6 มิ.ย. เวลา 13:00 • ไลฟ์สไตล์
ตำบล ไทรม้า

การเดินทางของตำลึง

☘️ ตำลึง จัดเป็นผักพื้นบ้านที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุดชนิดหนึ่ง เพราะขึ้นได้เองตามธรรมชาติ ตามริมรั้ว และต้นไม้ที่ใช้เกาะยึด สร้างยอด
แต่กว่าที่ตำลึง 1 กำ จะถึงมือคนกิน และคนแกง นำมาแกงจืดตำลึงหมูบะช่อ ร้อน ๆ สักถ้วย มีเรื่องราวเกิดขึ้นหลายแบบ
ทั้งในแบบที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปกับคนที่เติบโตแถบชานเมืองหรือต่างจังหวัดที่เคยถูกแม่ใช้ให้ไปเก็บตำลึงยอดอ่อน ๆ สีเขียวสดใส ยามได้ฝน
เชื้อชวนให้อยากเด็ดมาทำแกงจืด ผัดผัก ลวกจิ้มน้ำพริก และแม้กระทั่งใส่แทนผักทำต้มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
เวลาที่เราไปเด็ด ถ้าอยู่ภายในรั้วบ้านตัวเอง ก็ไม่ต้องร้องขออนุญาตใคร เพียงจะต้องระวังมดกัด แมลงต่อย งูฉก ไว้บ้าง
ตำลึงริมรั้วเพื่อนบ้าน
แต่หากอยู่ในเขตพื้นที่ของเพื่อนบ้าน แม่จะบอกให้เราร้องขออนุญาตจาก คุณยาย คุณป้า คุณน้า ชื่อนั่น ชื่อนี่ก่อนเป็นการฝึกหัดให้เรารู้จักทักทายผู้ใหญ่ และเคารพสิทธิของเพื่อนบ้านไปในตัว
พอเด็ดตำลึงได้สักกำหนึ่ง ก็จะนำมาล้างน้ำ เด็ดใบ เด็ดยอดอ่อน แช่น้ำอีกครั้งสองครั้ง ก่อนนำไปใช้แกง ต้ม หรือผัด ตามใจชอบ
ได้ทั้งความอร่อยและประหยัดเงินค่าผักไปหนึ่งมื้อ แล้วนำสตางค์ไปซื้ออย่างอื่นแทน แถมได้เก็บความภูมิใจเล็ก ๆ ที่มีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระแม่
อย่างไรก็ดี ระยะหลังมานี้ วิถีชีวิตแบบนี้มีน้อยลง อาจด้วยข้อจำกัดของเวลาและรูปแบบการทำอาหารในครัวเรือนที่เปลี่ยนไป
ขณะเดียวกันตำลึงที่ขึ้นเองตามธรรมชาติทั่วไปก็เริ่มน้อยลง และเริ่มจะมีชาวบ้านเก็บมาจากบางพื้นที่ นำมาขายตามตลาดนัด ตลาดชุมชน ราคา
กำละ 5-10 บาท ต่างไปจากแบบเดิมข้างต้น
เหมือนอย่างที่ผมเจอ พี่ผู้หญิงคนหนึ่งถีบรถจักรยานดัดแปลงเป็นสามล้อ บรรทุกผักที่เก็บเองมาขาย ทั้งกะเพรา ตำลึงยอดงาม และยอดผักอื่น ๆ แลเห็นเป็นสีเขียวสดใสสะดุดตา
แถมยังให้ความรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวที่แตกต่างไปจากภาพเดิม ๆ ที่เคยคุ้นตาเห็นคุณยาย คุณป้า หาบกระจาด ใส่ผักมาขาย
จักรยานสามล้อบรรทุกผักแทนหาบ
ในจังหวะที่รถจักรยานกำลังผ่านหน้าผมที่ยืนอยู่ตรงริมถนนพอดี ในช่วงเวลาประมาณ 7 โมงเช้า ของวันวิสาขบูชา (22 พ.ค.67)
ผมเลยถือโอกาสโบกมือเรียกพี่ให้หยุดรถ เพื่อจะถามไถ่ราคาและซื้อกลับบ้าน
หลังจากทักทายและทราบชื่อกันแล้ว
ผมก็เริ่มถามพี่แป๋วว่า "ทำไมตำลึงยอดงามจัง" คำตอบก็ไหลตามมา
"เพราะเพิ่งได้ฝนตกลงมาเมื่อวานซืนค่ะ"
"เมื่อวานตอนเช้าพี่เลยไปเก็บมา"
"เก็บมาจากที่ไหนครับ" ผมถามแทรก
"เก็บมาจากแถบฟากนู้นค่ะ" พลางชี้นิ้วไปยังพื้นที่สีเขียวที่ยังพอมีหลงเหลืออยู่ ซึ่งเป็นของหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่ง แถบถนนเส้นสนามบินน้ำ ชานเมืองนนทบุรี
"รับกี่กำดีคะ ช้าหมดนะคะ" พี่หันมารุกบ้าง
ตำลึงได้ฝนราวกับได้ปุ๋ยชั้นดี
ทำไมปิดการขายเร็วจัง...ผมนึกขึ้นในใจ
แต่ในที่สุด ผมก็ซื้อไป 3 กำ สนองคำกระตุ้นของพี่แป๋วไปในทันที ด้วยตั้งใจจะไปฝากพี่รู้จักมักคุ้นกัน ซึ่งพักอยู่ในคอนโด ใกล้กับตลาดชุมชนที่พี่แป๋วจะไปวางขาย สัก 1 กำ ส่วนอีก 2 กำ จะไปทำแกงจืดตำลึงหมูบะช่อกินเอง
หลังซื้อขายกันเสร็จ สักครู่หนึ่งผมก็เดินไปทำธุระที่คอนโด เห็นพี่แป๋วกำลังปัดกวาดโต๊ะ เตรียมเอาผักมาวางขาย
☘️จัดวางผักขายที่ตลาดหน้าคอนโด🍀
พอถามว่า "เสียค่าที่เท่าไร ?"
คำตอบที่ได้รับสวนกลับมาโดยทันที
"ฟรีค่ะ ไม่เสียค่าใช้จ่าย"
"เป็นโต๊ะของเพื่อน"
"ขอยืมขายช่วงเช้าสักชั่วโมงสองชั่วโมง"
เวลาผ่านไปประมาณ 1 ชั่วโมง ผมเดินออกมาจากคอนโดหลังจากทำธุระเสร็จ
พบว่า
...ผักที่วางขายหมดเกลี้ยง...
ผมตั้งคำถามขึ้นในใจอีกครั้งว่า...
แม่ค้าขายความงาม ความสดใสของยอดตำลึงที่อิงมาจากฝน หรือว่า ขายความไร้สารพิษของผักที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือว่า ปริมาณ ยอดตำลึง
สมกับราคา..?
อะไรคือ จุดขาย หรือว่า คำถามทั้งหมดที่ยกขึ้นมา รวมกันเป็นจุดขาย..อืม..🌿
จากนั้น ผมนึกย้อนไปถึงเม็ดฝนที่พากันเทลงมาจากฟากฟ้าสองสามวันก่อน ซึ่งนอกจากจะช่วยบรรเทาความร้อนลงได้บ้างแล้ว
ยังช่วยบันดาลเงินให้กับผู้คนบางกลุ่ม เช่น พี่แป๋ว ผู้เก็บยอดตำลึงและผักอื่น ๆ มาขาย ได้เงินไว้ใช้จ่ายเกือบ 200 บาท ในช่วงครึ่งวัน
อย่างไรก็ดี ในมุมกลับกัน ฝนก็ทำให้รายได้ของแม่ค้าตามตลาดนัดอีกหลายแห่งหายไปเช่นกัน เพราะมีคนเดินลดลงจากปกติอย่างเห็นได้ชัด และแม่ค้าเองถอดใจเก็บแผงขายไปก่อนก็มี
รวมทั้ง สร้างความยากลำบากให้กับผู้สัญจรไปมาบนท้องถนน และความหนักใจให้กับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบแก้ปัญหารถติดหนักจากน้ำท่วมถนนบางสาย
ตลาดเจอฝนปรอย ๆ ตั้งแต่เริ่มขาย
🌧️ ฝนหนอฝน..กำหนดให้ชีวิตหนึ่งเป็นดั่งฟ้าหลังฝนอันงดงาม...
แต่กลับส่งสัญญานให้อีกหลายชีวิตเตรียมรับมือกับฝนตั้งแต่เริ่มตั้งเค้า...
ฝนตกรถติด น้ำท่วมในถนนบางสาย
🤔 หันกลับไปมองหายอดตำลึง 3 กำ ที่ผมซื้อติดมือกลับมาบ้างว่า เกิดอะไรขึ้น ?
ไม่น่าเชื่อว่ากำหนึ่ง...ตกไปอยู่ในมือของสามีภรรยาที่น่ารักคู่หนึ่ง ซึ่งพากันขับรถจักรยานยนต์มาใส่บาตรในวันพระใหญ่ วันวิสาขบูชา ที่วัดตำหนักใต้ ไกลไปจากคอนโดราว ๆ 2-3 กิโลเมตร
ชาวบ้านมาทำบุญวันวิสาขบูชา
โดยสามีจอดรถอยู่ใกล้ ๆ กับรถผม รอภรรยาที่รูปร่างค่อนข้างสมบูรณ์เดินมานั่งซ้อนท้าย
พอภรรยาเดินมาถึง ผมยกมือไหว้ และทักทาย "สวัสดี ครับ" ไปพร้อมกัน แล้วก็หันมาเปิดฉากสนทนากับพี่ผู้เป็นสามี ราวกับคุ้นเคยกันมานาน(ฮา)
"หนักไหมครับพี่ มีคนซ้อนท้ายอย่างนี้"
"หนักครับ" สามีตอบไป อมยิ้มไป
"แล้วหนักใจมากไหมครับ ที่ต้องคอยดูแลรับส่งกันตลอด"
"ไม่หนักใจครับ" สามีตอบไป ยิ้มไปเหมือนเดิม ไม่มีทีท่าที่บ่งบอกว่าหนัก
ใจแต่อย่างใด(ฮา ฮา)😍
ทำเอาผมยิ้มปนหัวเราะไปกับคำตอบที่ได้รับ พร้อมกับส่งตำลึงที่คิดไว้ว่า
จะให้พี่ที่คอนโด มาให้ภรรยาคนซ้อนท้ายแทน แล้วหยอดคำทิ้งท้ายไปว่า
"กลับไปถึงบ้าน อย่าลืมแกงจืดตำลึงหมูบะช่อให้พี่คนขับด้วยนะครับ เป็นค่ารถและค่าดูแล"(ฮา)
"ค่ะ" เธอรับปากแบบลากเสียงยาวว่า.. ค่า.. แถมส่งยิ้มแกมหัวเราะกลับมา(ฮา)
เท่านั้นล่ะ ความสุข ความเฮฮา ก็บังเกิดขึ้นกับเราทั้ง 3 คน ร่วมกัน😄🥰
และตำลึงกำนั้นน่าจะทำให้เกิดความสุขเพิ่มขึ้นไปอีก หากพี่ผู้หญิงกลับไปทำแกงจืดตำลึงหมูบะช่อให้พี่ผู้ชายผู้เป็นสามีรับประทานตามสัญญา
ซึ่งจะเสริมให้ตำลึงที่มีมูลค่าเพียง 10 บาท ทว่ามีบทบาทสร้างความรักที่มีคุณค่าสูงเกินกว่าราคาไปหลายเท่าตัว..👫
🍀 ในส่วนของตำลึงอีก 2 กำ นั้น ก็พลิกผันไปจากแผนเดิมที่ตั้งใจจะทำต้มบะช่อกินเอง โดยเปลี่ยนใจไปให้พี่สาวภรรยาแทนในวันเดียวกัน
เพราะด้วยเกรงว่า ไม่น่าจะมีเวลาแกงในวันสองวัน จะทำให้ผักเหี่ยวไปเสียเปล่า
วันรุ่งขึ้นตอนเย็น ผมและครอบครัวแวะไปหาพี่สาวภรรยาอีกครั้ง ได้เวลามื้อเย็นพอดี เลยถือโอกาสฝากท้องไปตามคำชวนให้ลิ้มรสต้มหมูบะช่อ ใส่ตำลึง ที่ผมนำไปฝากเมื่อวาน
ซดกินกับข้าวสวยร้อน ๆ รสชาติอร่อยถูกใจ สมกับเป็นตำลึงที่รอคอยฝนมานาน และยิ่งกินคู่กับไข่เจียวทอดเสร็จใหม่ ๆ อีก
กลายเป็นมื้อที่พิเศษมื้อหนึ่ง แถมมีคนทำให้กินอีกต่างหาก (ฮา)
ตำลึงเอ๋ย...ช่างเดินทางทอดยอดยาวไปไกลกว่าที่คาดคิดจัง...🛤️
เรื่องราวของตำลึงทำท่าจะจบเพียงแค่นี้
แต่อยู่ ๆ ถัดมาอีก 8 วัน ซึ่งตรงกับวันพระ แรม 8 ค่ำ (วันที่ 30 พ.ค.67)
ผมแวะมาทำบุญที่วัดน้อยนอก ตั้งอยู่เชิงสะพานพระนั่งเกล้า นนทบุรี ใกล้กับคอนโดที่เจอพี่แป๋ว แม่ค้าขายผักตำลึงวันก่อน
คราวนี้ นึกไม่ถึงว่าจะมาเจอพี่แป๋วอีกครั้งในวัด กำลังยืนขายผักอยู่ในบริเวณที่ทางวัดจัดให้ชาวบ้านนำของมาขายในช่วงเช้าวันพระ
วัดจัดพื้นที่ให้ขายของฟรีในวันพระ
ผมยกมือไหว้ สวัสดีทักทายพี่แป๋ว และคุยถามไถ่กันไปมา เลยทราบว่า ทางวัดไม่คิดค่าเช่าพื้นที่ แต่พี่แป๋วก็ทำบุญหยอดตู้บริจาคค่าน้ำ ค่าไฟ ไปตามกำลังศรัทธาด้วยแล้ว
จังหวะที่ผมยืนคุยกับพี่แป๋ว ตาก็มองไปยังผักต่าง ๆ ที่เก็บมาขาย มีตำลึงเป็นตัวชูโรงเช่นเคย จะแปลกตาหน่อย ตรงที่มีผักบุ้งมากกว่า 10 กำ รวมอยู่ด้วย
ผักบุ้งยุคใหม่พันไปตามรั้ว
แต่ด้วยใจผมนั้น ยังมีต้นทุนผูกพันกับตำลึงเหมือนเดิม จึงตั้งใจจะซื้อตำลึงกลับไปอีก แต่ช้าไปซะแล้ว เพราะมีลูกค้าอีกรายเหมาไปทั้งหมดที่เหลืออยู่ 5 กำ
พอถามว่า "พี่ซื้อเอาไปทำอะไรครับ"
"จะเอาไปให้เต่ากินครับ"
ผมยังงง ๆ กับคำตอบที่ได้รับ เพราะคุ้นเคยมานานว่า เต่าชอบกินผักบุ้ง ยังไม่เคยเห็นเต่ากินตำลึงมาก่อน
ลูกค้าเหมาตำลึงไปเลี้ยงเต่า
เมื่อไม่มีตำลึง ผมเลยต้องซื้อผักบุ้งติดไม้ติดมือกลับไป 2 กำ
ไม่ให้เสียเที่ยว โดยคิดคร่าว ๆ ว่า จะไปแกงเทโพหมูสามชั้น ใส่ผักบุ้งหรือไม่ก็แกงส้ม
เวลาผ่านไป 3 วัน ผักบุ้งทำท่าจะเหี่ยว
จะฝากใครก็คงยากแล้ว สุดท้ายผักบุ้งของผมก็ลงไปลอยในสระแทน ด้วยหวังว่า เต่า จะมากินผักบุ้งตามความเชื่อเดิมของผม
ผักบุ้งลอยคอ รอคอยเต่า
...ผมไม่มีเวลาพอที่จะรอคอยดูว่า เต่าจะมากิน หรือไม่ ถ้าหากเต่าไม่กิน ผมคงไม่ได้อะไร ตอบแทนกลับมาจากผักบุ้งที่ลงทุนซื้อไป ดังเช่นตำลึงที่ผมเคยซื้อหรือไม่.?
ผมเริ่มตั้งคำถามข้างต้นในใจ ชนกับความรู้สึกข้างในว่า...คาดหวังผลที่ทำมากไปจากการลงทุนเพียงน้อยนิด หรือเปล่า..?
แต่พอเหลียวไปเห็นปลาตัวหนึ่งว่ายมาตอดยอดผักบุ้งอยู่บ้าง ใจก็คลี่ไปในทางที่คลายลง..💖
และกลายเป็นเรื่องที่เล็กลงไปในทันที เมื่อคิดไปเทียบเคียงกับเรื่องอื่น ๆ โดยเฉพาะคำตอบที่เป็นทางออกของพี่แป๋ว เมื่อผมตั้งคำถามในวันที่เจอกันรอบสองว่า
"หากที่ดินสีเขียวแปลงนั้น มีการถางหญ้า ตัดต้นไม้ นำไปสร้างตึก สร้างอาคาร พี่แป๋วจะหารายได้ต่อไปอย่างไร ครับ ?"
"พี่ก็กลับไปทำอาชีพเดิมที่เคยทำมาก่อน เก็บขวด เก็บกระดาษขาย ทำคู่กับรับจ้างกวาดใบไม้ ในหมู่บ้านเป็นบางวัน ที่ได้มาเดือนละ 3 พันบาท พออยู่ได้ ตัวคนเดียว ลูก ผัว ก็ไม่มี"
เป็นคำตอบที่ไร้ซึ่งความกังวล พูดพลางทอนเงินไปพลาง
(มีเงินในมือจากการขายผัก แค่ช่วงเช้าก่อนพระจะเริ่มสวด ในเวลา 8 โมงเช้า ได้ไปแล้ว 300 บาท)
เงินมาจากหยาดเหงื่อและวิธีคิด
และเป็นคำตอบที่สื่อความนัยไว้ดีว่า...
วันนี้ ยังพอเกาะตำลึงไว้ได้ ก็เก็บเกี่ยวเอาไว้อย่างดีที่สุด วันหน้าเกาะไม่ได้
ก็ค่อย ๆ คิดไปหาอย่างอื่นพึ่งพิงต่อไป...
เช่นเดียวกับตำลึงที่ถูกถางทิ้ง ก็เดินทาง หารั้ว หาต้นไม้ในสถานที่อื่น เกาะยึด สร้างยอด ในวิถีทางของตำลึงต่อไป ☘️
ด้วยความเคยชินที่เป็นไปตามธรรมชาติและสัญชาติญาณ โดยมีฟ้าส่งฝนลงมาช่วยให้งอกงาม 🌧️
ไม่ต่างไปจากนักเดินทางผู้เดินทอดน่องหาที่เกาะเกี่ยวทางความคิดและต่อยอด เพื่อเขียนถ่ายทอด ผูกโยง เป็นเรื่องราวโดยมีผู้อ่านคอยอ่านและให้กำลังใจต่อไป ไงล่ะ
พ่อลมโชย...(ฮา)🛶
🙏ขอบคุณมากครับ
มุมชัย นัยสอิ้ง
โฆษณา