5 มิ.ย. เวลา 11:30 • ครอบครัว & เด็ก

“กรมธรรม์ประกันชีวิต” เป็น “สินส่วนตัว” หรือ “สินสมรส”

เมื่อถึงคราวหย่า จัดการผลประโยชน์จาก “กรมธรรม์ประกันชีวิต” อย่างไร?
ปัจจุบันข้อมูลจากสำนักทะเบียนราษฎร์ พบว่า อัตราการหย่าร้างของคนไทยสูงขึ้นมากถึงประมาณครึ่งหนึ่งของการสมรส พูดง่ายๆ คือ แต่ง 2 คู่ หย่า 1 คู่ เทียบกับ 40 ปีก่อน อัตราการหย่าร้างต่อการสมรสยังไม่ถึง 10% เลย
5
เมื่อมีการหย่าร้าง ก็ต้องมีการแบ่งแยกทรัพย์สิน ซึ่งทางกฎหมายก็มีการกำหนดวิธีการแบ่งแยกทรัพย์สิน โดยต้องแยกประเภทของทรัพย์สินก่อนว่า อะไรคือ “สินส่วนตัว” อะไรคือ “สินสมรส” ดังนั้น ก่อนจะแบ่งแยกทรัพย์สิน เราจึงควรเข้าใจความหมายของสินส่วนตัวและสินสมรสกันก่อน จะได้ไม่มีปัญหาในการแบ่ง
1
[1] สินส่วนตัว
คือ ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนจดทะเบียนสมรสไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม เช่น บ้าน ที่ดิน เงิน ทอง ของใช้เครื่องประดับส่วนตัว เครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ ฯลฯ ถ้ามีอยู่ก่อนจดทะเบียนสมรส กฎหมายถือว่าเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของผู้นั้น หรือทรัพย์สินที่ได้มาหลังจดทะเบียนสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยเสน่หา และไม่ได้มีหนังสือระบุว่าเป็นสินสมรส กฎหมายกำหนดเกี่ยวกับ “สินส่วนตัว” ไว้ ดังนี้
#ทรัพย์สินที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกายหรือเครื่องประดับตามสมควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ให้เป็นสินส่วนตัวของฝ่ายนั้น
#ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาในระหว่างสมรสไม่ว่าโดยการรับมรดก หรือโดยการให้โดยเสน่หา ในกรณีนี้หมายถึงการได้มาในส่วนตัวโดยแท้ ดังนั้น กฎหมายจึงให้ถือเป็นสินส่วนตัวของแต่ละคน
[2] สินสมรส
คือ ทรัพย์สินที่ได้มาหลังจดทะเบียนสมรส ไม่ว่าคู่สมรสฝ่ายใดจะเป็นคนได้มา ก็ถือว่าเป็นสินสมรสทั้งสิ้น เช่น เงินเดือน โบนัส เงินรางวัลจากลอตเตอรี่ เป็นต้น หรือดอกผลของสินทรัพย์ส่วนตัวหรือมรดกที่ได้รับหลังจากจดทะเบียนสมรส และมีหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส โดยกฎหมายกำหนดเกี่ยวกับ “สินสมรส” ไว้ ดังนี้
#ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาในระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้ที่ทำเป็นหนังสือ แต่พินัยกรรมหรือหนังสือยกให้นั้น ต้องระบุว่าให้เป็นสินสมรสด้วย ถ้าไม่ระบุก็ถือเป็นสินส่วนตัว
#ทรัพย์สินที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว คำว่า “ดอกผล” หมายถึง ผลประโยชน์ที่ได้จากทรัพย์นั้น ซึ่งอาจเป็นผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือเกิดขึ้นจากความผูกพันตามกฏหมายก็ได้ เช่น มีแม่วัว ลูกวัวก็เป็นดอกผลธรรมชาติ มีรถแล้วเอารถไปให้เขาเช่า ค่าเช่าก็เป็นดอกผลที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย เป็นต้น
1
กรณีที่ต้องหย่าร้างกัน ทรัพย์สินที่เป็นสินสมรส จะถูกแบ่งคนละครึ่ง
ทรัพย์สินทั่วไปแบ่งแยกง่ายๆ อะไรคือ “สินส่วนตัว” อะไรคือ “สินสมรส” แต่อย่าง “กรมธรรม์ประกันชีวิต” เป็น “สินส่วนตัว” หรือ “สินสมรส” ?
เรามาแยกผลประโยชน์จาก #กรมธรรม์ประกันชีวิต กันก่อน
#ผลประโยชน์กรณีผู้เอาประกันเสียชีวิต หรือ ที่เรียกกันทั่วไปว่า “สินไหม” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1501 ได้กำหนดว่าการสมรสจะสิ้นสุดลงได้ด้วย 3 กรณีด้วยกัน คือ ตาย ศาลพิพากษาให้เพิกถอนกรณีที่การสมรสตกเป็นโมฆียะ หรือการหย่า
ดังนั้นเมื่อผู้ทำประกันชีวิตเสียชีวิตลง ถือว่าการสมรสสิ้นสุดลง เงินสินไหมที่ได้หลังจากสถานะการสมรสสิ้นสุด จึงนับว่าเป็นสินส่วนตัว ไม่ใช่สินสมรส และเงินที่ได้จากการการทำประกันนั้น หากมีการระบุชื่อผู้รับประโยชน์ชัดเจน จะส่งมอบให้กับผู้รับประโยชน์ หากไม่ได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ เงินประกันชีวิตจะถูกแบ่งให้แก่ทายาทของผู้ตายในฐานะมรดก ดังนั้นตอนจัดสรรมรดก ก็สามารถจัดสรรได้ทั้งก้อน ไม่ต้องแบ่งครึ่งหนึ่งให้คู่สมรสที่ยังมีชีวิตก่อนจัดสรร
4
แต่หากเป็นกรณีคู่สมรสเป็นผู้รับประโยชน์จากกรมธรรม์ประกันชีวิต เช่น พ่อแม่ทำประกันชีวิตไว้ และให้คู่สมรสเป็นผู้รับผลประโยชน์ หากพ่อแม่เกิดเสียชีวิต สินไหมที่คู่สมรสได้จากกรมธรรม์ในฐานะผู้รับประโยชน์ถือเป็นสินส่วนตัว
#ผลประโยชน์กรณีผู้เอาประกันมีชีวิตอยู่ เช่น ได้รับเงินคืนรายงวด เงินปันผล เงินครบสัญญาจากกรมธรรม์ประกันชีวิต หรือ เวนคืนกรมธรรม์ ฯลฯ เงินที่ได้รับจากกรมธรรม์ประกันชีวิตระหว่างมีชีวิตอยู่ถือเป็น “สินสมรส“
3
เมื่อเข้าใจ “สินส่วนตัว” “สินสมรส” ชัดเจนแล้ว การแบ่งทรัพย์สินเมื่อหย่า หรือ การจัดสรรมรดกก็จะไม่มีปัญหา แต่จะดีกว่า ถ้า “ครองคู่ด้วยกันตลอดไป”
1
เขียนโดย: สาธิต บวรสันติสุทธิ์, นักวางแผนการเงิน CFP
#aomMONEY #MakeRichGeneration #หย่าร้าง #แบ่งทรัพย์สิน #สินส่วนตัว #สินสมรส #กรมธรรม์ #ผลประโยชน์ #ประกัน
โฆษณา