11 มิ.ย. เวลา 05:00 • หนังสือ

โพสต์ก่อนพูดถึงมายาคติที่สรุปว่า "ความยุติธรรมไม่มีในโลก"

หลายคนตั้งคำถามว่าจริงหรือ เป็นไปได้อย่างไร ความยุติธรรมไม่มีในโลกได้ยังไง มันสวนกับตรรกะ
1
แต่เวลาเราถกเรื่องตรรกะ เราต้องใช้ตรรกะ ไม่ใช่อารมณ์ ความรู้สึก ไปจนถึง fallacy (ตรรกะวิบัติ)
ผมเขียนเรื่องนี้มาหลายครั้งแล้ว จึงขอยกบทความจากหนังสือ ชีวิตคือปาฏิหาริย์! มาให้อ่าน เป็นมุมมองให้ลองไตร่ตรองดู
1
เมื่อเกิดเหตุร้ายต่อคนดีคนหนึ่ง เรามักได้ยินคำพูดว่า “ทำไมสวรรค์ไม่มีตา” หรือ “ทำไมคนดีจึงอายุสั้น” หรือ “โลกไม่ยุติธรรมเลย”
ทุกครั้งที่เกิดภัยธรรมชาติ คนตายเป็นหมื่นเป็นแสน อุบัติเหตุที่คร่าชีวิตมนุษย์บริสุทธิ์อย่างเด็กไร้เดียงสา เช่น รถบัสโรงเรียนอนุบาลตกลงไปในคลอง เด็กนักเรียนจมน้ำตายทั้งคันรถ หรือเด็กสาวบริสุุทธิ์ถูกข่มขืนฆ่า คำถามก็ผุดขึ้นทันทีว่า ทำไมเรื่องร้ายจึงเกิดกับคนที่ไม่ได้ทำชั่ว
นอกจากเหตุร้ายที่เกิดต่อคนดีแล้ว ยังมีหลายเรื่องที่สวนทางกับตรรกะ และถือว่าไม่ยุติธรรมเช่นกัน ยกตัวอย่าง เช่น คนที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอหัวใจวายตาย, คนสูบบุหรี่กินเหล้าทุกวัน กลับอยู่สบายจนแก่, คนกินผัก-รำมวยจีน-เล่นโยคะเป็นมะเร็ง เป็นต้น
คนจำนวนมากยังชอบเปรียบสถานะตัวเองกับคนที่รวยกว่า มีโอกาสมากกว่า อยู่บ้านหลังใหญ่ รถหลายคัน ขณะที่ตนเองขึ้นรถเมล์สามต่อไปทำงานหามรุ่งหามค่ำ เงินเดือนนิดเดียว หรืออิจฉาคนที่เกิดมาหน้าตาดีกว่า รูปร่างดีกว่า ฉลาดกว่า
“โลกไม่ยุติธรรมเลย” เป็นบทสรุป แล้วโยนภาระให้กรรมเก่า
แม้ในโลกบันเทิง หนังหรือนิยายเรื่องใดที่นางเอกตายตอนจบ หรือพระเอกไม่ได้กับนางเอก มักถูกผู้อ่านผู้ชมโกรธ “ยอมไม่ได้ จบอย่างนี้ได้ไง ไม่ยุติธรรม...” อาจตามมาด้วย “นักเขียนใจร้าย!”
นิทานของทุกอารยธรรมตบท้ายด้วยคติสอนใจเสมอว่า คนดีต้องมีความสุขไปจนวันตาย คนชั่วถูกลงโทษ เก้าสิบเก้าเปอร์เซ็นต์ของหนังและหนังสือมีสูตรสำเร็จให้คนร้ายต้องตายในตอนจบเรื่อง หากคนร้ายรอดในตอนจบ ผู้เขียนจะถูกกล่าวหาว่าสร้างตัวอย่างที่ไม่ดี และเช่นเคย “มันไม่ยุติธรรมเลย”
อาการโหยหาความยุติธรรมเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ต่างจากสัตว์อื่น ๆ สัตว์สังคมของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคนรวมความยุติธรรมเข้าไปในกติกาสังคมและรัฐธรรมนูญเสมอ ความยุติธรรมในที่นี้คือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว คนดีต้องไม่เจอเรื่องร้าย คนร้ายต้องไม่ตายดี ใครขยันแล้วต้องประสบความสำเร็จ ใครขี้เกียจต้องยากจน อย่างนี้คือยุติธรรม ความเชื่อที่เป็นที่นิยมคือมันเกี่ยวข้องกับอำนาจเหนือธรรมชาติและ ‘กรรม’
1
หากความเชื่อนี้เป็นจริงหรือเป็นส่วนหนึ่งของกฎธรรมชาติ เราก็น่าจะเห็น ‘ความยุติธรรม’ เป็นกลไกหรือโครงสร้างหนึ่งของธรรมชาติ แต่ความจริงก็คือ นักธรรมชาติวิทยาไม่พบร่องรอยของ ‘ความยุติธรรม’ ตามบริบทของมนุษย์ในสังคมของสัตว์ ตรงกันข้าม กลับพบว่าธรรมชาติไม่เคยมี ‘ความยุติธรรม’ ธรรมชาติไม่เคยมีความเสมอภาค สัตว์ตัวผู้ที่แข็งแรงที่สุดเท่านั้นจึงจะมีสิทธิ์สืบพันธุ์ และธรรมชาติก็ไม่มีระบบ ‘ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว’
สิงโตกินลูกกวาง สำหรับแม่กวางก็น่าจะไม่ยุติธรรมที่ลูกถูกฆ่า แม่สิงโตถูกช้างกระทืบตาย สำหรับครอบครัวของสิงโตก็น่าจะไม่ยุติธรรม เพราะทำให้ลูกสิงโตเดือดร้อนถึงขั้นอดตายได้ ทว่าญาติพี่น้องเพื่อนของสัตว์ที่ถูกฆ่าไม่เคยตามไปล้างแค้น หรือแสดงอาการใส่ใจ ตายก็ตายไป ที่เหลือก็อยู่ต่อไป
2
เราอาจยกเหตุผลว่า “ก็พวกมันเป็นสัตว์เดรัจฉาน ไม่รู้สึกรู้สาอะไรอย่างคนนี่นา” แต่นี่อาจเป็นเหตุผลเข้าข้างมนุษย์หรือมองด้วยมุมมองมนุษย์ เพราะจากหลักฐาน สัตว์ ‘เดรัจฉาน’ ทั้งหลายก็มีความรู้สึก มีความรัก ความโกรธ ความกลัวเช่นมนุษย์ ความจริงแล้วมนุษย์ต่างหากที่วิวัฒนาการมาจากพวกมัน สัตว์พวกนี้มาก่อนเรา แล้ววิวัฒนาการแตกสายมาเป็นคน
เชื่อไหมว่าการศึกษาและทดลองความรู้สึกในสัตว์หลายชนิด เช่น หนู, ลิง Capuchin ผลชี้ไปในทิศทางว่า การรักความยุติธรรมอาจจะถูกฝังในสมองของคนและสัตว์! เป็นวิวัฒนาการของความรู้สึกอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับความรู้สึกอย่างความรัก ความโกรธ ความกลัว ความใคร่ ที่ถูกฝังในยีนของสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์
แต่การที่มนุษย์เรามีความรัก รักความยุติธรรม รักความเสมอภาค เป็นคนละเรื่องกับการที่โลกของเราเป็นโลกของความรักหรือโลกที่ยุติธรรมและเสมอภาคหรือไม่
มองโลกตามหลักฐานล้วน ๆ แล้ว มนุษย์ที่เชื่ออุดมคติก็อาจต้องยอมรับอย่างไม่ค่อยเต็มใจว่า ความยุติธรรมไม่เคยดำรงอยู่ในธรรมชาติ ธรรมชาติมิได้ ‘โหดร้าย’ ธรรมชาติเป็นอย่างนี้เอง ปลาใหญ่กินปลาเล็ก สัตว์ที่แข็งแรงกว่ากินสัตว์ที่อ่อนแอกว่า สัตว์ตัวที่แข็งแรงกว่าได้รับสิทธิสืบพันธุ์ เป็นระบบของชีวิตอย่างนี้เอง
เหตุการณ์ต่าง ๆ ในจักรวาลดำเนินไปตามทางของมัน ตามหลักอิทัปปัจจยตา เหตุทำให้เกิดผล ผลทำให้เกิดเหตุ ไล่เป็นลูกโซ่ของเหตุการณ์ ไม่มีอำนาจเหนือธรรมชาติกำหนด มันเป็นอย่างนั้นเองที่ชาวนานิสัยดีคนหนึ่งในอินเดียถูกงูกัดตาย นักกอล์ฟนิสัยดีคนหนึ่งที่อเมริกาถูกฟ้าผ่าตาย แม่บ้านนิสัยดีคนหนึ่งที่กรุงเทพฯตกบันไดเลื่อนหัวกระแทกพื้นอย่างแรง เป็นเจ้าหญิงนิทราตลอดชีวิต หรือคนดีอายุสั้น คนชั่วอายุยืน
เมื่อไรก็ตามที่เราโยง ‘คนดี’ กับเหตุการณ์ ‘ไม่ดี’ ซึ่งเป็นสองเรื่องที่ไม่เกี่ยวกันเข้าด้วยกัน ก็จะเกิดคำพูดว่า “โลกไม่ยุติธรรมเลย” เสมอ
มองโลกตามหลักฐานที่ปรากฏ จะพบความจริงว่า ขณะที่คนดีอายุสั้น คนชั่วก็อายุสั้นเหมือนกัน คนชั่วที่อายุยืนมีมาก คนดีที่อายุยืนก็มีมากเช่นกัน เหตุการณ์เล็กเหตุการณ์น้อยแต่ละเหตุการณ์รวม ๆ กันทำให้คนดีคนหนึ่งอายุสั้น และคนชั่วคนหนึ่งอายุยืน ก็เท่านั้นเอง ไม่มีอะไรลึกลับไปกว่านี้
เหตุผลเช่น ชาติก่อนทำบุญมาน้อย กรรมเก่าบันดาล เทวดาไม่ยุติธรรม หรือพระเจ้าทรงมีเหตุผลของพระองค์ หรือทรงทดสอบมนุษย์ ฯลฯ จึงน่าจะเป็นเรื่องที่เราสร้างขึ้นมาปลอบประโลมเราเองมากกว่า โลกไม่มีเรื่องดีและเรื่องร้าย มีแต่เรื่องที่ดำเนินไป โลกไม่มีเรื่องซวย เรื่องดี เรื่องแย่ เราคิดกันไปเอง
ในปรัชญาตะวันออก มันก็คือการปรุงแต่งความรู้สึกของเราเอง ทวิภาคแห่งสั้น-ยาว, ดี-ชั่ว, ร้อน-เย็น, สูง-ต่ำ, ใหญ่-เล็ก ฯลฯ เป็นเพียงสัมพัทธ์ (relativity) เมื่อเอาความรู้สึกเข้าจับ ก็เกิดการปรุงแต่งเป็นการยึดติดขึ้น
ปรัชญาเซนจึงเน้นการไม่ยึดติดเรื่องทวิภาค โลกไม่มีสั้น ไม่มียาว ไม่มีดี ไม่มีชั่ว ไม่มีร้อน ไม่มีเย็น ไม่มีสูง ไม่มีต่ำ ไม่มีใหญ่ ไม่มีเล็ก มันดีชั่วร้อนเย็นก็ต่อเมื่อจิตเราไปปรุงแต่งให้มันดีชั่วร้อนเย็น
ดีหรือร้ายจึงเป็นมุมมองและทัศนคติ ยึดว่านี่ยุติธรรม นั่นไม่ยุติธรรม แล้วเกิดความทุกข์
เมื่อเข้าใจหลักสัมพัทธ์และวิถีของธรรมชาติ คำถามว่า “ทำไมคนดีอายุสั้น” จึงไม่มีความหมายอะไรเลย
ย่อมมีคนถามว่า หากโลกไม่มีความยุติธรรม การที่คนร้ายข่มขืนฆ่าหญิงสาวดี ๆ คนหนึ่งถูกลงโทษประหารมิใช่ความยุติธรรมหรอกหรือ?
ก็ต้องมองให้ลึกว่า โทษประหารนั้นคือความยุติธรรมหรือการแก้แค้น? สองคำนี้มีเส้นแบ่งบาง ๆ นิดเดียว
มองในแง่อุดมคติ หากฟ้ายุติธรรมจริง ย่อมไม่เกิดเรื่องร้ายต่อหญิงสาวดี ๆ คนนั้นตั้งแต่แรก ไม่ว่าจะลงโทษคนผิดหนักเพียงไร ตัดหัวกี่ชั่วโคตร ก็ยังไม่ยุติธรรม
แน่ละ การบอกว่าโลกไม่มีความยุติธรรมฟังดูเหมือนการล้มล้างระบบความเชื่อบางอย่างลงอย่างใจร้าย แต่บ่อยครั้งความจริงก็ขัดกับความรู้สึกและความเคยชิน เช่นที่บอกว่าทิ้งก้อนหินกับขนนกจากที่สูงตกถึงพื้นพร้อมกัน
ทว่าเมื่อบอกว่าโลกไม่มีความยุติธรรม มิได้หมายถึงโลกไม่มี ‘ความยุติธรรม’!
โลกไม่มีความยุติธรรม แต่โลกมีระบบยุติธรรม
4
มนุษย์ประดิษฐ์ ‘ความยุติธรรม’ ขึ้นมา เป็นคุณค่าเชิงอุดมคติอย่างหนึ่งที่เราสร้างขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนกลไกสังคม รองรับด้วยคติธรรม “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” พร้อมวิธีและเครื่องมืออื่น ๆ มาช่วย เช่น คุก บทลงโทษ ในบางสังคมรุนแรงขนาด ตาต่อตา ฟันต่อฟัน เช่นขโมยของก็ถูกตัดมือ
ระบบยุติธรรมสำคัญมากต่อสังคมมนุษย์ ปราศจากระบบนี้ สายพันธุ์มนุษย์ที่เลือกเส้นทางสัตว์สังคมอาจอยู่ไม่รอด
การเข้าใจความยุติธรรมและระบบยุติธรรมทำให้เรารู้ว่า ทุกเหตุที่เราทำ (cause) ก่อให้เกิดผลที่ตามมาเสมอ (effect) และบ่อยครั้งผลที่ตามมามีหน้าตาเหมือน ‘ฟ้ามีตา’ เช่น ฆ่าคนตายแล้วถูกประหาร การประหารเป็นผลมาจากการกระทำ ทว่ามันมิได้มาเพราะอำนาจเหนือธรรมชาติ
การรู้ว่าโลกมีระบบยุติธรรม ทำให้เราไม่ทำผิดกติกาของการอยู่ร่วมกัน มันเป็นระบบที่คัดกรองเศษสกปรกที่อุดตันระบบสังคมมนุษย์ ทั้งหมดนี้เพื่อช่วยให้สังคมอยู่อย่างสงบสุข
1
ส่วนการเข้าใจว่าโลกไม่ยุติธรรม ทำให้เราเลิกบ่น
อย่างไรก็ตาม ระบบยุติธรรมของมนุษย์ก็ยังคับแคบอยู่ เพราะใช้มนุษย์เป็นตัวตั้ง
ระบบยุติธรรมของเราไม่รวมสัตว์พืชเข้าไปด้วย เรายังทรมานสัตว์ก่อนฆ่า จับสัตว์มากักขังในสวนสัตว์ เลี้ยงสัตว์หลายชนิดอย่างทรมาน ยกตัวอย่างเช่น เป็ดห่านในรายการอาหารชื่อ Foie gras ถูกขุนให้อ้วนเต็มที่โดยสอดท่ออาหารเข้าไปในคอ บังคับให้กินจนตับของพวกมันขยายขนาดผิดธรรมชาติหลายเท่าตัว ส่งผลให้หายใจลำบาก ทนทุกข์ทรมานตลอดอายุขัยของพวกมันเพียงเพื่อเอาตับขนาดใหญ่มาปรุงอาหารพิสดารของมนุษย์ซาดิสต์ ฯลฯ
การที่โลกไม่มีความยุติธรรมมิได้แปลว่าเราควรเลิกเชื่ออุดมคติแห่งความยุติธรรม แต่มันไม่ควรจะเป็นแค่เรื่องของมนุษย์เท่านั้น มันควรรวมชีวิตอื่น สายพันธุ์อื่น กระทั่งรวมสิ่งไร้ชีวิตด้วย เราควรมองไปไกลถึงการใช้ชีวิตร่วมกันของสายพันธุ์ต่าง ๆ ในโลก ให้อยู่ได้โดยไม่ถือเอาแต่ประโยชน์ของมนุษย์แต่ฝ่ายเดียว
ในฐานะที่เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีบทบาทสูงที่สุดในโลก เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องคิดเผื่อสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ด้วย ไม่เช่นนั้นเราก็ไม่ควรใช้คำว่า ความยุติธรรม อย่างสะเปะสะปะ
การเข้าใจวิถีของระบบของสิ่งมีชีวิตทั้งปวงและสิ่งไร้ชีวิตจะทำให้เห็นภาพรวมของโลกและจักรวาลอย่างเข้าใจและมีเมตตาธรรม
เข้าใจคือแยกแยะได้ว่าอะไรคือธรรมชาติที่ถูกฝังมาในยีนของเรา และอะไรคือสิ่งที่เราปรุงแต่งขึ้น
1
มีเมตตาธรรมคือไม่เห็นแก่ตัวแต่ฝ่ายเดียว เห็นใจคนอื่น ๆ สายพันธุ์อื่น ๆ และสิ่งอื่น ๆ เช่น จะตัดป่าก็คิดถึงความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้นต่อสัตว์พืชอื่น ๆ เป็นต้น
1
ความเข้าใจกับเมตตาธรรมนี่แหละที่ทำให้สรรพชีวิตในโลกสามารถมีชีวิตอยู่อย่างสงบสุขตามอัตภาพและรูปแบบชีวิตของแต่ละสายพันธุ์
เมื่อนั้นโลกก็เย็นลง ก็คือ ‘ความยุติธรรม’ นั่นเอง และเป็นความยุติธรรมที่ลึกซึ้งกว่า เพราะมันรองรับด้วยความรักสากล
โฆษณา