30 พ.ค. เวลา 08:27 • ศิลปะ & ออกแบบ

อัตลักษณ์เมืองที่สร้างได้

สองวันนี้มีหลายคนถามผมว่าคิดอย่างไรกับงานออกแบบอัตลักษณ์เมือง (พวกเขาใช้คำฝรั่งว่า City Branding) ของกทม.
ผมจะไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องการออกแบบ เพราะมันเป็นเรื่อง subjective บางคนชอบ บางคนไม่ชอบ เป็นเรื่องธรรมดา
2
ผมอยากพูดเรื่องที่กว้างกว่านั้น คือเรื่องการใช้เงินให้เป็น
1
นี่เป็นเรื่องเก่า สมัยผมเรียนคณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ อาจารย์เดชา บุญค้ำ ผู้สอนวิชา Landscape Architecture (ท่านเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์) ตั้งข้อสังเกตว่า กทม. (ในเวลานั้น) มีโครงการปลูกต้นไม้ทั่วเมือง วิธีการคือซื้อต้นไม้ต้นเล็กๆ ราคา 50 บาทมาปลูกตามทางเท้า แล้วสร้างกรงเหล็กราคา 750 บาทครอบ เพื่อป้องกันไม่ให้มันถูกเหยียบตาย
2
อาจารย์ตั้งคำถามว่า ทำไมไม่ซื้อต้นไม้ราคา 800 เท่าเงินที่จ่าย ไม่ต้องซื้อกรงครอบ เพราะต้นไม้ราคา 800 สูงและใหญ่พอรอดชีวิตกว่าต้นเล็กๆ
นี่คือการใช้เงินเป็น
สาระของโครงการนี้คือปลูกต้นไม้ใหญ่ กรงครอบคือเปลือก
ดังนั้นเวลาเห็นทางการใช้เงินที่เน้นเปลือกมากกว่าสาระ ผมก็มักคิดถึงเรื่องที่อาจารย์สอนเสมอ
ก็มาถึงเรื่องอัตลักษณ์เมือง
ผมเคยเล่าว่า สิ่งแรกๆ ที่ลีกวนยูทำเมื่อเริ่มสร้างประเทศสิงคโปร์ คือปลูกต้นไม้ใหญ่ทั่วเกาะ ปลูกอย่างจริงจัง มีหน่วยงานดูแลโดยเฉพาะ
บางคนมองไม่เห็นว่าทำไปทำไม ต้องเสียเวลารดน้ำ กวาดใบไม้ ฯลฯ
ผ่านไปหลายสิบปี ลีกวนยูบอกว่ามันเป็นโครงการที่เขาตัดสินใจถูกต้อง เพราะเขาได้สร้างสิ่งที่เขาเรียกว่า 'A first world oasis in a third world region'
อาจารย์เดชา บุญค้ำ วิเคราะห์ว่า ผลของการปลูกต้นไม้ใหญ่ทั้งเกาะคือ อุณหภูมิทั้งเกาะจะลดลง 1-2 องศา ฝนจะตกมากขึ้น การใช้เครื่องปรับอากาศก็ลดลง
5
เมืองจีนก็ทำตามสิงคโปร์เช่นกัน จะเห็นว่าถนนหนทางในหลายเมืองในประเทศจีนตอนนี้ปกคลุมด้วยต้นไม้
หากใครไปสิงคโปร์ คงเห็นภาพสะพาน ทางข้ามคอนกรีต ปกคลุมด้วยต้นตีนตุ๊กแกและไม้เลื้อย มองไม่เห็นเสาและคานสะพาน
พวกเขาไม่เสียเงินเสียเวลาออกแบบป้ายไปปิดเสาและคานสะพาน ใช้ต้นไม้ดีกว่า บรรยากาศดีกว่า อากาศสะอาดกว่า
และมันก็กลายเป็นอัตลักษณ์เมืองไปโดยปริยาย
พูดง่ายๆ คือใช้เงินเป็น
ขอบคุณภาพจากแหล่งต่างๆ ในอินเทอร์เน็ต
โฆษณา