2 มิ.ย. เวลา 13:15 • ความคิดเห็น

จะ 'ลาออก' หรือ 'ไปต่อ'

ห้วงหนึ่งปีที่ผ่านมานี้มีเพื่อนๆพี่ๆน้องๆที่เคยทำงานด้วยกันได้ลาออกจากที่ทำงานไปหาความก้าวหน้าในเส้นทางอื่น หลายคนล้วนเป็นคนเก่ง เป็นคนมีฝีมือ
หลายคนมาปรึกษาผม ผมพยายามสลัดความคิดเห็นส่วนตัวออก แล้วจินตนาการว่าเป็นเขา
เมื่อฟังพวกเขาเล่า ทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องงาน ความฟุ้งซ่านในใจก็เกิด เหมือนน้ำมีตะกอน เศษขุ่นลอยวนอยู่ในน้ำนั้น
เหตุผลหลักส่วนใหญ่ที่องค์กรไม่สามารถรั้งคนเก่งไว้ทำงานด้วยได้ มักหนีไม่พ้น 6 เรื่องหลักได้แก่ ค่าตอบแทน, ความคาดหวัง, ความเครียด, สมดุลของชีวิต, ไร้วี่แววการเติบโต และ การที่ไม่อยู่ในสายตา .. สามารถอธิบายเสริมได้ดังนี้
1.Remuneration - ค่าตอบแทนไม่เหมาะสมกับความสามารถหรือเนื้องานที่ทำอยู่
2.Expectations - สิ่งที่เห็นก่อนเข้างานไม่เหมือนสิ่งที่เจอเมื่อมาอยู่ด้วยหรือความคาดหวังที่ไม่เป็นจริง
3.Stress - ความเครียดจากสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ
4.Imbalance - ขาดสมดุลของชีวิต/ภาระงานและเวลาส่วนตัวไม่สัมพันธ์กัน
5.Growth - ไร้วี่แววในเรื่องการเติบโตในสายงานและโอกาสในการพัฒนาตนเอง
6.Neglect - การถูกเพิกเฉย/ถูกประเมินค่าต่ำหรือไม่อยู่ในสายตา
ทั้ง 6 ปัจจัยนี้เมื่อเอาอักษรแรกของทุกคำมาเรียงต่อกันจะได้คำว่า "RESIGN"
<Remuneration / Expectations / Stress / Imbalance / Growth / Neglect>
เมื่อน้ำหนักของปัจจัยทั้ง 6 เริ่มรุมเร้า ถาโถมเข้ามา จนสุกงอม ผลคือ คนเก่งๆก็ตีจาก
มีงานวิจัยของ Pew Research Center สำรวจว่าสาเหตุที่พนักงานลาออกในปี 2021 จำนวน 63% คือเรื่องค่าจ้างต่ำ และ 57% คือความรู้สึกว่าอยู่นอกสายตา หรือสิ่งที่พยายามผลักดันให้เกิดผลดีต่อองค์กรถูกเพิกเฉย สาเหตุอื่นๆอีกมากมายเช่น อยู่ไปก็ไม่ก้าวหน้า กฎกติกาขาดความยืดหยุ่น และอื่นๆ
หากองค์กรอยากรั้งคนเก่งไว้คงต้องหายุทธวิธีในการดึงเพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นเลือกที่จะ 'CONTINUE' เพื่ออยู่ต่อ และเครื่องมือแปดประการต่อไปนี้อาจช่วยได้
1) เพิ่มรายได้ 2) ให้โอกาส 3) ฟูมฟัก 4) ลงทุนฝึกอบรม 5) ให้มีส่วนร่วม 6) สร้างเครือข่ายเชิงบวก 7) เข้าใจและเห็นอกเห็นใจ และ 8) ให้อำนาจหรือมีอิสระในการตัดสินใจ
อธิบายโดยย่อได้ดังนี้
1.เพิ่มรายได้ (Compensation) - คือข้อแรกสุด เพราะจากงานวิจัย สาเหตุหลักของคนเปลี่ยนงานก็เพราะเรื่องรายได้ แต่หากเจ้าขององค์กรไม่สามารถทำได้ ก็เชิญพิจารณาข้อต่อๆไปด้านล่างตามสะดวก
2.ให้โอกาส (Opportunities) - ให้พนักงานได้เข้าถึงโอกาสที่สามารถพัฒนาตัวเองได้ เห็นการเติบโตในสายงาน และมั่นใจในการเติบโตขององค์กร
3.ฟูมฟัก (Nurture) - เลี้ยงพนักงานประหนึ่งดูแลคนในครอบครัว ให้ความเป็นธรรม สร้างบรรยากาศที่อบอุ่น
4.ลงทุนฝึกอบรม (Training) - มองพนักงานเป็นทรัพย์สิน ยิ่งลงทุน ยิ่งเพิ่มมูลค่า
5.ให้มีส่วนร่วม (Involvement) - สร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมในองค์กร แรงจูงใจในการมีส่วนร่วม ประหนึ่งว่าเขาคือหุ้นส่วนคนสำคัญขององค์กร
6.สร้างเครือข่ายเชิงบวก (Networking) - กำจัดสังคมเป็นพิษ ขจัดการติ การเบลม สร้างความสามัคคีให้เกิดเป็นเครือข่ายใหญ่ที่แข็งแกร่ง
7.เข้าใจและเห็นอกเห็นใจ (Understanding) – รู้จักเว้นระยะห่าง พื้นที่ส่วนตัวของพนักงาน เห็นอกเห็นใจ เอาใจเขามาใส่ใจเรา ช่วยเรื่องความสมดุลในเรื่องของภาระงานกับเวลา
8.ให้อำนาจหรือมีอิสระในการตัดสินใจ (Empowerment) - ช่วยได้มาก โดยเฉพาะกับคนเก่งมีความสามารถ อิสระในการตัดสินใจคือการทำงานด้วยความรู้สึกว่าไม่ถูกล้วงลูกมากไป
ทั้ง 8 กลยุทธนี้เมื่อเอาอักษรแรกของทุกคำมาเรียงต่อกันจะได้คำว่า 'CONTINUE'
แต่น่าเสียดาย เพราะวิธีการทั้งหมดนั้น มันคือโลกในอุดมคติ เพราะชีวิตจริงมันดราม่ากว่านั้นเยอะ หนังเศร้ามันมาก ชีวิตคนก็เหมือนละคร
ไม่มีเจ้านายใดที่เพอร์เฟกต์ และไม่มีสังคมการทำงานไหนที่พร้อมใจกันทำให้เกิดการ 'CONTINUE' อย่างสมบูรณ์ได้
สุดท้ายก็อยู่ที่เกณฑ์การยอมรับส่วนตัว ของใครของมัน เพราะการสร้างคำว่า 'CONTINUE' ให้เกิดขึ้น มันอาจต้องใช้เวลา และจังหวะเวลาของชีวิตคนเรามันไม่เหมือนกัน
หลังผมฟังเพื่อมร่วมงานพรรณนาหนังสั้นให้ฟังจบ น้ำที่ขุ่นในใจยิ่งฟุ้งหนัก เพราะเราอินกับเขามากไป ดูเหมือนว่า 6 ปัจจัยของคำว่า 'RESIGN' สำหรับเขามันเอ่อล้น และไร้วี่แววกับคำว่า 'CONTINUE'
สุดท้ายคนเก่งๆในองค์กรก็จะพากันออกหมด
ทิ้งไว้แต่คำว่า 'CONTINUE' ที่รอว่าใครจะทำให้มันเกิด ใครควรต้องตระหนัก
หรือมันอาจเป็นแค่เรื่องเพ้อฝันโง่ๆตามตำราเท่านั้นเอง
โฆษณา