29 พ.ค. 2024 เวลา 06:25 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เร่งสกัดมิจฉาชีพหลอกลงทุน

โดย นางสาวอาชินี ปัทมะสุคนธ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต.
คอลัมน์ “เล่าให้รู้กับ ก.ล.ต.” นสพ.ประชาชาติธุรกิจ
ด้วยปัจจุบันภัยคุกคามและอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชนในวงกว้าง รัฐบาลจึงมีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการปราบปราม และต้องหาแนวทางป้องกันอย่างเร่งด่วน โดยสถานการณ์การหลอกลวงออนไลน์ในปัจจุบันจากข้อมูลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พบว่า ความเสียหายจากการ "หลอกลงทุน" อยู่ในระดับสูง เฉลี่ยต่อวันราว 100 ล้านบาท* ซึ่งหลอกกันง่าย ๆ โดยส่งข้อความผ่านระบบ SMS ผ่านแอปพลิเคชัน รวมถึงการโฆษณาชักชวนผ่านในโซเชียลมีเดีย
ก.ล.ต. มีความห่วงใยประชาชนที่อาจตกเป็นเหยื่อถูกหลอกให้ลงทุนโดยมิจฉาชีพ ซึ่งมีทั้งถูกหลอกให้ลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย หรือใช้บริการ (เช่น ซื้อขาย) จากผู้ประกอบธุรกิจที่ผิดกฎหมาย โดยที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการสกัดกั้นช่องทาง (ออนไลน์) ของมิจฉาชีพ อาทิ ได้ประสานงานกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, LINE, TikTok ในการปิดกั้นช่องทางของมิจฉาชีพที่มาเปิดบัญชีใช้งานบนแพลตฟอร์ม ๆ นั้นโดยเร็ว
จากข้อมูลสถิติโดยสรุป ในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 (วันที่ 1 ม.ค. – 31 มี.ค. 67) ได้ปิดกั้นช่องทางของมิจฉาชีพไปแล้วทั้งหมด 403 บัญชี แบ่งเป็น Facebook จำนวน 287 บัญชี LINE จำนวน 30 บัญชี และ TikTok จำนวน 86 บัญชี คิดเป็นอัตราการปิดกั้นสำเร็จอยู่ที่ 98% โดยระยะเวลาในการปิดเร็วที่สุดราว 15 นาที และเฉลี่ยไม่เกิน 24 – 48 ชั่วโมง หลังจากที่ได้รับแจ้งข้อมูลหรือเบาะแสผ่านระบบรับแจ้งบนช่องทางออนไลน์ของ ก.ล.ต. หรือ โทร 1207 กด 22 “สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน”
ก.ล.ต. ส่งเสริมให้ผู้ลงทุนมีทางเลือกการลงทุนที่หลากหลาย กระจายการลงทุนไม่กระจุกในที่ใดที่หนึ่ง สินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่ง หรือในอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง สอดคล้องกับความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้ (กรณีที่สูญเสียไปแล้วไม่กระทบต่อฐานะของตนหรือครอบครัว) รวมทั้งไม่ได้ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการลงทุน
ไม่ว่าจะเป็นด้านผลิตภัณฑ์การลงทุนหรือผู้ให้บริการ (ทั้งด้านหลักทรัพย์และสินทรัพย์ดิจิทัล)
ส่วนผู้ให้บริการต่างประเทศที่มุ่งหวังหรือมีเจตนาให้บริการแก่คนที่อยู่ในประเทศไทยเป็นการเฉพาะ เช่น ตั้งตัวแทนคนไทย ส่งเสริมการตลาดและโฆษณาเป็นภาษาไทย ทั้งในแพลตฟอร์มของตน หรือผ่านโซเชียลมีเดีย การได้รับค่าตอบแทนจากการให้บริการไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เป็นต้น ซึ่งเป็นการกระทำที่เรียกว่า “solicit” และหากไม่ดำเนินการขออนุญาตให้ถูกต้องก็จะถือว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายผิดกฎหมายของไทย
ที่ผ่านมาหากเป็นการชักชวนผ่านการออกบูธในงาน Event หรืองานนิทรรศการต่าง ๆ ได้ติดตามและสังเกตการณ์อีเวนท์หรืองานจัดแสดงในลักษณะของการออกบูธที่เกี่ยวกับการแนะนำบริการด้านการลงทุนหรือชักชวนลงทุน รวมถึงประสานงานกับทางผู้จัดงานให้ช่วยกลั่นกรองผู้ที่มาร่วมออกบูธ กรณีพบข้อสงสัยว่าเป็นผู้ประกอบการที่อาจเข้าข่ายการประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาตมาเชิญชวนให้ใช้บริการ หรือร่วมลงทุนในผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายตามกฎหมาย
ก.ล.ต. จะเข้าไปสังเกตการณ์และเก็บหลักฐานเพิ่มเติม รวมถึงร่วมมือกับตำรวจโดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ในการลงพื้นที่เข้าตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ได้รับอนุญาต ที่มาออกบูธชักชวนประชาชนให้ใช้บริการในงานแสดงเทคโนโลยีทางการเงินด้วย
นอกจากนี้ ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้น ทำให้รูปแบบในการชักชวนลงทุนผ่านช่องทางออนไลน์สามารถทำได้ง่ายขึ้น ก.ล.ต. จะสอดส่องดูแล ติดตาม และตรวจสอบ ทั้งการออกบูธหรือชักชวนทางออนไลน์ ถ้าพบว่ามีการกระทำหรือมีองค์ประกอบที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายภายใต้การกำกับของ ก.ล.ต. จะดำเนินการบังคับใช้กฎหมายตามอำนาจซึ่งมีโทษทั้งจำคุกและปรับ และหากเข้าข่ายการกระทำที่อาจผิดกฎหมายอื่นก็จะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป
ก.ล.ต. มุ่งมั่นพัฒนาแนวทางการกำกับดูแลทั้งด้านหลักทรัพย์และสินทรัพย์ดิจิทัลให้สอดคล้องกับระดับสากล ส่งเสริมการสร้างสภาพแวดล้อมในตลาดทุนและตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลให้มีความน่าเชื่อถือ และมีกลไกดูแลผู้ลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพียงพอเหมาะสม สอดรับกับความเสี่ยงของแต่ละผลิตภัณฑ์ ควบคู่กับการสนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการระดมทุนที่มีศักยภาพ พร้อมรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนต่อไป
หมายเหตุ
*แหล่งที่มาของข้อมูล: ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center) หรือ AOC
โฆษณา