พบผีเสื้อหางยาวสี่ตาปีกลายตรง สัตว์ป่าคุ้มครองหายากใกล้สูญพันธุ์ ในอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม จ.ชัยภูมิ

"ผีเสื้อหางยาวสี่ตาปีกลายตรง" 𝘼𝙘𝙩𝙞𝙖𝙨 𝙨𝙚𝙡𝙚𝙣𝙚 เพศเมีย สำรวจพบเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 โดยเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าชุดลาดตระเวนสายตรวจส่วนกลาง SMART PATROL RANGER อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา)
"ผีเสื้อหางยาวสี่ตาปีกลายตรง" ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า : 𝘼𝙘𝙩𝙞𝙖𝙨 𝙨𝙚𝙡𝙚𝙣𝙚 (Hubner) โดยผีเสื้อในสกุล 𝘼𝙘𝙩𝙞𝙖𝙨 จัดเป็นผีเสื้อกลางคืน ซึ่งในประเทศไทย มีทั้งสิ้น 4 ชนิด ลักษณะเด่นของผีเสื้อในสกุลนี้คือ มีหางยาว ปัจจุบันเป็นผีเสื้อในสกุลนี้มีภาวะใกล้จะสูญพันธุ์ จึงได้รับการคุ้มครองโดยพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562
ลักษณะเด่น คือ มีหนวดแบบขนนก ตัวผู้ กางปีกเต็มที่ขนาด 12- 13.5 เซนติเมตร ลำตัวมีขนสีเหลืองอ่อนปกคลุม ปีกสีเขียวอ่อน มีจุดรูปพระจันทร์เสี้ยวทั้งปีกหน้าและปีกหลัง รวม 4 จุด ปีกคู่หน้ามีเส้นสีน้ำตาลเทาขวางเส้นปีก ปีกคู่หลังมีหางยาวโค้งรูปดาบมีสีชมพูรูปพระจันทร์เสี้ยวที่ขอบหาง ตัวเมีย ขนาด 14.5 - 15 เซนติเมตร ลักษณะทั่วไปเหมือนตัวผู้ แต่หางบางกว่าและบิด
ผีเสื้อหางยาวสี่ตาปีกลายตรง มีเขตแพร่กระจายพันธุ์ ในประเทศไทย พบได้ตั้งแต่ที่ราบต่ำจนถึง ระดับความสูง 2,400 เมตรจากระดับน้ำทะเล
พืชอาหารของตัวหนอน เป็นพรรณไม้ในหลายสกุล เช่น ไม้ตะแบก (สกุล Lagerstroemia) ไม้รกฟ้า (สกุล Terminalia) เป็นต้น
แหล่งข้อมูล : กลุ่มงานวิจัยกีฏวิทยาและจุลชีววิทยาป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ผู้สำรวจ : นายวีระ ดุมใหม่ เจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนสายตรวจส่วนกลาง ฝ่ายอนุรักษ์และจัดการทรัพยากร อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม
บทความ/ภาพโดย : นายประจักษ์ บุญมาจันทร์ (ยักษ์) เจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนสายตรวจส่วนกลาง ฝ่ายอนุรักษ์และจัดการทรัพยากร อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม
#กรมอุทยานแห่งชาติ #สบอ7นครราชสีมา #อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม #กรมอุทยานแห่งชาติ #ชัยภูมิ #ผีเสื้อหางยาวสี่ตาปีกลายตรง
โฆษณา