6 มิ.ย. เวลา 03:00 • อสังหาริมทรัพย์

การกู้ซื้อบ้าน เทคนิคกู้บ้านยังไงให้ผ่าน รวมทุกข้อควรรู้!

ที่อยู่อาศัย เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของทุกคน เพราะธรรมชาติของมนุษย์ล้วนต้องการความมั่นคง ปลอดภัย และอุ่นใจ ดังนั้นในยามที่เราอยู่บ้านจึงเปี่ยมล้นไปด้วยความรู้สึกนี้ อย่างไรก็ตาม บ้านหลังแรกของใครหลายคน ก็ยังคงเป็นฝันที่ไกลและไปไม่ถึง ด้วยหลากหลายปัจจัยแวดล้อม โดยเฉพาะขั้นตอน การยื่นกู้ซื้อบ้าน แม้จะพยายามมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่ผ่านสักที แล้วต้องทำอย่างไรล่ะ ถึงจะฝ่าด่านอรหันต์ในส่วนนี้ไปได้?
วางแผนเตรียมการแต่เนิ่นๆ อย่างน้อย 3-5 ปี
เรื่องสำคัญแบบนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการ “วางแผน” ไว้อย่างรอบคอบ รัดกุม โดยเฉพาะการอดเปรี้ยวไว้กินหวาน เก็บเงินเก็บทองไว้แต่เนิ่นๆ รู้จักกินใช้อย่างมัธยัสถ์ และต้องทำต่อเนื่อง 3-5 ปีเป็นอย่างน้อย สมมติเราเงินเดือน 2-3 หมื่นบาท เก็บออม 10% ยังถือว่าน้อยไป ต้องเพิ่มขึ้นเป็น 30% เมื่อเวลาผ่านไปถึงหลักชัยที่ตั้งไว้ ก็น่าจะมีเงินก้อนมากถึง 3-5 แสนบาท สามารถนำไปเป็นเงินดาวน์ 10-20% กับราคาทาวน์โฮมหรือคอนโดมิเนียมระดับ 2-3 ล้านบาทได้สบายๆ
ขณะเดียวกัน เรื่องการใช้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อเงินผ่อนต่างๆ ก็ต้องปลดพันธนาการให้ได้ หากจำเป็นต้องมีต้องใช้ ก็ควรผ่อนชำระสม่ำเสมอ ตรงเวลา เพื่อรักษาเครดิตทางการเงิน เพราะถือเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน ลำพังมีแค่เงินดาวน์ แต่กลับติดเครดิตบูโร แบบนี้ก็เปล่าประโยชน์ ซึ่งจะเป็นตัวแปรทำให้ไปไม่ถึงฝั่งฝันได้
หน้าที่การงาน รายรับในอนาคตเป็นอย่างไร?
การประเมินถึงรายรับในอนาคตของตัวเองและคู่รัก ก็เป็นสิ่งที่เราสามารถคาดการณ์ได้เช่นกัน งานที่ทำในปัจจุบันมีโอกาสเติบโตในหน้าที่การงานหรือไม่ กิจการที่ทำอยู่มีแนวโน้มขยายตัว ฐานลูกค้าจะเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด หรือเราสามารถจะหาอาชีพที่สองที่สาม ทำควบคู่กับงานประจำได้หรือไม่ ต่างๆเหล่านี้ล้วนเป็นที่มาของแหล่งรายรับในอนาคตทั้งสิ้น
และต้องไม่ลืมว่า เมื่อมีรายรับก็ต้องมีรายจ่าย ซึ่งก็ต้องนำมาคำนวณบวกลบคูณหารดูให้ละเอียด นอกจากภาระที่เพิ่มขึ้น จากการผ่อนบ้าน ผ่อนรถ บัตรเครดิตหรือสินเชื่ออื่นๆ แล้ว บุตรธิดาที่ต้องเลี้ยงดู มีค่าส่งเสียในแต่ละปีอีกกี่มากน้อย ปัจจัยเหล่านี้ แน่นอนว่า สถาบันการเงินผู้ปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย อาจไม่ได้นำมาเป็นเกณฑ์พิจารณาทั้งหมด แต่จะให้น้ำหนักกับเรื่องรายรับในปัจจุบัน และขีดความสามารถการผ่อนชำระในระยะยาวเป็นสำคัญ
อัพเดทมาตรการรัฐ ‘สินเชื่อที่อยู่อาศัย’
กฎ กติกา และระเบียบของทางการในเรื่องเดียวกันนี้ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามหรือละเลย เพราะจะส่งผลต่อการยื่นกู้ซื้อบ้านอยู่ไม่น้อย โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ปรับเกณฑ์ การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยใหม่ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 เป็นต้นไป
สาระสำคัญ ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ซื้อบ้านในวงกว้าง จะอยู่ที่เรื่อง การวางเงินดาวน์ขั้นต่ำ สำหรับที่อยู่อาศัยราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท ประกอบด้วย
1) สัญญากู้ที่อยู่อาศัยหลังแรก วางเงินดาวน์ 0-10%
2) สัญญากู้ที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 แบ่งออกเป็น วางเงินดาวน์ 10% หากผ่อนสัญญาแรกแล้ว 3 ปีขึ้นไป และวางเงินดาวน์ 20% กรณีผ่อนสัญญาแรกไม่ถึง 3 ปี และ
3
3) สัญญากู้ที่อยู่อาศัยหลังที่ 3 ขึ้นไป วางเงินดาวน์ขั้นต่ำ 30%
ดังนั้น ไม่ว่าจะยื่นกู้กับสถาบันการเงินใด แม้แต่แบงก์ที่เข้าร่วมกับโครงการบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม หรือคอนโดมีเนียม ที่เราจับจองไว้ สถาบันการเงินผู้พิจารณาปล่อยสินเชื่อ ก็จะต้องยึดถือปฏิบัติตามมาตรการนี้อย่างเคร่งครัด
จะว่าไปการยื่นกู้ซื้อบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม หรือคอนโดมีเนียม เป็นของตัวเองสักหลัง ก็ไม่ได้เป็นอะไรที่ลำบากยากเย็นนัก ขอเพียงมีความมุ่งมั่น อดทนอดกลั้น และประการสำคัญ คือ การอดออม อย่างไม่ลดละ
เผลอๆ เมื่อวันนั้นมาถึง คุณอาจจะได้ครอบครองบ้านหลังโตกว่าที่คิดไว้แต่แรกก็เป็นได้!
โฆษณา