Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วินทร์ เลียววาริณ
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
8 มิ.ย. 2024 เวลา 00:00 • การเมือง
บทความ Blockdit ตอน ลีกวนยูสร้างชาติอย่างไร ตอน 18 ลีกวนยูกับนายกรัฐมนตรีไทย
ลีกวนยูรู้จักนายกรัฐมนตรีไทยหลายคน
ลีกวนยูจําได้ว่าเมื่อเขาไปเยือนเมืองไทยในช่วง 1950 เขาประทับใจเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศไทย พวกนั้นมีการศึกษาสูงจากต่างประเทศ ฉลาดเฉลียว ตอนนั้นการเดินทางข้ามประเทศเป็นเรื่องยาก คนที่ทํางานด้านนี้ ได้บินข้ามประเทศ และเงินเดือนสูง เป็นที่ชื่นชม
ลีกวนยูรู้จักผู้นําไทยดี และในฐานะคนที่ฉลาดเป็นกรด มุมมองและความเห็นของเขาต่อผู้นำไทย อาจเป็นประโยชน์ต่อเราคนไทย
จอมพลถนอม กิตติขจร
ลีกวนยูพบจอมพลถนอม กิตติขจร ครั้งแรกในปี 1966 จอมพลถนอม สนับสนุนสหรัฐฯ มาตั้งฐานทัพในไทยเพื่อรบในเวียดนาม จอมพลถนอม บอกลีกวนยูว่า ท้ายที่สุดสหรัฐฯ ก็ต้องถอนกำลังออกจากอินโดจีน มันเลี่ยงไม่พ้น จอมพลถนอมอยากให้ประเทศแถบนี้รวมกันด้วยดี แต่ทุกอย่างต้องเริ่มที่เวียดนามเหนือหยุดทําสงครามจริงๆ
2
ในสายตาของลีกวนยู จอมพลถนอมเป็นคนเรียบง่าย ซื่อสัตย์ กับเพื่อนและพันธมิตร จอมพลถนอมถือลีกวนยูเป็นเพื่อน ทั้งสองแลกเปลี่ยนความคิดเห็นตรงไปตรงมา
จอมพลถนอม กิตติขจร
จอมพลถนอมวิตกว่าการที่ไทยให้สหรัฐฯใช้เป็นฐานทิ้งระเบิดเวียดนามอาจนำผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์มา ผู้นำไทยมองไม่เห็นว่าสหรัฐฯ จะชนะอย่างไรจากการทิ้งระเบิดเป็นหลัก
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ จอมพลถนอมถูกกระแสการเมืองขับออกไปนอกประเทศ เขาและครอบครัวไปตั้งหลักที่สหรัฐฯ และกลับมาที่สิงคโปร์
สิงคโปร์ยอมให้จอมพลถนอมอยู่ แต่ต้องไม่ยุ่งกับการเมืองสิงคโปร์จะทำตัวเป็นกลางเหมือนสวิตเซอร์แลนด์ ที่สิงคโปร์ จอมพลถนอมมีญาติและคนรู้จักมาเยี่ยมไม่ขาดสาย แต่จอมพลถนอมก็ไม่คิดจะอยู่สิงคโปร์นานเช่นกัน พยายามหาหนทางกลับบ้านโดยไม่ถูกต่อต้านจากศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
จอมพลถนอมเดินหมากกลับบ้านที่ไม่มีใครคาดถึง นั่นคือเข้าเมืองไทยในชุดกาสาวพัสตร์ สิงคโปร์มีวัดไทย แต่ทำพิธีอุปสมบทภิกษุไม่ได้ จึงอุปสมบทเป็นสามเณร แล้วบินจากสิงคโปร์เข้าไทยในวันที่ 19 กันยายน 1976 นายทหารและนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่หลายคนไปต้อนรับ
5
หลังจากนั้นสามเณรถนอมก็เดินทางไปอุปสมบทเป็นพระที่วัดบวรนิเวศวิหาร
การเข้ามาเมืองไทยครั้งนั้นจุดชนวนให้เกิดจลาจลและสงครามกลางเมือง เรียกว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ฆ่ากันตายกลางเมือง ระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา ฝ่ายหนึ่งคือศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย อีกฝ่ายหนึ่งคือกระทิงแดงได้รับการสนับสนุนจากตำรวจ รวมกับกลุ่มฝ่ายขวาจัดอีกหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มนวพล รองรับด้วยหนังสือพิมพ์ดาวสยามและสถานีวิทยุยานเกราะ
1
เลือดนองแผ่นดินไทย
1
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
การเลือกตั้งในปี 1975 ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกฯ เสียงข้างน้อย พรรคกิจสังคมของเขามีแค่ 18 เสียงจาก 140 แต่ได้เป็นนายกฯ แต่รัฐบาลอยู่ได้ปีเดียว
2
ในสายตาของลีกวนยู ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นคนเก่ง เป็นนักปรัชญา และมีอารมณ์ขัน
1
ลีกวนยูเห็นว่า ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ดูไม่เหมือนคนที่อยากทำงานทางการเมืองจริงๆ เคยชวนลีกวนยูไปกินข้าวเย็นที่บ้านในซอยสวนพลู
1
ลีกวนยูพบ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ในวันที่ 17 เมษายน 1975 หนึ่งสัปดาห์หลังเขมรแดงยึดพนมเปญ และสองอาทิตย์ก่อนไซ่ง่อนแตก เจ้าของบ้านซอยสวนพลูบอกลีกวนยูว่า ฐานทัพสหรัฐฯ ต้องถอนออกไปภายในหนึ่งปี แต่ไม่รู้ว่าสหรัฐฯ จะเอายังไง
1
ลีกวนยูบอกว่า เราขจัดสหรัฐฯ ไปหมดไม่ได้ ลีกวนยูเห็นว่ากองทัพเรือที่ 7 ของสหรัฐฯ ทำให้ความสัมพันธ์ของเอเชียอาคเนย์กับจีนและโซเวียต “ง่ายขึ้น” ถ้าไม่มีสหรัฐฯ อิทธิพลโซเวียตจะแผ่มาแทน
1
เขาเล่าว่าเมื่อโซเวียตบอกสิงคโปร์ว่าขอที่เก็บน้ำมันสำหรับเรือประมงโซเวียต
ลีกวนยูบอกได้ แต่ขอให้ไปซื้อจากบริษัทน้ำมันสหรัฐฯ ถ้าไม่มีกองเรือที่ 7 แถวนี้ ลีกวนยูคงตอบอย่างนั้นไม่ได้
หลังจาก ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ไปเมืองจีนในเดือนกรกฎาคมได้ต้อนรับคณะผู้แทนจากเวียดนามเหนือที่กรุงเทพฯ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ พูดถึงทฤษฎีโดมิโนที่เกิดขึ้นแล้วในอินโดจีน
ลีกวนยูถามว่าทำไมขณะที่เวียดนามส่งทูตมาสมานไมตรีกับไทย วิทยุเวียดนามกลับโจมตีไทยอย่างรุนแรง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ตอบว่าเป็นกลยุทธ์ของพวกนั้นคือขู่ไทยให้กลัว ม.ร.ว. คึกฤทธิ์บอกว่าตอนที่ทูตเวียดนามมาไทย พวกนั้นก็พูดจาสุภาพ แบบอะไรที่ผ่านไปแล้วก็ให้มันผ่านไป แต่ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ สัมผัสความเย็นเวลาจับมือกัน
1
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์บอกว่า อาเซียนต้องมีบทบาทเป็นพี่ สอนน้องเวียดนาม
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์บอกว่า ตอนที่พบโจวเอินไหล โจวเอินไหลพูดถึงลีกวนยูว่าเป็นเลือดเดียวกัน ทำไมจะไปกลัวว่าจีนจะยึดสิงคโปร์ ปัญหาใหญ่ของลีกวนยูคือทำยังไงไม่ให้คนจีนกลับสิงคโปร์มากกว่า
ลีกวนยูบอกว่าเขาไม่กลัวว่าจีนจะไปสิงคโปร์ หรือคนจีนในสิงคโปร์อยากกลับไปจีน หรือจีนจะยึดสิงคโปร์ สิงคโปร์เล็กเกินไปสำหรับจีน
พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
นายกฯ ไทยคนถัดมาที่ลีกวนยูพบคือ พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ในสถานการณ์คับขัน คือเวียดนามบุกเขมรในเดือนธันวาคม 1978
ผู้นำไทยทำอะไรไม่ถูกในสายตาของลีกวนยู พล.อ. เกรียงศักดิ์ไม่มีประสบการณ์
ทางการต่างประเทศเลย แม้แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ดร. อุปดิศร์ ปาจรียางกูร เป็นคนฉลาดปราดเปรื่อง แต่ก็ทำอะไรไม่ถูกเมื่อเกิดเหตุเวียดนามบุก
3
ลีกวนยูพบ พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
เวียดนามขู่ไทยว่าจะไม่บุกไทย ถ้าไทยไม่ประณามเวียดนามยึดเขมรและวางตัวเป็นกลาง ลีกวนยูส่งจดหมายผ่านรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์ไปถึง พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ทันทีให้คำแนะนำว่า “อย่าไปยอมเวียดนาม เพราะหากไทยยอมเวียดนาม และเวียดนามเกิดเปลี่ยนใจมาบุกไทย ไทยจะพูดอะไรต่อประชาคมโลกไม่ได้”
3
ลีกวนยูแนะนำว่า ทางที่ไทยควรทำคือ ทำให้ชาวโลกรู้ว่าเวียดนามขู่ไทยและส่งผลต่อเอเชียอาคเนย์ทั้งหมด
1
พล.อ. เกรียงศักดิ์ก็ทำตามที่ลีกวนยูแนะนำและรับผู้ลี้ภัยชาวเขมรเข้ามาในไทยหลายหมื่นคน
1
ในความเห็นของลีกวนยู พล.อ. เกรียงศักดิ์ไม่ทันเกมเท่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช พล.อ. เกรียงศักดิ์ก้าวขึ้นมาสู่อำนาจเพราะเป็นผู้นำกองทัพเท่านั้น
2
พล.อ. เกรียงศักดิ์วางเดิมพันประเทศไทยไว้กับจีน เมื่อเติ้งเสี่ยวผิงมาเยือนไทย ต่อด้วยกัมลาลัมเปอร์ และสิงคโปร์ในปี 1978 พล.อ.เกรียงศักดิ์ต้อนรับเติ้งเสี่ยวผิงอย่างอบอุ่นที่สุด
เมื่อเติ้งเสี่ยวผิงไปหาลีกวนยูที่สิงคโปร์ ลีกวนยูบอกเติ้งเสี่ยวผิง ว่า พล.อ. เกรียงศักดิ์อยู่ฝ่ายจีนเต็มตัว ถ้าจีนยอมให้เวียดนามเกเร ทำกับเขมรยังไงก็ได้ ประเทศไทยอาจไม่มีทางเลือกไปเข้ากับโซเวียต เมื่อนั้นจีนจะไม่สนุกแน่เติ้งเสี่ยวผิงรับปากว่าจะจัดการบางอย่าง
2
พล.อ. เกรียงศักดิ์ลาออกในปี 1980 กลางสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 1980 เพราะเห็นว่ารัฐบาลไม่สามารถแก้ไขหลายปัญหา จึงขอแสดงสปิริตลาออก “เพื่อเปิดโอกาสให้ท่านเลือกบุคคลที่มีความสามารถดีกว่า เข้ามาบริหารประเทศและรับใช้ประชาชนและประเทศชาติต่อไป” นายกฯคนใหม่คือ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์
2
พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์
ในสายตาของลีกวนยู พล.อ. เปรมเป็นคนซื่อสัตย์ รัฐบาลของ พล.อ.เปรม มีคอร์รัปชั่นน้อยมากเมื่อเทียบกับรัฐบาลอื่นๆ พล.อ. เปรมอยู่ในตำแหน่งแปดปี เมืองไทยพัฒนาโครงการต่างๆ มากมาย แม้จะมีสงครามที่ชายแดนเขมร
4
ลีกวนยูเห็นว่า พล.อ. เปรมเป็นคนที่วางใจได้ พูดน้อย ทำอะไรที่ปฏิบัติได้จริงเสมอ ภาษาอังกฤษของ พล.อ. เปรมสู้ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ไม่ได้ แต่มีสำนึกเรื่องยุทธศาสตร์ดีกว่า ใช้ชีวิตเรียบง่าย
3
ลีกวนยูกับพล.อ. เปรมเข้ากันได้ดี ครั้งหนึ่ง พล.อ. เปรมบอก ลีกวนยูว่า “ผมเห็นด้วยกับคุณ คุณเป็นเพื่อนที่ดีของเมืองไทย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในยุคพล.อ. เปรมคือ พล.อ.อ. สิทธิ เศวตศิลา ได้รับปริญญาจาก MIT เป็นคนฉลาด มีความสามารถลีกวนยูตั้งข้อสังเกตว่า ผู้นำทหารอากาศไทยส่วนมากได้รับการศึกษาดี!
ลีกวนยูบอกว่า ปราศจาก พล.อ. เปรมและ พล.อ.อ. สิทธิ เศวตศิลา เมืองไทยคงจัดการปัญหาเวียดนาม-เขมรยากยิ่ง และเวียดนามจะกร่าง ทั้งสองคนเป็นทีมที่ดี
3
ลีกวนยูพบ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์
ต่อมาเมื่อ พล.อ. เปรม เอ่ยประโยค “ผมพอแล้ว” พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ก็ขึ้นมาเป็นนายก นโยบายคือเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า พล.อ.อ. สิทธิ เศวตศิลา ก็ยังคงเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศต่อไป แต่ก็เป็นอยู่ไม่นานก็ลาออก เพราะขัดแย้งกับนายกฯ
ลีกวนยูเล่าว่า พล.อ. ชาติชายบอกเขาว่าเมื่อไปเยี่ยมชาวบ้านในชนบท เขาจะขับรถปอร์เชราคาแพงไป เหตุผลคือ “ถ้าขับรถธรรมดาไปชาวบ้านจะไม่เชื่อว่าเขามีอำนาจพอช่วยชาวบ้านได้”
1
แต่ลีกวนยูก็พูดแบบขําๆ ว่า นายกฯ ไทยไม่ได้อธิบายสิ่งที่เขาอ่านจากข่าวว่า ในเมืองไทยมีระบบหัวคะแนนที่จัดการให้ชาวบ้านลงคะแนนเสียงให้นักการเมืองที่ว่าจ้าง รัฐบาลของ พล.อ. ชาติชายในข้อสังเกตของลีกวนยู เป็นรัฐบาลที่มีคอร์รัปชั่นสูงที่สุดรัฐบาลหนึ่ง นักการเมืองโกงเพื่อหาเงินมาซื้อเสียง ฯลฯ
3
พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ
เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างไทยกับเวียดนาม เวียดนามประชิดชายแดนไทย ยุทธศาสตร์หนึ่งของไทยคือขอความช่วยเหลือจากจีนไทยได้ส่งนายทหารสามนายไปพบเติ้งเสี่ยวผิงที่ประเทศจีน หนึ่งในนั้นคือ พ.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ
หลังจากนั้นจีนก็ยกทัพไปถล่มเวียดนามมีเกร็ดเล่าว่า พ.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ได้รับเกียรติจากกองทัพจีนให้ยิงปืนใหญ่นัดแรกจากกว่างซีใส่เวียดนามหลังจากขึ้นตำแหน่งสูงสุดของกองทัพ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ก็ลาออกจากตําแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุดเข้าสู่การเมือง ก่อตั้งพรรคความหวังใหม่ และเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ประสบปัญหาที่หนักหน่วงที่สุดกว่าที่นายกฯคนไหนเจอ นั่นคือวิกฤตต้มยำกุ้ง
3
ผลจากพิษต้มยำกุ้ง พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ที่เป็นได้ไม่ถึงปี
วิกฤตต้มยำกุ้งในไทยทำให้บ้านเมืองไทยแทบพัง ปี 1997
2
2
ลีกวนยูเล่าเรื่องนี้ว่า ในเดือนมีนาคม 1997 Richard Hu รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์บอกคณะรัฐมนตรีว่า รัฐบาลพล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ขอให้สิงคโปร์ช่วยค่าเงินบาทด้วย เพราะเงินบาทถูกโจมตี คณะรัฐมนตรีสิงคโปร์เห็นเป็นเอกฉันท์ว่าไม่ควรทํา
1
รัฐบาลไทยบอกว่าไม่ต้องการให้คนทั่วไปเห็นว่ามีแต่ธนาคารแห่งประเทศไทยที่ซื้อเงินบาท กองทุนการเงินสิงคโปร์ก็ซื้อ แต่เตือนไทยว่าไม่สำเร็จหรอก เพราะผู้โจมตีจะหวนกลับมา พวกโจมตีค่าเงินบาทก็กลับมาจริงๆ จนรัฐบาลไทยต้านไม่อยู่หลังจากหมดเงินไป 23 พันล้านดอลลาร์ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ก็ยอมประกาศลดค่าเงินบาทในเดือนกรกฎาคม คนไทยเห็นแก่ตัวส่วนหนึ่งก็ทำร้ายประเทศซ้ำโดยกว้านซื้อเงินดอลลาร์ ยิ่งทําให้เงินบาทลดค่าลงไปอีก และนั่นคือจุดเริ่มต้นวิกฤตของเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออก
5
รัฐบาล พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ติดต่อสิงคโปร์ ขอยืมเงินหนึ่งพันล้านเหรียญ ลีกวนยูประชุมคณะรัฐมนตรี และบอกฝ่ายไทยให้ลองไปคุยกับ IMF ก่อน ถ้าตกลงไม่ได้ ค่อยให้ยืมไทยไปเจรจากับ International Monetary Fund (IMF) และไปตามแผนฟื้นฟูของ IMF ลีกวนยูเล่าว่า ประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ผูกเงินกับดอลลาร์ การผูกแบบนี้จะดีต่อเมื่อค่าเงินดอลลาร์อ่อน
1
แต่เมื่อดอลลาร์สูงขึ้นในราวปี 1995 การส่งออกของไทยก็เริ่มมีปัญหา การส่งออกลดลง บริษัทไทยจำนวนมากกู้ยืมเป็นดอลลาร์
1
ในปี 1996 บริษัทอเมริกันหลายแห่งที่มีฐานในสหรัฐฯ ปรึกษากับลีกวนยู บอกว่าช่วยให้คำแนะนำแก่นายธนาคารไทยและประเทศอื่นๆ แถบนี้ว่า ระวังอย่าควบคุมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนและดอกเบี้ย เมื่อพวกเขาไม่มีข้อจำกัดเรื่องการไหลของเงิน บริษัทอเมริกันเหล่านั้นเสนอว่าควรให้อัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่นได้
ไม่มีใครฟัง
นายกฯมาเลเซีย มหาเธร์ ชี้หน้าบอกว่า จอร์จ โซรอส เป็นตัวการปั่นเงิน แต่ในมุมมองของลีกวนยู หากประเทศมีวินัยทางการเงิน และบริหารดียากที่พวกโจมตีค่าเงินจะทำอะไรได้ ลีกวนยูบอกว่า ตั้งแต่ปี 1995 ประเทศไทยนำเข้ามากกว่าส่งออกหากเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ พวกเขาจะไม่มีเงินต่างชาติมากพอกับการจ่ายหนี้ต่างชาติ มันจะทำให้คนค้าเงินต่างชาติทยอยขายเงินบาท
2
นี่เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง
ลีกวนยูกับมหาเธร์ 1982
ลีกวนยูบอกว่า เงินสิงคโปร์ไม่ผูกกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อัตราดอกเบื้อสิงคโปร์ต่ำกว่าสหรัฐฯมาก จึงไม่มีบริษัทสิงคโปร์ใดสนใจกู้เงินดอลลาร์ บริษัทสิงคโปร์มีหนี้ดอลลาร์สหรัฐฯ น้อยมากไทยกับอินโดนีเซียขอความช่วยเหลือจาก IMF และธนาคารโลก
4
แต่ปัญหาของไทยคือหลังจากเป็นหนี้ ก็ยังไม่เปลี่ยนกฎการคุมเงินและดอกเบี้ย และทำความสะอาดระบบธนาคาร รัฐบาล พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ก็ไม่เข้มแข็งพอจัดการปัญหานี้
3
ปัญหานี้เกิดจากอะไร? ลีกวนยูบอกว่า ต้นทศวรรษ 1990 เศรษฐกิจไทย อินโดนีเซีย เกาหลีเบ่งบาน (ไทยเราเคยถูกจัดเป็นเสือตัวที่ห้าแห่งเอเชีย) มีการลงทุนในโครงการต่างๆ ที่ยังเป็นคำถามว่าจะไปได้หรือ ทุกคนมองข้ามเรื่องความอ่อนแอของสถาบันและโครงสร้างทางการเงิน
3
ลีกวนยูเห็นว่า เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้จะดีกว่าที่เป็นอยู่มาก หากให้การให้เสรีภาพทางการเงินค่อยเป็นค่อยไป วิธีนี้พวกเขาจะมีเวลาสร้างระบบตรวจสอบ ควบคุมการไหลของ non-FDI (Foreign Direct Investment) เพื่อให้แน่ใจว่าเงินทุนเข้ามาเพื่อพัฒนาประเทศจริงๆ แต่ที่เกิดขึ้นคือเงินทุนจำนวนมาลงทุนไปกับตลาดหลักทรัพย์ที่ดิน ออฟฟิศคอนโดมิเนียม ทรัพย์สินคอนโดเหล่านี้ใช้เป็นประกันทำให้ฟองสบู่ขยายตัวแล้วฟองสบู่ก็แตก
5
ลีกวนยู
ประเทศไทย
สิงคโปร์
34 บันทึก
93
4
33
34
93
4
33
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย