30 พ.ค. เวลา 02:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

แนวโน้มการใช้จ่ายของชาวเบบี้บูมเมอร์ กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ หรือคนที่เกิดระหว่างปี 1946 - 1964 เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มที่โชคดีที่สุดในประวัติศาสตร์ คนส่วนใหญ่ในรุ่นนี้ไม่เคยต้องต่อสู้กับสงคราม บางคนยังมีโอกาสทันเห็นวง the Beatles แสดงสด แล้วยังโตมาในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างแข็งแรงที่สุดอีก
ในสหรัฐฯ คนกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ที่มีสัดส่วน 20% ของประชากรทั้งหมด เป็นเจ้าของความมั่งคั่งกว่า 52% ของความมั่งคั่งทั้งหมดในประเทศ ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 76 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
และในปัจจุบัน คนกลุ่มนี้ก็กำลังเข้าสู่วัยเกษียณ ถ้าเรารู้ว่าคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่กระเป๋าหนัก ก็คงคาดว่าชีวิตบั้นปลาย เงินเหล่านี้น่าจะถูกใช้ไปกับการท่องเที่ยว ล่องเรือ ตีกอล์ฟ และแน่นอนว่าคนกลุ่มนี้มีความมั่งคั่งสูง ดังนั้นการจับจ่ายใช้สอยของพวกเขาจะมีผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยอย่างไม่ต้องสงสัย
แต่ผิดคาดที่คนกลุ่มนี้ กลับเป็นกลุ่มที่มีความมัธยัสถ์เป็นอย่างมาก ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแต่ในสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับประเทศร่ำรวยอื่่นๆ ด้วย พวกเขาไม่ใช้จ่ายฟุ้งเฟ้อ แต่กลับหาทางเก็บเงิน ทำให้เงินงอกเงย
🔴 มีเงิน แต่ไม่ใช้
นักวิจัยส่วนใหญ่มักจะอ้างอิงถึง Life-cycle hypothesis ว่าคนเราเมื่อวัยหนุ่มสาวก็จะใช้จ่ายมากกว่ารายได้ เพื่อใช้ในการเรียน ซื้อบ้านหลังแรก จนวัยกลางคนก็เริ่มเก็บเงินเกษียณ พอวัยเกษียณก็ขายสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อเลี้ยงชีพ แล้วทีนี้พอคนรุ่นนี้ถึงวัยเกษียณ ก็จะเจอกับอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่สูง เนื่องจากพอคนเกษียณแล้วใช้จ่ายอย่างอิสระ ทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าเพิ่มขึ้นจนเกิดเงินเฟ้อ และในขณะเดียวกัน การนำเงินออกมาใช้มากกว่าการเก็บออมลงทุน ก็ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น
แต่สถานการณ์ในปัจจุบันกลับตาลปัตรโดยสิ้นเชิง
เมื่อลองดูตัวอย่างจากประเทศอิตาลีและญี่ปุ่น ประเทศที่เต็มไปด้วยประชากรสูงอายุ ก็พบว่าอัตราเงินเฟ้อต่ำ และอัตราดอกเบี้ยก็ต่ำมาหลายปีแล้ว ซึ่งต่างจาก Life-cycle hypothesis ที่คนเคยคาดไว้
งานวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์สองคน คุณ Yoko Niimi และคุณ Charles Horioka ชี้ให้เห็นว่าผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นนั้นใช้จ่ายเพียง 1-3% ของความมั่งคั่งต่อปี นั่นหมายความว่าหลายๆ คนจะจากไปพร้อมกับทรัพย์สมบัติมากมาย
หรืออย่างในอิตาลี งานวิจัยของคุณ Luigi Ventura และคุณ Horioka ก็พบว่า 40% ของคนสูงอายุที่เกษียณ ก็สะสมความมั่งคั่งต่อไป
ดัชนีหนึ่งจัดทำโดย MSCI ซึ่งในดัชนีนั้นประกอบไปด้วยบริษัทให้ที่ให้บริการรักษาสำหรับโรคที่เกี่ยวข้องกับอายุ, การพักผ่อน ท่องเที่ยง, และสินค้าชะลอวัย ผลปรากฏว่าใน 5 ปีที่ผ่านมา ดัชนีนี้โตได้ไม่ค่อยดีนักในตลาดหุ้น โดยให้ผลตอบแทนน้อยกว่า 1% เมื่อคิดต่อปี ทำให้นักลงทุนมองว่าคนเบบี้บูมเมอร์เป็นพวกที่ชอบเก็บเงิน มากกว่าจะเป็นคนสุรุ่ยสุร่าย
ทีนี้เมื่อเราลองย้อนดูข้อมูลในอดีต จะพบว่าคนสูงอายุในอดีตยังคงทำตัวเหมือนที่โมเดลเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ อย่างในช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 คนที่อายุ 65 - 74 ปี ก็ใช้จ่ายมากกว่าที่ได้รับถึง 10% โดยกินสมบัติเก่า แต่ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา ผู้คนวัยนี้เริ่มเก็บออม 1% ของรายได้
ในแคนาดา อัตราการออมของคนที่อายุเกิน 65 ปี ร่วงลงมาในช่วงทศวรรษ 2000 แต่พอราวๆ ปี 2015 หลังจากที่กลุ่มเบบี้บูมเมอร์เริ่มเข้าสู่วัยเกษียณ อัตราการออมก็ชะลอการลดลง และเมื่อเร็วๆ นี้ก็เริ่มเพิ่มขึ้น
ในเกาหลีใต้ นับตั้งแต่ปี 2019 ถึง 2023 อัตราการออมของคนที่อายุเกิน 65 ปี เพิ่มขึ้นจาก 26% เป็น 29% ซึ่งมากกว่ากลุ่มอื่นๆ
ในออสเตรเลีย คนอายุเกิน 65 ปี ก็ออมเงิน 14% จากที่แทบไม่ออมเลย
ในเยอรมนี ระหว่างปีปี 2017 ถึง 2022 อัตราการออมเงินของคนวัยเกษียณเพิ่มจาก 17% เป็น 22%
และในญี่ปุ่นอัตราการออมของคนสูงวัยก็สูงขึ้นเรื่อยๆ
คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์บางส่วนก็เลือกที่จะลดขนาดบ้านลง ทำให้มีเงินเหลือไปใช้จ่ายอย่างอื่นในชีวิต
🔴 ทำไมคนเบบี้บูมเมอร์ถึงใช้เงินน้อย?
ถามว่าทำไมคนเบบี้บูมเมอร์ลังเลที่จะใช้จ่ายเงินที่เก็บหอมรอมริบมาอย่างเต็มที่ คาดว่ามาจาก 3 ปัจจัยหลักๆ คือ
1. อยากส่งต่อมรดก
คนรุ่นนี้รู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่สามารถเก็บเงินจนมั่งคั่งได้ ก็เลยอยากส่งต่อมรดกให้ลูกหลาน ที่อาจต้องลำบากในการจะหาเงินซื้อบ้าน ค่าเล่าเรียน จากข้อมูลพบว่ากระแสเงินจากคนที่เสียชีวิตแล้วที่ส่งต่อไปยังคนที่ยังอยู่ ต่อสัดส่วนของ GDP นั้นสูงขึ้นในกลุ่มประเทศที่ร่ำรวย อย่างในสหรัฐฯ มีการรับมรดกในแต่ละปี มากกว่าในช่วงทศวรรษ 1980 - 1990 ถึง 50%
2. วิกฤติโควิด-19
พอมีโควิดเข้ามาก็เข้ามาทำให้พฤติกรรมคนเปลี่ยน คนเบบี้บูมเมอร์ชาวอเมริกันออกไปกินอาหารนอกบ้านน้อยลงก่อนกว่าก่อนโควิดถึง 18% ตลอดจนใช้จ่ายเพื่อซื้อประสบการณ์น้อยลงหลังจากเกิดโควิด
3. ความกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาตัวเอง
ด้วยความที่เทคโนโลยีก้าวหน้าจนคนอายุยืนกว่าในอดีต คนเบบี้บูมเมอร์บางคนอาจจะอายุเกิน 100 ปี นั่นหมายความว่าพวกเขาจะต้องใช้ชีวิตหลังเกษียณอีกเป็นเวลายาวนาน ซึ่งอาจจะกลายเป็นภาระทางการเงินอย่างหนักโดยเฉพาะคนที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาตลอด 24 ชั่วโมง จากการสำรวจพบว่าสัดส่วนของคนอเมริกันที่มั่นใจว่าตัวเองมีเงินเก็บเพียงพอสำหรับเกษียณ ลดลงจาก 40% ในช่วงกลางทศวรรษ 2000 เหลือเพียง 30%
ดังนั้น แม้ว่าคนเบบี้บูมเมอร์ในประเทศร่ำรวยจะมีความมั่งคั่งสูงและถูกคาดว่าจะใช้จ่ายมากในวัยเกษียณ แต่กลับกลายเป็นกลุ่มที่มีความมัธยัสถ์และเน้นการเก็บออมเพื่ออนาคต ทำให้สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการเติบโตของตลาดอาจจะไม่ได้เหมือนตำราในอดีตอีกต่อไป
โฆษณา