29 พ.ค. เวลา 13:05 • การศึกษา

วิธีทำใจให้เป็นสุข ตอน ๑

.
หากปล่อยให้ใจยินดีในสุขเช่นไร ใจก็จะรังเกียจในทุกข์ที่เป็นสิ่งตรงกันข้ามกับสุขด้วยเช่นเดียวกัน ถ้าไม่สอนใจให้รู้สุข รู้ทุกข์ ตามความเป็นจริง ใจก็จะรักสุขเกลียดทุกข์ไปตลอดกัลปาวสาน
.
ดังนั้น ทุกครั้งที่ใจประสบกับสิ่งที่ไม่รักไม่ชอบ จงทำสัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบให้เกิดขึ้นที่ใจให้ได้ก่อนว่า การที่ใจไม่ชอบในสิ่งใดนั้น เป็นความผิดของใจเอง เพราะสิ่งต่าง ๆ เขามีอยู่เป็นอยู่ตามธรรมดาธรรมชาติของเขา เขาเป็นของเขาอย่างนั้น เขาไม่ได้กวักมือเชื้อเชิญร้องเรียกให้ใจเราไปชอบหรือไม่ชอบ แต่ใจเราไปหาเรื่องใส่เขาเอง
.
จงทำลายใจที่กำลังไม่ชอบในสิ่งนั้นก่อน ให้ท่องคำว่า “ขันติ ๆๆ” คือ ความอดทนไว้ก่อน เพราะความอดทนเป็นตปธรรมเครื่องแผดเผากิเลสให้เร่าร้อนได้ แล้วทำใจให้ยอมรับสิ่งนั้น ให้ใจอยู่กับสิ่งนั้นจนกว่าใจจะสงบและวางเฉยได้ จากนั้นให้ระลึก “พุทโธ ๆๆ” จนใจหนักแน่นมั่นคงไม่หวั่นไหว อย่าเพิ่งหลบหนีสิ่งนั้นไป จะพลาดโอกาสในการเรียนรู้และฝึกจิต
.
จงสอนใจให้รู้ว่า ที่เราไม่ชอบสิ่งนั้น เราไปบังคับสิ่งนั้น หรือทำสิ่งนั้นให้เป็นที่ชอบใจของเราได้ไหม ถ้าคิดว่าทำได้ก็ทำเสีย แต่ต้องให้แน่ใจว่า สิ่งที่เราชอบนั้นมันเป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงามด้วย และเป็นไปได้ด้วย
.
แต่ถ้าเราไม่สามารถไปบังคับสิ่งนั้นให้เป็นอย่างที่ใจเราชอบได้ ทำสิ่งนั้นให้ถูกใจเราอย่างเป็นธรรมไม่ได้ หรือถ้าทำแล้วมันหากจะเกิดการทะเลาะวิวาทกัน ก็จงทำใจให้อยู่เฉย ๆ เสียจะดีกว่า ทำใจให้ยอมรับมันก่อน แล้วจงอยู่กับมันให้ได้ เมื่อใจมีกำลังกล้า ประกอบด้วย ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ความอยากหรือไม่อยากก็จะถูกทำลาย แล้วทุกข์ในใจก็จะค่อย ๆ ดับไปเอง
.
เพราะใจรู้ตามความเป็นจริงว่า ทุกสรรพสิ่งเกิดขึ้นแล้วต้องดับทั้งหมด ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ ไม่มีประโยชน์อะไรที่ใจจะไปยึดถือเอาไว้ เพราะจะเป็นเหตุทำให้ใจเป็นทุกข์เสียเปล่า ใจจะต้องไม่รักสุข ใจจะต้องไม่เกลียดทุกข์ ใจจะต้องยอมรับตามความเป็นจริงว่า จะสุขก็ตาม จะทุกข์ก็ตาม มันเกิดขึ้นแล้วก็ดับทั้งนั้น เมื่อดับไปแล้วก็ไม่มีสิ่งใดหลงเหลือไว้เป็นตัวเป็นตนพอให้ใจไปยึดถือไว้ได้เลย
.
อะไรเกิดขึ้นก็รับรู้มันตามความเป็นจริง ควรทำดีต่อมันอย่างไรได้ก็ทำเสีย ทำอะไรไม่ได้ก็ทำใจให้ปล่อยวาง แล้วอยู่กับความจริงนั้น อย่าให้ใจคิดนึกปรุงแต่งไปในทางที่จะทำให้ใจเป็นทุกข์
.
ดังนั้น ใจที่เป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบ จึงไม่ไปหลงรักหลงชัง หลงยึดถือในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วดับไป เพราะมันไม่มีแก่นสาร ไม่มีตัวตนอยู่จริง ไม่คู่ควรแก่ใจที่จะให้ใจไปยึดถือสิ่งใด ๆ ไว้ได้เลย
.
เมื่อใจรู้อย่างนี้ ใจจึงจะเข้าถึงความเป็นกลาง ไม่ยินดีในสุข ไม่รังเกียจในทุกข์ ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ ย่อมมีน้ำหนักเท่ากันในความรับรู้ของใจอย่างไม่ลำเอียง นั่นแล! คือ ใจที่เป็นธรรมอย่างแท้จริง
.
#ดอยแสงธรรม_๒๕๖๗_๐๕
โฆษณา