23 มิ.ย. 2024 เวลา 02:00 • ศิลปะ & ออกแบบ

สำนักงานแห่งใหม่ของ Studio Miti ที่รีโนเวตด้วยแนวคิดทรอปิคัลร่วมสมัยเข้ากับงานดีไซน์

Studio Miti ก่อร่างจากผู้ก่อตั้ง 2 ท่าน ประกิจ กัณหา และเผดิมเกียรติ สุขกันต์ เพื่อนร่วมโรงเรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ตั้งแต่ชั้นมหาวิทยาลัย นับแต่ปี 2010 ผลงานของ Studio Miti เป็นที่ประจักต์ในแง่การใช้วัสดุและการออกแบบอาคารที่ผสานไปกับบริบทที่ตั้ง จนทำให้สตูดิโอคว้ารางวัลทางด้านสถาปัตยกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศมาแล้วมากมายตลอดการทำงาน
เผดิมเกียรติ สุขกันต์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Studio Miti
เรื่องราวของ Studio Miti เริ่มต้นที่โต๊ะทำงานในห้องพักของประกิจ จากนั้นทั้งสองจึงขยับขยายย้ายที่ไปเช่าห้องทำงานเปิดเป็นสตูดิโอเล็ก ๆ ใต้อพาร์ตเมนต์หนึ่ง จุดเปลี่ยนสำคัญคือการได้สร้างสำนักงานถาวรแห่งแรกเป็นสำนักงาน ฟาซาด (Façade) อิฐที่แสดงให้เห็นเอกลักษณ์ด้านการใช้วัสดุผสานกับการจัดการพื้นที่ที่น่าสนใจยิ่ง
1
จนวันนี้ผ่านเวลานานเกือบ 15 ปี Studio Miti ก็ยังคงทำงานออกแบบที่แสดงให้เห็นกระบวนการคิดที่เริ่มจากสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เป็นหลัก ประกอบกับการเลือกใช้วัสดุอย่างชาญฉลาดอันได้สำแดงความงามไปพร้อม ๆ กับส่งเสริมคุณภาพอาคารและคุณภาพชีวิตของผู้อยู่ไปพร้อมกัน
ความแน่วแน่ของแนวทางการทำงานนั้นยังสะท้อนผ่านสตูดิโอแห่งใหม่ของพวกเขาในปี 2024 นี้ ที่เพิ่งได้ย้ายครั้งใหญ่อีกครั้งมายังซอยลาดพร้าว 71 ย่านที่พลุกพล่านที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร สู่อาคารทาวน์เฮ้าส์รีโนเวตใหม่ กรุด้วยบล็อคคอนกรีตสีเทาดำ ที่ได้ตอกย้ำความช่างคิดและการมองเห็น “มิติ” เบื้องลึกของสิ่งต่าง ๆ ตามชื่อสตูดิโอ
Studio Visit ในครั้งนี้จะชวนมาพูดคุยกับเผดิมเกียรติ สุขกันต์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง ถึงแนวคิดในปัจจุบันของ Studio Miti และจะพามาสำรวจตัวตนถึงข้างในออฟฟิศ พร้อม ๆ กับสำรวจพื้นที่ทำงานเบื้องหลังบล็อกคอนกรีตสีเทาดำไปพร้อมกัน
"เชื่อในเรื่องของ Real Material เราใช้ความเป็น Pure Material เป็นหลักก่อน และไม่ชอบประดับประดาเยอะ"
ฟาซาดทำจากคอนกรีตมวลเบากับเหล็ก มีที่มาจากความบังเอิญตอนที่ไปไซต์ แล้วได้เห็นกึ่งกลางของวัสดนี้ถูกแบะออก แล้วเห็นลักษณะของความโค้งอยู่ข้างใน เวลาโดนแสงแล้วมีความน่าสนใจ
“สตูดิโอมิติเองเนี่ย ย้ายออฟฟิศหลายครั้ง ทุกครั้งที่ย้าย เราก็จะมีการทดลองกับวัสดุที่เราใช้ เราพยายามจะค้นหาน้ำหนักของงานที่เป็นของตัวเอง คือพวกผมเชื่อในเรื่องของ Real Material เราใช้ความเป็น Pure Material เป็นหลักก่อน และไม่ชอบประดับประดาเยอะ“
“อย่างครั้งก่อน เราใช้อิฐเป็นแมททีเรียลหลัก เราก็มีการทดลองใช้อิฐกับเหล็ก ครั้งนี้เป็นคอนกรีตมวลเบา จริง ๆ มันบังเอิญนะไปเจอที่ไซต์ พอดีกึ่งกลางของเขา มันถูกแบะออกแล้วมันเป็นลักษณะของความเป็นโค้งอยู่ข้างใน เวลามันโดนแสงมันน่าสนใจ ก็เลยลองเอาชิ้นนี้มาผ่าครับ แล้วก็มาทดลองกับแสงดู พบว่าเอฟเฟ็กต์มันดีอยู่นะ มันสามารถทําให้ส่วนนี้เป็นทั้งฟาซาด แล้วก็เป็นทั้งเนื้อของโครงการได้ในเวลาเดียวกัน”
"เราพัฒนาโปรเจ็กต์นี้จากการรีโนเวตทาวน์เฮาส์เก่าในยุคสมัยสัก 30-40 ปีก่อน ซึ่งปัญหาของมันคือความปิดทึบแต่ก็มีเงื่อนไขในการจัดการว่าเราก็ไม่สามารถสร้างใหม่ขึ้นได้ทั้งหมด ก็เลยเป็นที่มาว่าเราทําฟาซาดที่ทำให้มันเปิด-ปิดได้ ให้ควบคุมแสงโดยการเปิดเพื่อรับแสง และปิดเพื่อควบคุมสมาธิในการทํางานได้ด้วย"
"จริง ๆ พวกผมสนใจวิธีการออกแบบ ว่าทําอย่างไรให้ตัวเครื่องมือในการออกแบบไดอะแกรมทั้งหลายส่งผลไปต่อเนื่องถึงวัสดุด้วย เราก็เลยเอาตัวเรานี่แหละเป็นตัวทดลอง ผมว่าส่วนหนึ่งที่เป็นสิ่งที่ทําให้เรามั่นใจในการออกแบบ คือเราได้ทดลองได้จับ ได้ต้องของจริง เลยเป็นวิธีการสำคัญที่เราเอามาใช้"
1
"เรื่องการใช้ Real Material กับ Tropical Design ผมมองสองเรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกัน คือภายใต้ภูมิประเทศแบบร้อนชื้นอย่างเราครับ ข้อแรกผมว่าเราต้องเข้าใจการใช้แดด การใช้ลม ในแบบของภูมิภาคแบบไทย อันนี้เป็นพื้นฐานของเราก่อน เพียงแต่ว่าถ้าเรามีโอกาส แล้วก็เจ้าของเห็นพ้องกับเราว่าชอบแบบที่เราทํา เราก็จะร่วมกันพัฒนาตัววัสดุใด ๆ ที่เราสามารถใช้ได้ครับ"
"แล้วก็เวลาเราใช้ Pure Material ครับ ผมรู้สึกว่ามันสวยโดยที่มันไม่ต้องประดิษฐ์ เพียงแต่ว่าเราต้องเอาการดีไซน์ไปจับ ว่าทําอย่างไรให้มันสวยโดยไม่ต้องประดิษฐ์ ผมคิดว่าการทําความเข้าใจกับวัสดุ เลยเป็นหนึ่งในเนื้อหาสําคัญของเรา จะใช้อะไรเราก็ต้องเข้าใจเขา"
"การเข้าใจภูมิอากาศแบบทรอปิคัล ผมรู้สึกว่าเป็นแค่หลักการเบื้องต้นที่สถาปนิกต้องรู้อยู่แล้ว โดยเฉพาะสถาปนิกแบบไทย ๆ ของเราครับ รู้แดด รู้ร้อน รู้ชื้น รู้หนาว มันเป็นเรื่องพื้นฐาน เพราะฉะนั้นจะดีไซน์ได้ พื้นฐานพวกนี้ต้องรู้ก่อนแต่ที่มากกว่านั้น เราต้องทำให้สถาปัตยกรรมนั้น ๆ เป็นของของเขา ถ้าไม่เป็นตัวแทนของเจ้าของ ก็ต้องเป็นของสถานที่ตรงนั้นเป็นของสถานที่เป็นของบริบท"
"ถ้ายกตัวอย่างงานที่พวกผมเคยทําไปแล้ว แล้วก็มันเป็นสิ่งที่สามารถพิสูจน์ผลจากการทดลองที่เราทําได้นะ พวกเราใช้อิฐ อิฐก็เป็นของที่ทําบ่อย ไม้ก็เป็นของที่ทําบ่อย อิฐกับไม้เนี่ยถ้าที่ทําเสร็จไปแล้วก็จะมีเห็นได้ชัดก็จะเป็น Athita The Hidden Court Chiang Saen ที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เราใช้อิฐกับไม้มาเป็นของคู่กัน"
"ถ้าอย่างใช้อิฐล้วน ๆ เป็นอิฐกับเหล็ก ผมทําบ้าน “High Brick House” หรือ “บ้านลูกหมู” และจริง ๆ ถ้าเป็นอิฐล้วน ๆ เลย มีกําลังทําอยู่อีกตัวหนึ่ง ด้วยความเชื่อว่า อิฐมันคลายความร้อนเร็ว เราทําบ้านตั้งชื่อกับเจ้าของบ้านว่า “บ้านอยู่เย็น” ทําด้วยอิฐทั้งหลังเลย แล้วทําให้ลมให้ผ่านไปในบ้านให้มันเย็น ก็เป็นการประสานความเชื่อแบบทรอปิคัล โดยพยายามควบคุมอุณหภูมิบ้านให้เย็นโดยที่เราไม่ต้องใช้แอร์เยอะ"
"ทุกงานมันจะมีคาแร็กเตอร์ที่ไม่เหมือนกันนะครับ เพราะฉะนั้นสิ่งที่มันซ้อนใต้ไปกว่าความเชื่อ หรือว่าความรู้เชิงทรอปิคัลครับ มันคือความรู้เชิงมนุษย์ หรือเชิงบริบทต่าง ๆ ที่มันซ่อนอยู่ ผมว่าอันนี้เป็นสิ่งที่พวกผมก็กําลังค้นหาและพัฒนาอยู่เหมือนกัน"
"สําหรับเป้าหมายของสตูดิโอมิติเองในอีกสิบปีข้างหน้า สิ่งหนึ่งผมอยากจะสร้างรากฐานทางความคิด ให้กับน้อง ๆ ที่อยู่ในทีม ณ วันนี้ ผมเชื่อว่าพวกเราพัฒนาได้ และผมเชื่อว่าเรายังเรียนรู้กับอีกหลาย ๆ เงื่อนไขที่มันกว้างไปกว่าแค่งานออกแบบ มันอาจจะต้องเรียนรู้กับบริบทอื่น ๆ เช่น ในเชิงสังคม เชิงเศรษฐศาสตร์ เราต้องเรียนรู้ การทําให้ Know How ตกไปถึงน้องๆ ผมว่าเป็นเครื่องมือติดตัวเขาที่สำคัญ"
"ถ้าผมโชคดีเราก็ไปด้วยกัน ถ้าโชคดีกว่านั้น เขาอาจจะขอขยับขยายไปอีกที่หนึ่ง แล้วก็ไปเติบโตด้วยกันในอีกรูปแบบหนึ่งก็ได้แต่ผมเชื่อว่าทุกคนต้องได้ต้นความคิดแบบนี้ การที่เข้าใจภูมิอากาศแบบทรอปิคัลอย่างไทย ๆ การเข้าใจบริบทอื่นอื่นที่มากไปกว่าสิ่งที่ตาเห็นทางกายภาพ ผมว่าอันนั้น จะทําให้น้อง ๆ เติบโต แล้วทําให้พวกเราที่เป็น Studio Miti เอง เติบโตไปได้ด้วย"
"ผมเชื่อว่าความยั่งยืนของออฟฟิศไม่ได้มาจากผมคนเดียว เป็นมาจากน้อง ๆ ในทีมต้องต้องเข้าใจ แล้วก็ต้องร่วมใจกันครับ "
เรื่อง: Kor Lordkam
ภาพ: นันทิยา
ขอขอบคุณสถานที่: Studio Miti (www.facebook.com/studiomitidesign)
คลังสาระความรู้เรื่องบ้านและพรรณไม้ยังมีอีกมากมาย อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ www.baanlaesuan.com
โฆษณา