7 มิ.ย. เวลา 01:38 • ความคิดเห็น

ห้าสิบหนี้เก้าร้อยล้าน หกสิบรวยหมื่นล้าน

ผมรู้จักพี่วัฒน์ วรวัฒน์ ชิ้นปิ่นเกลียว แห่ง Thai coconut ตอนที่พี่วัฒน์มาสมัครเรียนหลักสูตร abc ที่ผมจัดในวัยหกสิบกว่าปี ตอนมาเรียนพี่วัฒน์ก็เริ่มรวยแล้ว มีบ้านหลังใหญ่ พี่วัฒน์กำลังจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ แล้วก็เคยเล่าถึงธุรกิจมะพร้าวที่พี่วัฒน์ทำ ผมก็ฟังผ่านๆ ด้วยความไม่รู้อะไรมากนัก
1
แต่พอพี่วัฒน์ชวนไปโรงงานที่ราชบุรี ผมก็เริ่มสนใจมากเพราะโรงงานของพี่วัฒน์ไม่เหมือนที่ไหน นอกจากมาตรฐานสูงมากตามระดับโรงงานส่งออกทั่วไป ผู้คนในโรงงานตั้งแต่ผู้บริหารจนถึงคนงานพม่าดูจะมีพลัง กระตือรือร้น รักบริษัท ภูมิใจในบริษัทอย่างผิดกว่าโรงงานทั่วไปจนรู้สึกถึงพลังพิเศษบางอย่างที่บริษัทอื่นไม่มี มารู้ภายหลังว่าพี่วัฒน์เป็น leadership coach ที่สอนลูกศิษย์มาเป็นพัน ถึงพอจะเข้าใจได้มากขึ้น
1
ตอนจะพาบริษัทจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ พี่วัฒน์ก็มาปรึกษาอยู่บ้าง และได้ยินตอนที่พี่วัฒน์ได้ราคาประเมินจากที่ปรึกษาทางการเงินว่าหุ้นควรจะขายราคาเท่าไหร่ ปกติคนอื่นจะบอกว่าสูงกว่านี้ได้มั้ย อยากได้ตังค์มากที่สุดตอนเข้า พี่วัฒน์เป็นคนแรกที่ผมรู้จักมาที่บอกว่าไม่เอาราคานี้ อยากตั้งต่ำกว่าราคาที่ที่ปรึกษาการเงินเสนออยู่หลายสิบเปอร์เซ็นต์ เพราะอยากให้คนที่ซื้อหุ้นได้กำไร ไม่ได้อยากเอาเงินเยอะๆ เป็นแนวคิดที่ผมได้แต่นิยมอยู่ในใจ
และอาจจะด้วยอานิสงส์ของแนวคิดนี้ หรือเป็นกลยุทธ์ หรือเพราะบริษัทพี่วัฒน์ก็ดีจริงๆ หุ้นพี่วัฒน์ก็เลยขึ้นเอาๆ ใครซื้อไว้ตอนแรกก็กำไรเป็นเท่าในเวลาไม่กี่เดือน พี่วัฒน์ในวัยหกสิบกว่าปีก็เลยกลายเป็นเศรษฐีหมื่นล้านโดยปริยาย
2
พี่วัฒน์เพิ่งมาเล่าที่ HOW ว่า คุณรู้มั้ย ตอนอายุห้าสิบ ผมยังเป็นหนี้เก้าร้อยล้านบาทอยู่เลย เพิ่งมามีตังค์ตอนอายุหกสิบนี่แหละ พร้อมเปิดเรื่องราวที่พี่วัฒน์มาเล่าถึงบทเรียนชีวิตด้วยประโยคที่ว่า
ถ้าความล้มเหลวฆ่าคุณไม่ได้ คุณจะแข็งแกร่งขึ้นอีกร้อยเท่าทวีคูณ…
2
พี่วัฒน์เป็นลูกชาวไร่อ้อยที่ราชบุรี เกิดมาก็ต้องช่วยที่บ้านคุมคนงาน ส่งอ้อย ขายอ้อย ตัวเองไม่ชอบทำเกษตรเลย ไม่คิดว่าอยากจะทำต่อ แต่ก็ไม่เรียนต่อที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จบมาก็คงทำงานโรงงานเป็น QC ชีวิตก็น่าจะเรียบง่ายประมาณนั้น จบมาจริงก็ได้งานที่โรงงาน ดูแล QC กินเงินเดือน มีชีวิตธรรมดามาเรื่อยๆ
2
แรงบันดาลใจ
พี่วัฒน์เล่าว่าเหตุบันดาลใจให้อยากเป็นเถ้าแก่ก็เหมือนเด็กหนุ่มทั่วไป วันหนึ่งเห็นเจ้าของโรงงานขับรถวอลโว่สีเขียวเข้ามา ช่างเท่เหลือเกินในสายตาหนุ่มน้อย ก็เลยคิดว่าถ้าเป็น QC ต่อไปคงไม่ได้ขับรถดีๆ เริ่มคิดว่าอยากเป็นเจ้าของโรงงานบ้าง
1
พี่วัฒน์บอกว่าแรงบันดาลใจหรือเป้าหมายนั้นสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม พอคิดฝันอยากเป็นเจ้าของโรงงาน พี่วัฒน์ก็เลยรู้สึกว่าต้องรู้ให้ครบ ไม่ใช่เฉพาะ QC อย่างเดียว ถ้าไม่อยากได้รถหรูก็คงไม่อยากรู้อะไรเพิ่ม ก็เลยไปขอเรียนวิชาจากบัญชีบ้าง ไปดูเรื่องการผลิตบ้าง ไปศึกษาจากฝ่ายต่างๆอีกมากมาย
1
เท่านั้นยังไม่พอ แรงขับที่อยากเป็นเจ้าของโรงงานทำให้พี่วัฒน์ไปเรียน MBA กัดฟันจากเงินเดือนหมื่นบาท เช่าที่พักไปหกพัน เสียค่าเรียนสามพัน เหลือแค่ค่ากินเดือนละพัน ทำแบบนี้อยู่สามปีจนจบ
1
โอกาสอยู่ในอากาศ
พี่วัฒน์เล่าว่าโอกาสในชีวิตหลายครั้งก็มาจากเพื่อนฝูงกัลยาณมิตรที่ช่วยเหลือแนะนำกัน พี่วัฒน์ได้เพื่อนแนะนำว่าโรงงานผลิตไอศรีมแห่งหนึ่งขาดกะทิในการผลิต พี่วัฒน์ก็เลยลองใช้วิชา QC ที่มีไปตลาดพงษ์เพชรเอามะพร้าวมาคั้นกะทิทำพาสเจอไรด์เพราะมีความรู้อยู่บ้างใส่ถุงไปขาย ปรากฏว่าผ่านมาตรฐาน เพื่อนๆ ที่เรียนด้วยกันก็แนะนำไปโรงงานอื่นอีก ซักพักพี่วัฒน์ก็เลยขอตังค์พ่อตาสามแสนมาเปิดโรงงานเล็กๆ ซึ่งต่อมาก็ย้ายไปตั้งที่ราชบุรีบ้านเกิด ขอเงินพ่อตา เงินตัวเองและกู้แบงค์หลายล้านและก็ได้เป็นเจ้าของโรงงานสมใจ
3
อีโก้และความโลภ
2
ในวัยไม่ถึงสี่สิบ ธุรกิจโรงงานมะพร้าวไปได้ดี ยอดขายหลายร้อยล้าน กำไรปีละยี่สิบสามสิบล้าน เริ่มรวยแต่ไม่โต พี่วัฒน์ก็เริ่มใช้ชีวิตแบบหลงตัวเอง ขับเบนซ์ เที่ยวกลางคืน และเริ่มคิดว่าอยากรวยกว่านี้ อยากมีธุรกิจพันล้าน
1
ในช่วงนั้นอุตสาหกรรมสัปปะรดบูมมาก พี่วัฒน์คิดว่าไม่น่ายากเพราะเป็นโรงงานแปรรูปผลไม้เหมือนกัน ด้วยความมีคารม เข้าใจทริกทางธุรกิจ ก็ไปกู้ธนาคารมา 900 ล้าน กะรวยเป็นพันล้าน พอทำจริงสัปปะรดขาดทุนยับ ขาดทุนปีละร้อยอยู่หลายปีจนกระแสเงินสดแทบหมดที่เพิ่มมาคือหนี้
1
ไม่เป็นสัปปะรด
พี่วัฒน์บอกว่า บทเรียนจากการเจ๊งที่ใหญ่สุดในชีวิตคือความเข้าใจว่าแต่ละธุรกิจมี key success factor ของมัน ทำอันหนึ่งได้ก็ใช่ว่าจะเอาไปใช้กับอีกอันได้ ต่อให้คล้ายกันมากก็ตาม ธุรกิจสัปปะรดมี season ของมัน ราคาสวิงมากจากโลละ 2 บาทเป็น 10 บาทได้ คนมีเงินสดก็จะซื้อราคาถูกเก็บไว้แล้วรอขายตอนแพง แต่พี่วัฒน์เป็นเงินเชื่อรอเก็บไม่ได้ก็เหมือนแมงเม่าในตลาดหุ้น นอกจากนั้นพอขายต่างประเทศก็ไม่เข้าใจเรื่องป้องกันความเสี่ยง โดนค่าเงินเล่นงานเข้าไปอีก
1
พี่วัฒน์บอกว่าเกมส์สัปปะรดคือเกมส์การเงิน ต้องมีเงินเย็น เงินสด พวกเจ้าใหญ่ถึงรวยเอาๆรวยเอาๆ เจ้าเล็กถึงแพ้หมดในตอนนั้น เพราะความไม่เข้าใจ คิดว่าเหมือนมะพร้าวที่ผลิตได้ดีก็ขายได้ แต่ละธุรกิจมันมี key success factor ของมัน พอไม่พยายามเข้าใจก็พังเพราะความไม่เป็นสัปปะรดของตัวเองจริงๆ
4
จุดต่ำสุดในชีวิตและบทเรียนที่สำคัญที่สุด
ในตอนใกล้ห้าสิบ พี่วัฒน์หมดตัว แทบไม่มีเงินสด เป็นหนี้อีกเก้าร้อยล้าน ลามไปโรงงานกะทิ โรงงานมะพร้าวที่ยังพอกำไรแต่ไม่มีตังจ่ายคนงาน พี่วัฒน์บอกว่าต่ำสุดๆ คือนอนนิ่งๆในห้องสามวันไม่ไปไหน คิดอะไรไปเรื่อยเปื่อย แต่ในที่สุดก็รู้สึกว่ายังมีกำลังใจ มีภาระ มีลูกเมีย มีคนงานต้องเลี้ยงอีกเป็นพัน ก็เลยออกมาจากห้องแล้วฮึดสู้ต่อ
2
พี่วัฒน์บอกว่า เข้าใจได้เลยว่าทำไมหลายบ้านหลายครอบครัวถึงยอมแพ้ บางทีถึงกับจบชีวิต เพราะเวลามันดิ่งมากๆนั้นมันดูมืดมน แต่ก็ได้กัลยาณมิตรมาคอยให้คำปรึกษา ได้คนรอบข้างให้กำลังใจพี่วัฒน์ก็เลยลุกขึ้นมาสู้ต่อ ซึ่งเป็นคำที่พี่วัฒน์เปิดตอนเล่าเรื่องว่า
ถ้าความล้มเหลวฆ่าคุณไม่ได้ คุณจะแข็งแกร่งขึ้นอีกร้อยเท่าทวีคูณ…
3
วิธีคิดแบบตัวเม่น
1
พี่วัฒน์อ่านหนังสือมาก ในช่วงตกต่ำก็ไปอ่านหนังสือฝรั่งชื่อ good to great เป็นเรื่องราวของบริษัทที่ยิ่งใหญ่ของฝรั่ง มีเรื่องหนึ่งพูดถึงตัวเม่นว่า เสือและหมาป่าไม่เคยกินตัวเม่นได้ เพราะมันม้วนตัวและมีหนามแหลม เม่นเก่งแค่การม้วนตัวแต่เก่งด้านนี้เป็นที่สุด พี่วัฒน์เลยตั้งใจที่จะเก่งมะพร้าวที่สุดให้ได้ ศึกษาดูงาน เข้าใจวัตถุดิบ แหล่งที่มาทั่วโลก เข้าใจการผลิต รสชาติ เข้าใจทุกอณูของความเป็นมะพร้าว เริ่มใหม่จากสิ่งที่มีในตอนนั้น
5
อีกเรื่องที่หนังสือเล่มนี้เตือนสติพี่วัฒน์ก็คือคนที่ร่วมหัวจมท้ายกัน ถ้าเป็นคนที่มีทัศนคติที่ดี รักบริษัท จะนำมาซึ่งความเจริญเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่ได้ แต่ก่อนพี่วัฒน์คิดแต่ดูถูกลูกน้องว่าไม่เห็นเก่ง รำคาญ ตัวเองเก่งสุด ลูกน้องพูดไม่จบก็ขัด ไม่เคยฟัง เอาตัวเองเป็นใหญ่ พออ่านแล้วคิดได้พี่วัฒน์ก็เริ่มต้นตัวเองใหม่ในวัยห้าสิบปี..
2
อีกบทเรียนที่ได้จากความล้มเหลวก็คือว่าพลาดที่ไม่รู้ key success factor ไม่ใส่ใจดูบัญชีการเงิน ไม่ชอบดู ให้แต่นักบัญชีดู เพราะเห็นเป็นเรื่องไร้สาระ พอไม่แม่นตัวเลขก็ปรับอะไรไม่ได้ แต่พอเงินหมดก็เลยต้องหันมาเรียนจริงจัง พี่วัฒน์ดูทุกเม็ด จนขนาดรู้ว่ารถโฟล์คลิฟท์ที่มี 50 คันนั้นกินน้ำมันเดือนละเท่าไหร่ ถ้าคันไหนกินเยอะก็แสดงว่าวิ่งผิดเส้นทาง แค่เรื่องโฟร์คลิฟท์ พอใส่ใจก็ประหยัดได้เดือนละเป็นแสน ตัวเลขจึงสำคัญสำหรับผู้ประกอบการมากๆ ไม่รู้ต้นทุน ไม่รู้บัญชีอย่างลึกซึ้งไม่ได้เด็ดขาด
1
และที่สำคัญ พี่วัฒน์มีใจที่สำคัญมากๆ มีศรัทธาที่พี่วัฒน์บอกว่าสำคัญมาก คิดว่าถ้าขยันสู้ต่อ ยังไงก็รอดสิน่า…
1
อดทนผ่านแผนฟื้นฟู
พี่วัฒน์มีกัลยาณมิตรเป็นที่ปรึกษาการเงินคู่ใจ พาเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ ค่อยๆ ลดหนี้ ใช้หนี้ธนาคาร ตั้งใจทำมะพร้าวให้เป็นเต้ยในวงการ ไม่ใช่แค่ระดับประเทศ แต่ต้องเก่งอันดับต้นๆในโลก พี่วัฒน์อยู่กับมะพร้าวทั้งวันทั้งคืน ผ่อนเจ้าหนี้อยู่ห้าปี โอนทรัพย์สินทั้งหมดเข้าแผนจนเหลือแค่บ้าน บทเรียนที่สำคัญอีกประการก็คือว่าสมบัติไม่ตายหาใหม่ได้ มีเงินก็ซื้อคืนได้ อย่าไปยึดติด เอาไปลดดอกเบี้ยเพื่อลดภาระดีกว่า จะได้ออกจากก้นเหวนั้นได้
3
ถ้าความล้มเหลวฆ่าคุณไม่ได้ มันจะทำให้คุณแกร่งขึ้นร้อยเท่าทวีคูณ
1
พี่วัฒน์เล่าถึงเหตุการณ์หนึ่งที่พี่วัฒน์เดินทางไปเจรจาโรงงานทำกระป๋องเพราะต้นทุนหลักของการผลิตคือกระป๋อง พี่วัฒน์ขอเจอเจ้าของโรงงานกระป๋องที่ใหญ่ระดับหมื่นล้าน เป็นอาเจ็กอายุแปดสิบ พี่วัฒน์ไปบอกว่าไม่มีตังตอนนี้ ขอเครดิตอาเจ็ก ขอให้อาเจ็กช่วยเพราะเพิ่งเริ่มฟื้น ก่อนเจรจาอาเจ็กถามว่าลื้อเจ๊งมากี่ครั้งแล้ว
พี่วัฒน์ตอบว่าหนึ่งครั้ง อาเจ็กขำแล้วบอกว่า ลื้ออ่ะเหล็กๆ (เด็กๆ) อั๊วเจ๊งมาสามรอบแล้วโว้ย แล้วก็หัวเราะชอบใจให้เครดิตพี่วัฒน์ในฐานะที่เจ๊งแล้วมีประสบการณ์และแข็งแรงขึ้น น่าไว้ใจได้กว่าไม่เคยเจ๊งมาก่อน
1
พี่วัฒน์ค่อยๆใช้หนี้และซื้อสินทรัพย์คืนมา ใช้เวลาทั้งหมดสิบปี เป็นเจ้าของอีกครั้งในวัยหกสิบเอ็ดปี..
1
การค้นพบครั้งสำคัญ
ในระหว่างที่เข้าแผนฟื้นฟู พี่วัฒน์คิดได้ถึงการพัฒนาตัวเอง การดูแลลูกน้อง พี่วัฒน์เริ่มใช้วิธีใหม่ในการทำธุรกิจ และไปสนใจเรียนการเป็น leadership coach เริ่มสอน เริ่มเอามาใช้ในกิจการและยิ่งได้เห็นศาสตร์และศิลป์ในการเป็นผู้นำ ยิ่งใช้บริษัทยิ่งเติบโต
1
พี่วัฒน์มีวิธีคิดที่แนะนำน้องๆรุ่นใหม่ว่าทำธุรกิจประการแรกต้องเก่งที่สุดในพื้นที่ตัวเองเหมือนตัวเม่น พี่วัฒน์มั่นใจว่าเรื่องน้ำมะพร้าวไม่เป็นรองใครในโลก น่าจะส่งออกมาสุดในโลกด้วยซ้ำ และถ้าไประดับโลกได้ โอกาสก็จะมาอีกมาก คนทั่วโลกจะติดต่อมาตลอดเวลา
ประการที่สองทำธุรกิจต้องรัก ไม่ใช่รวย และประการที่สามต้องไม่มีโลภ โกรธ และหลงไปกับมัน พี่วัฒน์บอกว่าแปลกมาก ถ้าโลภอยากรวยไม่เคยสำเร็จ พอไม่ซีเรียสกับได้เยอะกว่า รวยมาทีหลังถ้ารักมันมากพอ จากประสบการณ์อีโก้ที่พาพี่วัฒน์หายนะจากสัปปะรด แล้วพอคิดได้ก็ตั้งหลักได้จนทุกวันนี้
2
คนยอดเยี่ยม
เมื่อก่อนพี่วัฒน์มองลูกน้องแบบดูถูก คิดว่าไม่เก่ง ไม่รู้อะไร ไม่รู้ว่าอะไรบดบังความคิด แต่พอคิดได้ เริ่มมองลูกน้องเป็นพันว่าแต่ละคนก็มีความยอดเยี่ยมของตัวเอง ต้องพยายามหาทางเอาความยอดเยี่ยมของแต่ละคนออกมาให้ได้ พร้อมทั้งเข้าใจจุดบอดของแต่ละคน
พี่วัฒน์เริ่มเปลี่ยนจากการเบรกไม่ให้พูด การสั่งสอน เป็นการฟังมากขึ้น พูดทีหลังลูกน้องและพูดน้อยๆ พยายามให้เขาคิดมาก่อนแล้วถามเยอะๆ จะให้แต่มุมมองบ้าง เดิมพี่วัฒน์บอกมีหนึ่งสมองสองมือ พอให้คนเปล่งศักยภาพได้ตอนนี้มีเป็นร้อยสมองหลายร้อยมือ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ
พี่วัฒน์ไปเรียนโค้ชแล้วสอนลูกน้องต่อๆ กันให้เป็นหัวหน้าที่ดีด้วยการมองลูกน้องว่าแต่ละคนมีความยอดเยี่ยม แต่ละคนมีหมาป่าดำขาวในตัว จะดึงด้านดี ด้านเก่งออกมาได้ยังไง สอนว่ามนุษย์มีความต่างด้านทัศนคติ เกิดจากประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคน
ถ้ามาจากสลัมเห็นยาบ้าก็คงเฉยๆ ไม่เหมือนคนที่เติบโตมาไฮโซ สอนให้มีความเมตตาต่อเพื่อนร่วมงาน ต่อให้ลูกน้องเอาเงินไปหมุนแล้วจับได้ก็จะถามก่อน บางทีเขาอาจจะทำเพราะจำเป็น มีคนทางบ้านป่วยหนักก็ได้ ไม่ด่วนตัดสินใคร เราไม่ใช่ถูกทั้งหมด และเขาก็ไม่ใช่ผิดทั้งหมด
3
มนุษย์เกิดมาเพื่ออะไรบางอย่างแต่ไม่ใช่ทุกอย่าง พี่วัฒน์ยกตัวอย่างว่าถ้าลูกน้องมีแขนเดียวจะให้เขาหยิบของเร็วๆได้ดั่งใจก็ไม่ได้ ให้เขาทำอย่างอื่นดีกว่า ต้องเข้าใจคนอื่น เข้าใจที่มาที่ไปว่าเขากลัวเพราะอะไร อาจจะเคยเจอเรื่องร้ายมาก่อน สอนให้หัวหน้ารู้จักอ่านใจคน และให้ถามตัวเองว่าเวลามีเรื่องผิดพลาดว่าเราเป็นต้นเหตุอะไรได้บ้าง ไม่ใช่โทษแต่ลูกน้องอย่างเดียว
4
แรงบันดาลใจกับแรงจูงใจ
ที่ thaicoconut มี turnover rate 0.3% พี่วัฒน์บอกว่าต้องให้ทีมงานมีสองแรงเสมอ แรงจูงใจคือต้องอิ่มหมีพีมัน ลูกน้องพี่วัฒน์เงินเดือนธรรมดาแต่โบนัสดีมาก ปีที่แล้วได้กันเจ็ดเดือน ระดับผู้จัดการมีหุ้นพอเข้าตลาดก็ได้กันหลายล้าน พี่วัฒน์จ่ายโบนัส 20% จากกำไร ทำให้ทุกคนขายแหลก คอยระวังไม่ให้ของเสีย ช่วยกันดูแลทุกจุด
1
ส่วนแรงบันดาลใจ พี่วัฒน์บอกว่าต้องมีคู่กับแรงจูงใจ เป็นแรงขับที่ไม่เกี่ยวกับเงิน บริษัทพี่วัฒน์ไม่ได้รับคนเรียนสูง ลูกจ้างรายวันก็ไต่เต้าเป็นผู้จัดการเงินเดือนแสนได้ถ้ามีผลงาน มีความภูมิใจ ใครทำงาน thaicoconut ที่ราชบุรีนี่เหมือนทำ google ในสายตาคนในหมู่บ้าน พี่วัฒน์เล่าแบบติดตลก พี่วัฒน์ให้เวทีน้องๆได้แสดง ได้ทำ ได้เล่าให้เจ้านายฟัง ทำแล้วประสบความสำเร็จก็ภูมิใจ
ผู้บริหารระดับสูงก็มีผลตอบแทนที่ดี บางคนจบพยาบาลแล้วไปเรียนการเงินจนกลายเป็นหัวหน้าใหญ่ บางคนก็จบวิทยาลัยครู จบยิ่งไม่สูงยิ่งรักองค์กรที่ให้โอกาส พี่วัฒน์กินแบ่งเสมอ มองว่าแบ่งกำไร 20% ก็ยังเหลืออีกตั้ง 80 ซึ่งก็เป็นวิธีคิดเดียวกันกับการตั้งราคาหุ้นต่ำตอน IPO เช่นกัน
3
ศีล สมาธิ ปัญญา
2
พี่วัฒน์ศึกษาพระไตรปิฏกต่อหลังจากไปเรียน leadership coach และพบว่าคำสอนที่เรียบง่ายแต่ลึกซึ้งนั้นมีผลต่อการทำธุรกิจมาก พี่วัฒน์อธิบายแบบง่ายว่า ศีลก็คือ พฤติกรรมของเรา ถ้าเราพฤติกรรมดี มี integrity มี principle ในการทำธุรกิจก็คือศีล ส่วนสมาธิ ก็คือจิตใจข้างในที่เข้มแข็ง โอบอ้อมอารีย์ ส่วนปัญญา ก็คือ intuition หรือปัญญาญาน ทำให้คิดนวัตกรรมหรือแก้ปัญหาได้เมื่อใจสงบ มีสมาธิ
3
ซึ่งพี่วัฒน์บอกว่าธุรกิจเหมือนกัน เติบโตต่างกันก็ตรงนี้ ซึ่งตอนล้มเหลวสุดๆพี่วัฒน์ไม่มีซักอย่างเลย
1
หนี้เก้าร้อยล้านในวัยห้าสิบ รวยหมื่นล้านในวัยหกสิบ
1
พี่วัฒน์ในวัยหกสิบก็ยังสนุกกับการทำงานและตั้งใจว่าจะทำถึงแปดสิบ แล้วอยากไปสอนไปทำโรงเรียนสอนคนต่อ และมองว่าการมีเงินเยอะก็เป็นภาระเพราะตัวเองไม่ได้อยากได้อะไรเท่าไหร่ ที่เอาบริษัทเข้าตลาดก็เพื่อจะได้มีคนเก่งๆมากทำงาน ลูกๆ ก็แล้วแต่ตามที่เขาชอบแต่ก็อยากให้เขาช่วยเหลือคนต่อ พี่วัฒน์ไม่ได้มีความฝันอะไรอีก แต่ขอบให้คำปรึกษาคนที่เฟลมากๆ เพราะตัวเองผ่านมาแล้วก็อยากจะช่วยกระตุ้นให้คนที่อยู่ในหลุมลึกได้สู้ต่อเพราะถ้าฆ่าไม่ตายก็จะแข็งแกร่งขึ้นเสมอ…
2
พี่วัฒน์ผ่านบททดสอบแบบนั้นมาจริงๆ
2
แน่นอนว่าโลกนี้ไม่มีคำตอบเดียว การประสบความสำเร็จทางธุรกิจนั้นคงมีหลายแบบ แต่ผมชอบแบบพี่วัฒน์มากๆ ที่สำเร็จด้วยความเมตตา แบ่งปัน เก่งในพื้นที่ที่ตัวเองเป็น และมองทุกคนไม่ว่าจะเป็นใครว่ามีความยอดเยี่ยมในทางใดทางหนึ่งเสมอ
1
เป็นพี่ชายที่มีบทเรียนชีวิตที่น่าแบ่งปันให้ผู้อ่านได้อ่านมากๆ เลยครับ…
โฆษณา