29 พ.ค. เวลา 13:00 • ไลฟ์สไตล์

10 สัญญาณเตือนภัยการเงินติดธงแดงที่ควรระวัง ทั้งในความสัมพันธ์และของตัวเอง (#1)

เมื่อพูดเรื่องการเงินส่วนบุคคล แต่ละคนก็จะมีวิธีการจัดการเงินที่แตกต่างกันออกไป ตามแต่บริบทที่ไม่เหมือนกัน เงินมากเงินน้อย ภาระความรับผิดชอบต่างๆ นานา
แต่ถึงแม้ว่าสถานการณ์ของแต่ละคนจะแตกต่างกันขนาดไหน สิ่งสำคัญในเรื่องของการเงินคือการตระหนักรู้และสังเกตสัญญาณเตือนอันตรายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา
🚨 ไม่ว่าจะเป็นนิสัยการเงินที่อาจจะนำมาซึ่งปัญหา แนวคิดที่ไม่ถูกต้อง หรือพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่ใช่แค่ตัวเราเอง แต่กับคนใกล้ชิด คนรักที่อยู่ด้วยกัน ที่เป็นสัญญาณเตือนภัยแบบติดธงแดง เห็นแล้วต้องรีบแก้ไขให้เร็วที่สุด
🎯 เหมือนนักเดินเรือถ้าอยากเดินทางข้ามทะเลไปถึงปลายทาง ก็ต้องคอยสังเกตคลื่นลมและรอยรั่วต่างๆ อยู่เสมอ
แล้วมีอะไรบ้างที่ฉุดเราไว้จนไม่สามารถไปถึงเป้าหมายทางการเงินหรือร่ำรวยตามที่หวัง?
✅ 1. ใช้เงินมากกว่าที่หาได้ (โดยไม่รู้ว่าเงินเข้า/ออกไปเท่าไหร่)
สัญญาณเตือนอย่างแรกอาจจะดูเป็นเรื่องธรรมดาครับ หาได้ 100 ใช้ 200 แค่นี้ก็มีปัญหาแล้ว
ประเด็นคือคนที่มีปัญหาเรื่องการเงิน สิ่งที่พวกเขาไม่รู้คือเงินเข้า/ออกในแต่ละเดือนเท่าไหร่และตรงไหนบ้าง?
โดยเฉพาะคนที่ทำงานเป็นฟรีแลนซ์หรือการรับไม่แน่นอน หากปล่อยปละละเลย บางทีเงินที่จ่ายออกไปก็มากกว่าที่เข้ามาโดยไม่รู้ตัว
คำแนะนำหนึ่งที่ยังใช้ได้เสมอสำหรับเรื่องนี้คือการทำบัญชีรายรับรายจ่าย
ลองทำดูสักเดือนหนึ่งจะเริ่มเห็นภาพว่าการเงินของตัวเองติดลบรึเปล่า ลองทำสัก 3 เดือนจะเริ่มรู้แล้วว่าที่ผ่านมาเงินมันหายไปไหนหมด
บางคนรูดบัตรเครดิตไปก่อน ใช้เงินอนาคต โดยหวังว่าจะมีเงินเข้ามา แต่เราไม่มีทางรู้ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น บางทีโปรเจกต์ล่ม ตกงาน ประสบอุบัติเหตุ ฯลฯ หากยังตกอยู่ในวังวนใช้เงินมากกว่าที่หามาได้ เป็นเรื่องที่อันตรายมากๆ
✅ 2. คุมอารมณ์ของตัวเองไม่ได้
ผมเคยเขียนประเด็นเรื่อง “เงินเป็นเรื่องของอารมณ์” ไปเมื่อไม่นานมานี้ (สามารถดูลิงก์ได้ในอ้างอิง) และจะขอย้ำเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง
เงินมีความเกี่ยวข้องกับอารมณ์ของเราอย่างมาก
บางคนเครียดแล้วใช้เงิน บางคนมีความสุขแล้วใช้เงิน บางคนโกรธแล้วใช้เงิน บางคนเบื่อแล้วใช้เงิน บางคนกดดันเรื่องงานก็ใช้เงิน บางคนเครียดเรื่องเงินแล้วใช้เงินก็มี
เรื่องเงินเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ประเด็นเซนซิทีฟของหลายๆ คน บางคนรู้ว่าตัวเองมีปัญหา แต่ก็ไม่กล้าขอคำปรึกษาหรือคำแนะนำจากคนอื่นเพราะอายหรือรู้สึกว่าตัวเองทำเรื่องผิดพลาดไป
อารมณ์เชิงลบเหล่านี้ทำให้คนที่กำลังมีปัญหาพยายามซุกปัญหาไว้ใต้พรม ไม่อยากเผชิญหน้าความจริง
สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำในเรื่องนี้คือการตระหนักว่าเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้ในวันเดียว อย่าแบกทุกอย่างเอาไว้แล้วหวังว่าวันนี้มันจะหายไป แต่ค่อยแก้ไปทีละอย่าง
การจะปรับนิสัยหรือมีความพร้อมทางอารมณ์เรื่องการเงินจะต้องใช้เวลา เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งกดดันตัวเอง
ปัญหาใช้เวลาก่อ การแก้ปัญหาก็ต้องใช้เวลาในการแก้เช่นเดียวกัน
✅ 3. ปล่อยจอยเรื่องการเงิน
“การปล่อยจอย” เป็นศัพท์คนเล่นเกมที่หมายถึงการไม่สนใจ ช่างแ-่งกับผลลัพธ์ ทิ้งจอยสติ๊กเล่นเกมทิ้งไปเลยประมาณนั้น
หากเรากำลังทำอย่างนั้นกับเรื่องเงินอยู่ ควรระวัง
ยิ่งสมัยนี้การใช้เงินเป็นเรื่องง่ายมากๆ รูดบัตรเครดิต สแกนจ่าย QR Code หรือผูกบัญชีไว้กับพวกแอปชอปปิงต่างๆ เงินไหลออกง่ายมาก
หากเราปล่อยจอยเรื่องการเงิน ไม่ตรวจสอบการใช้จ่าย ไม่เช็กใบเรียกเก็บเงินบัตรเครดิต ปลายทางอาจจะไม่ดีสักเท่าไหร่
ผมมีเพื่อนหลายคนเลยที่ลืมตัวสมัครสมาชิกรายเดือนกับบริการสตรีมมิงที่ไม่เคยได้ใช้ สมาชิกยิมที่ไม่เคยได้ไป หรือแอปฯ ต่างๆที่ตัดบัตรรายเดือนรายปีโดยที่ไม่รู้ตัว
เรื่องเงินเราจะปล่อยจอยไม่ได้ ควรเช็กบ้างเป็นระยะๆ ว่าทุกอย่างยังอยู่ในจุดที่ควรอยู่ เงินเก็บเพื่อการเกษียณ เงินลงทุนที่วางเอาไว้เป็นยังไงบ้าง บัตรเครดิตไหนที่ไม่ใช้มียอดแปลกๆ รึเปล่า?
✅ 4. ผัดวันเรื่องการเงินไปเรื่อยๆ
มีพี่คนหนึ่งเคยบอกผมว่า “เรื่องเงินไม่มีใครทำให้คุณได้ คุณเรียนรู้ได้ ผมสอนคุณได้…แต่คนที่จะเปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้คือตัวคุณเอง”
ความรู้เรื่องการเงินเป็นอะไรที่หาได้ง่ายในปัจจุบัน แต่คนที่จะตัดสินใจว่าจะทำอะไรกับความรู้ตรงนั้นคือคุณ ไม่ใช่โค้ชการเงินคนไหน ไม่ใช่หนังสือเล่มไหน ไม่ใช่เพจไหน แต่คุณต้องเป็นคนตัดสินใจทำ
มันง่ายมากที่จะอ่านข้อมูลมากมาย แต่ไม่ทำอะไรกับมันเลย
ถ้าเราชอบพูดกับตัวเองว่า “เดี๋ยวพรุ่งนี้จะเริ่มเก็บเงิน” “เดี๋ยวถ้าหาเงินได้มากกว่านี้จะเริ่มออมเพื่อเกษียณ” “เดี๋ยวถ้าได้งานใหม่จะเริ่มเคลียร์หนี้บัตรเครดิตแล้ว” “เดี๋ยว…”
ยิ่งเรา ‘เดี๋ยว’ มากเท่าไหร่ เรายิ่งผัดวันในการจัดการเรื่องเงินของเราออกไปเท่านั้น
นิสัยการเงินที่ดีไม่ได้สร้างในวันเดียว อันที่จริงการเริ่มต้นเก็บเงินและจัดการเรื่องเงินตั้งแต่มีเงินไม่มากเป็นสิ่งที่ดีมากๆ เพราะมันจะช่วยฝึกวินัยเรื่องการเงินของเราให้ดีขึ้นเรื่อยๆ หากพลาดก็ยังแก้ไขได้โดยไม่เสียหายมากนัก
ยกตัวอย่างเรื่องการออมก็ได้ บางคนอาจจะรู้สึกว่าใช้เงินแทบจะชักหน้าไม่ถึงหลังอยู่แล้ว แต่ละเดือนก็เหลือไม่เยอะ ออมได้นิดๆ หน่อยๆ ไม่มีประโยชน์หรอก
ที่จริงแล้วการออมเป็นนิสัย เราไม่จำเป็นต้องเริ่มออมด้วยเงินก้อนใหญ่ๆ หรือเป็น % ของรายได้ตามสูตรการเงินต่างๆ ก็ได้
อย่ากดดันตัวเอง เริ่มออมเท่าที่ไหว ค่อยๆ สร้างนิสัยการเงินที่ดีให้กับตัวเองทุกๆ เดือน
⭐ อาเทอร์ ซี. บรูคส์ (Arthur C. Brooks) ผู้เขียนหนังสือชื่อดังอย่าง “From Strength to Strength” (ติด New York Times Bestseller) และศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดด้านปฏิบัติการจัดการ สอนเรื่องการเป็นผู้นำ ความสุข และการจัดการองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร บอกว่า
“อยากมีความสุขมากขึ้น ก็ให้เริ่มเก็บเงิน” บรูคส์อธิบายเสริมว่าการมีเงินเก็บออมไม่ต้องถึงขั้นว่ามีเยอะก็สามารถเพิ่มความพึงพอใจในชีวิตของเราได้ เพราะการเก็บออมเป็นการเชื่อมโยงระหว่างเราในปัจจุบันกับอนาคตที่ดีขึ้น และทำให้เห็นว่าเรากำลังก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้องนั่นเอง (Progress Principle)
แล้วคนที่มีความสุขมากกว่าส่วนใหญ่ทำอะไร? บรูคส์บอกว่าพวกเขาก็ยิ่งออมเงินมากขึ้นอีกไปด้วย เป็นการสร้างห่วงโซ่ของความสัมพันธ์ระหว่างเหตุผลระหว่างการเก็บออมและความสุข มีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งในปี 2012 ที่พบว่าคนที่มีความสุขมากกว่าค่าเฉลี่ยจะใช้จ่ายน้อยลงและเก็บออมมากขึ้นด้วย
✅ 5. ไม่มีเงินสำรองฉุกเฉิน (เงินอุ่นใจ)
ผลสำรวจของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพบว่า คนไทย 30% ไม่มีเงินเก็บสำหรับการเกษียณเลย และ 60% มีเงินเก็บแต่ไม่ถึง 200,000 บาท
ตัวเลขนี้น่าเป็นห่วงตรงที่ว่าหากเกิดอะไรฉุกเฉินขึ้นมา การเงินและเป้าหมายการเงินจะกระทบทันทีเลย
หากยังจำกันได้ย้อนไปถึงช่วงปี 2020 ที่ตอนนั้นจู่ๆ เกิดโรคระบาดขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิด ตกงานกันแบบไม่ทันตั้งตัว (Gallop ได้ทำการสำรวจมาพบว่ากว่า 1,000 ล้านคนทั่วโลกเจอกระทบเรื่องงาน ในประเทศไทยเองกว่า 56% ของแรงงานได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ ถ้าไม่ตกงานก็ธุรกิจต้องปิดตัวไป)
ในบางครั้งเราไม่รู้หรอกว่าชีวิตจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
แม้นั่นจะเป็นระดับโลก คนมากมายได้รับผลกระทบก็จริง แต่ในระดับบุคคล เราก็ไม่มีทางรู้เช่นกัน บางครั้งคนที่บ้านอาจจะป่วยกะทันหัน เราต้องลาออกจากงานเพื่อมาดูแล หรือบางทีเป็นเราเองก็ได้ ไม่ว่าจะตกงาน ประสบอุบัติเหตุ ฯลฯ เราไม่มีทางรู้ได้
แม้จะดูเหมือนการมองโลกในแง่ร้ายสักหน่อย แต่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เสมอ
ตอนที่ทุกอย่างดีอยู่ เป็นจังหวะที่เราต้องรีบเก็บเงินฉุกเฉินสักก้อนหนึ่งที่เพียงพอสำหรับหนึ่งปีเอาไว้ก่อน
⭐ รามิตร เศรษฐี (Ramit Sethi) เศรษฐีร้อยล้านที่สร้างความมั่งคั่งด้วยตัวเอง ผู้เขียนหนังสือขายดี “ผมจะสอนให้คุณรวย” (ติดหนังสือขายดีของ The New York Times ด้วย) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยาทางการเงิน มีรายการทาง Netflix ชื่อ “I Will Teach You to Be Rich” บอกว่า
“การทำแค่เรื่องนี้เพียงอย่างเดียวจะช่วยบรรเทาความกังวลเมื่อคิดถึงเรื่องเงินของเราไปได้มากเลย”
เศรษฐีแนะนำว่าเก็บสำรองไว้ 12 เดือนของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน
เช่นเดือนหนึ่งเราใช้จ่ายประมาณ 20,000 บาท ก็เก็บเงินสำรองฉุกเฉินไว้ก่อนเลย 240,000 บาท (20,000 x 12 เดือน)
หากมันดูตึงเกินไป ก็อาจจะปรับเป็น 6 เดือนก็ได้
⭐ คุณแต๋ง After Yum เรียกเงินก้อนนี้ว่า ‘เงินอุ่นใจ’ เงินก้อนที่ทำให้เรารู้สึกมั่นคง ไม่ใช่เงินเพื่อเที่ยว ไม่ใช่เงินเพื่ออนาคต แต่เป็นเงินก้อนที่เก็บไว้เพื่อให้เรารู้สึกอุ่นใจว่าชีวิตยังมีเงินตรงนี้อยู่หากเกิดอะไรผิดพลาดขึ้นมา
[วันนี้เราพูดถึงส่วนของตัวเอง เดี๋ยวพรุ่งนี้เรามาต่อ 'Part 2' ที่เป็นส่วนของความสัมพันธ์กับคนอื่นกันครับ เดี๋ยวจะยาวเกินไป]
=======================
- เขียนและเรียบเรียงโดย : โสภณ ศุภมั่งมี (บรรณาธิการ #aomMONEY)
=======================
#aomMONEY #MakeRichGeneration #การเงินส่วนบุคคล #RedFlag #ปัญหาการเงิน #ติดธงแดง #สัญญาณเตือน
โฆษณา