31 พ.ค. 2024 เวลา 08:19 • ปรัชญา
วัดศรีเอี่ยม

ความหมายที่แท้จริงของคำว่า "พูดส่อเสียด" ที่พระพุทธเจ้าทรงสอน

‘พูดส่อเสียด’ ตามความหมายของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร ?
พูดส่อเสียด คำๆนี้มีผู้เข้าใจผิดกันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้ศึกษาคำของพระพุทธเจ้าโดยตรง ก่อนหน้าเรามักเข้าใจว่า พูดส่อเสียดคือพูดกระแนะกระแหน กระทบกระทั่ง ถากถางแดกดันผู้อื่นโดยต่อหน้า
และมีสาวกรุ่นหลังให้ความหมายของพูดส่อเสียดอีกว่า การพูดส่อเสียด หรือ ปิสุณาวาจา หมายถึง เจตนาพูดส่อเสียดเหน็บแหนม กระทบกระทั่ง ถากถาง เย้ยหยันให้ผู้อื่นได้รับความเสียใจ คับแค้นใจ ขุ่นเคือง โกรธ อับอาย มีความทุกข์
แต่แท้จริงแล้ว การพูดส่อเสียด ตามพระศาสดาบัญญัติ ซึ่งเป็นหนึ่งในอกุศลกรรมบท ๑๐ และวจีกรรม นั่นก็คือ...
แม้แต่พ่อแม่ หากพูดจาเลวกับบุตร ก็ย่อมบาปเช่นกัน
ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ไม่ประพฤติธรรมด้วยวาจา ๔ อย่างเป็นไฉน?
ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้
- เป็นผู้กล่าวคำเท็จ ... เป็นผู้กล่าวเท็จทั้งรู้อยู่
- {"เป็นผู้พูดส่อเสียด คือ ได้ฟังแต่ข้างนี้แล้วนำไปบอกข้างโน้น ... และกล่าววาจาที่เป็นเครื่องทำให้แตกกันเป็นพวก ด้วยประการฉะนี้"}
- เป็นผู้มีวาจาหยาบ คือกล่าววาจาหยาบที่เป็นโทษ ...
- "เป็นผู้กล่าวไร้ประโยชน์ คือ พูดในเวลาที่ไม่ควรพูด พูดเรื่องที่ไม่เป็นจริง พูดไม่เป็นประโยชน์ พูดไม่เป็นธรรม พูดไม่เป็นวินัย กล่าววาจาไม่มีหลักฐาน ไม่มีที่อ้าง ไม่มีที่สุด ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลไม่สมควร."
ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย บุคคลผู้ประพฤติไม่เรียบร้อยคือ ไม่ประพฤติธรรมด้วยวาจา ๔ อย่าง เป็นอย่างนี้แล.
- ฉบับหลวง ล.๑๒ สุตตันตปิฎก น.๓๗๓ ข.๔๘๙
...สรุปแล้ว ความหมายที่แท้จริงของคำว่า ‘พูดส่อเสียด’ นั่นก็คือการเอาเรื่องของอีกคนไปเล่าให้อีกคนฟัง และกล่าววาจาให้แตกแยกกัน(ยุแยงตะแคงรั่ว) หรือที่เรียกกันว่า "พูดยุยงให้แตกกัน" นั่นเอง ผู้ที่มีการกระทำเช่นนี้เรียกได้ว่าเป็นผู้พูดส่อเสียด และสังคมที่กำลังแตกแยกก็เพราะมีการพูดส่อเสียดดังความหมายของพระพุทธเจ้านี่เอง
แอดมิน เพจเฟ๊ซบุ๊ค "พุทธที่แท้จริง" โพสต์เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ.2562
โฆษณา