12 มิ.ย. เวลา 00:00 • หนังสือ

ทำไมเราควร "เสือก" (SEUK) ทุกเรื่อง

ผมโชคดีที่เกิดในครอบครัวใฝ่รู้ ชอบอ่านหนังสือ ชอบหาความรู้ พ่อผมมีอาชีพทำและซ่อมรองเท้า แต่ก็อ่านหนังสือตลอดชีวิต
1
บรรยากาศของโลกสมัยที่ผมเป็นเด็กผูกพันกับหนังสือ หนังสือ และหนังสือ การอ่านเป็นลมหายใจของชีวิต ห้องสมุดเป็นบ้านหลังที่สอง
2
นิสัยรักการอ่านนี้เองหลอมเหลาให้กลายเป็นคนอยากรู้อยากเห็น ชอบเสพความรู้ใหม่ ๆ
ผ่านไปนานปี ผมก็สามารถสรุปได้อย่างมั่นใจว่า นิสัยใฝ่รู้มิเพียงเปิดโลกทัศน์ ยังทำให้สติปัญญาขยายตัวไปในทุกทิศทาง
ยิ่งอ่านมากก็พบว่าความรู้เป็นสิ่งที่ไม่มีวันเรียนครบ ความรู้ในโลกนี้มีมากมายเหลือเกิน เหมือนทองคำที่ฝังอยู่ในดิน รอเราไปขุด แต่ที่ดีกว่าทองคำคือ มันทำให้เราฉลาดขึ้น
ผมเป็นนักเรียนสายวิทย์ที่ไปเรียนต่อสายศิลปะคือสถาปัตยกรรมศาสตร์ ดังนั้นจะว่าไปแล้ว วิชาวิทยาศาสตร์สายต่าง ๆ ที่เรียน ก็เป็นแค่ทางผ่านในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย
1
ในชั้นมัธยมปลาย (สมัยนั้นมีแค่ ม.ศ. 4-5) ผมเรียนวิทยาศาสตร์หลัก ๆ คือ ชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ทำคะแนนได้ดี เพราะตอนนั้นนิวรอนทำงานเต็มร้อย ท่องจำได้หมด
การสอบเข้าคณะสถาปัตย์ฯต้องผ่านวิชาวิทยาศาสตร์แค่ฟิสิกส์ ดังนั้นจึงเรียนเน้นฟิสิกส์มากกว่าชีววิทยา เคมี ทั้งสามวิชานี้ เรียนไปเพื่อสอบเท่านั้น ในตอนนั้นยังไม่รู้ว่าเรียนไปทำไม
พอสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ก็ทิ้งวิชาทั้งหมดนี้ไปอย่างไร้เยื่อใย
จนกระทั่งเรียนจบ ไปอยู่เมืองนอก เริ่มอ่านหนังสือวิชาการอย่างจริงจัง คราวนี้อ่านหนังสือแนว pop science มากมาย ทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษ เพราะหาหนังสือภาษาไทยด้านเหล่านี้ไม่ได้เลย
เริ่มอ่านดาราศาสตร์ จักรวาลวิทยา ฟิสิกส์ ชีววิทยา เคมี ลามไปถึงพันธุกรรมศาสตร์ ทฤษฎีวิวัฒนาการ ฯลฯ ฟิสิกส์จักรวาล ควอนตัม สตริง กวาดหมดเกลี้ยงแผง รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง ส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่อง ค่อย ๆ งมเอาทีละนิด
2
หนังสือของ อาร์เธอร์ ซี. คลาร์ก, คาร์ล เซเกน, ริชาร์ด ดอว์กินส์ ฯลฯ อ่านหมดทุกเล่มเท่าที่เห็นในร้าน
ตามมาด้วยการอ่านประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ปรัชญา ศาสนา เกร็ดความรู้ต่าง ๆ อ่านลึกเข้าไปเรื่อย ๆ เพราะรู้สึกทึ่งว่าโลกนี้มีความรู้มากมายเหลือเกิน
1
จุดเปลี่ยนของชีวิตเกิดขึ้นเมื่อผมปะติดปะต่อเชื่อมแต่ละเรื่องที่อ่านเข้าด้วยกัน ก็เริ่มเข้าใจว่าทำไมเราควรเรียนวิทยาศาสตร์ และเริ่มเห็นว่าวิธีการเรียนวิทยาศาสตร์ของบ้านเรานั้นใช้ไม่ได้ แทบไม่มีประโยชน์อะไร นอกจากแค่เอาไว้สอบ เริ่มแลเห็นความเชื่อมโยงของวิชาต่าง ๆ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ปรัชญา ศาสนา สังคม ฯลฯล้วนเกี่ยวโยงกันหมด
1
ยกตัวอย่าง เช่น เมื่อเรารู้ว่าระบบการทำงานของประสาทสมองเป็นเคมีและไฟฟ้า และมันอาจเป็นตัวกำหนดชะตาชีวิตของเราผ่านพฤติกรรมที่อาจเกิดจากเคมีในร่างกาย เราก็เริ่มเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ดีขึ้น นี่ก็โยงเข้าสู่พื้นที่ของสังคม
เช่นกัน การเรียนดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา ทำให้รู้ว่าโครงสร้างของดวงดาวต่าง ๆ เป็นอะตอมเดียวกับที่ประกอบเป็นร่างกายเรา และโครงสร้างจักรวาลทำให้เราเริ่มเข้าใจว่า เรามาอยู่ในโลกนี้อย่างไร วิวัฒนาการทำให้เข้าใจว่าเราแปลงจากปลามาเป็นคนได้อย่างไร
1
การเรียนวิชาต่าง ๆ เชื่อมโยงกันทำให้เรามองทุกอย่างกว้างขึ้น เข้าใจชีวิตในสเกลใหญ่และเล็ก มันทลายกรอบคิดเดิมหลายกรอบลง ทลายความเชื่อเรื่อง
โหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ แม้จะสวนทางกับสามัญสำนึก มันก็เผยข้อเท็จจริงออกมา ที่ทำให้เราเข้าใจโลกดีขึ้นกว่าการเรียนรู้แค่ศาสตร์สองศาสตร์
เรียนแบบนี้สนุกกว่าเยอะ
1
การศึกษาแบบจับฉ่ายอย่างนี้ก็คือเหตุผลที่ผมบอกเสมอว่า เราไม่มีทางเข้าใจเรื่องศาสนา หากไม่ศึกษาจักรวาลวิทยา ไม่มีทางเข้าใจเรื่องสังคมมนุษย์หากไม่เข้าใจเรื่องเคมีในสมองและวิวัฒนาการ เราจะเชื่อคำทำนายของหมอดูหรือซินแสได้ยังไง ถ้าเราไม่รู้กลไกการทำงานของอำนาจศักดิ์สิทธิ์ (เหมือนกับที่ก่อนกินยาที่หมอจ่าย ก็ศึกษาก่อนว่ามันรักษาเรายังไง) ฯลฯ
3
ผมปฏิเสธคำกล่าวประเภท “ศาสตร์นี้มีมาในโลกตั้งหลายพันปี อะไรที่อยู่นานขนาดนี้ย่อมต้องมีค่า” หรือ “คัมภีร์เขียนไว้อย่างนี้ ก็ต้องถูก”
2
อาจจะจริง อาจจะไม่จริง
ผมปฏิเสธคำกล่าวประเภท “เรื่องบางเรื่องมนุษย์ไม่ควรรู้” หรือ “เรื่องบางเรื่องมนุษย์ไม่มีทางรู้” เราอาจไม่สามารถรู้เรื่องหลายเรื่องจริง ๆ แต่เราไม่ควรละทิ้งทัศนคติว่าเราควรรู้ทุกเรื่อง
เราควร ‘เสือก’ (SEUK) ทุกเรื่อง
1
SEUK = Seek Education Until Known. (แสวงหาการศึกษาจนกว่าจะรู้)
2
เราจำเป็นต้องเรียนกว้าง เพราะทุกศาสตร์ในโลกสัมพันธ์กับเราหมด และมันอาจทำให้เราเข้าใจความหมายของชีวิตว่าเราเกิดมาทำไม และท้ายที่สุด ก็อาจทำให้เรามีความสุขขึ้นได้ จากความเข้าใจ ไม่ใช่จากความเชื่อ
1
นี่คือเหตุผลที่ทำไมเราควรเสือกทุกเรื่อง เราต้องเรียนตลอดชีวิต เพราะสมองของเราต้องการสารอาหารและวิตามิน และสารอาหารส่วนหนึ่งมาจากความรู้
2
โฆษณา