26 พ.ค. เวลา 16:12 • หนังสือ

Review หนังสือ Long life learning : Preparing for Jobs that Don’t Even Exist Yet

หนังสือเล่มนี้เขียนโดย คุณ Michelle R. Weise แปลโดยคุณรพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ จากสำนักพิมพ์ Bookscapeซึ่งฉันเห็นหนังสือเล่นนี้ตอนสั่งหนังสือเล่มอื่น ๆ (Midnight library ที่ Review ไปก่อนหน้านั้นแหละ) มา ฉันหยิบมันใส่รถเข็นในสภาวะ อืมมม จะซื้อดีไหมนะ แต่สุดท้ายก็ซื้อมันออกมาจนได้แหละ
พออ่านจบก็คิดว่าหนังสือเล่มนี้ก็มีประเด็นที่น่าสนใจและแม้คนเขียนจะเล่าใน Context ของประเทศอเมริกา แต่ก็มีบางส่วนที่คล้ายถึงกับปัญหาที่บ้านเราเจออยู่เหมือนกันที่ แรงงานเผชิญกับปัญหาทักษะมากกว่าที่คิด ในเงื่อนไขที่อายุไขของประชากรไทยยาวขึ้น และคนเราอาจต้องเปลี่ยนอาชีพบ่อยขึ้น ต้องปรับทักษะกันหลายรอบขึ้น และรูปแบบการเรียนในมหาวิทยาลัยเพียงครั้งเดียวอาจไม่ตอบโจทย์บริบทที่เปลี่ยนไป (อ่านที่ตัวเองเขียนก็รู้สึกว่า Cliche ชะมัด)
หนังสือเล่มนี้ (ถ้าไม่นับบทนำ) ผู้เขียนแบ่งได้เป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ ส่วนที่ 1 เริ่มต้นจากระบบที่ไม่เป็นธรรม ส่วนที่ 2 มุ่งหน้าสู่ระบบนิเวศการเรียนรู้ใหม่ และ ส่วนที่ 3 บทสรุป คือ จริง ๆ หนังสือเล่มนี้รายละเอียดเยอะมากก (ถ้าใส่ได้อยากใส่ ก ไปซักล้านตัว) แต่อยากขอลองสรุปเฉพาะส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 และประเด็นที่ฉันสะท้อนคิดออกมา ประมาณนี้นะครับ
ส่วนที่ 1 เริ่มต้นจากระบบที่ไม่เป็นธรรม
ประกอบไปด้วย 3 บทย่อย ซึ่งผู้เขียนให้เห็นบริบทใน 3 มิติ ซึ่งเป็นหัวใจของ 3 บท คือ
(1) ชีวิตของคนเรายาวกว่าอดีต คาดการณ์ว่าตลอดช่วงชีวิตอาจต้องเปลี่ยนงานมากกว่า 12 ครั้ง (ในบริบทของประเทศสหรัฐอเมริกา) และเทคโนโลยีอัตโนมัติ (automation) กำลังเข้ามาจัดความสัมพันธ์ระหว่างเรากับงานใหม่ โดยตรงนี้ผมขอใช้คำว่าจัดความสัมพันธ์ใหม่เนื่องจาก ผู้เขียนชี้ว่าเทคโนโลยีอาจไม่ได้เข้ามาแทนที่มนุษย์ในการทำงานอย่างเป็นเส้นตรง แต่อาจสร้างงานใหม่ ๆ หรือหนุนเสริมให้เราทำงานมีประสิทธิภาพได้ดีขึ้น เงื่อนไขดังกล่าวทำให้เราต้องเรียนรู้อย่างต่อเนื่องถึงขั้นเรียนรู้ตลอดชีวิต
(2) การเรียนในระดับมหาวิทยาลัยอาจไม่สามารถอยู่รอดได้ภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างทันท่วงที อันเนื่องจากภาวะเด็กที่เกิดน้อยลง ขณะเดียวกันแม้จะมีกลุ่มที่อาจเป็นเป้าหมายในอนาคต คือ กลุ่มวัยแรงงาน แต่รูปแบบการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยในปัจจุบันอาจไม่สามารถรองรับกลุ่มวัยแรงงาน ที่ยังคงต้องทำงานทำงานเต็มเวลาเพื่อหาเลี้ยงชีพ
(3) รูปแบบการพัฒนาทักษะแรงงานอาจต้องเปลี่ยนไป โดยนายจ้างอาจต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาฝีมือแรงงานมากขึ้นโดยคำนึงถึงความหลากหลายของช่วงวัยของลูกจ้างที่อยู่ในระบบอยู่แล้ว ขณะเดียวกันยังมีลูกจ้างที่มีวุฒิการศึกษาในระดับที่ต่ำซึ่งมาพร้อมกับภาระที่ทำให้ไม่สามารถหยุดงานเพื่อไปนั่งเรียนหนังสืออย่างเป็นจะเป็นนะ แต่ต้องได้รับการพัฒนาทักษะและเพิ่มพูนทักษะเพื่อให้สามารถเข้าถึงโอกาสทางอาชีพได้
(อ่านส่วนที่ 1 แล้วก็จะรู้สึกสิ้นหวังว่าเต็มไปด้วยปัญหานิด ๆ นะครับ)
ส่วนที่ 2 มุ่งหน้าสู่ระบบนิเวศการเรียนรู้ใหม่
ส่วนนี้เป็นส่วนที่ยาวที่สุดของหนังสือนะครับผู้เขียนแบ่งเป็น 6 บทหลัก ๆ โดยจะเน้นการยกตัวอย่างการดำเนินการที่อาจพิจารณาได้ว่าเป็นแนวปฏิบัติที่ดีในเรื่องนั้น ๆ แต่จะวางอยู่บนหลักการในการสร้างระบบนิเวศ โดยผู้เขียนค่อนข้างจะเน้นย้ำว่ามันเป็นระบบนิเวศ ที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น ผู้เรียน นายจ้าง บุคลากรทางการศึกษา และรัฐบาล เป็นอาทิ จะต้องมีความสัมพันธ์ที่หลากหลายและเชื่อมโยงเครือข่ายของสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตเข้าด้วยกัน และยังเน้นด้วยว่า คงไม่สามารถตัดใครคนใดคนหนึ่งออกจากระบบนิเวศเหล่านี้ได้
ระบบนิเวศนี้จะต้องวางบนหลักการ 5 ประการ ได้แก่
1) ฉายให้เห็นภาพใหญ่ (navigable) ที่ทุกคนต้องเห็นภาพกว้างของตลาดแรงงานทั้งนปัจจุบันและอนาคตรวมทั้งเส้นทางอาชีพที่เป็นไปได้โดยพิจารณาความสนใจ ความสามารถ การศึกษา และประสบการณ์ในอดีต และมีเครื่องมือประเมินคุณค่าและประสบการณ์ที่ดี
2) สนับสนุนอย่างรอบด้าน (supportive) เนื่องจากผู้เรียนแต่ละคนต่างเจอสารพันปัญหาในชีวิต การสนับสนุนอย่างรอบด้านทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์จะช่วยเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จของผู้เรียน ตั้งแต่ความเป็นได้ของการเปลี่ยนงาน จนถึงการเปลี่ยนผ่าน
3) มีเป้าหมาย (Targeted) ผู้เรียนต้องเข้าถึงการเรียนรู้ที่จำเป็นและแม่นยำด้วยหลักสูตรที่ออกแบบเฉพาะและตอบสนองความต้องการสร้างทักษะอาชีพให้ทันการณ์ในเวลาที่เหมาะสม คุ้มค่ากับการลงทุน ผ่านเครือข่ายมืออาชีพ และมอบโอกาสให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนผ่านการปฏิบัติจริง
4) มีลักษณะบูรณาการ (Integrated) ผู้เรียนจำนวนมากจำเป็นต้องทำงานไปด้วยควบคู่กับการเรียนไปด้วย ซึ่งสร้างภาระให้กับผู้เรียนพอสมควร ขณะเดียวกันต้องการทั้งความมั่นใจและการสนับสนุอื่น ๆ ดังนั้น ระบบนิเวศการเรียนควรสามารถลดประเด็นปัญหาดังกล่าวเพื่อเปิดโอกาสในการเรียนรู้ที่มากขึ้นแม้ว่าจะทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยก็ตาม
5) โปร่งใส (Transparent) กระบวนการจ้างงานจะต้องโปร่งใส เปิดกว้าง และเป็นธรรม และเปิดโอกาสให้คนที่กำลังหางานมีโอกาสพิสูจน์ความสามารถและทักษะที่พวกเขา/เธอมี โดยคำนึงถึงทักษะในฐานะที่จำเป็นต่อตลาดงานเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญสูงสุด
หลังจากนี้นำเสนอหลักการนี้แล้วในบทต่อ ๆ ไปผู้เขียนก็ได้นำเสนอตัวอย่างแนวทางการดำเนินการใหม่และเทคโนโลยีที่จะเข้ามาสนับสนุนในแต่ละส่วน โดยทำนองในการเล่าเรื่องของผู้เขียนก็จะเล่าสลับไประหว่างสถานการณ์ที่ผู้เรียนกำลังเผชิญกับนวัตกรรมทางการศึกษาใหม่ ๆ หรือความร่วมมือใหม่ ๆ ที่พยายามจะจัดการกับข้อท้าทายเหล่านั้น เช่น ในบทที่ 5 ที่ผู้เขียนนำเสนอถึงความสิ้นหวังของคนทำงานที่ต่างตระหนักดีว่าจะต้องการงานที่มีรายได้ที่ดีขึ้น โดยการที่จะได้รายได้ที่ดีขึ้นก็ต้องเรียนรู้ทักษะบางอย่างที่เป็นที่ต้องการของตลาด
แต่พวกเขา/เธอเหล่านั้นต่างไม่รู้ว่าควรจะเริ่มอย่างไร หรือจะไปทิศทางไหน ในเมือใน Google ก็มีข้อมูลมหาศาลเกี่ยวกับหลักสูตร แต่หลักสูตรไหนกันหละที่มีคุณภาพและคุ้มค่าที่จะลงทุนจริง ๆ ก่อนที่ไปเล่าถึงความพยายามของธุรกิจในการหนุนเสริมช่องว่างดังกล่าว เช่น แพลตฟอร์ม SkyHive ที่พยายามอุดช่องว่างดังกล่าว
ฉันคิดว่า แม้หนังสือเล่มนี้จะเขียนในบริบทของประเทศอเมริกา บางเรื่องฉันก็ไม่แน่ใจนักว่าอาจเอามาใช้ที่ประเทศไทยได้หรือไม่ แต่หนังสือเล่มนี้เหมือนตู้โชว์ความคิดริเริ่มใหม่ ๆ ที่ทุกภาคส่วนพยายามจะเข้ามาทำเพื่อส่งเสริมให้คนทำงานที่เจอภาระหน้าที่มากมายอยู่แล้วในปัจจุบันสามารถที่จะเข้าสู่ระบบการเรียนรู้เพื่อปรับตัวใหม่ อย่างมีทิศทาง มีการสนับสนุนที่ดี
ประเด็นที่ฉันชอบจากหนังสือเล่มนี้ คือ ในการเก็บข้อมูลและการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับข้อท้าทายของคนทำงานในการพัฒนาทักษะ ผู้เขียนไม่ได้นำเสนอแรงงานดังกล่าวอย่างแบนราบว่า เป็นเพียงเรื่องของการ “ไม่มีเวลา” และ “ไม่มีเงินทุน” แต่พยายามรวมเห็นมิติความรู้สึก และภาระที่บ้าน เช่น การดูแลครอบครัว เข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้คนทำงานจำนวนหนึ่งที่มีอายุหันหน้าออกจากระบบการศึกษาและระบบการเรียนรู้ที่มีในปัจจุบัน การคำนึงถึงมิติดังกล่าวด้วยนั้นอาจส่งผลต่อการออกแบบรูปแบบการเรียนรู้และกลไกสนับสนุน
ขณะเดียวกันได้ชี้ชวนให้เห็นอีกว่า การคัดเลือกผู้สมัครงานโดยไม่เปิดเผยอัตลักษณ์ อาทิ เพศ อายุ อาจส่งผลให้เกิดการจ้างงานที่เป็นธรรมขึ้นได้อย่างไร (หนังสือเล่มนี้ใครทำงานวิจัยเรื่องการศึกษาและการเรียนรู้อยู่ ซื้อมาดู Reference ท้ายหนังสือฉันว่าก็คุ้มอยู่นะ)
ขอมองกลับมาดูบ้านเราซักนิด
ขอเริ่มต้นจากข้อมูลรายงานการประเมินทิศทางการพัฒนาทักษะทุนชีวิต ซึ่งดำเนินการโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาและธนาคารโลก ซึ่งมีประเมินใน 3 มิติ คือ ทักษะดิจิทัล ทักษะการรู้หนังสือ และทักษะทางอารมณ์และสังคม โดยเก็บข้อมูลจากเยาวชนและประชากรกลุ่มแรงงานจะพบว่า สัดส่วนของเยาวชนและประชากรวัยแรงงานของเรา (ที่ทำแบบสำรวจ) มีความสามารถต่ำกว่าเกณฑ์ในการรู้หนังสือร้อยละ 64.7 และทักษะด้านดิจิทัล (ร้อยละ 74.1) ถ้าสนใจรายงานฉบับนี้อาจลองตามไปอ่านตามนี้นะครับ https://www.eef.or.th/publication-asat/
คำถามประการสำคัญ คือ หากในอนาคตที่โลกเปลี่ยนไป และทักษะต้องเปลี่ยนแปลงเราจะพัฒนาทักษะคนกลุ่มนี้ได้อย่างไร ประเด็นนี้ก็เป็นประเด็นที่จริง ๆ ประเทศไทยทั้งภาครัฐและเอกชนก็ได้มีความพยายามที่ผ่านมาในการยกระดับทักษะแรงงาน การจับคู่แรงงาน เช่น การพัฒนามาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ หรือการพัฒนา E-workforce Ecosystem Platform โดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ที่จะเป็นระบบที่ช่วยให้คนทำงานเก็บผลงานและพัฒนาทักษะของตัวเอง
การพัฒนา Skill Mapping ซึ่งพัฒนาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่พยายามจะรวบรวมให้เห็นทักษะที่จำเป็นในตำแหน่งงานเพื่ออกแบบการวางแผนทรัพยากรบุคคลของประเทศ
จะเห็นว่าแม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้มีการดำเนินการเรื่องนี้อยู่บ้าง (จริง ๆ ที่เล่าก็อาจเป็นส่วนน้อยนะครับ) ซึ่งฉันคิดว่ายังมีประเด็นที่ต้องทำต่อ และตัวแบบการคิดริเริ่มจากหนังสือเล่มนี้ อาจมีประโยชน์ในการชวนให้คิดถึงประเด็นเหล่านั้นต่อ ว่ายังมีส่วนใดที่ขาดและส่วนไหนที่มีอยู่แล้ว รวมทั้งจะเชื่อมโยงชิ้นส่วนเล็ก ๆ ที่มีอยู่ในบ้านเราเพื่อพัฒนาเป็นระบบนิเวศการเรียนรู้ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของบ้านเราได้อย่างไร ภายใต้ทรัพยากรที่มีครับ
ปล. งานเขียนนี้เป็นการ Review หนังสือนะครับ ไม่ได้เป็นการเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย แต่ถ้าใครมีประเด็นข้อสังเกตสนใจ หรือเคยใช้งาน Platform หรือระบบที่ผมว่าไปมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันได้นะครับ หรือถ้าใครแนะนำหนังสือให้ลอง Review ก็ลองแชร์มาได้นะครับ
โฆษณา