6 มิ.ย. 2024 เวลา 02:28 • ปรัชญา
วัดพระศรีสรรเพชญ์

ระวัง! การวางเฉย หรือ อุเบกขา มี๒แบบ คือเฉยอย่างมีปัญญา กับ เฉยโง่!

พระพุทธเจ้าทรงสอนในเรื่องการวางเฉย หรือที่เรียกว่าอุเบกขา ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักธรรมะพรหมวิหาร๔ เอาไว้ด้วยกัน ๒ แบบ คือ ปัญญุเบกขา และ อัญญาณุเบกขา
#อุเบกขา #อัญญาณุเบกขา #พรหมวิหาร๔
ปรกติเรามักจะได้ยินว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์เลวร้าย-เรื่องทุกข์ร้อน ให้ปล่อยวาง หรือ ละวางความยึดติด หรือที่ภาษาพระท่านว่า ให้วางอุเบกขาเสีย ใจจะได้พ้นจากทุกข์
ปุถุชนหลายคนได้ฟังแบบนี้ก็ตีความไปว่าให้ ไม่สนใจ (Ignore) ซะ จะได้ไม่ต้องรู้สึกรู้สาอะไร ไม่ต้องไปยุ่งกับมัน ไม่ต้องไปวุ่นวายใส่ใจ ปล่อยเบลอไปเลย ใจจะได้ไม่เป็นทุกข์
แต่แท้ที่จริงแล้ว ความเข้าใจดังกล่าวของปุถุชนเรานั้นเป็นสิ่งผิด การไม่สนใจ การไม่ใส่ใจ เฉยเมย เมิน ปล่อยเบลอ ปล่อยผ่าน เช่นนั้นถือเป็นวิธีการวางเฉยแบบไร้ความดูดำดูดี หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วางเฉยอย่างไร้คุณธรรม ยกตัวอย่าง เช่น บุคคลชั้นแนวหน้าที่อนุรักษ์นิยมมากจนเกินไป ปล่อยให้สังคมเต็มไปด้วยอำนาจกดขี่สิทธิพลเมือง ไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นอะไรเพื่อผลักดันสังคมให้ดีขึ้นเลย
ดังนั้น อุเบกขาที่คนไทยนิยมเอามาใช้กันนั้น มักเป็นความเฉยเมยแบบเรื่อยเปื่อย ไม่ใช่เป็นการวางเฉยแบบมีสติปัญญา อาทิเช่น เห็นคนขี่รถมอเตอร์ไซค์มาล้มต่อหน้าด้วยอุบัติเหตุจริง แต่ก็ขับรถพ้นผ่านเขาไปเสีย ไม่ยอมลงไปช่วยเขาทั้งๆที่มีจังหวะที่จะจอดรถช่วยเหลือได้ โดยอาศัยหลักการคิดว่านี่เป็นกรรมของคนอื่น ให้วางอุเบกขานิ่งเฉย จะได้ไม่ติดกรรม
พระโพธิสัตว์อาวโลกิเตศาวระ
แบบนี้ต้องระวัง ถ้าเฉยเรื่อยเปื่อย ทางพระเรียกว่า “เฉยโง่” เป็นอกุศล(บาป) ภาษาธรรมะจะเรียกว่า "อัญญาณุเบกขา" หมายถึงเฉยไม่รู้เรื่อง เฉยไม่เอาเรื่อง เฉยไม่ได้เรื่อง เฉยไร้คุณธรรม แต่เฉยของคุณธรรม คือ เฉยด้วยปัญญา เพราะรู้แล้ว ก็วางตัวพอดี ตามเหตุอันควรอันชอบ
โดยทั่วไป เมื่อมีสถานการณ์ตื่นเต้นเกิดขึ้น จะมีคน ๓ พวก
๑. คนที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย หรือรู้แล้วแต่ไม่สน จึงเฉย
๒. คนที่รู้ครึ่งไม่รู้ครึ่ง หรือรู้หมดแล้วแต่ไร้สติ-ไร้ปัญญา อาจจะตื่นเต้นโวยวาย ลุกขึ้นมากระโดดโลดเต้น แต่แก้ไขปัญหาไม่ค่อยได้ บางทีตื่นเต้นโวยวายมากไปยิ่งทำให้เรื่องลุกลามใหญ่โต
๓. คนที่รู้เข้าใจหมด มองเห็นว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างไร เหตุปัจจัยเป็นอย่างไร มันจะเป็นไปอย่างไร จะแก้ไขที่จุดไหน ถึงจุดไหนจะต้องทำอะไร พวกนี้เฉยเหมือนกัน แต่เฉยแบบมีสติกำกับ เฉยแบบพร้อมรอจังหวะ เมื่อถึงจุดนั้น ต้องทำอันนั้น ที่จุดนี้ ต้องทำอันนี้ เขาเฉย แต่พร้อมที่จะทำไปตามลำดับ ให้ถูกจุดถูกที่ ถูกกาลถูกงาน พวกนี้แก้ปัญหาได้ฉมัง
ความนิ่งเฉยชนิดที่ ๓ นี่แหละ เรียกว่า “อุเบกขา”
รูปเคารพหินปูนเก่าแก่ "พระศรีอาริยะเมตตรัยยะโพธิสัตว์" ศิลปะกรีก-คันธาระ
อุเบกขานี้เป็นธรรมสูงสุดในทางจริยธรรม สภาพจิตปกติของพระอรหันต์ คือ อุเบกขา เพราะอยู่ด้วยจิตที่ลงตัวพอดี เต็มปรี่ด้วยปัญญา
เปรียบประหนึ่งคนขี่ม้า เมื่อเริ่มออกเดินทางก็รู้จังหวะประคับประคองกุมบังเหียน ลงแส้ให้ม้าเลี้ยวไปอย่างถูกต้อง เมื่อเห็นว่าเข้าทางตรงแล้ว ก็ปล่อยให้่ม้าห้อตะบึงไปเลย โดยที่ตัวเองนิ่งเฉยเสีย แต่ก็มีสติอยู่กับตัว หูไวตาไว ตั้งหลักมั่นพร้อมที่จะรับมือในกรณีต่างๆ เช่น ม้าอาจจะสะดุดหินไหม เกือกม้าอาจจะตกแอ่งหรือไม่ คือเป็นการวางเฉยแบบมีสติกำกับ ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุอะไรก็ตาม คนขี่ม้าก็รับมือได้อย่างเก่งกาจ
ต่างจากคนที่ไม่ชำนาญ ซึ่งตื่นเต้น หวาด หวั่น ไม่แน่ใจว่าจะเอาอย่างไร จะทำอย่างไร จิตไม่สบาย ไม่นิ่ง ไม่สงบ ไม่ลงตัว เช่น คนเพิ่งขี่ม้าครั้งแรก ก็ควบม้าผิดๆถูกๆ จนม้าวิ่งเข้าไปในพุ่มไม้ หรือลงบ่อโคลนดูดตาย หรือ คนที่อุตริขับรถ ทั้งๆที่ไปโกงใบขับขี่มาให้มี ก็ขับแบบประหวั่นวิตก เลี้ยวไปเลี้ยวมาก็ไปชนกระจังหน้าคนอื่นจนเจ็บหนัก ดังจะเห็นได้จากโรงเรียนสอนขับรถที่สอนแค่วันเดียวหรือสองวัน ก็ให้นักเรียนทำใบขับขี่เลย จนผลิตนักขับรถห่วยแตกออกมาเยอะมาก บ้างใจร้อน บ้างไหวพริบเลว บ้างขับชนคนตายกันเป็นว่าเล่น
มนุษย์ที่ยังไม่รู้เท่าทันจัดเจนโลก ไม่รู้ความจริงของชีวิต ไม่เข้าใจความเป็นไปของธรรมชาติระดับลึกซึ้ง ไม่รู้ลำดับจังหวะที่ตัวเองควรยื่นมือเข้าไปจัดการช่วยเหลือ ก็เหมือนกับสารถีที่ยังไม่เจนจบครบด้าน ส่วนพระอรหันต์นั้น ก็เหมือนกับสารถีที่เจนจบครบด้าน ท่านรู้เข้าใจโลกและชีวิตตามเป็นจริง จนวางจิตได้พอดีลงตัวหมด
ต่างจากมนุษย์ปุถุชน ที่ยังไม่รู้ว่าชีวิตนี้คืออะไร ธรรมชาติระดับลึกซึ้งเป็นเช่นไร โลกนี้เป็นอย่างไร อยากนั่น ยึดนี่ กังวลโน่น อยู่ด้วยความหวาดหวั่นพรั่นใจ ตื่นเต้นไป จิตจึงไม่อาจจะลงตัวไปสู่อุเบกขาได้
อุเบกขานั้น ไม่ต้องไปพยายามสั่งใจว่าวาง วางสิวาง แต่เปล่าเลย มันถึงเอง เพราะอุเบกขาเป็นสภาพจิตอัตโนมัติที่เกิดจากปัญญา โดยปัญญามาปรับสภาพจิต ฉะนั้น ปัญญา กับ อุเบกขาจึงเป็นของคู่กัน
พอปัญญาสะสมมากพอจนถึงขั้นเป็นโพธิญาณ หยั่งรู้ความจริงของชีวิตและโลก เจนจบครบถ้วนถี่ รู้เท่าทันสังขาร จิตก็ลงตัว สุกงอมในปัญญาธรรม เรียกว่าวางพอดีกับชีวิตและโลก จิตวิญญาณที่เป็นอุเบกขาด้วยปัญญาอันสุกงอมนั้น คือจิตพระอรหันต์ ฉะนั้น จึงเหมือนสารถีที่ฉกาจเก่งเจนจบครบถ้วนถี่ คุณคิดว่าสภาพนี้ดีแค่ไหน ลองจินตนาการดูสิครับ
ด้วยเหตุทั้งมวลครับ คนทั่วไปถึงได้นึกไม่ออกว่า อุเบกขาดีอย่างไร นึกว่าอุเบกขาก็คือการทำอารมณ์เฉยๆ ไม่ได้เรื่องได้ราว อย่างนั้น เป็นเฉยโง่ (อัญญาณุเบกขา) ใช้ไม่ได้ในทางปฏิบัติ
อย่าว่าแต่ทางธรรมเลยครับ แม้แต่ทางโลกก็ใช้ไม่ได้ อุปมาเสมือน "คนตาบอด ก็เลยเฉยเมื่อมีกระทิงกำลังวิ่งเข้ามาจะขวิดตัว" ฉันใดก็ฉันนั้น ดังนั้น ขอให้ทุกคนมาร่วมกันหมั่นสั่งสมสุตะ พึงทำความเข้าใจในหลักธรรมจนได้มาซึ่งปัญญา เพื่อจะได้ไม่เกิด "อัญญาณุเบกขา" กันเถอะครับ
แอดมินภุชงค์ แห่งเพจเฟสบุ๊ค "ธรรมะแฟนตาซี" อ้างอิงจากบทความชุด "จะอยู่อย่างเป็นเหยื่อ หรือขึ้นเหนือไปนำเขา" โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
รูปสลักหินปูน "เจ้าชายสิทธัตถะ" สมัยจักรวรรดิพระเจ้ามิลินเดอร์ ศิลปะกรีก-คันธาระ
โฆษณา