6 มิ.ย. เวลา 03:13 • ประวัติศาสตร์

เจ้า Peggy จากชีวิตของสุนัขธรรมดาที่ต้องกลายเป็นสุนัขเชลยศึก ระหว่างการก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะ

ผมได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่ง
ที่ชื่อว่า Beyond the bamboo screen : Scottish prisoners of war under the Japanese ซึ่งมีเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับสุนัขพันธุ์ Bull Terrier ตัวหนึ่งที่ชื่อเจ้า Peggy
ซึ่งชะตาชีวิตของมันต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของเชลยศึกสัมพันธมิตรที่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพญี่ปุ่น
ผมจึงอยากเขียนเรื่องราวชีวิตและการเดินทางอันแสนยาวไกลของสุนัขพันธุ์ Bull Terrier ตัวนี้มาให้เพื่อนๆได้อ่านกัน
เจ้า Peggy เป็นลูกสุนัขพันธุ์ Bull Terrier เพศเมีย สีขาว ที่เกิดในค่ายของกองพันที่ 2 ของ กรมทหารราบ Gordon Highlanders ของอังกฤษ
สัญลักษณ์ของกรม Gordon Highlanders
ในขณะที่กองพันที่ 2 อยู่ที่ Pengerang มลายู
ทหารในกองพันถือว่าเจ้า Peggy เป็นสัตว์นำโชคประจำกองพันเลยทีเดียว
เมื่อมีคำสั่งให้กองพันเคลื่อนกำลังไปยังแนวรบเพื่อเตรียมรบกับกองทัพญี่ปุ่น ทหารกองพันที่ 2 ก็นำเจ้า Peggy ไปออกรบด้วย
เมื่อทหารสัมพันธมิตรหน่วยอื่นๆ ตลอดจนทหารจากกองพันที่ 2 กรมทหารราบ Gordon Highlanders ถูกตีจนต้องถอยร่นไปอยู่ที่เกาะสิงคโปร์ เจ้า Peggy ก็ถูกทหารกองพันที่ 2 นำไปด้วยตลอด
จนกระทั่งสิงคโปร์แตกพ่ายและถูกกองทัพญี่ปุ่นยึดครองได้สำเร็จ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 1942 ทหารสัมพันธมิตรทั้งหมดตกเป็นเชลยศึก
ทหารญี่ปุ่นเข้ายึดสิงคโปร์ได้สำเร็จ 15 ก.พ.1942
เจ้า Peggy จึงกลายเป็นสุนัขของเชลยศึก หรือเป็นเชลยศึกสุนัขไปทันที
ในช่วงกลางปี 1942 กองทัพญี่ปุ่นมีโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายไทย-พม่า เพื่อใช้เป็นเส้นทางขนส่งยุทธปัจจัยไปยังพม่า และรับทหารที่ได้รับบาดเจ็ยกลับมารักษาตัวที่ไทยหรือส่งกลับญี่ปุ่นต่อไป
เชลยศึกสัมพันธมิตรจำนวนประมาณ 60,000 นายและกรรมกรเอเชียกว่า 2.5 - 3 แสน คน ถูกส่งมาสร้างทางรถไฟสายนี้
เชลยศึกสัมพันธมิตรที่ถูกกักกันที่สิงคโปร์ต้องเดินทางมาที่ประเทศไทย ต้องเดินทางด้วยขบวนรถไฟ ด้วยตู้ขนสัมภาระที่มีลักษณะทึบมีช่องระบายอากาศเพียงน้อยนิด
เชลยศึกพร้อมข้าวของอัดกันแน่นเต็มจนไม่มีที่จะได้เอนกายนอน ความร้อนในเวลากลางวันในตู้รถไฟที่เปรียบเหมือนกล่องเหล็กนั้นสร้างความทรมานให้กับเหล่าเชลยศึกที่ต้องใช้เวลา 5 วัน 5 คืนในการเดินทางจากสิงคโปร์มาบ้านโป่ง
เจ้า Peggy ก็เดินทางมาพร้อมกับเหล่าเชลยศึกกองพันที่ 2 ในคราวนั้น
เชลยศึกจากกองพันที่ 2 ถูกกักกันที่ค่ายท่ามะขามเพื่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแคว
ภาพการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแคว
Peggy เองก็จะคอยติดตามเชลยศึกของกองพันที่ 2 ตลอดเวลา เป็นระยะเวลาเกือบปีที่ทั้ง Peggy และเชลยศึกกลุ่มนี้อาศัยที่ค่ายท่ามะขาม
หลังจากนั้นพวกเขาถูกส่งไปที่ค่ายกิ่งไทรโยค อีก 9 เดือนเพื่อทำงาน
แล้วจึงได้ย้ายค่ายไปที่เกริงกวยทะ หรือแก่งคอยท่า จุดที่ทางรถไฟสร้างจากฝั่งไทยและพม่ามาบรรจบกัน
ที่พักของเจ้า Peggy ส่วนมากจะอยู่ที่โรงครัวของค่ายเชลยศึก
ในช่วงเช้าเชลยศึกกลุ่มนี้ต้องเดินเท้าออกไปทำงาน เจ้า Peggy ก็จะเดินตามไปด้วย
ปรกติปริมาณอาหารที่เชลยศึกได้รับก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย แต่เชลยศึกก็ยังคงปันส่วนอาหารของพวกเขาให้กับเจ้า Peggy อยู่เสมอ
เมื่อทางรถไฟแล้วเสร็จเชลยศึกส่วนหนึ่งถูกส่งมาพักยังกาญจนบุรี เชลยศึกจากกองพันที่ 2 และเจ้า Peggy ก็คือหนึ่งในเชลยศึกกลุ่มนั้น
ในช่วงปี 1944-1945 กองทัพญี่ปุ่นกำลังจะพ่ายศึกในพม่า
กองบัญชาการสูงสุดของญี่ปุ่น จึงมีคำสั่งให้ทหารที่เข้ามาประจำการในไทยต้องสร้างแนวตั้งรับขึ้นในประเทศไทย
ตลอดจนการสร้างสนามบินในที่ต่างๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้เพื่อการตั้งรับหรือการส่งกำลังบำรุงตลอดจนการถอนกำลังทหาร
หนึ่งในสนามบินของกองทัพญี่ปุ่นก็คือสนามบินหนองไผ่ ที่ จ.อุบลราชธานี
สนามบินหนองไผ่ตรงลูกศร ส่วนวงกลมคือค่ายเชลยศึก
ในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ - เมษายน 1945 เชลยศึกกว่า 3,000 นาย ถูกส่งไปใช้แรงงานในการก่อสร้างสนามบินหนองไผ่
โดยแยกเชลยศึกอีกส่วนหนึ่งจำนวนไม่มากได้รับหน้าที่เข้าไปปรับปรุงดูแลสนามบินอุบลราชธานี (กองบิน 21 ในปัจจุบัน)
เจ้า Peggy และเชลยศึกจากกองพันที่ 2 ก็ถูกส่งขึ้นรถไฟไปยังกรุงเทพมหานคร เพื่อเดินทางต่อไปยังจังหวัดอุบลราชธานี ข้ามแม่น้ำมูล เพื่อไปยังค่ายเชลยศึกใกล้กับบ้านหนองไผ่
ในช่วงที่อาศัยอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี เจ้า Peggy ท้องและได้คลอดลูกหมาจำนวน 5 ตัว
ไม่นานหลังจากนั้นสงครามก็สิ้นสุดลงในเดือนสิงหาคม 1945
หลังจากสงครามสิ้นสุดลงเชลยศึกและเจ้า Peggy นั่งรถไฟจากอุบลราชธานีไปยังกรุงเทพ
และที่กรุงเทพ จะต้องโดยสารเครื่องบินของกองทัพอากาศอังกฤษจากสนามบินดอนเมืองไปยังกรุงย่างกุ้ง
ในการส่งเชลยศึกอังกฤษกลับกรุงย่างกุ้งของพม่านั้น เมื่อนักบินเห็นเจ้า Peggy นักบินก็ปฎิเสธที่จะนำเจ้า Peggy และลูกๆของมัน ขึ้นเครื่องกลับไปที่ย่างกุ้งด้วย
พันตรี Lees. ผู้บังคับกองพันได้ขอร้องให้นักบินอนุญาตให้ Peggy และลูกๆได้เดินทางไปพร้อมกับเหล่าเชลยศึก
นักบินจึงยอมตกลงให้ Peggy และลูกๆเดินทางไปด้วย
หลังจากที่พักฟื้นที่ย่างกุ้งสามสัปดาห์ เชลยศึกก็ต้องลงเรือเพื่อกลับสู่ประเทศอังกฤษต่อไป
และเป็นอีกครั้งหนึ่งที่กัปตันเรือปฏิเสธที่จะรับสุนัขขึ้นเรือ แต่ทางพันโท Lees ก็ได้เข้ามาพูดคุยและขอร้องจนสำเร็จ
ภาพของ peggy
ด้วยเหตุผลที่ว่าเจ้า Peggy คือส่วนหนึ่งของพวกเขา เป็นสัตว์นำโชคประจำกองพัน
ตั้งแต่อยู่ที่แหลมมลายู ผ่านการรบ ผ่านเวลาอันยากลำบาก ตกเป็นเชลยศึกด้วยกัน
ร่วมเดินทางผจญภัยจากสิงคโปร์ มาเลเซีย บ้านโป่ง กาญจนบุรี กิ่งไทรโยค แก่งคอยท่า กรุงเทพมหานคร อุบลราชธานี ย่างกุ้ง อังกฤษ
เพราะได้ร่วมทุกข์กันมาหลายปี ติดตามกันไปตลอด ผมเข้าใจความรู้สึกของเชลยศึกว่า เขามองว่า Peggy เป็นสหายของพวกเขาคนหนึ่งที่พวกเขาไม่สามารถทิ้ง Peggy ไว้เบื้องหลังได้
ในช่วงลำบากอาหารขาดแคลน เชลยศึกก็นำเอาอาหารที่ตัวเองก็ไม่พอจะกินอยู่แล้วมาแบ่งให้กับ Peggy.
ในวันที่ยากลำบากยังผ่านมาได้ เมื่อเวลาสุขสบายมีหรือจะทิ้งกัน  ถ้าจะไปไหนต้องไปด้วยกัน
และที่สำคัญอีกอย่าง Peggy เป็นสุนัข ขึ้นชื่อว่าสุนัขแสนรู้ มันช่วยสร้างขวัญกำลังใจ ตลอดจนลดความเครียดของบรรดาเหล่าเชลยศึก เมื่อได้ลูบหัวหรือเล่นกับมัน
มีผลวิจัยว่าคนป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า หรือมีอาการความเครียด หากได้เลี้ยงสุนัข ได้เล่นกับสุนัข จะทำให้อาการของโรคหรือความเครียดก็จะลดลง
การมีอยู่ของ Peggy ในเวลายามยากของเหล่าบรรดาเชลยศึก จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พวกเขามีกำลังใจ พลังใจที่จะก้าวผ่านปัญหาและความยากลำบากในชีวิตมาได้
2
ก็ไม่แปลกที่พวกเชลยศึกจะไม่คิดทิ้งเจ้าหมา Peggy ไว้ที่ประเทศไทย
Peggy เดินทางถึงอังกฤษ ก็ต้องอยู่ในขบวนการกักโรค
เมื่อผ่านการกักโรคแล้ว Peggy ก็ถูกส่งกลับไปอยู่กับทหารในกองพันที่ 2 ซึ่งมีการตั้งค่ายที่ ค่าย Birdge of Don
แต่เจ้า Peggy อยู่ได้ไม่นานก็ตายลงในวันที่ 9 กรกฎาคม 1947
1
พันโท Lees ได้ให้มีการสลักหินแกรนิตระบุข้อความเพื่อรำลึกถึง Peggy
1
ภาพทหารจากกองพันที่ 2 กำลังนำเอาป้ายมาวางไว้บนหลุมฝังร่างของ Peggy ภาพจากพิพิธภัณฑ์ Gordon Highlanders.
และนำเอาป้ายหินนี้ไปวางไว้บนจุดที่ฝั่งร่างของเจ้า Peggy
ปัจจุบันป้ายรำลึกนี้ถูกย้ายไปอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ The Gordon Highlanders Museum
ป้ายนี้ตั้งอยู่ตรงสนามหญ้า
โดยป้ายนี้ตั้งอยู่บริเวณสนามหญ้าข้างหน้าพิพิธภัณฑ์ เพื่อคนที่ผ่านไปมาเมื่อเข้ามาอ่านจะได้รู้จักเรื่องราวของเจ้า Peggy สุนัขประจำกองพันที่ 2 กรมทหารราบ The Gordon Highlanders ที่มีชีวิตที่น่าตื่นเต้นและมีการเดินทางอันยาวไกลกว่าสุนัขตัวอื่นๆบนโลกใบนี้
1
Peggy ได้รับเหรียญกล้าหาญ
เหรียญที่ 1
The 1939–1945 Star เป็นเหรียญที่อังกฤษทำขึ้นเพื่อมอบให้ทหารที่ทำภารกิจในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทุกนาย จากปี 1939-1945
เหรียญที่ 2 The Pacific Star เป็นเหรียญสำหรับทหารอังกฤษที่ทำภารกิจรบในแถบสมรภูมิแปซิฟิก
เหรียญที่ 3 The Defence Medal
เหรียญที่ 4 War Medal
และในปี 2020 ที่ผ่านมาองค์กรสงเคราะห์สัตว์ PDSA ของอังกฤษ ได้มอบรางวัลให้กับเจ้า Peggy อีกด้วย
ปล.บางคนอาจจะสงสับทำไม Peggy หน้าตาไม่เหมือนสุนัขพันธุ์ Bull Terrier ในปัจจุบันเลย ก็เพราะว่าในช่วงเกือบ 100 ปีที่ผ่านมาสุนัขหลายสายพันธุ์มีหน้าตารูปร่างที่เปลี่ยนไปครับตามในภาพนี้ เจ้า Peggy จะมีหน้าตาเป็นสุนัข Bull Terrier ยุคเมื่อเกือบ 100ปีก่อนครับ
หน้าตาของ Bull Terrier ในอดีต
หน้าตาปัจจุบันของ Bull Terrier
สุนัขยังคงเป็นสัตว์เลี้ยงที่ซื่อสัตย์และน่ารักสำหรับมนุษย์จากในอดีตจนถึงปัจจุบัน
อ้างอิงจาก Beyond the bamboo screen : Scottish prisoners of war under the Japanese
ภาพและข้อมูลบางส่วนจากพิพิธภัณฑ์ Gordon Highlanders.
โฆษณา