Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Thai Burma railway ทางรถไฟสายมรณะ
•
ติดตาม
5 มิ.ย. เวลา 01:29 • ประวัติศาสตร์
เส้นทางรถไฟสายมรณะ
ฐานปืนต่อสู้อากาศของกองทัพญี่ปุ่นในบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำแคว
สะพานข้ามแม่น้ำแควเป็นสะพานทางรถไฟที่สำคัญแห่งหนึ่งบนเส้นทางรถไฟสายไทย-พม่า
กองทัพญี่ปุ่นจัดให้มีฐานปืนต่อสู้อากาศยานหลายฐาน ในการป้องกันสะพานแห่งนี้
ก่อนที่จะไปดูว่าที่สะพานข้ามแม่น้ำแควมีฐานปืนใหญ่ที่ใดบ้างที่คอยปกป้องสะพาน
ต้องรู้หลักของการตั้งฐานปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานของกองทัพญี่ปุ่นเสียก่อน
อ้างอิงจากเอกสาร Tecnical Manual Handbook on Japanese Military Forces ฉบับ 15 กันยายน 1944
กองทัพญี่ปุ่นจะตั้งฐานปืนต่อสู้อากาศยาน ไว้ป้องกันจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ในระยะรัศมีไม่เกิน 1.5 - 6.5 กิโลเมตรจากจุดที่ต้องการป้องกันภัยทางอากาศ
โดยจะมีการใช้ปืนต่อสู้อากาศยานขนาดตั้งแต่ 7.7 มม. ไปจนถึง 127 มม.
ฐานยิงที่มีปืนต่อสู้อากาศยาน อาจจะมีปืนไม่กี่กระบอก จนถึง 12 กระบอก
ระยะห่างระหว่างจุดตั้งปืนแต่ละกระบอกจะอยู่ที่ประมาณ 10-80 เมตร ขึ้นอยู่ตามสภาพภูมิประเทศ
ในแต่ละฐานปืนต่อสู้อากาศยาน จะมีการวางจุดที่ตั้งปืนกลด้วย โดยมีจุดตั้งปืนกลอยู่ระหว่างจุดตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน อาจจะอยู่ไม่ห่างจากจุดที่ตั้งปืนต่อสู้อากาศยานมากนัก
ทั้งนี้การใช้ปืนกล ก็เพื่อใช้ยิงป้องกันฐานปืนต่อสู้อากาศยาน ในกรณีที่เครื่องบินข้าศึกบินในระดับต่ำเข้าโจมตีฐานปืนต่อสู้อากาศยาน
ส่วนจุดตำแหน่งตั้งปืนต่อสู้อากาศยานแต่ละกระบอก จะมีการสร้างคันดินสูงขึ้นมาจากพื้นดินเป็นวงกลมหรือครึ่งวงกลมล้อมรอบ
คันดินนี้สร้างเพื่อป้องกันตัวปืนและพลประจำปืนจากแรงระเบิด/สะเก็ดระเบิดที่ทิ้งลงมาจากเครื่องบิน/ตลอดจนการยิงกราดจากปืนกลเครื่องบิน
หลายครั้งพบว่า เพื่อพรางจุดตั้งปืน ให้การตรวจการณ์ทางอากาศพบยากมากขึ้น
จุดตั้งปืนจะถูกขุดลึกลงไปในพื้นดิน เพื่อที่จะไม่ต้องทำคันดินวงกลมสูงมากเกินไป
เพราะหากคันดินสูง ในช่วงกลางวันแสงแดดส่อง ไม่ว่าจะช่วงใด หากมองจากเครื่องบินลงมา ก็จะเห็นจุดตั้งปืนเป็นรูปทรงกลมคล้ายโดนัท
การขุดลงไปลึกจากผิวดินนั้น ทำให้ไม่จำเป็นต้องสร้างพูนดินสูง ประกอบกับมีการปลูกหญ้าหรือพืชต่างๆ เพื่ออำพรางการเกิดเงาวงกลมในช่วงกลางวัน ซึ่งช่วยลดการตรวจการณ์ได้บ้าง
รัศมีวงกลมของจุดตั้งปืนและคันดิน ขึ้นอยู่กับขนาดของปืนต่อสู้อากาศยาน
เช่น
ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานขนาด 105 มม. จะมีพื้นที่จุดตั้งปืน วงกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ 8 เมตร
ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานขนาด 75 มม. จะมีพื้นที่จุดตั้งปืน วงกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ 4.5 - 6 เมตร
ปืนกลต่อสู้อากาศยานจะมีพื้นที่จุดตั้งปืน วงกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ 2.5 - 4 เมตร
และในแต่ละจุดที่ตั้งปืนยังอาจจะมีการขุดทำคลังเก็บกระสุนปืนต่อสู้อากาศยานอีกด้วย
และในแต่ละฐานปืนต่อสู้อากาศยานจะมีกองอำนวยการยิงที่คอยสั่งการ โดยกองอำนวยการยิงส่วนใหญ่จะอยู่ตรงกลางของฐานยิง
ตัวอย่างผังของฐาน ปตอ.ของญี่ปุ่น จะเห็นได้ว่าแต่ละฐานยิงจะมีแการแยกกันออกไป โดยตรงกลางที่ระบุ C/P หรือกองอำนวยการยิง
ตัวอย่างขนาดฐานปืนแต่ละรูปแบบ
ปตอ.ขนาด 75 มม.มีการสร้างจุดเก็บกระสุนไว้ในตัวฐานปืน
เทคนิคอีกอย่างที่กองทัพญี่ปุ่นใช้ในใช้ฐานปืนต่อสู้อากาศยาน
1.จะมีการสร้างหลายฐานเพื่อประสานการยิงป้องกัน
2.มีการสร้างฐานปืนต่อสู้อากาศยานหลอก หรือฐานสำรอง เพื่อลวงเครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรให้เข้ามาทำลายฐานปืนต่อสู้อากาศยานปลอม เพิ่มอัตตราการอยู่รอดให้กับปืนต่อสู้อากาศยานและพลปืน
ฐานปืนต่อสู้อากาศยานหลอก มีการนำเอาไม้มาวางพาดพร้อมกับเอาใบมะพร้าวมาสุมไว้ เมื่อมองจากระยะความสูงลงมา จะมองเห็นคล้ายกับว่ามีปืนต่อสู้อากาศยานประจำอยู่ ภาพนี้ถ่าย จากฐาน ปตอ. ของทหารญี่ปุ่นที่ ปาปัว-นิวกินี
3.มีการโยกย้ายตำแหน่งของปืนไปฐานปืนต่อสู้อากาศยานอื่นๆตามแต่โอกาส เพื่อป้องกันการโจมตีและลดความเสียหายจากระเบิดและการกราดยิงของเครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตร
มาที่จุดที่ภาพถ่ายทางอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตรตรวจพบฐานปืนต่อสู้อากาศยาน รอบๆสะพานข้ามแม่น้ำแควมีอย่างน้อย 5 จุด
ปัจจุบันพื้นที่เหล่านี้ไม่เหลือร่องรอยความเป็นฐานปืนต่อสู้อากาศยานอีกต่อไปแล้วครับ
ฐานแรกคือฐานใหญ่สุดอยู่ติดกับคอสะพานข้ามแม่น้ำแควฝั่งเมืองกาญ ปัจจุบันคืออาคารพาณิชย์และพื้นที่ใกล้เคียงทางฝั่งทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดกับสะพานข้ามแม่น้ำแคว
ปตอ. สะพานท่ามะขาม
ฐานปืนต่อสู้อากาศยานแห่งนี้ ในอดีตมองจากภาพ คาดว่าจะมีปืนต่อสู้อากาศยานขนาดหนัก 4 กระบอก นอกนั้น อาจจะเป็นปืนกลหรือปืนต่อสู้อากาศยานขนาดเบา มีบังเกอร์ศูนย์อำนวยการยิงอยู่ตรงกลาง
ฐานที่สองฐานที่อยู่บริเวณทางตะวันตกเฉียงเหนือของวัดท่ามะขาม เมื่อก่อนเป็นทุ่งนามีการปรับพื้นที่ทำฐานปืน
ฐาน ปตอ. ทางตะวันตกเฉียงเหนือวัดท่าขะขาม
จากการสังเกตพบว่ามีปืนต่อสู้อากาศยานขนาดหนัก 4 กระบอก นอกนั้น อาจจะเป็นปืนกลหรือปืนต่อสู้อากาศยานขนาดเบา
ปัจจุบันเป็นพื้นที่รกร้างและมีบ้านชาวบ้านมาปลูกในบริเวณนี้
ฐานที่สามอยู่ท้ายอยู่หลัง อบจ.กาญจนบุรี ฐานปืนนี้มี มีจุดตั้งปืนต่อสู้อากาศยานขนาดหนัก 3 กระบอก
ฐานยิงขวาสุดในปี 2010 ภาพจาก google map ยังคงเห็นพื้นที่ลักษณะเป็นหลุมวงกลมอยู่
ปี 2010 google map.
ในปี 2010 มองจากภาพภ่ายดาวเทียมยังมีร่องรอยฐานปืนอยู่หนึ่งฐาน แต่มีการปรับพื้นที่ไปหลายรอบแล้ว ปัจจุบันไม่เหลือร่องรอยอะไรแล้วครับ
ฐานที่สี่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสะพานข้ามแม่น้ำแคว ติดกับรั้วค่ายเชลยศึกในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ฐานนี้ดูยากเพราะภาพไม่ชัด แต่คาดว่า มีจุดตั้งปืนต่อสู้อากาศยานขนาดหนัก 4 กระบอก นอกนั้น อาจจะเป็นปืนกลหรือปืนต่อสู้อากาศยานขนาดเบา
ปัจจุบันถูกปรับพื้นที่ไปหลายครั้งเช่นกัน
ฐานที่ห้าอยู่ในพื้นที่สนามกีฬาจังหวัดกาญจนบุรี และอาคารพาณิชย์ ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของห้าง TMK.
จุดนี้จะมีสองฐานอยู่ไม่ไกลกัน โดยอยู่เยื้องข้ามถนนแสงชูโต
โดยฐานฝั่งตะวันตกมีปืนต่อสู้อากาศยานขนาดหนัก 4 กระบอก ส่วนฝั่งตะวันออกน่าจะเป็นปืนกลหรือปืนต่อสู้อากาศยานขนาดเบา เพราะคันดินทรงกลมเล็กกว่าของฝั่งฐานตะวันตก
ปัจจุบันไม่เหลือร่องรอยอะไรและเรื่องราวของฐานปืนต่อสู้อากาศยานเหล่านี้ค่อยๆลบเลือนหายไป
ด้วยเอกสาร Tecnical Manual Handbook on Japanese Military Forces ฉบับ 15 กันยายน 1944
ได้ระบุตามข้อความข้างต้นที่ผมได้บอกไปแล้วว่า การตั้งฐานปืนต่อสู้อากาศยานจำนวนหลายฐานยิง เป็นทั้งฐานสำรองและเป็นทั้งฐานหลอก เพื่อเพิ่มอัตราการอยู่รอดและการตอบโต้ฝูงบินทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร
เพราะฉนั้นฐานปืนต่สู้อากาศยานแถวสะพานข้ามแม่น้ำแควก็น่าจะเข้ากับองค์ประกอบในหลักการดังกล่าว
จริงๆแล้วเคยได้ยินว่าบนเขาแถวหลัง Big C กาญจนบุรีมีฐานปืนต่อสู้อากาศยานอีกฐาน แต่ผมยังไม่มีข้อมูลใดมายืนยันครับ
และเนื่องจากผมไม่ค่อยมีความรู้เรื่องเกี่ยวกับการบินและปืนต่อสู้อากาศยาน ผมจึงขอคำแนะนำจากท่านพลอากาศเอก ศักดิ์พินิต พร้อมเทพ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์การบินครับ
ขอกราบขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้
ประวัติศาสตร์
การศึกษา
ท่องเที่ยว
2 บันทึก
6
1
2
6
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย