30 พ.ค. เวลา 07:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

“Suzuki” จากโรงงานผลิตเครื่องทอผ้า สู่ผู้ผลิตยานยนต์ Top 10 ของโลก

จุดเริ่มต้นที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ “ซูซูกิ” รถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นหนึ่งในผู้ผลิตยานยนต์ได้มากติด Top 10 ของโลก เคยเป็นโรงงานผลิตเครื่องทอผ้ามาก่อน
“ซูซูกิ” (Suzuki) เป็นหนึ่งในแบรนด์ยานยนต์ที่ชื่อคุ้นหูและติดปากคนไทยมานานหลายสิบปี มีชื่อเสียงทั้งในไลน์การผลิตรถยนต์และจักรยานยนต์ รวมถึงเครื่องยนต์เรือและวีลแชร์ไฟฟ้า
ทุกวันนี้ ซูซูกิเป็นผู้ผลิตยานยนต์ต่อปีได้มากติด Top 10 ของโลกเลยทีเดียว ทว่าจุดเริ่มต้นของยานยนต์สัญชาติญี่ปุ่นรายนี้ไม่ได้เริ่มจากการทำยานยนต์ตั้งแต่แรก แต่มาจาก “โรงงานผลิตเครื่องทอผ้า” ต่างหาก
ซูซูกิ มิชิโอะ ผู้ก่อตั้ง Suzuki
จากโรงงานผลิตเครื่องทอผ้ามาผลิตยานยนต์ได้อย่างไร?
เรื่องราวของซูซูกิเริ่มต้นจากชายที่ชื่อว่า “ซูซูกิ มิชิโอะ” เขาเกิดเมื่อปี 1887 ที่หมู่บ้านเนซึมิโนะมุระ จังหวัดชิซูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ผู้คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพปลูกฝ้ายและทอผ้าฝ้าย รวมถึงครอบครัวของมิชิโอะด้วย นั่นทำให้เขาคลุกคลีอยู่กับการดูแลไร่ฝ้ายมาตั้งแต่เด็ก แต่เขาต้องการทำอะไรที่มีฝีมือมากกว่าแค่การปลูกฝ้าย
เมื่ออายุได้ 14 ปี มิชิโอะจึงฝากตัวเป็นศิษย์ของช่างไม้ และใช้เวลา 7 ในการฝึกฝนและสำเร็จวิชา โดยระหว่างนั้น เกิดสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นปี 1904 ความต้องการชิ้นงานไม้ลลดต่ำลง ทำให้มิชิโอะและอาจารย์ต้องไปทำงานบำรุงรักษาเครื่องทอผ้าแทน
เมื่ออายุ 22 ปี เขาพัฒนาเครื่องทอผ้าแบบเหยียบ (Pedal-Driven Loom) โดยให้แม่ของเขาทดลองใช้ก่อน และพบว่าสามารถทอผ้าได้เร็วกว่าเครื่องทอมือถึง 10 เท่า
สิ่งประดิษฐ์ของมิชิโอะเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว เขาจึงเริ่มการผลิตเครื่องทอผ้าใหม่จำนวนมาก และก่อตั้งบริษัท Suzuki Loom Manufacturing Company ขึ้นมาในเดือนตุลาคม 1909 คอยผลิตและพัฒนาเครื่องทอผ้าส่งให้กับโรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอญี่ปุ่น
บริษัทของมิชิโอะผลิตแต่เครื่องทอผ้าต่อเนื่องเกือบ 30 ปี กระทั่งปี 1936 มิชิโอะตัดสินใจเข้าสู่ธุรกิจยานยนต์
มิชิโอะเชื่อว่า เพื่อให้บริษัทสามารถรักษาการเติบโตที่มั่นคงในระยะยาวได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาไลน์ธุรกิจใหม่นอกเหนือจากการผลิตเครื่องทอผ้า โดยมุ่งความสนใจไปที่รถยนต์ขนาดเล็ก
เขาได้ซื้อ ออสติน ซีดาน รถสี่ล้อขนาดเล็กที่ผลิตในอังกฤษ เพื่อนำมาใช้ศึกษาและอ้างอิง จนสามารถผลิตเครื่องยนต์ต้นแบบได้สำเร็จในฤดูใบไม้ร่วงปี 1937 และสร้างรถรถเปิดประทุนขึ้นมา
ในฤดูร้อนปี 1939 ต้นแบบรถเก๋งสี่ล้อขนาดเล็กคันแรกของซูซูกิก็เสร็จสมบูรณ์ เป็นประเภท FR ติดตั้งเครื่องยนต์ 4 สูบ 4 จังหวะ 750cc ระบายความร้อนด้วยน้ำ มีกำลังแรง 13 แรงม้า
ซูซูกิเริ่มสนใจในการพัฒนาและผลิตรถยนต์
ก้าวสู่อุตสาหกรรมยานยนต์เต็มตัว
แต่ขณะที่การวิจัยรถยนต์กำลังดำเนินไปอย่างราบรื่น กลับเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระดมกำลังด้านอุตสาหกรรมเพื่อการสงคราม ทำให้โรงงานทั่วประเทศต้องเปลี่ยนเป็นโรงงานผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์แทน บริษัทซูซูกิจึงไม่มีเวลาสำหรับการวิจัยเกี่ยวกับรถยนต์อีกต่อไป และต้องหยุดไปนานหลายปี
หลังสงครามโลกสิ้นสุดลง บริษัทซูซูกิกลับมาศึกษาพัฒนาเครื่องยนต์และยานยนต์ต่อ และเปิดตัวจักรจานติดเครื่องยนต์คันแรก “พาวเวอร์ฟรี” (Power Free) ในปี 1952 ซึ่งมาพร้อมเครื่องยนต์ขนาด 36cc เครื่องยนต์สองจังหวะ กำลัง 1 แรงม้า
และรุ่นต่อมา “ไดมอนด์ฟรี” (Diamond Free) 60cc เครื่องยนต์ 2 จังหวะ ได้รับความนิยมอย่างมากถึงขนาดว่าสามารถผลิตขายได้เดือนละ 6,000 คัน
2 ปีต่อมา บริษัท Suzuki Loom Manufacturing Company เปลี่ยนชื่อเป็น Suzuki Motor Co., Ltd. (และในปี 1990 จึงเปลี่ยนเป็น Suzuki Motor Corporation ที่เราคุ้นชิน)
ความสำเร็จสำคัญที่สุดของซูซูกิเกิดขึ้นในปี 1955 เมื่อบริษัทเปิดตัวมอเตอร์ไซค์ ColledaCOX 125cc เครื่องยนต์ 4 จังหวะ และเปิดตัวรถยนต์คันแรกอย่างเป็นทางการ นั่นคือ “ซูซูไลต์” (Suzulight) 360cc เครื่องยนต์ 2 จังหวะ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มตลาดรถยนต์ไซซ์เล็กของญี่ปุ่น
เหตุผลที่รถต้นแบบถูกสร้างเป็นรถยนต์ขนาดเล็กเพราะมิชิโอะคิดว่ารถยนต์ขนาดเล็กน่าจะเป็นสิ่งที่สาธารณชนต้องการมากกว่า และคำนึงถึงเรื่องของใบอนุญาตและภาษีด้วย
นับแต่นั้นมา ซูซูกิได้ผันตัวเองเป็นผู้ผลิตยานยนต์มาจนถึงปัจจุบัน โดยก้าวเข้าสู่ตลาดโลกครั้งแรกเมื่อปี 1959 จากการส่งออกซูซูไลต์
Suzulight รถยนต์คันแรกอย่างเป็นทางการของแบรนด์ Suzuki
ผู้ผลิตรถยนต์ Top 10 ของโลก และลูกรักของชาวอินเดีย
หลังเริ่มเดินหน้าในอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างเป็นทางการ ซูซูกิประสบความสำเร็จมากทั้งในไลน์รถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์รุ่น อัลโต (Alto), วากอนอาร์ (WagonR) และสวิฟต์ (Swift)
ข้อมูลล่าสุดปี 2022 ซูซูกิสามารถผลิตรถยนต์ได้ถึง 3.2 ล้านคันทั่วโลก เพิ่มขึ้นเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ในจำนวนนี้สามารถขายได้มากกว่า 3 ล้านคัน เพิ่มขึ้นเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันเช่นกัน ทำรายได้ไป 4.16 ล้านล้านเยน (ราว 9.7 แสนล้านบาท)
ขณะที่ไลน์จักรยานยนต์ไม่น้อยหน้า ผลิตได้ 1.91 ล้านคัน ขายได้เกือบ 1.86 ล้านคัน ทำรายได้ 3.33 แสนล้านเยน (ราว 7.8 แสนล้านบาท)
ที่น่าสนใจคือ ขณะนี้ ตลาดใหญ่ที่สุดสำหรับซูซูกิไม่ใช่ญี่ปุ่น แต่คือ “อินเดีย” ภายใต้บริษัท Maruti Suzuki เพราะทำยอดขายรถยนต์ได้ถึง 1.64 ล้านคัน ส่วนจักรยานยนต์ขายได้ 740,000 แสนคัน เป็นรองเพียงภูมิภาคเอเชีย
โรงงานในอินเดียตรวจสอบเครื่องยนต์ที่จะใช้ในรถยนต์ซูซูกิ
เมื่อเดือน ส.ค. 2023 ซูซูกิ มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน รายงานความสำเร็จ มียอดขายรถยนต์สะสมทั่วโลกทะลุ 80 ล้านคัน แบ่งเป็นยอดขายในญี่ปุ่น 28.9 ล้านคัน และในต่างประเทศ 51.27 ล้านคัน
ในจำนวน 51.27 ล้านคันนี้ เป็นยอดขายจากอินเดียมากกว่า 30 ล้านคัน ซึ่งเป็นประเทศที่ 2 ที่ทำได้ต่อจากญี่ปุ่น แต่ทำได้เร็วกว่า เพราะใช้เวลาเพียง 40 ปีเท่านั้น ขณะที่ญี่ปุ่นใช้เวลา 55 ปี 2 เดือน
ในแง่ของการตั้งฐานการผลิต ซูซูกิเริ่มผลิตรถยนต์ในต่างประเทศครั้งแรกที่ปากีสถานในปี 1975 จากนั้นจึงทยอยเปิดในอีกหลายประเทศ จนถึงวันนี้ ซูซูกิมีฐานการผลิตรถยนต์ใน 10 ประเทศ (รวมญี่ปุ่น) ส่งออกรถยนต์ขายให้ 184 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก
ส่วนอินเดียที่เริ่มผลิตรถยนต์ซูซูกิในปี 1983 นั้น ปัจจุบันไม่ใช่แค่ศูนย์กลางการผลิตสำหรับตลาดภายในอินเดีย แต่ยังมีบทบาทในการส่งออกไปยังจุดหมายปลายทางต่าง ๆ รวมถึงแอฟริกาด้วย
เนื่องจากอินเดียกลายเป็นตลาดรถยนต์โดยสารที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกและมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างแข็งแกร่งในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซูซูกิอินเดียวางแผนที่จะลงทุนเพิ่มเติมและเพิ่มกำลังการผลิตประจำปีเป็น 4 ล้านคันภายในปีงบประมาณ 2030-2031 จากตอนนี้ที่ผลิตได้ประมาณ 1.9 ล้านคันต่อปี
รถซูซูกิที่ผลิตและจำหน่ายในอินเดีย
“ประเทศไทย” อีกหนึ่งฐานการผลิตที่สำคัญของซูซูกิ
อย่างไรก็ดี “ประเทศไทย” ถือเป็นอีกหนึ่งฐานการผลิตที่สำคัญของซูซูกิ โดยมีการก่อตั้ง บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ขึ้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2011 และสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ซูซูกิขึ้นเป็นแห่งแรกที่ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง
ซูซูกิประเทศไทยเริ่มต้นการประกอบรถยนต์รุ่นแรกคือ ซูซูกิสวิฟต์ ในปี 2012 และดำเนินการผลิตรถยนต์รุ่นอื่น ๆ มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ Suzuki Celerio, Suzuki Ciaz เพื่อจำหน่ายทั้งภายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ
ในปี 2022 โรงงานซูซูกิในประเทศไทยสามารถผลิตรถยนต์ได้ 16,356 คัน เป็นฐานการผลิตที่ผลิตได้มากเป็นอันดับ 5 รองจากอินเดีย ปากีสถาน ฮังการี และอินโดนีเซีย
ทั้งนี้ ณ ไตรมาสแรกของปี 2024 มีรายงานว่า ซูซูกิประเทศไทยทำยอดขายในประเทศได้ประมาณ 1,900 คัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2023 ถึง 40%
อย่างไรก็ดี ตลาดรถยนต์ในประเทศไทยขณะนี้ภาพรวมไตรมาสแรก 2024 มีกำลังการผลิตลดลง 18.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2023 ส่วนยอดขายในประเทศภาพรวมลดลงไป 24.6%
โลโก้ Suzuki
ส่วนหนึ่งที่ทำให้ยอดขายรถยนต์หลาย ๆ แบรนด์ลดลงคาดว่าเป็นผลพวงจากเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้า (รถอีวี) เพราะยอดขายของแบรนด์รถอีวี โดยเฉพาะจากจีน เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล
กระนั้น ยอดขายและการผลิตของซูซูกิที่ลดลงและปัจจัยต่าง ๆ ทำให้ก่อนหน้านี้ช่วงกลางเดือน พ.ค. 2024 เกิดกระแสว่า ซูซูกิเตรียมปิดกิจการในประเทศไทย แต่ทาง บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ออกมายืนยันแล้วว่า ไม่เป็นความจริง โดยระบุว่า
“ตามที่มีกระแสข่าวในโซเชียลมีเดียที่ได้พาดพิงและกล่าวถึงการดำเนินงานของบริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด
บริษัทฯ ขอเรียนชี้แจงว่าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริงและขอยืนยันว่า บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจในประเทศไทย และมีแผนในระยะยาวที่จะแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ในปี 2568 และในปีถัดๆไป ตามแผนงานธุรกิจ ที่ได้มีการประกาศต่อผู้จำหน่ายรถยนต์ซูซูกิทั่วประเทศเมื่อช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา รวมถึงบริษัทฯ มีแผนงานในการพัฒนาผู้จำหน่ายเพื่อให้มีมาตรฐานการขายและการให้บริการหลังการขาย ที่จะสามารถสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้าคนไทยได้ต่อไป
บริษัทฯ ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความไว้วางใจและเป็นลูกค้าซูซูกิเสมอมา”
นี่คือเรื่องราวตลอดระยะเวลามากกว่า 100 ปีที่ผ่านมาของซูซูกิ ที่ได้เปลี่ยนตัวเองจากโรงงานผลิตเครื่องทอผ้า จนกลายมาเป็น 1 ใน 10 ผู้ที่ผลิตและส่งมอบรถยนต์มากที่สุดของโลก
รถยนต์ซูซูกิรอการขนส่งไปต่างประเทศ
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
Facebook PPTV บันเทิง : https://www.facebook.com/PPTVHD36Entertainment
โฆษณา