Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
GEO-HIS | ภูมิประวัติศาสตร์
•
ติดตาม
1 มิ.ย. เวลา 13:00 • ประวัติศาสตร์
10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ " ติมอร์-เลสเต "
ว่าที่สมาชิกลำดับที่ 11 ของอาเซียน
เมื่อกล่าวถึงติมอร์-เลสเต หลายคนอาจมีความรู้เกี่ยวกับประเทศนี้ไม่มากนัก เนื่องจากประเทศที่อยู่ไกล และไม่ค่อยมีบทบาทในเวทีโลกนัก
อาจเรียกได้ว่าเป็นประเทศชายขอบของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ว่าได้
วันนี้เราจึงขอนำเสนอ 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับติมอร์-เลสเต ว่าที่สมาชิกลำดับที่ 11 ของอาเซียนกัน
1. ภูมิศาสตร์ติมอร์-เลสเต
ตั้งอยู่ทางตะวันออกของเกาะติมอร์ จึงมีคำต่อท้ายประเทศว่า เลสเต ที่แปลว่า ตะวันออก ในภาษาโปรตุเกส นอกจากนี้ยังมีดินแดนเล็ก ๆ อยู่ทางฝั่งตะวันตก อันเป็นผลมาจากประวัติศาสตร์สมัยอาณานิคม
มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต (Democratic Republic of Timor-Leste)
มีขนาดพื้นที่ราว 30,777 ตร.กม. (มีขนาดใหญ่กว่าโคราชราว 1.5 เท่า) ด้วยประชากรกว่า 1.3 ล้านคน มีกรุงดีลีเป็นเมืองหลวง
ภูมิประเทศประกอบด้วยภูเขาสลับซับซ้อนกระจายอยู่ทั่ว มีที่ราบส่วนใหญ่อยู่ทางตะวันตก
ที่นั่น (เกาะติมอร์) อุดมสมบูรณ์ด้วยไม้จันทน์ขาว ที่ชาวมัวร์ในอินเดียและชาวเปอร์เซียถือว่ามีค่ายิ่ง
บันทึกของชาวโปรตุเกสกลุ่มแรกที่มาถึงเกาะติมอร์
มีดินแดนติดกับอินโดนีเซีย และใกล้กับออสเตรเลีย จึงได้รับอิทธิพลมากจากสองประเทศนี้
นอกจากนี้ยังเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่ตั้งอยู่ใต้เส้นศูนย์สูตรทั้งประเทศ มีอากาศร้อนชื้น ประกอบด้วย 2 ฤดูกาล คือฤดูแล้ง (ธันวาคม - พฤษภาคม) และฤดูมรสุม (มิถุนายน - พฤศจิกายน)
ยอดเขาทาทาไมเลา (Mount Tatamailau) เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในติมอร์-เลสเต สูงราว 2,986 เมตร จากระดับน้ำทะเล
2. จระเข้ สัตว์ประจำชาติ และนิทานพื้นบ้านกำเนิดเกาะติมอร์
หากคนไทยมองว่าแผนที่ประเทศไทยเหมือนขวานทอง ชาวติมอร์-เลสเตก็มองว่าแผนที่ประเทศของตนนั้นเหมือนกับจระเข้
ชาวติมอร์มีนิทานพื้นบ้านว่าเกาะติมอร์นั้นเกิดขึ้นมาจากจระเข้ ความว่า
จระเข้น้อยตัวหนึ่งที่หนีจากบึงสู่ทะเล เนื่องจากน้ำในบึงค่อย ๆ แห้งแล้ง เจ้าจระเข้น้อยที่ไม่ได้กินอาหารมาหลายวันจึงอ่อนแอมาก ได้หมดแรงและจมน้ำไป
เด็กชายคนหนึ่งได้พายเรือผ่านมาพอดีจึงช่วยเหลือเจ้าจระเข้น้อยและแบ่งอาหารให้กิน
จระเข้น้อยซาบซึ้งในน้ำใจ จึงบอกกับเด็กชายว่า หากอยากได้อะไรให้เรียกหาได้ทุกเมื่อ เราจะทำตามทุกอย่าง
หลายปีผ่านไปเด็กชายเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และจระเข้เติบโตเป็นจระเข้ตัวใหญ่ ชายหนุ่มได้เรียกหาจระเข้และขอให้พาออกไปผจญภัยโดยการตามดวงอาทิตย์ไปทางตะวันออก
จนเวลาผ่านไป เจ้าจระเข้ได้แก่ตัวลงมาก มันจึงบอกกับคู่หูการเดินทางว่าข้าเดินทางต่อไม่ไหวแล้ว เมื่อข้าตายไป ข้าจะกลายเป็นเกาะใหญ่ให้เจ้าและครอบครัวได้ใช้อาศัยไปชั่วลูกชั่วหลาน ก่อนที่เจ้าจระเข้จะตายลง
ชาวติมอร์-เลสเตจึงถือว่าจระเข้เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นสัตว์ประจำชาติ และถือว่าชายหนุ่มเพื่อนเจ้าจระเข้เป็นบรรพบุรุษของตน
3. ความเชื่อวิญญาณนิยมของชาวติมอร์
กระท่อมรูริค (Uma Lulik) กระท่อมศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อโลกหลังความตายของชาวติมอร์ (ภาพของ clementinoamaral บนอินสตาแกรม) รูริคมีอิทธิพลต่อสถาปัตยกรรมทางราชการหลาย ๆ แห่งในประเทศ
ชาวติมอร์แต่เดิมมีความเชื่อเช่นเดียวกับประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือความเชื่อเรื่องวิญญาณนิยม หรือศาสนาผี
ความเชื่อดั้งเดิมชาวติมอร์เชื่อว่าวัตถุสิ่งของต่าง ๆ มีวิญญาณ (สิ่งศักดิ์สิทธิ์) สถิตอยู่ และเชื่อในวิญญาณบรรพบุรุษ
แม้ติมอร์-เลสเตจะตกเป็นเมืองขึ้นของหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโปรตุเกส ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย
ศาสนสถานตามความเชื่อดั้งเดิมถูกทำลายไปมาก และการเข้ามาของศาสนาคริสต์ คาทอริก จนประชากรกว่าร้อยละ 90 นับถือคริสต์ศาสนา ก็มิได้ทำให้ความเชื่อดั้งเดิมหายไป แต่ผสมกลมกลืนกับศาสนาต่าง ๆ ที่รับเข้ามา
ภายหลังจากที่ได้เอกราชในปีค.ศ. 2002 ศาสนสถานตามความเชื่อแบบวิญญาณนิยมเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก
4. โครงสร้างทางสังคมดั้งเดิมของติมอร์-เลสเต
สังคมติมอร์-เลสเตประกอบด้วยชนเผ่าหลากหลายเผ่า ทั้งจากคนที่อพยพมาจากทางเกาะปาปัว และคนที่อพยพมาจากทางมลายู
พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ก่อนสมัยอาณานิคมของติมอร์มีความคล้ายกับหมู่เกาะฝั่งตะวันออกของอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และปาปัวนิวกินี คือไม่เคยผ่านการเป็นอาณาจักร
บ้านชาวติมอร์ดั้งเดิม บ้านยกสูง หลังคามุงจากทรงสูง (ภาพของ Pete R. บน bucketlistly.blog)
เริ่มจากหมู่บ้านต่าง ๆ มาเป็นพื้นที่ปกครองโดยผู้นำทางจิตวิญญาณ เรียกการปกครองนี้ว่า ซูโก (Sucos) และเชื่อมโยงเข้าด้วยกันเป็นชุมชนขนาดใหญ่กว่าที่เรียกว่า ริวไร (Lurai)
ชาวติมอร์ไม่นิยมการเดินเรือ จึงได้รับอิทธิพลจากอาณาจักรภายนอกน้อยมาก
5. การเข้ามาของโปรตุเกส
โปรตุเกสเป็นยุโรปกลุ่มแรกที่เดินทางเข้ามาที่เกาะติมอร์ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16
ต่อมาในปีค.ศ. 1556 นักบวชนิกายโรมันคาทอลิก จากคณะโดมินิกันกลุ่มแรกเข้ามายังเกาะติมอร์และสร้างป้อมปราการไว้
ในปีค.ศ. 1695 มีการส่งข้าหลวงมาประจำการบนเกาะ เป็นการยึดครองเกาะโดยสมบูรณ์ ในปีค.ศ. 1749 โปรตุเกสพ่ายแพ้สงครามกับฮอลันดาบนเกาะแห่งนี้ ทำให้แบ่งเกาะออกเป็นทางตะวันตกและตะวันออก
การเข้ามาของโปรตุเกสทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมขึ้น เกิดกลุ่มคนเลือดผสมระหว่างชนพื้นเมืองกับชาวโปรตุเกสที่เรียกว่า ชาวโทปาส (Topasse)
ชาวโทปาสส่วนใหญ่ทำหน้าที่เป็นพ่อค้าคนกลาง ค้าขายเครื่องเทศ บางครั้งก็เป็นศัตรูกับโปรตุเกสและไปเข้าพวกกับฮอลันดา
ชาวโทสปาส (ซ้าย) และครอบครัว
ช่วงกลางทศวรรษที่ 1920 ลูกครึ่ง คนผิวขาว และชนพื้นเมืองบางกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง จนเป็นชนชั้นนำของประเทศช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
6. การเมืองหลังได้เอกราชจากโปรตุเกส และการยึดครองโดยอินโดนีเซีย
จากปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจในโปรตุเกส ทำให้โปรตุเกสให้อิสรภาพแก่อาณานิคมต่าง ๆ ติมอร์-เลสเตจึงได้เอกราชในปีค.ศ. 1974
ในช่วงเวลาดังกล่าวชนชั้นนำในติมอร์-เลสเตได้รวมกลุ่มเป็นพรรคการเมืองต่าง ๆ อย่างไรก็ตามความแตกแยกทางการเมือง นำไปสู่สงครามกลางเมืองในที่สุด
ฝ่ายที่พ่ายแพ้ได้หนีข้ามพรมแดนไปในอินโดนีเซีย เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้อินโดนีเซียเข้ายึดครองติมอร์-เลสเต โดยอ้างถึงภัยคอมมิวนิสต์ด้วยอีกประการ
เฟรติลิน เป็นพรรคการเมืองผู้นำการประกาศเอกราชจากโปรตุเกส เมื่อถูกอินโดนีเซียยึดครองยังเป็นกลุ่มติดอาวุธต่อต้านอินโดนีเซียอีกด้วย / (คนขวา) ซานานา กรุสเมา (Xanana Gusmao) ผู้นำพรรคเฟรติลิน ในปี 1990 และปี 2015 เขายังมีบทบาทสำคัญทางการเมืองมาถึงปัจจุบัน (ภาพจาก ABC)
ก่อนหน้านั้นในปีค.ศ. 1969 กองทัพอินโดนีเซียได้สรุปว่าเอกราชของติมอร์-เลสเต อาจเป็นภัยคุกคามกับอินโดนีเซียได้
กองกําลังอินโดนีเซียรุกเข้ากรุงดิลีทางทะเล... พวกเขาบินอยู่เหนือน่านฟ้าเมืองหลวง ทิ้งทหารพลร่มลงมา คนจํานวนมากถูกฆ่าโดยกองกําลังอินโดนีเซีย... SOS...
ข้อความด่วนผ่านคลื่นวิทยุขององค์การกาชาดสากล โดยอลาริโก เฟอร์นันเดส (Alarico Fernandes) รมว. ข้อมูลข่าวสารติมอร์เลสเต 8 ธันวาคม 1975
7. การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ติมอร์-เลสเต และการได้มาซึ่งเอกราช
ในช่วงของการยึดครองโดยอินโดนีเซีย ถือเป็นช่วงเวลาที่มืดหม่นที่สุดในประวัติศาสตร์ติมอร์-เลสเต
เมื่ออินโดนีเซียเปิดปฏิบัติการรุกราน ส่งผลให้มีประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก เกิดการกวาดล้างและยึดพื้นที่ยุทธศาสตร์
ชาวบ้านจำนวนมากหนีเข้าป่าเขา หลายคนถูกสังหารระหว่างการหนีและยอมจำนน กองทัพอินโดนีเซียได้ทำลายแหล่งอาหารจนเกิดภาวะอดอยากขึ้น
การสังหารหมู่ประชาชนส่วนใหญ่เกิดขึ้นระหว่างที่อินโดนีเซียบุกยึดติมอร์-เลสเตอย่างสายฟ้าแลบในกลางทศวรรษที่ 1970
หลังจากนั้นกองทัพอินโดนีเซียได้กวาดล้างกลุ่มต่อต้านตลอดทศวรรษที่ 1980 ตลอดระยะเวลาดังกล่าวคาดว่ามีผู้เสียชีวิตราว 200,000 คน
ภายหลังสถาบันการศึกษาชั้นนำทางด้านสังคมศาสตร์ เช่น ออกซ์ฟอร์ด และเยล จัดให้การสังหารหมู่ในติมอร์-เลสเตเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธ์
ต่อมาในปี 1991 ประชาชนชาวติมอร์-เลสเตได้ออกมาประท้วงเรียกร้องเอกราชโดยสงบที่โบสถ์ซานตาครุซ ในกรุงดิลี จนเกิดการปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตราว 180 คน
สื่ออสเตรเลียได้เข้ามาในพื้นที่และเผยแพร่ข่าวไปทั่วโลก ส่งผลให้ความชอบธรรมในการยึดครองติมอร์เลสเตหมดสิ้นลง
สุสานโบสถ์ซานตาครูซ กรุงดิลี
ในขณะเดียวกันในอินโดนีเซีย เผด็จการทหารที่ปกครองประเทศมายาวนานกว่า 30 ปี ถูกโค่นล้มลง
รัฐบาลใหม่ของอินโดนีเซียดำเนินนโยบายผ่อนปรนทางการเมือง และจัดให้มีการลงประชามติในติมอร์-เลสเตในปีค.ศ. 1999
ผลประชามติกว่าร้อยละ 80 เลือกให้ติมอร์-เลสเตเป็นเอกราช ขณะเดียวกันกลุ่มติดอาวุธที่ฝักใฝ่ในอินโดนีเซียได้เข้าขัดขวางการลงประชามติ กวาดล้างชาวบ้านที่มาลงมติแยกตัวเป็นเอกราช
สหประชาชาติจึงส่งกองกำลังเข้ามารักษาสันติภาพ ความรุนแรงจึงสงบลง จนได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์ในปีค.ศ. 2002 และมีพัฒนาการในระบอบประชาธิปไตย แบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดีเป็นประเทศเดียวในภูมิภาค
โจเซ ลามอส ฮอตา (Jose Ramos Horta) และ คาลอส เบลโล (Carlos Belo) ผู้มีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องเอกราช ได้รับโนเบลสาขาสันติภาพในปีค.ศ. 1996 / ทหารไทยในฐานะกองกำลังสหประชาชาติในภารกิจรักษาสันติภาพ
8. เศรษฐกิจติมอร์-เลสเต
ติมอร์เลสเตพึ่งพาการเกษตรแบบยังชีพเป็นหลัก แรงงานกว่าร้อยละ 60 อยู่ในภาคการเกษตร
กาแฟติมอร์เป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศ เป็นรายได้ของประเทศราวร้อยละ 20
ด้วยลักษณะภูมิประเทศและอากาศเหมาะแก่การปลูกกาแฟ เป็นกาแฟคุณภาพดี ในสมัยอาณานิคม ธุรกิจเอกชนของโปรตุเกสจึงนำกาแฟพันธ์อาระบิก้าเข้ามาปลูกทำกำไร
นอกจากนี้ในทะเลติมอร์มีการสำรวจพบน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 แต่เนื่องจากขาดเทคโนโลยีจึงให้สัมปทานแก่ออสเตรเลียมาถึงปัจจุบัน และพึ่งพาเป็นรายได้หลักราวร้อยละ 75
ปัจจุบัน น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในทะเลได้ลดลงไปมาก แต่ก็มีการสำรวจพบเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ซ้อนทับทางทะเลระหว่างติมอร์เลสเตและออสเตรเลีย จึงยังไม่มีการขุดนำทรัพยากรมาใช้
นอกจากนี้ยังพึ่งพาการท่องเที่ยวอีกด้วย ส่วนใหญ่เป็นการท่องเที่ยวทางธรรมชาติคือทะเลและภูเขา
ชาวติมอร์-เลสเตมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวราว 1,454 ดอลล่าสหรัฐฯ ต่อปี เป็นอันดับที่ 159 ของโลก (ในภูมิภาคมากกว่าเมียนมาเพียงประเทศเดียว) และมีขนาดเศรษฐกิจราว 1,992 ล้านดอลล่าสหรัฐฯ เป็นอันดับที่ 172 ของโลก
โดยภาพรวมติมอร์-เลสเตจึงมีสถานะเป็นประเทศยากจนที่สุดประเทศหนึ่งของโลก และผลิตอาหารได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ จึงต้องนำเข้าสินค้าเกษตร โดยเฉพาะธัญพืช ข้าว และแป้ง
9. ความลักลั่นทางภาษาในติมอร์-เลสเต
ตราแผ่นดินติมอร์-เลสเต ใช้ภาษาโปรตุเกส
เดิมสังคมติมอร์-เลสเตประกอบด้วยหลายเผ่า จึงมีความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม
การเข้ามาของโปรตุเกสทำให้เกิดประเทศติมอร์เลสเตขึ้น แม้จะปกครองยาวนานกว่า 4 ศตวรรษ แต่โปรตุเกสก็มิได้ให้การศึกษาแก่ชาวติมอร์ทุกกลุ่มให้ใช้ภาษาโปรตุเกสได้
การยึดครองของอินโดนีเซีย ทำให้ภาษาอินโดนีเซียเป็นภาษาทางการที่ถูกบังคับให้ใช้ แต่ก็เป็นเพียง 25 ปี
ภาษาในติมอร์-เลสเตปัจจุบันจึงยังคงเป็นที่ถกเถียงว่าจะใช้ภาษาใดเป็นภาษาทางการ
หลัก ๆ ใช้อยู่ 3 ภาษา คือ ภาษาเตตุม เป็นภาษาพื้นเมืองกลุ่มใหญ่ที่สุดในประเทศ ภาษาโปรตุเกส และอินโดนีเซีย
อย่างไรก็ตาม ในทางราชการใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นหลัก
แม้บางประเทศจะมีภาษาทางการมากกว่าหนึ่งภาษา ตัวอย่างเช่นสิงคโปร์ แต่ติมอร์-เลสเตมีข้อจำกัดมากกว่า ไม่ว่าจะด้านงบประมาณหรือการศึกษา
ประกอบกับการเป็นประเทศเกิดใหม่ เป็นประเทศที่กำลังสร้างอัตลักษณ์แก่ตนเองได้ไม่นาน
10. การขอเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน
ติมอร์-เลสเตขอเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนมาตั้งแต่ปีค.ศ. 2011 แต่ถูกคัดค้านโดยเฉพาะจากสิงคโปร์และมาเลเซีย
สิงคโปร์ให้เหตุผลว่า ติมอร์เลสเตยังมีการพัฒนาไม่เพียงพอ และอาจถูกใช้เป็นฐานในการแผ่อิทธิพลของมหาอำนาจเข้ามาในภูมิภาคได้
ขณะที่ประเทศที่สนับสนุน นำโดยอินโดนีเซียและไทย
อินโดนีเซียให้ความสำคัญกับด้านภูมิรัฐศาสตร์ ไม่ให้ออสเตรเลียแผ่อิทธิพลเข้ามาในภูมิภาคมากเกินไป
เป็นเรื่องที่น่าสนที่ประเทศผู้นำการสนับสนุนกลับเป็นประเทศที่ในอดีตขัดแย้งกับติมอร์-เลสเตมากที่สุดอย่างอินโดนีเซีย
อย่างไรก็ตาม มติของอาเซียนต้องใช้เสียงที่เป็นเอกฉันท์ ติมอร์-เลสเตจึงไม่ได้เป็นสมาชิกอาเซียน
การประชุมสุดยอดอาเซียนในปีค.ศ. 2023 ติมอร์-เลสเตได้เข้าเป็นผู้สังเกตุการณ์ (ภาพจาก ANATARA)
จนประทั้งปีค.ศ. 2022 ที่ผ่านมา อาเซียนได้เห็นชอบรับหลักการให้ติมอร์-เลสเตเป็นสมาชิกลำดับที่ 11 ได้เข้าร่วมทุกการประชุมระดับสูงของอาเซียน และเป็นไปตามลำดับในการเข้าเป็นสมาชิกต่อไป
ความตรึงเครียดที่มากขึ้นของภูมิรัฐศาสตร์โลก และการแผ่อิทธิพลเข้ามาของประเทศนอกภูมิภาค โดยเฉพาะจีนและออสเตรเลีย
ตัวอย่างเช่น จีนได้ให้ทุนสร้างสถานที่ราชการต่าง ๆ โรงพยาบาล โรงเรียน เป็นต้น
วิกฤตการเมืองในปีค.ศ. 2006 จากความขัดแย้งในกองทัพและในฝ่ายการเมืองเอง นำไปสู่ความพยายามรัฐประหาร ทำให้หลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย มาเลเซีย โปรตุเกส ส่งกองทัพเข้าแทรกแซงเพื่อรักษาความสงบ
หลายประเทศจึงให้ความสำคัญกับความมั่นคงในภูมิภาคมากขึ้น การรับติมอร์-เลสเตจึงเป็นการกระชับความมั่นคงในภูมิภาคด้วย
อ้างอิง :
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดิลี กระทรวงการต่างประเทศ. (2567). ข้อมูลทั่วไปของติมอร์-เลสเต. สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2567,
จาก
https://url.in.th/hXCoa
ฺBritannica. (2567). East Timor. สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2567,
จาก
https://www.britannica.com/place/East-Timor
BBC. (2567). East Timor country profile. สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2567,
จาก
https://www.bbc.com/news/world-asia-pacific-14919009
Goverment of Timoe-Leste. (2567). History. สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2567,
จาก
https://timor-leste.gov.tl/?p=29&lang=en
Joao da Cruz Cardoso. (2567). When Can Timor-Leste Expect to Become a Full Member of ASEAN?. สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2567,
จาก
https://thediplomat.com/2024/03/when-can-timor-leste-expect-to-become-a-full-member-of-asean/
ประวัติศาสตร์
ความรู้
อาเซียน
บันทึก
7
7
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย