29 พ.ค. เวลา 12:00 • การ์ตูน

อารารากิ โคโยมิ – The Case of a False Hero

อนิเมะ Monogatari ประกาศซีซั่นใหม่แล้วในปีนี้ แน่นอนว่าแฟนคลับอย่างผมตื่นเต้นและรอติดตามอย่างใจจดใจจ่อ ซีซั่นต่อไปจะดัดแปลงจาก Light Novel ในส่วนที่ไม่ได้แปลเป็นภาษาอังกฤษ ดังนั้นผมจึงไม่มีโอกาสที่จะได้อ่านมัน (แต่เพราะซีรีส์นี้ทำให้ผมตั้งใจศึกษาภาษาญี่ปุ่นมากขึ้นเพราะอยากจะอ่านตัว Light Novel เป็นภาษาญี่ปุ่น) แต่เท่าที่เห็น ซีซั่นต่อไปจะพูดถึงตัวละครสมทบตัวอื่น ๆ โดยที่ไม่ได้หมุนรอบพระเอกอย่างอารารากิ โคโยมิแล้ว
ผมจึงคิดว่ามันเป็นโอกาสที่ดีที่จะเขียนเรียบเรียงความคิดของผมที่มีต่อตัวละครเอกจำเป็นอนิเมะซีรีส์ที่ผมชื่นชอบมากที่สุด ซีรีส์โมโนกาตาริเป็นซีรีส์ที่ไม่ได้เล่าเรื่องราวแบบตรงไปตรงมา แต่แอบแฝงธีมในธีมอีกทีหนึ่ง ทำให้ประสบการณ์ดูแต่ละครั้งแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับว่าผู้ชมจะโฟกัสที่จุดไหนเป็นพิเศษ ส่วนที่ผมอยากจะพูดถึงในตอนนี้ คือประเด็นของบทบาทของอารารากิ โคโยมิ ในฐานะพระเอก และ ฮีโร่จอมปลอม
อะไรคือการเป็นฮีโร่? ตั้งแต่เด็กจนโต ผมโตมากับเรื่องราวฮีโร่มากมาย ตั้งแต่ขบวนการเซ็นไต หรือไอมดแดง โตมาหน่อยก็มีพวกซุเปอร์ฮีโร่ค่าย Marvel หรือ DC โตขึ้นมาอีกหน่อยเรามีจำพวก Anti-Hero ด้วย เรื่องราวของฮีโร่อยู่ในวัฒนธรรมการเล่าเรื่องของมนุษย์มาตั้งแต่โบราญ เช่น Hercules, Achilles, Odysseus, หรือ Perseus มันเป็นเรื่องราวที่เล่าง่าย และกินใจผู้ชมครับ
Hecules สู้กับ Achelous ปี 1924 โดย François Joseph Bosio
อารารากิ โคโยมิ เป็นฮีโร่จริง ๆ งั้นหรือ ในเรื่องราวของโมโนกาตาริที่มีธีมหลักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จากปากของโอชิโนะ เมเมะ ที่ว่า ใครก็ช่วยเหลือเราไม่ได้ เราต้องช่วยเหลือตัวเราเอง มันไม่ได้ย้อนแย้งกับบทบาทความเป็นฮีโร่ของพระเอกของอารารากิเลยเหรอ แน่นอนครับ มันย้อนแย้ง และความลักลั่นย้อนแย้งนั้นก็ไม่ได้ถูกปกปิดแต่อย่างไร แต่มันเด่นชัดอย่างไม่ต้องสงสัย
อารารากิเป็นพระเอกของเรื่อง เพียงเพราะ หนึ่ง เราเปิดเรื่องมาด้วยอารารากิ และสอง เรื่องราวเล่าผ่านมุมมองของอารารกิ ทำให้เรื่องราวบิดไปเรื่อยตามความคิดของผู้บรรยายอย่างอารารากิ นั่นคือประเด็นเรื่องของมุมมอง เราเห็นในสิ่งที่อารารากิเห็น รู้สึกในสิ่งที่อารารากิรู้สึก รู้แต่เพียงสิ่งที่เขารู้ สิ่งอื่นที่เขาไม่อยากให้เรารู้ เขาก็ไม่ได้เล่าในถึงจุดนั้น เราไม่เพียงได้รับเรื่องของมุมมองของอารารากิ แต่เรารับรู้เรื่องผ่านปากของอารารากิต่างหาก
อารารากิเป็นตัวละครที่ย้อนแย้งครับ และเขาเองก็ไม่ได้ปฏิเสธในจุดนั้น เขาพูดอย่างหนึ่ง คิดอย่างหนึ่ง ทำอีกอย่างหนึ่ง อารารากิไม่ได้เป็นตัวละครเอกที่สมบูรณ์แบบ แต่เป็นตัวละครที่เต็มไปด้วยข้อบกพร่อง เมื่อนั้น เขาจึงกลายเป็นตัวละครที่สมจริงด เป็นตัวละครที่สมจริงยิ่งกว่าของจริง ตามแบบที่ไคคิ เดชูกล่าวไว้ “ของปลอมมีค่ามากกว่าของจริงในความพยายามที่จะเลียนแบบของจริง”
ไคคิ เดชู
เราจะเริ่มวิเคราะห์ตัวละครอย่างอารารากิจาก Kizumonogatari ก่อนดีกว่าครับ เพราะในภาคนี้เป็นภาคที่เกี่ยวข้องกับตัวละครอารารากิมากกว่าภาคที่ตามมาอย่าง Bakemonogatari สิ่งแรกที่เรารับรู้จากปากของอารารากิคือคติประจำใจของเขา การตัดสินใจของเขาที่จะสันโดษ และอยู่ตัวคนเดียว ความไร้เพื่อนของเขาจากเหตุผลที่ว่า การมีเพื่อนด้อยค่าความเป็นคนของเขา
เหตุผลนั้นคือ เมื่อเขามีเพื่อน มีความสัมพันธ์ อารมณ์และความรู้สึกของเขาจะไปผูกกับเพื่อน ๆ ของเขา หากเพื่อนทุกข์ เขาจะทุกข์ หากเพื่อนเจ็บ เขาจะเจ็บ แม้ว่าฮาเนะคาว่าจะแย้งว่า หากเพื่อนสุข เขาก็จะสุขด้วย แต่อารารากิโต้แย้งว่า ไม่ เพราะหากเพื่อนเขามีความสุข เขาจะอิจฉา เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านั้น เขาเลือกที่จะไม่มีเพื่อน
นั่นคือข้อย้อนแย้งแรกของอารารากิครับ แม้ว่าเขาจะเริ่มภาคมาด้วยคติประจำใจเช่นนั้น แต่ตลอดทั้งภาค เขาได้ความสัมพันธ์เพิ่มเข้ามา หนึ่งคือฮาเนะคาว่า ที่กลายเป็นเพื่อนสนิทและเพื่อนคนแรกของเขา สองคือโอชิโนะ เมเมะ ผู้ที่เป็นเสมือนครูของเขา และสามคือ Kiss-shot Acerola-orion Heart-under-blade หรือชิโนบุ แวมไพร์คู่บุญของเขา
Kiss-shot Acerola-orion Heart-under-blade
ความย้อนแย้งที่สุดของตัวละครอย่างอารารากิคือบทบาทการเป็นพระเอกของเขา เขาเป็นพระเอกเพราะ Bakemonogatari เปิดเรื่องมาในมุมมองของเขา และเขาเป็นเพียงหนึ่งในสองตัวละครชายในเรื่อง อีกคนหนึ่งคือโอชิโนะ เมเมะที่เล่นตามบทบาทของเขาได้อย่างดีในการเป็นตัวละครสมทบอย่างเห็นได้ชัด แต่อารารากิ แม้จะเป็นพระเอก เขาเป็นฮีโร่หรือไม่ครับ เขาช่วยอะไรใครไว้ได้บ้างหรือไม่ตลอดทั้งเรื่อง
แก่นหลักของเรื่องโมโนกาตาริคือประเด็นของการช่วยเหลือตนเอง อารารากิย้อนแย้งในประเด็นนี้สองจุดครับ จุดแรกนั้นเราเห็นใน Kizumonogatari เพราะอารารากิมีความคิดด้อยค่าตัวเองมาก ๆ ความคิดว่าตัวเองนั้นไม่มีค่าเลยทำให้อารารากิเอาชีวิตตัวเองเข้าไปช่วย Kiss-shot ที่กำลังจะตาย การกระทำนี้บ่งบอกเราสองอย่างครับ หนึ่ง อารารากิไม่เห็นค่าในตัวเอง และสองเขาคิดว่าการช่วยเหลือใครสักคนทำให้เขามีค่านั่นเอง ความคิดนี้ไม่แตกต่างจาก Kiss-shot ในตอนจบ Kizumonogatari ครับ
การเอาชีวิตตัวเองเข้าไปแลกเพื่อช่วยเหลือคนอื่นปรากฏอยู่บ่อยครั้งตลอดทั้งเรื่องครับ ตั้งแต่ยอมเป็นคนหลงทางเพื่อช่วยฮาชิคุจิ มาโยอิ ต่อสู้กับกัมบารุ สุรุกะจนเกือบตาย เข้าไปสู้กับคำสาปงูเพื่อช่วยเซนโกคุ นาเดะโกะ และสู้กับฮาเนะคาว่าในร่างปีศาจแมว เขาเกือยตายทั้งนั้น แต่เพราะเขามีพลังแวมไพร์จึงรอดมาได้ อย่างที่กาเอ็น อิซึโกะกล่าวไว้ใน Owarimonogatari ว่าอารารากิเองมีความรู้สึกผิดที่เอาเปรียบความเป็นอมตะของเขา
กาเอ็น อิซึโกะ
ความย้อนแย้งคือ หากอารารากิไม่เห็นค่าในชีวิตตัวเอง ทำไมเขาจึงคิดว่าชีวิตของเขามีค่าพอที่จะเอาไปแลกกับชีวิตของคนอื่น ถ้าชีวิตของคนอื่นมีค่า นั่นหมายความว่า ชีวิตของอารารากิก็ต้องมีค่าเทียบเท่ากับชีวิตของคนอื่น ๆ ที่เขาเข้าไปช่วย ใน Owarimonogatari บอกเราว่า อารารากิเป็นคนที่ชอบวิชาเลข เพราะเขาเหมือนจะเห็นค่าต่าง ๆ เป็นตัวเลข เรื่องของคุณค่าเท่ากันหรือไม่นั้นแสดงออกในเรื่อง Nisemonogatari จากคำถามของคาเกะนูอิ โยซุรุเหมือนกันครับ
ความย้อนแย้งจากการกระทำของอารารากิในการเข้าไปช่วยเหลือคนอื่นอย่างที่สอง คือความย้อนแย้งเกี่ยวเนื่องกับธีมของเรื่องโมโนกาตาริครับ โอชิโนะ เมเมะกล่าวไว้ในในหลากหลายโอกาสว่า คนเราต้องช่วยเหลือตัวเอง คนอื่นช่วยเหลือเราไม่ได้ แต่เมื่อคนอื่นมีปัญหาชีวิต อารารากิยังจะเอาตัวเองเข้าไปพัวพันและพยายามอย่างยิ่งเพื่อช่วยเหลือคนอื่น ผลลัพธ์คืออะไรครับ ในเรื่องมีใครที่ได้อารารากิช่วยไว้จริง ๆ หรือไม่
Kiss-shot ที่อารารากิเราชีวิตเข้าไปแลกให้ใน Kizumonogatari ถือว่าได้อารารากิช่วยไว้ไม่ ไม่ครับ สุดท้ายแล้วต่างคนต่างเป็นแผลเป็นให้แก่กันและกัน นาเดะโกะได้อารารากิช่วยไว้ก็จริง แต่ในภาพใหญ่แล้ว ตัวตนของอารารากิในชีวิตของนาเดะโกะเป็นผลเสียมากกว่า ดังนั้นจึง ไม่เช่นกันครับ ฮาเนะคาว่ามีปีศาจแมว อารารากิให้ชิโนบูสะกดไว้ แต่ก็แค่ชั่วคราวเท่านั้น จึงไม่ครับ กัมบารุต้องในภาค Hanamonogatari จึงจะช่วยเหลือตัวเองได้ มาโยอิยึดติดกับอารารากิจึงต้องตกนรก
"No" da
เรื่องของฮาเนะคาว่าและนาเดะโกะเป็นกรณีพิเศษครับ เพราะทั้งสองคนนี้มีความรู้สึกพิเศษให้อารารากิอย่างเด่นชัดกันทั้งคู่ และความรู้สึกนั้นเป็นผลร้ายต่อทั้งสองเอง โดยที่อารารากิรู้หรือไม่นั้นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ทั้งสองมีปัญหาชีวิตด้วยกันทั้งคู่ และปัญหานั้นแสดงออกในรูปแบบบุคลิกตรงกันข้าม อย่างฮาเนะคาว่าที่เรียบร้อย ก็กลายเป็นแมวที่เปิดเผย และนาเดะโกะที่เป็นสาวน่ารักก็เป็นงูที่ห้าวและขี้โมโห คนหนึ่งเบี่ยงเบนความรู้ของตัวเอง อีกคนหนึ่ง Play Victim
ทั้งสองไม่ช่วยเหลือตัวเองให้พ้นจากปัญหาของตัวเอง เพราะทั้งสองมองอารารากิเป็นดั่งอัศวินขี้ม้าขาวที่จะคอยเข้ามาช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้กับพวกเธอ ฮาเนะคาว่าและนาเดะโกะ Idolize อารารากิ ความรู้สึกหลงไหลในตัวอารารากิของทั้งสองจึงเป็นความรู้สึกที่เปลือกนอกมาก ๆ เธอไม่ได้ชอบอารารากิในแบบที่เขาเป็น แต่จากการกระทำของเขา ซึ่งการกระทำของอารารากิก็ใช่ว่าจะถูกต้องเสมอไป อย่างที่บอก มันเต็มไปด้วยความลักลั่นย้อนแย้งครับ
ในหมู่สาว ๆ ทั้งหมดรอบตัวอารารากิ มีเพียงเซนโจวกาฮาระ ฮิตากิเท่านั้นในเรื่องที่ช่วยเหลือตัวเองด้วยตัวเอง และมีอารารากิแค่นำมาให้โอชิโนะ เมเมะชี้แนะเท่านั้น ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างอารารากิและเซนโจวกาฮาระเป็นความสัมพันธ์ที่บริสุทธิ์มากกว่ากับสาว ๆ คนอื่น เพราะเซนโจวกาฮาระชอบอารารากิในแบบที่อารารากิเป็น ไม่ใช่เพราะเขาเป็นอัศวินม้าขาวที่มาช่วยเหลือเธอนั่นเอง
เซนโจวกาฮาระและอารารากิ
ผมว่าโอชิโนะ เมเมะเห็นถึงปัญหานี้ของอารารากิครับ แม้ว่าโอชิโนะเองก็ไม่ได้มีแผนจะอยู่ที่เมืองนั้นนานอยู่แล้ว แต่การจากไปของเขาตั้งแต่ Bakemonogatari จนตอนสุดท้ายของ Owarimonogatari บ่งบอกอย่างหนึ่งครับ จากที่เทโอริ ทาดัตซุรุกล่าว โอชิโนะ เมเมะเลือกที่จะเอาตัวเองออกจากบทบาทหน้าที่ของเรื่องราว ใน Bakemonogatari เห็นได้อย่างชัดเจนว่าโอชิโนะ เมเมะเป็นตัวละครสมทบ เมื่อเขาเอาตัวเองออกจากบทบาทของเรื่อง ในเรื่องจึงไม่มีตัวละครสมทบ
ผมว่ามันเหมือนความว่า เมเมะต้องการสอนให้อารารากิเข้าใจบทบาทของตัวเอง อารารากิไม่ใช่ตัวละครเอกในปัญหาของสาว ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เขาเป็นเพียงแค่ตัวละครสมทบในเรื่องราวของคนอื่นเท่านั้น การเข้าไปช่วยเหลือปัญหาของคนอื่นระดับอารารากินั้นไม่เหมาะสมกับบทบาทของอารารากิ เขาไม่สามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ คนอื่นต้องช่วยเหลือตัวเอง เจ้าของปัญหาเป็นตัวละครเอกในเรื่องราวเหล่านั้น
เมื่อพ้น Bakemonogatari ไปแล้ว เรื่องราวหลาย ๆ เรื่องไม่ได้เล่าผ่านมุมมองของอารารากิเท่าไหร่ ใน Tsubasa Tiger เรื่องราวเล่าผ่านฮาเนะคาวะเอง และเป็นภาคที่ฮาเนะคาว่าแก้ไขปัญหาของตัวเอง Nadeko Medusa เล่าผ่านนาเดะโกะเอง Hitagi End เล่าผ่านไคคิที่มาช่วยแก้ปัญหาให้นาเดะโกะจากภาค Nadeko Medusa นอกจากนี้ Hanamonogatari เล่าผ่านกัมบารุเอง และเป็นภาคที่เธอแก้ปัญหาตัวเอง โดยอารารากิเป็นตัวละครสมทบอย่างแท้จริง
กัมบารุตัดผมหลังจากแก้ไขปัญหาของตัวเองใน Hanamonogatari
อารารากิเป็นตัวละครเอกของเรื่องเฉพาะในตอนที่เขาเป็นเจ้าของปัญหา เช่น Kizumonogatari และ Owarimonogatari ซึ่ง Kizumonogatari เป็นภาคแรกของเรื่องราวตามลำดับเหตุการณ์ เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาของอารารากิ และ Owarimonogatari ภาคแรกทำให้ปัญหาเหล่านั้นกระจ่าง Koyomimonogatari เล่าเรื่องปัญหาของคนอื่นผ่านมุมมองของอารารากิ และแก้ไขปัญหาของเขาเองใน Owarimonogatari ภาคสอง
อารารากิช่วยเหลือตัวเองได้สักทีใน Owarimonogatari อารารากิเบี่ยงเบนสายตาตัวเองออกจากปัญหาของเขาเองในภาคอื่น ๆ เขาไม่ได้แก้ไขหรือรับรู้ปัญหาของเขาเลยจนกระทั่งโอชิโนะ โอกิปรากฏตัว เขาเลือกที่จะสนใจปัญหาของคนอื่น แทนที่จะมาโฟกัสที่ปัญหาของเขาเองตลอดทั้งเรื่อง ความรู้สึกผิดของเขาในแต่ละเหตุการณ์ที่เขาเข้าไปพัวพันในเรื่องราวของคนอื่น แม้ว่าเขาจะเจตนาดี แต่เมื่อกาเอ็น อิซึโกะอธิบาย มันก็เด่นชัดยิ่งขึ้น
เขาเลือกที่จะไม่มีเพื่อน และหลงลืมเหตุการณ์สำคัญเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับโออิคุระ โซดาชิ และความเมินเฉยต่อเหตุการณ์นั้น ความรู้สึกผิดที่ช่วย Kiss-shot ความรู้สึกผิดที่เขาเป็นต้นเหตุของความเครียดของฮาเนะคาว่า และความคลั่งของนาเดะโกะ และอื่น ๆ ความรู้สึกผิดและความย้อนแย้งของตัวเขาเองคือปัญหาของเขา และปัญหานั้นกลายเป็นโอกิ เขาต้องกลายเป็นมนุษย์ธรรมดา ไปลงนรกสักรอบ และค่อยกลับมาแก้ไขปัญหานั้นในฐานะคน ๆ หนึ่ง
ฮาชิคุจิและอารารากิในตลกในภาค Mayoi Hell
อารารากิเผชิญหน้ากับโอกิ และเขาสามารถกำจัดโอกิได้ไม่ยาก แต่เพราะ Owarimonogatari เป็นเรื่องราวของอารารากิ และเป็นเรื่องราวที่อารารากิช่วยเหลือตัวเอง เขาเข้าไปช่วยโอกิเอาไว้ อย่างที่เขาบอก เขาไม่ได้ช่วยเหลือใครอื่นในภาคนี้ เขาเพียงแต่ช่วยเหลือตัวเองเอาไว้ ปัญหาไม่ได้มีไว้หลีกเลี่ยง ปัญหามีไว้ให้แก้ ประเด็นไม่ได้อยู่ที่การกำจัดอีกด้านหนึ่งของเขา แต่อยู่ที่การยอมรับการมีอยู่ของอีกด้านหนึ่ง มันคือการยอมรับความจริงและอยู่ร่วมกับมัน
อารารากิรู้ความจริงเกือบทุกอย่างอยู่แล้ว แต่เพราะความย้อนแย้งในจิตใจของเขา เขาเลือกที่จะละทิ้งมัน เขารู้ว่าอะไรเกิดขึ้นกับโซดาชิ แต่เลือกที่จะเมินเฉย อย่างที่โอกิบอกไว้ เธอไม่รู้อะไรเลย แต่อารารากิคือคนที่รู้ เขารู้ทุกอย่าง แต่เลือกที่จะทำเป็นไม่รู้ เพราะการรับรู้ของเขามันจะทำให้เขาเข้าใจในความย้อนแย้งของเขาเอง และเมื่อเขามีความย้อนแย้ง การกระทำของเขาก็ไม่ใช่การกระทำของพระเอก เพราะเขาไม่ใช่พระเอกตั้งแต่แรก การกระทำของเขาจึงนอกจากจะสูญเปล่าแล้ว ยังทำให้มีปัญหาอื่นตามมา
แต่ประเด็นเรื่อง การรู้ ไม่รู้ ความเข้าใจ เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ผมอย่างจะกล่าวถึงเป็นพิเศษ ดังนั้นจะเอาไว้โอกาสหน้า เมื่อผมจะมาเขียนเกี่ยวกับ ความรู้สมบูรณ์ของอิซึโกะ การรู้เท่าที่รู้ของฮาเนะคาว่า การรู้แต่แสร้งว่าไม่รู้ของอารารากิ และความเข้าใจของโทโอเอะ
อารารากิ โคโยมิ
สุดท้ายแล้วอารารากิเป็นพระเอกหรือไม่ เขาเป็นตัวละครหลักอย่างแน่นอนครับ และเป็นพระเอกในมุมมองการเล่าเรื่องของซีรีส์โมโนกาตาริ และนอกจากนี้ เขายังเป็นตัวละครเอกที่ทรงคุณค่าในวงการอนิเมะและวรรณกรรมอีกด้วย เพราะเรื่องราวที่เล่าผ่านมุมมองของอารารากิ พัฒนาการของตัวละคร และการเติบโตในฐานะคน ๆ หนึ่งของอารารากิ เป็นเรื่องที่ผมคิดว่า ใคร ๆ ก็สามารถผูกพันกับตัวละครอย่างอารารากิได้ไม่ยาก
อารารากิ โคโยมิ
มากไปกว่านั้น แม้ว่าผมจะบอกว่าปัญหามันไม่ใช่ปัญหาของอารารากิ แต่ท้ายที่สุดแล้ว โมโนกาตาริ เป็นเรื่องราวของเด็กวัยรุ่นผู้ชายคนหนึ่ง ที่มีจิตใจดี แม้จะเต็มไปด้วยความย้อนแย้ง แต่ใครบ้างจะไม่มีความย้อนแย้งในจิตใจ มันเป็นเรื่องราวการเติบโต การยอมรับ และพัฒนาการของชายหนุ่มวัยเจริญพันธ์ อารารากิจึงเป็นพระเอกจอมปลอมที่เหมือนของจริงยิ่งกว่าของจริง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา