29 พ.ค. 2024 เวลา 04:29 • ปรัชญา
Iconsiam

การฆ่าความโกรธทำได้ไหม? แล้วต้องทำอย่างไร? มาฟังกันครับ

ความโกรธของเราเหมือนระเบิด คือพอปาออกไปแล้ว ปรากฏว่ามันระเบิดตัวเองก่อนที่จะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างราพณาสูรไป เท่ากับว่ามันต้องทำลายตัวเองให้เป็นจุลก่อนที่จะทำลายสิ่งรอบข้าง กล่าวคือ ตัวเองพังก่อน หรือทุกข์ก่อน ค่อยไปสาระแนทำคนอื่นทุกข์และพังไปด้วยกัน #โทสะ #โลกธรรม๘
ความโกรธ หรือภาษาธรรมะเรียกว่าโทสะหรือโทโสนั้น เป็นสิ่งไม่ดี ไม่ว่าจะมีเหตุผลให้โกรธ หรือไม่มีเหตุผลให้โกรธแล้วดันโกรธก็ล้วนไม่ดีทั้งสิ้น แต่เราแทบไม่เคยเห็นคนที่ไม่เคยโกรธเลย เชื่อได้ว่าน้อยมากที่ใครจะไม่เคยโกรธ หรือไม่เคยขัดเคืองใจ หาได้น้อยมากๆ ถ้าจิตใจไม่ประเสริฐจริงๆ (ไม่ได้เป็นอารยะบุคคล) อย่างไรเสียก็ไม่มีทางดับความโกรธได้
#กิเลส #ตัณหา
การละทิ้งกำจัดโกรธนั้นทำได้ยาก-มากๆตราบใดที่เรายังอยู่ในวังวนของโลกธรรม๘ ในแต่ละวันเรารับรู้สิ่งต่างๆที่แตกต่างกันไป เหมือนกันบ้าง แตกต่างกันบ้างในแต่ละวัน บางวันก็มีสิ่งกระตุ้นให้โกรธ บางวันก็ไม่มีสิ่งกระตุ้นให้โกรธ เหล่านี้ล้วนเป็นภาวะของธรรมชาติระดับสูงละเอียดที่เรียกว่าอภิธรรม อันล้วนมีเหตุปัจจัยที่ทำให้ปฏิกิริยาทางอารมณ์ของผู้คนก่อเกิดขึ้น ไม่เว้นแม้แต่อริยบุคคล อย่างโสดาบันและสกิทาคามีก็อาจโกรธได้ แต่อดทนได้นั่นเอง
#โทสะ #บริหารความโกรธ
อย่างโสดาบัน จิตจะอดทนความโกรธได้ แต่อาจคลายโกรธได้ช้าหน่อย และไม่เอาความโกรธนั้นเป็นตัวตั้งต้นไปทำร้ายผู้ที่ถูกตนโกรธ โสดาบันอาจจะมีจิตที่ผูกโกรธแต่ไม่ผูกจองเวรใดๆ ไม่อาฆาตพยาบาทและไม่ปรารถนาจะให้คนที่ตนโกรธนั้นวิบัติฉิบหาย แม้จะแสดงออกว่าโกรธ แต่ก็จะยับยั้งไว้ไม่ให้ทำบาปทำผิดศีล อย่างมากก็แค่ตัดขาดไม่ยุ่งเกี่ยวกับคนที่ตนโกรธอีก และเมื่อคนที่ตนโกรธเกิดเหตุวิบัติฉิบหาย โสดาบันก็จะเห็นใจ หรือไม่ก็วางอุเบกขา โดยจะไม่ไปสะใจอย่างเด็ดขาด
ส่วนสกิทาคามี ก็โกรธได้ อาจโกรธได้ยากกว่าโสดาบันเพราะมีภูมิจิตที่สูงกว่า ต้องมีเหตุปัจจัยให้โกรธจริงๆสกิทาคามีถึงจะโกรธ โดยใช้เวลาเพียงไม่นานก็สิ้นความโกรธไป หรือถ้าเป็นสกิทาคามีที่มีอนุสัยโกรธง่าย แต่ท่านก็จะไม่ถือสาเอาความอะไร ไม่แม้แต่จะผูกโกรธ พอโกรธแต่ละครั้งก็มักใช้เวลาไม่เกินห้านาทีจึงหายสนิทนั่นเอง เรียกได้ว่าคลายความโกรธได้เร็วสุดๆ และแน่นอนสกิทาคามีจะไม่ถือสาใครทั้งสิ้น โกรธแล้วจะวางอุเบกขาแทบจะในทันที
ชารี ไคล์น (Shari Klein) เเละ นีล กิ๊บสัน (Neill Gibson) นักจิตวิทยาและผู้ที่เกี่ยวข้องด้านพัฒนาบุคคล วิเคราะห์เรื่องความโกรธไว้อย่างน่าสนใจว่า ทำไมคนถึงโกรธ แล้วเราจะเปลี่ยนความโกรธให้กลายเป็นความเข้าใจได้อย่างไร
ปฏิกิริยาอันก่อเกิดความโกรธเริ่มมาจากความไม่พอใจก่อน (มีตัณหาที่ชื่อว่าวิภาวะตัณหาเป็นบ่อเกิด) สาเหตุของความไม่พอใจ คือ ความต้องการที่ไม่ได้รับการตอบสนอง อยากได้แล้วไม่ได้ดั่งใจ เกิดการเพ่งโทษตำหนิผู้อื่น อาจเป็นคน สัตว์ สิ่งของ ใครบางคนหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพราะฉะนั้น วัตถุแห่งความโกรธคือคน สัตว์ หรือสิ่งของนั่นเอง
เมื่อเราโกรธ เราจะใช้โทโสเจตสิกปรุงแต่งจนออกมาเป็นโทสะ เป็นความเกรี้ยวกราด พอแสดงความเกรี้ยวกราดออกไปใส่ใครเขาเข้า เขาคนนั้นก็ย่อมโกรธตาม ไม่พอใจเช่นกัน บางรายถึงขั้นตอบโต้กลับอย่างรุนแรงเสียยิ่งกว่าที่เราทำ น้อยคนนักที่ถูกเกรี้ยวกราดใส่แล้วจะไม่ตอบโต้กลับ ตราบใดที่บุคคลนั้นไม่ใช่อริยบุคคลก็ย่อมตอบโต้กลับไม่ด้วยวิธีใดก็วิธีหนึ่ง
จึงสรุปได้ว่าความโกรธนั้นไม่มีประโยชน์ และมีโทษหลัก 3 ประการ ดังต่อไปนี้คือ ๑.เป็นบ่อนทำลายสุขภาพ อาจทำให้เป็นโรคจิตเวช หรือเป็นโรคทางกาย เช่น มะเร็ง ความดันสูง ผิวหยาบคล้ำกระด้างเพราะฮอร์โมนคอร์ติซอลมากไป เป็นต้น ๒.ทำให้บุคลิกภาพดูแย่ ดูเป็นคนไม่มีวุฒิภาวะ ดูเป็นคนไม่มีคุณธรรม ดูน่าอนาถ ไม่มีความน่าเชื่อถือ คนรอบตัวไม่อยากเข้าใกล้ และ ๓.อาจนำไปสู่การทำผิดศีลธรรม-จริยธรรม อาจต้องโทษทางกฎหมาย และต้องโทษทางกฎแห่งกรรม
ดังนั้น จึงต้องถีบความโกรธให้กระเด็นไปด้วย 10ขั้นตอนฆ่าความโกรธ ดังนี้
๑.มองความโกรธว่าเป็นไฟเตือน พอเริ่มมีความโกรธ เพ่งโทษคู่กรณี หรือ เพ่งโทษคนที่เอาเปรียบเรา ขัดผลประโยชน์เรา หรือพูดจามิเข้าหูเรา ฯลฯ ให้นับหนึ่งถึงร้อยแล้วนับลมหายใจไปเรื่อยๆ พร้อมพิจารณาว่า "ความโกรธเป็นสัญญาณเตือนว่าความต้องการของเราไม่ได้รับการตอบสนอง" ในเมื่อไม่ได้รับการตอบสนอง ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะไปให้ความสนใจกับสิ่งที่ไม่มี (ไม่ได้รับการสนอง เท่ากับไม่มีจริง นั่นเอง) จะได้ยุติการเพ่งโทษคนอื่น
๒.สื่อสารโดยแสดงความต้องการของเราให้ชัดเจน สื่อสารให้อีกฝ่ายฟังว่าเราต้องการอะไรกันแน่(แน่นอนว่าต้องไม่ผิดศีลธรรมจรรยา) เพราะการฉุกคิดสื่อสารให้เข้าใจโดยไม่ไปจดจ่ออารมณ์โกรธ แต่เน้นสื่อสารให้่ได้ใจความ ก็ย่อมนำไปสู่ความเข้าใจซึ่งกันและกันได้มากกว่า โดยไม่เกิดการปะทะ
๓.รับผิดชอบอารมณ์ของตัวเอง กลับมาอยู่กับลมหายใจ ตั้งสติคิดพิจารณาให้ดีว่าเราต้องการอะไรกันแน่ และความต้องการของเราขัดต่อความปรกติสุขของเราหรือของใครไหม แล้วเป็นความต้องการที่เป็นไปได้หรือไม่? มีปัจจัยอะไรไหม? เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว ก็ให้มองความเป็นจริงในผลสรุปนั้นโดยไม่ไปยึดมั่นในความคิดของตัวเอง (ความคิดที่มีความโกรธ ซึ่งความโกรธเป็นแค่สัญญาณเตือนเท่านั้นเอง)
๔.กลับมารู้ทันความคิดของตัวเอง วิเคราะห์ความคิดของตัวเองว่าเราโกรธเพราะไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการในสิ่งใด เรากลัวอะไร เรากังวลอะไร เราเสียใจอะไร เราสับสนอะไร มีสภาวะอารมณ์ด้านลบใดบ้าง วิเคราะห์แจกแจงออกมาให้หมดครับ หากเห็นแล้วว่าความต้องการนั้นอยู่ในทำนองคลองธรรม ความต้องการของเราเป็นสิ่งที่ถูกต้องจริง เราก็ต้องกล้าที่จะสื่อสารตรงๆกับคู่กรณี ที่สำคัญที่สุดคือ หยุดยั้งนิสัยชอบตัดสินคนอื่นให้ได้ เพราะหากทำได้ ความต้องการของเราก็จะได้รับการมองเห็น และอาจยุติลงอย่างเป็นธรรมทั้งฝ่ายเขาและฝ่ายเรา
๕.รู้ชัดเนื้อแท้ความต้องการของตัวเอง เนื้อแท้ความต้องการจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อเราเจริญสติระลึกรู้ แทนที่เราจะไปโทษคนอื่นว่ามาทำให้เราโกรธทำไม? ทำให้โมโหแบบนี้เดี๋ยวเจอกุแน่! อาการแบบนี้ไม่มีประโยชน์ มีแต่โทษครับ เป็นการส่งจิตออกนอกสำนึกรู้ของตนเอง เพราะไปโฟกัสโทษในตัวบุคคลอื่น โดยไม่ได้หันกลับมามองเนื้อแท้ความต้องการของตนให้กระจ่าง ขั้นตอนนี้สำคัญมากเพราะเมื่อเรารู้ใจตัวเองดีก็จะเกิดการเจรจาที่ดีด้วยสติมั่นคงไม่ทะเลาะกันนั่นเอง
๖.จับประเด็นให้ได้ แน่นอนว่าความโกรธโมโหวิโรธาต่อใครสักคนย่อมมาจากการที่เราไม่ได้ในสิ่งที่เราต้องการ ดังนั้นจงจับประเด็นให้ได้ว่าเราต้องทำเช่นไรเพื่อให้บรรลุความประสงค์ของเรา ห้ามไปโฟกัสความโกรธนะครับ เพราะความโกรธเป็นสิ่งที่ไร้คุณค่าโดยสิ้นเชิง
๗.เปลี่ยนอารมณ์โกรธเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเรียนรู้ให้ได้ เช่น เมื่อโกรธแล้วก็ให้ใช้ลูกเล่นกับจิตเพื่อดับโทสะด้วยการมองว่า "สัญญาณเตือนแห่งศักยภาพในการต่อรองได้เกิดขึ้นแล้วนะ" แล้วจึงเข้าไปเจรจาต่อรองกับอีกฝ่ายด้วยฉันทะพยายามที่จะให้ตัวเองสำเร็จความปรารถนาพร้อมความมั่นใจว่ามันจะไปได้สวย โดยต้องไม่ผิดทำนองคลองจารีตธัมม์
๘.ให้ความสำคัญกับอีกฝ่ายแม้เราจะไม่ชอบขี้หน้าเขามากน้อยเพียงไรก็ตาม จงใช้สติ และต้องอย่าลืมว่าการเจรจาจะออกมาดีได้ และจะได้รับการยุติอย่างเป็นธรรมนั้น ต้องใช้สติวิเคราะห์มองให้เห็นว่าอีกฝ่ายต้องการอะไร แล้วพอจะเป็นไปได้ไหมที่เราจะตอบสนองความต้องการของเขาให้ออกมายุติธรรมทั้งสองฝ่าย เพื่อจะได้มาในสิ่งที่เราต้องการจนขจัดความโกรธของเราให้สูญสิ้นลงได้นั่นเอง
๙.ตั้งสติ-พิจารณาให้แยบคายว่าใครควรพูดก่อน หากเราพิเคราะห์มาดีแล้วว่าเป็นเรา เพราะเหตุผลของเราแน่นกว่า เราก็เริ่มสนทนาต่อรองเพื่อให้ความต้องการของเราได้รับการตอบสนองได้เลยอย่างละมุนละม่อม แต่หากเราพิจารณาแล้วว่าอีกฝ่ายมีข้อมูลมากกว่า มีเหตุผลรองรับแน่นกว่า ก็ต้องเปิดโอกาสให้เขาเป็นฝ่ายเริ่มพูดก่อน แล้วจึงค่อยแสดงความเข้าใจออกมา ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมแสดงความประสงค์ของเราออกไปพร้อมเหตุผลประกอบแบบสุภาพชน เพื่อไม่ให้บรรยากาศออกมาน่าหงุดหงิดจนโทสะระเบิด หากทำได้-ความโกรธก็จะจบลงอย่างสันติ
๑๐.ขั้นตอนก่อนเริ่มต้นสนทนา เพื่อเจรจาหรือต่อรอง ฯลฯ นั้นสำคัญที่สุด ก่อนเริ่มต้นการสนทนา ให้เรานึกถึงหลักว่า “เราต้องการอะไร” และ “อีกฝ่ายมีความรู้สึกอย่างไร และต้องการอะไร” วิเคราะห์ให้ออกทั้งความรู้สึกของเขา และความต้องการของเราด้วย
อย่าลืมที่จะมีสติตลอดการเริ่มต้นสนทนา เพราะสติเป็นเข็มทิศอันเลิศของการชี้ทางสู่ความสำเร็จไม่ว่าจะในเรื่องใดก็ตาม สติจะช่วยให้เรารู้ว่า“เราต้องการให้เกิดผลอะไรในขั้นต่อไป”
ถ้าเราไม่คิดว่าตัวเองต้องการให้เกิดผลอะไรในขั้นต่อไป เราก็จะพูดโพล่งกล่าวโทษอีกฝ่ายออกไปอย่างไม่ทันคิด ซึ่งอาจจะทำให้ทะเลาะกันจนเกิดผลเสียหายบานปลาย แล้วต้องมานั่งเสียใจภายหลัง
ดังนั้น เราควรตั้งหลักอย่างชัดเจน ตระหนักอยู่ตลอดไปว่า การเจรจาไม่ใช่การเอาชนะกันด้วยวิวาทะ แต่เป็นการสร้างสันติร่วมกัน และอีกหนึ่งอย่างที่ต้องเน้นย้ำ คือเราจะขอให้อีกฝ่ายทำอะไรให้ก็ควรขอในสิ่งที่ไม่เกินความสามารถ หรือความเป็นไปได้ของเขาด้วย
ที่สำคัญให้เราพยายามพูดในสิ่งที่อีกฝ่ายรู้สึก เช่น “ตอนนี้ผมเข้าใจแล้วว่าคุณประสบความยากลำบากใน.... มันเลยไม่แปลกอะไรหรอกครับที่คุณจะไม่ยอมรับใน.... ซึ่งถ้าเป็นผมนะ บอกตามตรง ผมก็คงทำไม่ได้เช่นกัน เผลอๆจะคอนโทรลใน...ได้ไม่ถึงครึ่งที่คุณทำได้ด้วยซ้ำ” เป็นต้น เพียงเท่านี้ก็จะเป็นการเปิดใจให้อีกฝ่ายพร้อมที่จะรับฟังความต้องการของเราเช่นกัน โดยไม่มีความโกรธหลงเหลืออยู่เลย
สุดท้าย เคล็ดลับการกำจัดความโกรธทั้ง 10ข้อก็อยู่ในหลักการ "เมตตาธรรม ค้ำจุนโลก" ของพระพุทธศาสนาอยู่ดี ใจความสำคัญในสิบประการแห่งเคล็ดลับนั้น ไม่ได้กล่าวถึงสิ่งที่ซับซ้อนอะไรเลย นั่นก็คือ "อริยสัจธรรมสี่ประการ" หรือ ความจริงระดับสูงของโลก สี่ประการ นั่นเอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และ มรรค นั่นเอง
บทความนี้วิเคราะห์มาจากเนื้อหาในหนังสือ เนรมิตจิตใจ โดย พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑโฒ)
โฆษณา