31 พ.ค. 2024 เวลา 02:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

แลนด์บริดจ์ อย่าซ้ำรอย EEC | บทบรรณาธิการกรุงเทพธุรกิจ

เป็นระยะเวลาเกือบ 5 ปี ที่ประเทศไทยสูญเปล่าไปกับการเตรียมความพร้อมเริ่มก่อสร้าง ดังนั้น โครงการแลนด์บริดจ์ที่นายเศรษฐา ทวีสิน ทุ่มสุดตัวเพื่อพัฒนาท่าเรือ มอเตอร์เวย์ และรถไฟทางคู่ ขอให้อย่าซ้ำรอยรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา
รัฐบาลกำลังเร่งผลักดันโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) เพื่อให้เป็นจุดขายใหม่ของประเทศไทย ซึ่งจะเป็นโครงการที่เชื่อมการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและทะเลอันดามัน โดยจะมีท่าเรือ 2 ฝั่ง ที่ระนองและชุมพร รวมทั้งเชื่อมทะเลทั้ง 2 ฝั่ง ด้วยมอเตอร์เวย์และรถไฟ ด้วยมูลค่าการลงทุน 1 ล้านล้านบาท นอกจากนี้จะมีพื้นที่รองรับการลงทุน มีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนการลงทุนครั้งใหญ่
2
แนวทางการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ใช้แนวทางเดียวกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างยกร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ พ.ร.บ.เอสอีซี ซึ่งมีต้นแบบมาจาก พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 ที่ประกอบด้วยกลไกการพัฒนาและสิทธิประโยชน์การลงทุน โดยในเขตพัฒนาพิเศษจะให้อำนาจเพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการมีความคล่องตัวมากขึ้น
ข้อกังวลสำคัญในขณะนี้ของภาคเอกชนอยู่ที่ความกังวลการส่งมอบพื้นที่ การเวนคืนที่ดิน และผลกระทบความเป็นอยู่ของประชาชน โดยที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมประสานกระทรวงมหาดไทยแก้ปัญหากรณีที่มีประชาชนบางกลุ่มไม่มีเอกสารสิทธิ์ถือครองที่ดิน ซึ่งจะมีผลต่อชดเชยประชาชนที่ต้องออกจากพื้นที่ รวมทั้งมีประชาชนบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการแลนด์บริดจ์ จึงจำเป็นที่กระทรวงคมนาคมจะต้องเร่งสร้างความเข้าใจ เพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องการจัดเตรียมพื้นที่
1
โครงการแลนด์บริดจ์จำเป็นต้องดูบทเรียนของการพัฒนาอีอีซี โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่ยังไม่สามารถออกเอกสารเริ่มงานได้และตอกเสาเข็มได้ ซึ่งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ลงนามสัญญาร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค. 2562 ในขณะที่โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ลงนามสัญญาร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย.2563
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่เป็นกระดูกสันหลังของอีอีซีไม่คืบหน้า ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการขับเคลื่อนอีอีซี และมีคำถามจากนักธุรกิจว่า ทั้ง 2 โครงการจะเริ่มก่อสร้างได้เมื่อใด เป็นระยะเวลาเกือบ 5 ปี ที่ประเทศไทยสูญเปล่าไปกับการเตรียมความพร้อมเริ่มก่อสร้าง ดังนั้น โครงการแลนด์บริดจ์ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ทุ่มสุดตัวเพื่อพัฒนาท่าเรือ มอเตอร์เวย์และรถไฟทางคู่ ขอให้อย่าซ้ำรอยโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา
1
โฆษณา