28 พ.ค. 2024 เวลา 03:46 • สิ่งแวดล้อม

10 ลักษณะเห็ดพิษอันตราย! ต้องระวังในช่วงหน้าฝน

หน้าฝนนี้รับประทานเห็ดต้องระวัง ไม่ว่าจะซื้อเห็ดมาจากตลาดหรือเก็บเองก็ตาม เราควรที่จะศึกษาข้อมูล และสังเกตก่อนรับประทานเห็ดเสมอ เพราะถ้าเกิดความเข้าใจผิดนำเห็ดพิษมาประกอบอาหาร อาจเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต!
ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่าพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากการรับประทานเห็ดพิษจำนวนมาก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 21 พฤษภาคม 2566 พบผู้ป่วยแล้ว 12 ราย และเสียชีวิตถึง 2 รายด้วยกัน
เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด และลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากเห็ดพิษ วันนี้เราจะพาทุกคนมาสังเกต 10 ลักษณะเห็ดพิษที่ต้องระวังก่อนจะเลือกรับประทาน
1. เห็ดที่มีหมวกเห็ดเป็นปุ่มขรุขระ
2. เห็ดที่มีวงแหวนใต้หมวก
3. เห็ดที่มีขนหรือหนามเล็ก ๆ บริเวณโคน
4. เห็ดที่มีกลิ่นรุนแรงเมื่อดอกแก่
5. เห็ดที่หมวกเห็ดมีสีน้ำตาล หรือสีสันฉูดฉาดเพื่อล่อเหยื่อ
6. เห็ดที่มีลักษณะสีขาวทั้งดอก
7. เห็ดที่เกิดใกล้กับมูลสัตว์
8. เห็ดที่หมวกเห็ดมีลักษณะเป็นรูป ๆ แทนที่จะเป็นช่อง ๆ คล้ายครีบปลา
9. เห็ดที่มีลักษณะคล้ายสมอง หรืออานม้า บางชนิดต้มแล้วกินได้ แต่บางชนิดมีพิษร้ายแรง
10. เห็ดตูมที่มีเนื้อในสีขาว เห็ดที่เกิดบนมูลสัตว์ หรือใกล้กับมูลสัตว์
10 ข้อสังเกตเหล่านี้เป็นเพียงลักษณะเบื้องต้น และลักษณะส่วนใหญ่ที่พบของเห็ดพิษเท่านั้น หากเราพบลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ก็ให้เราตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่าเห็ดลักษณะแบบนี้อาจจะเป็นเห็ดที่มีพิษ ควรหลีกเลี่ยงในการรับประทาน และเห็ดบางชนิดถึงแม้จะไม่ได้มีสีสันฉูดฉาดและคล้ายคลึงกับเห็ดที่กินได้ทั่วไป ทว่าอาจจะเป็นเห็ดที่มีพิษร้ายแรงได้
ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มเห็ดระโงกพิษ อย่างเห็ดระโงกหิน หรือเห็ดไข่ตายซาก พบสารพิษ amatoxins หรือ amanitins เป็นสารพิษกลุ่มทำลายเซลล์ทำให้เกิดการล้มเหลวของอวัยวะภายในร่างกาย ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเห็ดระโงกขาวมาก เห็ดระโงกพิษจะมีลักษณะหมวกสีขาวล้วน ทั้งช่วงแก่และช่วงอ่อน มีปุยเล็กน้อย ไม่เรียบมัน ก้านกลวงบ้างตันบ้าง
ต่างจากเห็นระโงกขาวที่สามารถรับประทานได้ คือกลางหมวกต้องมีสีเหลืองเล็กน้อยตอนอ่อน และจะเหลืองเข้มมากขึ้นตอนแก่ หมวกเรียบมัน ไม่มีปุย ก้านตัน หากจะเก็บเห็ดระโงกช่วงอ่อน ต้องนำมาผ่าเพื่อดูชั้นผิวด้านใน ‘ถ้าผ่าเห็ดตูม แล้วเห็นสีเหลืองที่เปลือกชั้น 2 จากด้านบน แสดงว่ารับประทานได้’ แต่ถ้าเห็นเป็น ‘สีขาวล้วน คือ เห็ดระโงกพิษอย่างแน่นอน’
เห็ดบางชนิดไม่สามารถจำแนกได้ด้วยตาเปล่าว่าเป็นเห็ดชนิดใด ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการเก็บเท่านั้น ดังนั้น ก่อนจะเลือกเห็ด เราควรศึกษาข้อมูล สังเกตลักษณะเห็ดที่บ่งบอกถึงความเป็นพิษ หลีกเลี่ยงดอกอ่อน เพราะสังเกตความแตกต่างได้ยากกว่าดอกแก่ และผ่าเห็ดทุกดอกก่อนนำมารับประทานเสมอ
และสิ่งสำคัญที่สุดที่จะป้องกันอันตรายจากการนำเห็ดพิษมารับประทาน คือหลีกเลี่ยงหรืองดรับประทานเห็ดที่ไม่คุ้นเคย หรือไม่รู้จัก เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย และเสียชีวิตจากเห็ดพิษได้
รู้หรือไม่? เห็ดระโงกพิษมีสารทนต่อความร้อน ถึงแม้เราจะนำมาทำให้สุกแล้ว ก็ไม่สามารถทำลายพิษที่มีอยู่เห็ดระโงกพิษได้
อ้างอิง
- กรมควบคุมโรค : https://bit.ly/43eTUA4
- การจำแนกเห็ดพิษด้วยลักษณะทางสัณฐานวิทยาและภูมิปัญญาท้องถิ่นในจังหวัดอุบลราชธานี : https://bit.ly/3WwBV5L
- SCI UPDATE : ‘5 เห็ดพิษ’ ที่ต้องระวังในหน้าฝน – NSTDA : https://bit.ly/3MScUyH
โฆษณา