29 พ.ค. 2024 เวลา 10:31 • สุขภาพ
โรงพยาบาลเอกชัย

ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

มีสาเหตุจากการที่กล้ามเนื้อหัวใจได้รับออกซิเจนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เกิดขึ้นเมื่อหัวใจต้องการออกซิเจนมากขึ้น จากการกำลังออกกำลังกาย รับประทานอาหาร หรือมีภาวะเครียด ตื่นเต้น เป็นต้น ซึ่งออกซิเจนที่จะไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจนั้น จะมาจากปริมาณของเลือดที่ไหลเวียนไปยังหัวใจ
หากปริมาณเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงหัวใจลดน้อยลง ซึ่งสาเหตุอาจเกิดมาจากการที่หลอดเลือดหัวใจอุดตันบางส่วนหรืออุดตันทั้งหมด จากการสะสมของไขมันและคอเลสเตอรอล สามารถทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้
หากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดนานเกิน 2-3 นาที จะได้รับความเสียหาย จนสามารถทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายหรือหัวใจวายได้ และอาจอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิต
❤️ ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด มีอะไรบ้าง ?
💬 เพศ จากสถิติพบว่าเพศชายมีความเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง
💬 อายุที่เพิ่มมากขึ้น จากสถิติผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด พบในเพศชายที่อายุมากกว่า 45 ปี และในเพศหญิงที่อายุมากกว่า 55 ปี
💬 พันธุกรรม สำหรับผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวสายตรง เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
💬 ผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูง
💬 ผู้ที่มีระดับไขมันในเลือดสูง ไขมันจะสามารถเกาะตามผนังหลอดเลือดหัวใจด้านใน ทำให้หลอดเลือดตีบแคบลง ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้
💬 ผู้ที่มีโรคเบาหวาน ทำให้เพิ่มโอกาสให้หลอดเลือดแดงตีบแข็งได้
💬 การสูบบุหรี่ เนื่องจากสารนิโคตินในบุหรี่ จะส่งผลทำให้หลอดเลือดแดงแข็งตัว ความยืดหยุ่นของหลอดเลือดลดลง
💬 ขาดการออกกำลังกาย ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก การเผาผลาญพลังงานน้อย ทำให้เกิดการสะสมของไขมัน
💬 ความเครียด ทำให้ร่างกายเกิดการเผาผลาญไขมันในหลอดเลือดผิดปกติได้
👋 อาการแสดงของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด มีอะไรบ้าง ?
👉 มีอาการเจ็บหน้าอก โดยจะเจ็บแน่นอยู่บริเวณใต้หน้าอก อาจมีอาการเจ็บร้าวไปที่บริเวณแขน หัวไหล่ คอ หรือกรามได้ อาการจะเป็นอยู่ประมาณ 5 - 10 นาที อาการที่เป็นมักถูกกระตุ้นจากการออกแรง ภาวะเครียด หากนั่งพักแล้วอาการจะดีขึ้น หรือบางรายที่มีอาการของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแบบเฉียบพลัน แม้ไม่ได้มีการออกแรง ก็สามารถมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกอย่างต่อเนื่อง ในขณะพักได้
👉 เหนื่อยขณะออกแรง หายใจลำบาก หรือหายใจเร็ว หอบ
👉 เหนื่อย เพลีย นอนราบไม่ได้
👉 เหงื่อออกตัวเย็น แม้ไม่ได้ออกกำลังกาย
👉 คลื่นไส้ หรืออาเจียน
👉 หมดสติหรือหัวใจหยุดเต้น
2
🌈 เราสามารถป้องกันภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้อย่างไร ?
⭐ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง
⭐ ควบคุมและรักษาโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง เป็นต้น ซึ่งเป็นภาวะที่เพิ่มความเสี่ยงของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
⭐ รับประทานผัก ผลไม้ ให้มากขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว และควรควบคุมระดับคอเลสเตอรอลให้อยู่ในระดับที่แพทย์แนะนำ
⭐ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
⭐ ควบคุมน้ำหนักตัว ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
⭐ เลิกสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสอง
⭐ จัดการกับความเครียด โดยอาจหากิจกรรมเพื่อสร้างความผ่อนคลาย
⭐ ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ
โฆษณา