29 พ.ค. 2024 เวลา 10:45 • ไอที & แก็ดเจ็ต

ไขข้อสงสัย เล่นมือถือขณะฝนตก เสี่ยงถูกฟ้าผ่าจริงไหม?

สวทช. ไขข้อสงสัย เล่นโทรศัพท์มือถือขณะฝนตก เสี่ยงทำให้ถูกฟ้าผ่าจริงหรือไม่? หลังประเทศไทยเข้าสู่ช่วงหน้าฝนที่มาพร้อมมรสุมแบบเต็มตัว
สมาร์ตโฟนนับเป็นไอเทมข้างกายสำหรับใครหลายคนที่ต้องพกติดตัวไว้ใช้งาน ทว่ากรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศว่าประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูฝนเป็นที่เรียบร้อย ทั้งยังต้องเตรียมเผชิญกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่าง ๆ ที่รุนแรงด้วย ทั้งฝนตกหนัก ลมมรสุม ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า แบบจัดเต็ม
และการที่เรามีมือถือไว้ใช้งานในสภาวะดังกล่าว ทำให้หลายคนกังวลว่า จะเสี่ยงทำให้เกิดฟ้าผ่ามาที่เราหรือไม่? ทำให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ออกมาไขคำตอบในเรื่องนี้
ปรากฏการณ์ ฟ้าผ่า
ทำความรู้จัก “ฟ้าผ่า”
สวทช. อธิบายว่า "ฟ้าผ่า" เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดจากความไม่สมดุลระหว่างประจุไฟฟ้าในก้อนเมฆและพื้นดิน โดยระหว่างเกิดฝนฟ้าคะนอง ก้อนเมฆจะมีการสะสมประจุไฟฟ้าเกิดขึ้น ซึ่งหากบริเวณใต้ก้อนเมฆมี "ประจุลบ" สะสมอยู่มาก ประจุลบก็จะเดินทางลงสู่พื้นดิน
ขณะเดียวกัน "ประจุบวก" บนพื้นดินก็ถูกประจุลบดึงดูดขึ้น ไป และเมื่อทั้ง 2 ขั้วเดินทางมาเจอกัน ก็จะเกิดปรากฏการณ์ฟ้าผ่า ซึ่งพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าคือ พื้นที่โล่งแจ้ง สระว่ายน้ำ ที่ที่มียอดสูง ๆ เช่นต้นไม้ เป็นต้น
เล่นมือถือตอนฝนตก เสี่ยงฟ้าผ่าจริงไหม?!
สวทช. ให้ความรู้ว่า แม้สมาร์ตโฟนจะเชื่อมต่อด้วยสัญญาณต่าง ๆ รวมทั้งวัสดุที่ใช้ผลิตก็อาจเป็นชนวนล่อฟ้าได้ แต่หากเรามองในทฤษฎีของการเกิดฟ้าผ่า ประจุไฟฟ้าภายในโทรศัพท์กลับไม่มีกําลังมากพอที่จะทําให้เกิดฟ้าผ่าได้ และสัญญาณก็ไม่สามารถแตกตัวเป็นตัวนําไฟฟ้าได้เช่นกัน
iPhone
สวทช. ระบุว่า ความเชื่อนี้ มีนักวิชาการหลายท่านที่ออกมายืนยัน รวมทั้งได้มีการทดลองเพื่อพิสูจน์ความจริงของความเชื่อนี้แล้ว โดยการนําสมาร์ตโฟนมาวางไว้บริเวณที่สร้างฟ้าผ่าจําลอง ทั้งหมด 3 เครื่อง คือ
  • 1.
    มือถือที่ปิดเครื่อง
  • 2.
    มือถือที่เปิดเครื่องและมีการโทรเข้า
  • 3.
    มือถือที่เปิดเครื่อง มีการโทรเข้าและตั้งรับสายอัตโนมัติ
ผลลัพธ์คือ ไม่มีสมาร์ตโฟนเครื่องไหนทําให้เกิดฟ้าผ่าได้ และทั้ง 3 เครื่องยังสามารถใช้งานได้ปกติ ดังนั้นจึงยืนยันได้ว่า
เล่นมือถือตอนฝนตก ไม่เสี่ยงฟ้าผ่าแต่อย่างใด
สวทช. เสริมว่า แม้สมาร์ตโฟนไม่ใช่สาเหตุที่ทําให้เกิดฟ้าผ่า แต่อย่าเพิ่งวางใจว่าจะปลอดภัย เพราะในขณะที่เกิดฟ้าร้อง ก็อาจมีผลข้างเคียงได้ เนื่องจากสมาร์ตโฟนอาจเหนี่ยวนํากระแสไฟฟ้าเข้ามา จนทําให้แบตเตอรี่ช็อตและรวนได้ รวมถึงการเล่นโทรศัพท์ระหว่างฝนตก อาจทําให้น้ำเข้าอุปกรณ์ จนเกิดความเสียหายได้เช่นกัน
สวทช. แนะนำว่า เมื่อเกิดฝนฟ้าคะนอง อย่าเผลอไปอยู่ในที่โล่งแจ้ง ไม่หลบฝนใต้ต้นไม้หรืออยู่ในที่เสี่ยงอื่น ๆ ทางที่ดีควรหลบฝนอยู่ในอาคาร หรือในบ้านของเราเองจะปลอดภัยที่สุด
ที่มา : AIS | สวทช.
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
Facebook PPTV บันเทิง : https://www.facebook.com/PPTVHD36Entertainment
โฆษณา