความท้าทายที่สุด คือ การกู้ศพบนจุดใกล้กับยอดเขา ที่ความสูง 8,700 เมตร อีกทั้งศพที่แข็งตัวอย่างสมบูรณ์ จะมีน้ำหนักราว 150 กิโลกรัม และเนื่องจากอุณหภูมิที่ต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง ศพเหล่านี้จึงถูกแช่แข็งตลอดให้คงสภาพนับตั้งแต่ที่หมดลมหายใจ ส่งผลให้ศพส่วนใหญ่ได้รับการอนุรักษ์ไว้เกือบสมบูรณ์ แม้จะถูกทิ้งไว้บนเขามานานหลายสิบปี
เมื่อมีคนเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตอยู่บนเอเวอเรสต์ ระเบียบที่ปฏิบัติกันเป็นมาตรฐานคือทิ้งศพไว้ในที่นั่น หรือเดินผ่านพวกเขาไป เป็นวิธีการเดียว เพราะในสภาพอากาศอันหนาวเย็นการแบ่งออกซิเจนหรืออุ้มใครสักคนไปด้วยนั้นอาจสร้างอันตรายยิ่งกว่าเดิม ดังนั้นศพเหล่านี้จึงยังคงใช้ชีวิตชั่วนิรันดร์บนยอดเขา และบางศพก็ถูกใช้เป็นป้ายบอกทางและอนุสรณ์เตือนใจให้กับผู้คนที่เดินผ่านมันไป
ภาพจาก เดลินิวส์
ศพมากมายบนเอเวอเรสต์ครั้งหนึ่งเคยเป็นของบุคคลที่มีชื่อ แม้ว่าพวกเขาจะจากโลกนี้ไปแล้ว
ศพที่โด่งดังมากที่สุด
เป็นที่รู้จักในหมู่นักปีนเขาในชื่อว่า Green Boots ซึ่งมีที่มาจากบู๊ทส์สีเขียวนีออนที่สะดุดตาของเขา เป็นศพที่ถูกนักปีนเขาเกือบทุกคนเดินผ่านเพื่อไปยังเดธโซน กรีน บู๊ทส์ เป็นศพที่มีประเด็นถกเถียงกันอย่างมาก แต่เชื่อกันว่าเขาคือ เซวาง ปาลจอร์ (Tsewang Paljor) 1 ใน 8 นักปีนเขาชาวอินเดียที่เสียชีวิตในปี 1996 เขาคนนี้คือตำรวจตระเวนชายแดนทิเบตอินโด (ITBP) ที่หมายมั่นจะเป็นผู้พิชิตทีมแรกของอินเดียจากเส้นทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งในเวลาต่อมาร่างของเขาถูกใช้แทนหลักหมุดสำคัญในเส้นทางปีนเขา
ก่อนการเคลื่อนย้ายศพเกิดขึ้น ร่างของกรีน บู๊ทส์วางอยู่ใกล้ถ้ำที่นักปีนเขาทุกคนต้องผ่านเพื่อไปยังจุดสูงสุด ร่างกายกลายเป็นจุดสังเกตอันน่าขนลุกที่ใช้วัดว่าอยู่ใกล้ยอดเขาแค่ไหนแล้ว จากตามที่นักปีนเขามืออาชีพคนหนึ่งกล่าวว่า "ผู้คนประมาณ 80% จะพักผ่อนที่ศูนย์พักพิงซึ่ง Green Boots อยู่ และเป็นเรื่องยากที่จะมองข้ามคนที่นอนอยู่ที่นั่น"
ภาพจาก Wikipedia
ศพที่น่าสงสารที่สุด
ในปี 2006 นักปีนเขาชื่อ เดวิด ชาร์ป ถูกพบว่าเสียชีวิตในท่านั่งกอดเข่าในถ้ำของ Green Boots
เดวิด ชาร์ป เป็นหนึ่งในนักปีนเขาที่พยายามพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ด้วยตัวเองโดยไม่ใช้ถังออกซิเจน ซึ่งเป็นความสำเร็จที่แม้แต่นักปีนเขาที่เก่งที่สุดก็ยังเตือนให้หยุดทำซะ ชาร์ปไปถึงยอดเขาได้สำเร็จ ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2006 แต่ขากลับลงจากยอดเขา เขาได้หยุดพักที่ถ้ำที่รู้จักกันในชื่อ Green Boots Cave
ร่างของเขาก็ถูกแช่แข็งในท่านั่งกอดเข่าจนแน่นิ่งอยู่ตรงจุดนั้น ชาร์ปยังมีชีวิตอยู่แต่ไม่สามารถขยับเขยื้อนร่างกายได้ มีนักปีนเขาจำนวนกว่า 40 คนเดินผ่านมาเจอเขา บางคนก็คุยกับเขาเสียด้วยซ้ำ แต่ไม่มีใครคิดจะช่วยเขาออกจากตรงนั้นจนเขาหนาวตายในที่สุด
การเสียชีวิตของชาร์ป ก่อให้เกิดการถกเถียงทางศีลธรรมเกี่ยวกับวัฒนธรรมของนักปีนเขาบนเอเวอเรสต์ แม้ว่าหลายคนจะเดินผ่านชาร์ปไปขณะที่เขากำลังจะตาย และพยานที่เห็นเหตุการณ์ก็อ้างว่าเขายังมีชีวิตอยู่อย่างเห็นได้ชัดและอยู่ในสภาพใกล้ตาย แต่ก็ไม่มีใครให้ความช่วยเหลือ
ภาพจาก WordPress
ศพที่เก่าแก่ที่สุด
ในปี 1999 ทีมสารคดีได้พบกับศพที่เก่าแก่ที่สุดบนเอเวอเรสต์ ศพนั้นคือร่างของจอร์จ มัลลอรี ผู้ถูกค้นพบใน 75 ปีหลังจากเขาเสียชีวิตในปี 1924 เขาคือผู้ที่ถูกสื่อในสมัยนั้นต่างประโคมข่าวเกี่ยวกับชายสองคนที่หวังจะพิชิตยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกอย่างเอเวอเรสต์ คือ จอร์จ มัลลอรีและแอนดรูว์ “แซนดี” เออร์ไวน์
เรื่องราวของพวกเขาถูกบอกเล่าและตีแผ่ไปทั่วโลกเพราะถ้าพวกเขาทำสำเร็จ พวกเขาจะเป็นมนุษย์คนแรกที่สามารถพิชิตเอเวอเรสต์ แต่แล้วเขาก็หายตัวไปและไม่เคยกลับมา ทำให้ไม่มีใครรู้ว่าเขาได้ขึ้นไปถึงยอดเขาได้สำเร็จหรือไม่
จนร่างของเขาถูกพบในปี 1999 ส่วนที่พบประกอบด้วยลำตัวท่อนบน ขาครึ่งหนึ่ง และแขนซ้ายเกือบสมบูรณ์ เขาสวมชุดผ้าทวีตและรายล้อมไปด้วยอุปกรณ์ปีนเขาโบราณและขวดออกซิเจนจำนวนมาก ทีมสารคดีสันนิษฐานว่าเขาเสียชีวิตจากการตกจากหน้าผา เพราะพบการแตกหักของดระดูกเอวของเขา ผู้ที่พบเขาเชื่อว่าเชือกที่ผูกอยู่ที่เอวของเขามันถูกผูกไว้กับนักปีนเขาอีกคนเมื่อเขาตกจากหน้าผา
และจนตอนนี้ยังไม่มีใครทราบว่ามัลลอรี่ขึ้นไปถึงจุดสูงสุดหรือไม่ แม้ว่าชื่อของ "ชายคนแรกที่ปีนเอเวอเรสต์" จะมีคนอื่นได้รับมันไปแล้ว แม้ว่าเขาอาจไม่ได้ทำสำเร็จ แต่ข่าวเรื่องการปีนเขาของมัลลอรีก็แพร่สะพัดไปทั่วโลก เพราะเขาเป็นนักปีนเขาที่มีชื่อเสียงอย่างมากในตอนนั้น
ภาพจาก WordPress
เป็นยังไงกันบ้างคะกับเรื่องราวของเอเวอเรสต์สถานที่ที่ใครหลายคนอยากไปถึงสักครั้ง แต่มันก็ไม่ได้สวยหรูหรือเรียบง่าย ข้างบนนั้นเคยเป็นที่ที่ใครหลายคนเคยตั้งเป้าหมายเคยเป็นความฝันสุดท้ายในชีวิตซึ่งบางคนก็ทำสำเร็จแต่บางคนก็ติดอยู่ที่นั่นตลอดกาล บนนั้นมีศพของผู้คนที่ครั้งหนึ่งเคยมีชื่อ มีความฝัน มีแรงบันดาลใจ แต่ตอนนี้พวกเขาได้เป็นเพียงป้ายบอกทางและอณุสรณ์เตือนใจให้กับนักปีนเขารุ่นหลังว่าห้ามประมาทกับที่นี่เด็ดขาด
อ้างอิง
The Bodies of Mount Everest, the World's Highest Graveyard (https://www.mentalfloss.com/article/28139/mount-everest-graveyard)
The Bodies Of Dead Climbers On Everest Are Serving As Guideposts (https://allthatsinteresting.com/mount-everest-bodies)
โฆษณา