6 มิ.ย. 2024 เวลา 13:30 • ไลฟ์สไตล์

ร่ำรวยด้วยจิตใจที่สงบ ด้วยหลักคิด 'สามเหลี่ยมความมั่งคั่งแบบสโตอิก'

❓"จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคุณเอาหลักปรัชญาสโตอิกมาประยุกต์ใช้กับการสร้างความมั่งคั่ง?”
นั่นคือคำถามที่ ดาริอุส โฟรูซ์ (Darius Foroux) คิดในปี 2018
โฟรูซ์เรียนจบด้านการตลาดและธุรกิจ เคยเป็นอดีตผู้ให้คำปรึกษาด้านการลงทุนที่ลาออกมาเพื่อทำธุรกิจและเป็นนักเขียนหนังสือด้านการพัฒนาตัวเอง ปรัชญาสโตอิก และการเงินการลงทุน
ผ่านมาถึงตอนนี้เขาได้เรียนรู้ว่านอกจากมันจะใช้ได้จริงแล้ว มันยังช่วยทำให้ชีวิตเขาสงบขึ้นและในขณะเดียวกันก็สร้างความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นไปด้วยในเวลาเดียวกัน
📌สโตอิก (Stoicism) คือปรัชญาจากยุคกรีกโบราณ สอนให้เรารับมือกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตอย่างมีวุฒิภาวะและด้วยจิตใจที่สงบ
โดยแก่นของปรัชญาสโตอย่างหนึ่งคือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจไม่ใช่ทั้งสุขหรือทุกข์ในตัวมันเอง แต่เป็นวิธีที่เราตอบสนอง (Reaction) ต่อเหตุการณ์นั้นๆ ต่างหาก มันคือการเข้าใจว่าสิ่งไหนอยู่ในการควบคุมของเรา และอะไรบ้างที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา
สิ่งที่เราจะควบคุมได้ก็มีแค่ไม่กี่อย่างนั่นก็คือวิจารณญาณและการกระทำของเรานั่นแหละ
[หนังสือเล่มล่าสุดของเขาที่กำลังจะออก “The Stoic Path to Wealth: Ancient Wisdom for Enduring Prosperity” ก็มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นเดียว]
4
✨ โฟรูซ์บอกว่า “มี 3 สิ่งที่คุณสามารถทำได้เพื่อเป็นคนร่ำรวยและมีความสุข”
* มุ่งเน้นไปที่สิ่งที่คุณปรารถนาอย่างแท้จริง (Focus on your true desires)
* สร้างรายได้แบบทบต้น (Compound your money)
* ปกป้องเงินต้นของคุณ (Protect your capital)
1
ซึ่งเขาเรียกมันว่า ‘สามเหลี่ยมความมั่งคั่งแบบสโตอิก’
1
โดยไอเดียพื้นฐานตรงนี้จะสามารถทำให้เราใช่ชีวิตที่ทั้งสมบูรณ์และมั่งคั่งทางการเงินได้
แล้วแต่ละส่วนมันทำยังไง?
❤ [[ #มุ่งเน้นไปที่สิ่งที่คุณปรารถนาอย่างแท้จริง ]]
โฟรูซ์อธิบายความปรารถนาของเราสามารถแบ่งออกเป็นสองประเภท
- สิ่งที่สังคมต้องการให้เรามี
- สิ่งที่เราต้องการอย่างแท้จริง
เราต้องถามตัวเองก่อนครับว่า ‘อะไรคือสิ่งที่คุณชื่นชอบและสนุกกับมันอย่างแท้จริง?’
การอยากได้อยากมีข้าวของเครื่องใช้ บ้านใหญ่ๆ รถสวยๆ บินชั้นธุรกิจ ฯลฯ เป็นเรื่องธรรมดาครับ
ต้องกลับมาถามตัวเองต่อว่า แล้วเราจะใช้พลังงานและเวลาที่เรามีอยู่อย่างจำกัดในโลกใบนี้เพื่อไล่ตามให้ได้มาซึ่งสิ่งของเหล่านั้นรึเปล่า
มันมีอะไรบ้างที่เรารู้สึกมีความสุข อะไรที่คุณชื่นชอบลึกๆ อย่างแท้จริง?​ บางคนอาจจะเป็นการได้ทำงานอดิเรกช่วงวันหยุด บางคนอาจจะเป็นการใช้เวลากับครอบครัว บางคนอาจจะเป็นการออกกำลังกาย อ่านหนังสือ ร้องเพลง ฯลฯ
สิ่งสำคัญที่โฟรูซ์พยายามจะเน้นในเรื่องนี้คือ “‘ความต้องการ’ ของเราส่วนใหญ่ถูกกำหนดโดยคนอื่น บางคนซื้อเสื้อผ้าแบรนด์เนมเพื่อสร้างความประทับใจให้ผู้อื่น ในขณะที่บางคนซื้อบ้านหลังใหญ่เพื่อให้เพื่อนร่วมงานหรือญาติยอมรับ เราอาจหลงใหลในการเดินทางไปยังสถานที่แปลกใหม่เพราะเราต้องการอวดบนโซเชียลมีเดีย”
อย่างที่บอกครับว่าการต้องการหรือทำสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่แย่ในตัวมันเอง แต่มันจะกลายเป็นปัญหาหากเราพยายามใช้ชีวิตตามค่านิยมของคนอื่น สิ่งที่คนอื่น ‘ให้คุณค่า’ โดยที่ลึกๆ แล้วมันไม่ได้ทำให้คุณมีความสุขกับชีวิตเลย
สิ่งที่คุณให้คุณค่าคืออะไร?
❓ถามตัวเองว่า : วันในอุดมคติของคุณจะเป็นอย่างไร?
ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ความชอบและอุดมคติของเราไม่จำเป็นต้องเหมือนกับคนอื่น โฟรูซ์บอกว่า “ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการชีวิตที่เรียบง่าย การอยู่ในป่าโดยไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกก็ไม่ใช่สิ่งที่ผมชอบเช่นกัน แต่จากสิ่งที่ผมเห็น คนส่วนใหญ่ไม่ต้องการความหรูหราฟุ่มเฟือยเพื่อที่จะมีความสุขอย่างแท้จริง”
ให้จินจนาการถึงวันวันหนึ่งที่คุณอยากใช้ชีวิตที่ดีมันหน้าตาเป็นยังไง ตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน
สำหรับโฟรูซ์แล้วอิสรภาพทางการเงินคือการได้ใช้ชีวิตในวันในอุดมคติโดยไม่ต้องพึ่งพางานที่คุณเกลียด
หากเราเริ่มจากมุมมองแบบนี้ เป้าหมายชีวิตของเราก็จะเริ่มชัดเจนมากขึ้น สามารถวางกลยุทธ์ทีละขั้นเพื่อจะไปให้ถึงชีวิตที่เราต้องการได้ยังไง แทนที่จะเป็นแค่การวิ่งไล่ตามเงินทองอย่างเดียวโดยไม่รู้ว่าเราทำไปเพื่ออะไร
💵 [[ #สร้างรายได้แบบทบต้น ]]
“การสร้างความมั่งคั่งแบบสโตอิกหมายความว่าคุณให้ความสำคัญกับความสงบสุขทางจิตใจเสมอ” โฟรูซ์กล่าว
นั่นคือเหตุผลของสิ่งที่ต้องมีอย่างแรกเลยคือเรื่องของเงินสำรองฉุกเฉิน
เงินสำรองฉุกเฉินคือเงินที่ใช้ในยามฉุกเฉินจริงๆ (ตามชื่อนั่นแหละครับ) หากวันนี้รายได้ของคุณหายไปหมดเลย นี่คือเงินที่เราจะหยิบมาใช้ได้
ไม่ใช่เงินออมเพื่อซื้อของ ไม่ใช่เงินสำหรับเอาไปเที่ยว ไม่ใช้เงินลงทุน มันคือเงินก้อนที่มีเอาไว้เพื่อความอุ่นใจ เหมือนกับถุงลมนิรภัยที่พองตัวมาลดแรงกระแทกหากเกิดเรื่องที่ไม่คาดคิดขึ้นมา
ทีนี้หากใครที่ยังไม่มีหรือยังไม่ได้เริ่มเลย ขอแนะนำให้เริ่มต้นตั้งเป้าหมายในการมีเงินสำรองฉุกเฉินที่ 1 เดือนก่อน
ออมเงินให้ได้ 1 เดือนของค่าใช้จ่ายที่เราจ่ายทุกเดือน (ยังไม่ต้องตั้งเป้า 6 เดือนหรือ 1 ปี เอาแค่เดือนเดียวให้ได้ก่อน)
หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ขยับเป้าหมายเป็นสามเดือน จากนั้นก็หกเดือน หรือถ้าให้ดีก็ 1 ปีเลยก็ได้
ระหว่างที่เก็บเงินสำรองฉุกเฉิน ก็หาความรู้เกี่ยวกับเรื่องการลงทุนเผื่อเอาไปด้วย
เมื่อคุณมีเงินสำรองฉุกเฉินพร้อมแล้ว ให้เริ่มลงทุน นั่นคือตอนที่คุณเริ่มสร้างความมั่งคั่งอย่างแท้จริง
วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) นักลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของโลกกล่าวไว้ว่า "ถ้าคุณไม่หาวิธีหาเงินในขณะที่คุณนอนหลับ คุณจะทำงานจนตาย"
สิ่งที่เขาหมายถึงก็คือ การสร้างรายได้ด้วยแรงของตัวเองนั้นไม่เพียงพอ เราต้องให้เงินที่เรามีทำงานเพิ่มด้วย
เวลาทุกคนมีจำกัดและเราไม่สามารถคาดหวังว่าจะมีงานที่ได้รับค่าตอบแทนสูงตลอดไป ดังนั้นเราจึงต้องหาวิธีสร้างความมั่งคั่งนอกเหนือจากการทำงานเพียงอย่างเดียว
เราแก่ขึ้นทุกวัน และหากต้องการมีชีวิตหลังเกษียณที่ไม่ลำบากมาก ก็ควรเริ่มลงทุนตั้งแต่เนิ่นๆ
📌 หากเราลองคำนวณง่ายๆ ว่า สมมุติเราเริ่มลงทุน 100,000 บาท ที่อายุ 25 ปี แล้วลงทุนทุกเดือนเดือนละ 10,000 บาท โดยคาดหวังผลตอบแทนที่ราวๆ 5% ต่อปี ทบต้นไปเรื่อยๆ เป็นระยะเวลา 30 ปี
เงินก้อนปลายทางที่เราจะมีเมื่ออายุ 65 ปี คือ 8.5 ล้านบาท
เงินต้นที่เราลงไปจะอยู่ที่ 3.7 ล้านบาท แต่ดอกเบี้ยที่เราจะได้คือ 4.8 ล้านบาท
นี่ยังไม่นับว่าเราสามารถใส่เงินเพิ่มขึ้นแต่ละเดือนได้ด้วย หากรายได้ของเราเพิ่มขึ้นตามอายุงาน
ยิ่งเริ่มเร็วยิ่งดีครับ
เมื่อเราสามารถสร้างนิสัยการออมและการลงทุนแล้ว นี่คือก้าวแรกของเส้นทางสู่อิสรภาพทางการเงินแล้ว
🛡 [[#ปกป้องเงินต้นของคุณ ]]
Paul Tudor Jones เทรดเดอร์ชื่อดังเคยกล่าวไว้ว่า
"เคล็ดลับในการทำให้เงินเติบโตคือการเล่นเกมรับ คุณต้องปกป้องเงินต้นของคุณและสู้กับแรงกระตุ้นให้เดิมพันแบบบ้าๆบอๆที่มีโอกาสประสบความสำเร็จน้อย"
เราอาจจะได้ยินว่า “High Risk, High Return” หรือเสี่ยงสูงผลตอบแทนสูง ซึ่งไม่ใช่ว่ามันไม่จริง แต่ปัญหาคือหลายคนไม่ได้เข้าใจอย่างแท้จริงว่า ‘ความเสี่ยง’ ที่ตัวเองเข้าไปลงทุนนั้นคืออะไร
บางคนเห็นคนอื่นรวยเพราะเล่นหุ้นปั่น เป็นเทรดเดอร์มืออาชีพซื้อขายรายวันแล้วมันดูยั่วยวน หรือบางคนเห็นคนลงทุนในอสังหาฯ แล้วร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี ฯลฯ
ไม่ว่าเราจะลงทุนในสินทรัพย์ไหนก็ตาม สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้ว่าความเสี่ยงมันคืออะไร เรารับได้แค่ไหน และที่สำคัญถ้าเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น หรือการลงทุนไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ เราจะป้องกันความเสียหาย (damage control) ยังไงไม่ให้มันบานปลาย
เรามองเห็นความสำเร็จของคนอื่น โดยไม่เข้าใจความเสี่ยงที่จะตามมา พอเกิดเหตุการณ์อะไรที่ไม่คาดคิดขึ้น ก็ตื่นตะหนกตกใจ ทำอะไรไม่ถูก เงินลงทุนที่อุตส่าห์หามาอย่างยากเย็นก็ละลายหายไปด้วย
เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานั้น เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโลกของการลงทุน ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับการลงทุนจะเป็นเกราะป้องกันของคุณ
ประการที่สอง คือการมีความอดทน ค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ รวยช้าๆ แต่เงินต้นยังปลอดภัยอาจจะดีกว่าการรวยเร็วแต่มีความเสี่ยงสูงก็ได้
⏳[[ #เราเป็นเพียงผู้ผ่านทาง ]]
โฟรูซ์อธิบายถึงแนวคิดของเขาที่ค่อยๆ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เกี่ยวกับการเป็นเจ้าของสิ่งต่างๆ ในโลกใบนี้
ครั้งหนึ่งเขาเคยต้องขายรถยนต์คันที่รักมากๆ เพราะต้องย้ายไปอยู่ต่างประเทศ
แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปล่อยมือจากสิ่งของเรารัก แต่จังหวะที่เขายื่นกุญแจให้เจ้าของใหม่ก็ตระหนักถึงเรื่องหนึ่งว่า “รถคันนั้นไม่เคยเป็นของผมตั้งแต่แรก ผมแค่จ่ายเงินเพื่อยืมมันมาใช้สักพักเท่านั้น”
ในสมัยโรมโบราณ เมื่อแม่ทัพออกไปรบแล้วได้ชัยชนะกลับมา พวกเขาจะมีการเดินขบวนแห่ไปรอบ ๆ เมืองตามท้องถนนเพื่อประกาศชัยชนะเหนือคู่แข่งสร้างความฮึกเหิมและแสดงความยินดีกับสิ่งที่เกิดขึ้น
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือในขบวนแห่นี้แม่ทัพที่อยู่บนรถแห่จะมีทาสคนหนึ่งอยู่ข้างหลังด้วย
หน้าที่ของทาสคนนี้คือการคอยกระซิบคำเตือนกับแม่ทัพบอกว่า “Memento Mori” หรือที่แปลว่า “วันหนึ่ง ท่านก็ต้องตาย”
นี่คือวิธีที่เตือนและสอนให้แม่ทัพคนนั้นว่าอย่าหลงระเริงกับชัยชนะที่อยู่ตรงหน้า ความสำเร็จ ตำแหน่งการงาน เงินทอง ทรัพย์สิน ทุกสิ่งที่เราคิดว่าเป็น ‘ของเรา’ วันหนึ่งมันก็อาจจะหายไป
📌 “ความจริงก็คือเราไม่ได้เป็นเจ้าของอะไรเลยในชีวิตนี้ เราเป็นเพียงผู้ผ่านทาง และสิ่งของที่เราซื้อและเรียกว่า ‘ของเรา’ ก็ไม่ได้เป็นของเราตั้งแต่แรก” โฟรูซ์อธิบาย
1
‘สามเหลี่ยมความมั่งคั่งแบบสโตอิก’ จะช่วยให้เราเดินทางไปสู่เป้าหมายทางเงินที่ทำให้เราสงบ มั่งคั่งอย่างแท้จริง ได้ไล่ตามสิ่งที่เราต้องการ และเพิกเฉยกับสิ่งที่สังคมต้องการให้เรามี
เราจะมีความสงบสุขทางจิตใจโดยรู้ว่ามีเงินสำรองฉุกเฉินอยู่ตรงนั้น ลงทุนและค่อยๆให้ เงินทำงาน ดอกเบี้ยทบต้นไปเรื่อยๆ และหลีกเลี่ยงการตัดสินใจเสี่ยงๆ อันโง่เขลาซึ่งนำไปสู่ความหายนะทางการเงิน
- โสภณ ศุภมั่งมี (บรรณาธิการ #aomMONEY)
#MakeRichGeneration #StoicTriangleofWealth #งานที่ชอบ #การเงินส่วนบุคคล #ร่ำรวยด้วยจิตใจที่สงบ #สามเหลี่ยมความมั่งคั่งแบบสโตอิก
โฆษณา