30 พ.ค. เวลา 13:42 • ไลฟ์สไตล์

สรุปที่มาที่ไป ป้าย ‘กรุงเทพ Bangkok’ ไม่ได้นั่งเทียนเขียนขึ้นใหม่ แต่มาจากรากฐานเดิม

จากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ชวนให้ต้องมาโฟกัสกับการออกแบบกราฟิกสำหรับ ‘กรุงเทพมหานคร’ เมืองที่มีอัตลักษณ์หลากหลาย กับคำถามที่หลายคนถามว่าจะเปลี่ยนทำไม?
✏ที่เรียกกันว่า ‘CI’ คืออะไร และจะมีไปทำไม?
CI ย่อมาจากคำว่า Coperate Identity หรือ อัตลักษณ์ขององค์กร แปลให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือการออกแบบ สี ฟอนต์ สัญลักษณ์ ฯลฯ ให้ลูกค้าจำแบรนด์ได้ เป็นการสร้าง ‘ภาพจำ’ ด้วยการออกแบบนั่นเอง
เช่น พอเราเห็นสีน้ำเงินกับกลมๆ แล้วคิดถึง Pepsi แต่พอเห็นสีแดงเส้นโค้งๆ เราจะคิดถึง Coke นั่นเอง และยิ่งคนจำได้มาก ก็จะทำให้คนคิดถึงแบรนด์นั้นๆ เมื่อคิดจะซื้อก็ซื้อแบรนด์นั้นก่อน
การออกแบบ CI เป็นสิ่งที่ทำกันโดยทั่วไปในวงการธุรกิจ ในหลายเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกก็มีความพยายามออกแบบ CI เช่นกัน เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับเมือง
กรุงเทพอาจจะไม่ใช่แบรนด์ ในที่นี้ CI อาจจะแปลว่า City Identity ก็ได้ ซึ่งนี่อาจเรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกที่กรุงเทพลงทุนสร้างแบรนด์ดิ้งให้กับตัวเองผ่านการออกแบบกราฟิก
✏ โพสต์นี้จะพาไปดูที่มาแนวคิดการออกแบบแต่ละส่วน ของป้าย ‘กรุงเทพ Bangkok’ ลองอ่านแต่ละหัวข้อในภาพย่อยๆ แล้วคิดยังไง ชอบ ไม่ชอบ มีไอเดียอะไรอยากเสนอ มาพูดคุยกันได้นะ
✏โลโก้กรุงเทพ
ก่อนจะพาไปดูที่มาที่ไปของการออกแบบฟอนต์ ต้องพาไปรู้จักโลโก้ของกรุงเทพก่อน อันที่จริงจะเรียกให้ถูกต้อง คงต้องเรียกว่า ‘ตราประจำจังหวัด’ มากกว่า
ตรากรุงเทพมหานคร เดิม
รู้หรือไม่ว่า ตรากรุงเทพ ถูกใช้มาตั้งแต่ปี 2516
แรกเริ่มเดิมทีตรากรุงเทพถูกคัดลายขึ้นมาโดยกรมศิลปากร โดยเอาแบบมาจากภาพเขียนของสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเผือกเอราวัณ พระหัตถ์ทรงสายฟ้า ด้วยเพราะคำว่า “รัตนโกสินทร์” แปลว่าแก้วของพระอินทร์
และเพราะใช้มานานหลายสิบปี ตั้งแต่สมัยยังไม่มีคอมพิวเตอร์ ทำให้ไม่เคยมีใครทำไฟล์ดีๆ ภาพชัดๆ ไว้ ได้แต่ก๊อปกันไป แปะกันมา ภาพแตก ขยายไม่ไหวไปตามๆ กัน
ด้วยความหมายที่ศักดิ์สิทธิ์และกฎหมาย ตราของกรุงเทพมหานคร จึงถูกคงไว้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลย นอกจากการทำลายเส้นให้ชัดเจน เป็นไฟล์พร้อมใช้
และนี่เป็นจุดเริ่มต้นของหลายๆ ส่วนใน CI ของ กรุงเทพ
✏ทำไมถึงต้องทำ ‘ฟอนต์’ ใหม่?
แต่เดิมนอกจากตรากรุงเทพมหานครแล้ว ก็ไม่มีอะไรที่เป็นสัญลักษณ์โดยตรงของกรุงเทพอีก แต่ด้วยความที่ตรากรุงเทพเป็นรูปพระอินทร์ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ และมีรายละเอียดเยอะมาก (เห็นไปถึงรอยย่นที่หางตาช้าง)
จะไม่เหมาะกับการนำไปใช้กับบางงาน เช่น พวกงานที่ต้องการให้ดูมินิมอล ทันสมัย หรือบางกรณีเอาไปแปะบนพื้นหรือบนถังขยะ อาจทำให้เกิดความไม่สบายใจได้
การออกแบบฟอนต์นี้ หากทำออกมาแล้วใช้จนติดตา จะกลายเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของกทม.ได้ในอีกรูปแบบหนึ่ง
✏แล้ว ‘ฟอนต์’ มาจากไหน?
ฟอนต์นี้ไม่ได้งอกออกมาจากอากาศ แต่มาจากตรา ‘กรุงเทพ มหานคร’ เดิมนั่นเอง
ตัวอักษรคำว่า ‘กรุงเทพ มหานคร’ นี้เขียนโดยพระยานริศฯ ใช้ปากกาหัวตัดเขียน มีลักษณะโค้งตามสมัยนิยมตอนนั้น
‘เสาชิงช้า’ ฟอนต์ใหม่ก็ได้เอาคำเดิมนี้มาเป็นต้นแบบโดยตรง โดยแนวคิดก็คือ ทำให้ดูง่ายขึ้น
ลองดูจากในภาพ จะเห็นว่ามีการลดความยึกยักลงทำให้ดูเรียบลง ลดความหนาลง และมีความหนาหลากหลายให้เลือกใช้ ตัวอักษรที่บางลงจะทำให้อ่านง่ายขึ้นด้วย คงลักษณะของปากกาหัวตัดไว้ มีกลิ่นไทยๆ แต่ไม่โบราณจนใช้กับงานป๊อบๆ ไม่ได้
จุดมุ่งหมายคือ สามารถนำไปประยุกย์ใช้กับงานทั่วไปในกทม.ได้ ไม่ว่าจะเป็นภาพโปสเตอร์ ชื่องานอีเวนท์ ป้ายโรงเรียน โรงพยาบาลในสังกัดกทม. นามบัตร และอื่นๆ ในจุดนี้ก็ถูกเอามาทำป้ายที่ติดรางรถไฟสยามด้วย
✏เมื่อพูดถึงว่ากรุงเทพ คุณนึกถึงสีอะไร?
คำตอบตรงนี้คงแตกต่างไปแล้วแต่คน แต่จากการที่ผู้ออกแบบทำรีเสิร์ชคำตอบก็หลากหลาย
แต่หลังจากเวิร์คกันสักพักก็มาสรุปที่ ‘สีเขียวมรกต’ ซึ่งเป็นสีที่กรุงเทพเคยใช้มาบ้างแล้ว และยังเป็นสีผิวของพระอินทร์ด้วย
นอกจากนี้เพื่อความหลากหลายในการหยิบไปใช้งานจึงกำหนดสีรองต่างๆ ออกมาด้วย เป็นตัวแทนความหลากหลายของผู้คนและวิถีชีวิตในกรุงเทพ
✏ลายกราฟิกตกแต่ง
หนึ่งในเทคนิคของการลดทอนรายละเอียดเยอะๆ ก็คือการโฟกัส ตัดมาเฉพาะบางส่วน ซึ่งในที่นี้หยิบเอา ‘วัชระ’ อาวุธในมือของพระอินทร์มาใช้
จะเห็นว่าเอาเค้าโครงเดิมมาทำเป็นภาพกราฟิกโดยใช้สีที่กำหนดไว้ในการควบคุมธีม
✏เค้าโครงเพื่อเติบโต
เป็นเรื่องที่ดีที่หลายคนหันมาสนใจวงการออกแบบ ความเห็นที่หลากหลายเป็นที่ถกเถียงในสังคมจะช่วยพัฒนาวงการต่อไปได้
โดยเฉพาะที่กทม.ให้ความสำคัญกับการออกแบบ ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะไม่ใช่เมืองใหญ่ทุกเมืองที่ทำการออกแบบ CI แต่เมืองที่ทำส่วนใหญ่ล้วนประสบความสำเร็จในแง่ภาพลักษณ์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น New York, Amsterdam, Paris
หลายคนอาจมองว่าเปลืองงบประมาณ แต่รู้หรือไม่ว่า ก่อนหน้าที่ไม่มี CI ในทุกหน่วยงาน ทุกงานอีเวนท์จะต่างคนต่างทำกราฟิก เช่น ขวดน้ำ ลายเสื้อ นามบัตรอีกที ใช้ซ้ำแทบไม่ได้ ซึ่งอาจทำให้ยิ่งใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นอีก
การออกแบบ CI ไม่ใช่การสร้างกฎตายตัว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดไป แต่เป็นการกำหนด ‘เค้าโครง’ เพื่อใช้เป็นไกด์ในการออกแบบ แล้วสร้างจุดร่วมให้คนจำได้ แน่นอนว่าสามารถปรับเปลี่ยน-เพิ่มเติมไปตามบริบทของเมือง
เช่น ในกรณีป้ายแลนด์มาร์คประเทศไทย ในอนาคต เปิดให้มีการประกวดก็อาจเป็นเรื่องดี เปลี่ยนปีละครั้ง นักท่องเที่ยวที่มาแต่ละทีจะได้ป้ายไม่ซ้ำกัน มาอีกทีก็ต้องมาถ่ายอีก ก็เป็นได้
2
หรือคิดว่ายังไงกัน?
source: Farmgroup
#ARTof #ARTofLiving #กรุงเทพ #กทม #BKK #Bangkok
โฆษณา