30 พ.ค. 2024 เวลา 10:47 • ธุรกิจ

การบริหารผลการปฏิบัติงานของพนักงานด้วยตารางเทียบแกนทักษะกับความมุ่งมั่น (Skill / Will Matrix)

HR ไร้พรมแดน
30 พฤษภาคม 2567
การบริหารผลการปฏิบัติงานมีประเด็นที่ผู้บริหาร หัวหน้างานมักจะเจอเสมอก็คือ จะทำอย่างไรให้พนักงานที่มีความแตกต่างกันสามารถส่งมอบผลงานได้อย่างที่ต้องการ
ซึ่งเรื่องนี้หลายองค์กรชั้นนำ หลายบริษัทที่ปรึกษาได้มีการใช้เครื่องมือตัวหนึ่งที่เรียกว่า Skill / Will Marix ที่ผมขอเรียกในภาษาไทยว่า ตารางเทียบแกนทักษะกับความมุ่งมั่น มาใช้เป็นกรอบในการวางแนวทางว่า จะดึงให้พนักงานได้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพได้อย่างไร
อะไรคือ Skill / Will Matrix
คือ กรอบที่ช่วยในการประเมินและตัดสินใจให้กับผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะหัวหน้าว่า จะทำอย่างไรให้พนักงานในทีมของตนสามารถส่งมอบผลงานออกมาได้อย่างที่คาดหวังไว้ โดยพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลโดยตรงต่อผลงาน คือระดับของทักษะที่มี และ ระดับของความมุ่งมั่นตั้งใจมาประกอบกัน เพื่อให้ได้แนวทางที่เหมาะสมกับเงื่อนไขของแต่ละคน
Skill / Will Marix ประกอบด้วยอะไร
ตัวแบบนี้จะประกอบด้วยแกน 2 แกน คือ แกนตั้งเป็น”แกนความมุ่งมั่นตั้งใจ” ในการทำงานจากมีน้อยข้างล่างไปหามีมากเมื่อสูงขึ้นไป และแกนนอนเป็น “แกนทักษะ” ลากจากซ้ายไปขวาจากน้อยไปหามาก และเมื่อจับ 2 แกนมาขึงเข้าด้วยกันก็จะแยกพนักงานออกมาได้เป็น 4 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1 - มีทักษะสูง ความมุ่งมั่นสูง
กลุ่มที่ 2- มีทักษะสูง ความมุ่งมั่นต่ำ
กลุ่มที่ 3- มีทักษะต่ำ ความมุ่งมั่นสูง
กลุ่มที่ 4- มีทักษะต่ำ ความมุ่งมั่นต่ำ
โดยการบริหารผลงานพนักงานแต่ละกลุ่มจะมีความแตกต่างกัน โดยมีแนวทางดังนี้
กลุ่มที่ 1 - มีทักษะสูง ความมุ่งมั่นสูง
ใช้แนวทาง Delegate คือ มอบอำนาจให้ดำเนินการ
กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ตัวพนักงานสามารถกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจได้ด้วยตนเอง สามารถส่งมอบผลสำเร็จของงานโดยไม่ต้องมีใครไปจ้ำจี้จ้ำไช ดังนั้นแนวทางการบริหารผลงานคนกลุ่มนี้คือ เน้นให้ได้เรียนรู้งานที่ท้าทาย ปล่อยให้ได้คิดตัดสินใจเอง หัวหน้าวางบทบาทเป็นพี่เลี้ยงคอยแนะนำ หรือ เป็นโค้ชให้เขาได้เรียนรู้พัฒนาไปด้วยตนเอง
กลุ่มที่ 2- มีทักษะสูง ความมุ่งมั่นต่ำ
ใช้แนวทาง Excite คือ สร้างความตื่นเต้นให้กับงาน
พนักงานกลุ่มนี้ มีทักษะสูง จะสามารถพัฒนาตัวเองไปได้มาก สามารถทำงานที่ให้ผลงานที่ดีได้ แต่แรงจูงใจจะต่ำ เเนวทางที่หัวหน้าจะช่วยได้คือ ต้องพูดคุยเพื่อรับฟัง และหาสาเหตุของการขาดแรงจูงใจ แล้วช่วยเหลือเพื่อบรรเทาสาเหตุดังกล่าว ก็จะทำให้เขามีแรงจูงใจที่จะทุ่มเทสร้างผลงานให้มากขึ้น ส่งมอบผลงานที่ดีขึ้น
กลุ่มที่ 3- มีทักษะต่ำ ความมุ่งมั่นสูง
ใช้แนวทาง Guide คือ แนะแนวทาง
เป็นกลุ่มพนักงานที่มีข้อจำกัดที่ตั้งใจอยากมากอย่างทำงานให้ได้ผลงาน อยากเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ แต่ด้วยทักษะเดิม พื้นฐานทักษะเดิมยังไม่ดีพอ หรือไม่แน่นหนาพอ ทำให้แม้จะตั้งใจอย่างไร ก็ยังทำงานไม่ได้ผลงานตามที่ควรจะเป็น ดังนั้น หัวหน้าก็จะต้องเข้าไปใกล้ชิด ช่วยดูว่ามีทักษะอะไรที่เกี่ยวข้องกับเนื้องานที่เขายังมีไม่เพียงพอ ก็เข้าไปช่วยกำหนดแนวทางการเพิ่มทักษะแบบลงรายละเอียด แบบที่เป็นเรื่องๆลงไปให้เขาเกิดทักษะที่สอดคล้องกับงานที่ทำ ก็จะช่วยให้เขาส่งมอบผลงานที่เหมาะสมได้
กลุ่มที่ 4- มีทักษะต่ำ ความมุ่งมั่นต่ำ
เป็นการใช้แนวทางแบบ Direct คือ สั่งการ
กลุ่มนี้จะดูและได้ยากสุดเพราะหัวหน้าต้องเข้าไปหาว่า อะไรที่ทำให้ขาดแรงจูงใจ แล้วทักษะอะไรที่เขายังขาดเพื่อจะพัฒนาต่อยอด เพื่อจะสามารถสร้างผลงานที่ดีต่อไปได้ โดยหัวหน้าจะต้องใช้การรับฟังอย่างเห็นอกเห็นใจและอย่างลึกซึ้งเพื่อจะความเข้าใจพนักงานกลุ่มนี้อย่างถ่องแท้ แล้วกำหนดการทำงานแบบชัดเจน ติดตามอย่างใกล้ชิด มีกำหนดการมาเช็คอินกันบ่อยๆ
อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มที่ 4 หากได้พยายามอย่างมากแล้วในการเข้าไปช่วยเหลือใกล้ชิดแล้วไม่ดีขึ้น ก็คงต้องไปสู่ทางเลือกในการโยกย้ายงาน หรือ แยกจากกันไป
จากแนวทางของ Skill / Will Matrix ดังกล่าว ได้วางกรอบที่ช่วยหัวหน้าได้มากในการบริหารผลการปฏิบัติงานของพนักงานที่มีความแตกต่างกันในมิติที่กระทบกับการสร้างผลงานโดยตรงคือ ทักษะและแรงจูงใจ ของพนักงานแต่ละคน
สิ่งที่จะทำให้ตัวแบบนี้ได้ผลจริงๆ คือ หัวหน้าจะต้องใส่ใจพนักงานอย่างจริงจังเพื่อจะได้เห็นอย่างชัดเจนว่าเขาอยู่ในกลุ่มไหนและจะได้กำหนดวิธีการบริหารผลงานได้อย่างถูกต้อง เพราะหากประเมินพนักงานจัดเข้ากลุ่มที่ไม่ใช่เป็นตัวเขาแล้ว การใช้แนวทางการบริหารผลงานก็จะผิดเพี้ยนตามไปด้วย และการใช้แนวทางที่ไม่ใช่ไปปรับใช้ ก็อาจส่งผลเสียมากยิ่งกว่าเดิม
Photo Credit: AIHR
#performancemanagement
#skillwillmatrix
โฆษณา