8 มิ.ย. 2024 เวลา 07:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

หาหุ้นพื้นฐานดี ด้วยหลัก 5 Forces Model

อีกหนึ่งทฤษฎีที่สามารถปรับใช้กับการวิเคราะห์หาหุ้นพื้นฐานดี คือ Five Forces Model หรือทฤษฎีแรงกดดันทั้ง 5 ด้าน ถูกคิดค้นโดย Michael E. Porter ซึ่งเป็นโมเดลการวิเคราะห์ธุรกิจ หลายคนที่เคยเรียนวิชาบริหารธุรกิจล้วนต้องเคยเจออย่างแน่นอน
โดย Five Forces Model เป็นการวิเคราะห์แรงกดดันทั้ง 5 ที่มีผลในการแข่งขันและความสามารถในการทำกำไร สามารถช่วยให้เรามองเห็นจุดแข็งและจุดอ่อนของธุรกิจก่อนลงทุน
แรงกดดันทั้ง 5 ประกอบด้วย
1. การแข่งขันในอุตสาหกรรม
2. การเข้ามาของคู่แข่งรายใหม่
3. อำนาจต่อรองจากลูกค้า
4. อำนาจต่อรองจากซัพพลายเออร์
5. สินค้าทดแทน
1. การแข่งขันในอุตสาหกรรม
วิเคราะห์สภาพการแข่งขันของอุตสากรรมนั้นๆ ว่า มีการแข่งขันรุนแรงมากน้อยแค่ไหน หากมีการแข่งขันสูงอาจทำให้ได้ส่วนแบ่งการตลาดน้อย และอาจทำให้ธุรกิจสามารถทำกำไรได้น้อยลงด้วย
ประเด็นที่ต้องวิเคราะห์กับหุ้นที่เราจะลงทุน
- บริษัทที่เราจะลงทุนอยู่ตำแหน่งไหน เป็นผู้นำตลาดหรือไม่
- มีส่วนแบ่งตลาดใหญ่แค่ไหน
- สินค้าและบริการมีความแตกต่างกันหรือไม่
- ลูกค้ามี Brand Royalty หรือไม่
2. การเข้ามาของคู่แข่งรายใหม่
วิเคราะห์ว่าอุตสาหกรรมที่เราจะไปลงทุนนั้นมีคู่แข่งรายใหม่เข้ามาได้ง่ายหรือยาก คนอื่นสามารถเข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาดได้หรือไม่ รวมถึงสามารถทำสินค้าลอกเลียนแบบของเราได้หรือไม่
ถ้าเป็นธุรกิจที่ทำง่าย กำไรดี ใครๆ ก็คงอยากเข้ามา ดังนั้นถ้าคู่แข่งรายใหม่เข้ามาได้ง่ายก็จะส่งผลให้จำนวนคู่แข่งเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น และอาจต้องแข่งขันในด้านราคา ต้องตัดราคาระหว่างกัน ทำให้กำไรมีโอกาสลดลงด้วย
ตัวอย่างธุรกิจที่คู่แข่งรายใหม่เข้ามาง่าย เช่น ธุรกิจร้านอาหาร ร้านกาแฟ เครื่องสำอางค์ เป็นต้น ส่วนธุรกิจที่เข้ามาแข่งขันได้ยาก เช่น ธุรกิจสื่อสาร เพราะมีการประมูลขอสัมปทานที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง
ประเด็นที่ต้องวิเคราะห์กับหุ้นที่เราจะลงทุน
- ในอุตสาหกรรมนี้ หากคู่แข่งรายใหม่อยากเข้ามา ต้องใช้เงินลงทุนมากน้อยแค่ไหน
- บริษัทต้องประมูลสัมปทานหรือไม่
3. อำนาจต่อรองจากลูกค้า
วิเคราะห์ว่าลูกค้ามีอำนาจต่อรองมากน้อยแค่ไหน ถือเป็นปัจจัยที่มีผลค่อนข้างมากในการเติบโตและประสบความสำเร็จของธุรกิจ
หากลูกค้ามีอำนาจในการต่อรองราคาได้สูง อาจทำให้ความสามารถในการทำกำไรลดลง เพราะบริษัทอาจต้องลดราคาขายให้ถูกลง หรืออาจต้องเพิ่มคุณภาพสินค้า ซึ่งก็จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น
ในทางตรงข้าม หากลูกค้ามีอำนาจต่อรองน้อย สะท้อนให้เห็นถึงการรักษาคุณภาพหรือภาพลักษณ์ของสินค้าหรือบริการได้ดีจนลูกค้าเกิด Brand Royalty ดังนั้น บริษัทจะสามารถเพิ่มราคาสินค้าหรือบริการได้เมื่อยามจำเป็น และสามารถรักษาอัตรากำไรขั้นต้นได้ในระยะยาว
ประเด็นที่ต้องวิเคราะห์กับหุ้นที่เราจะลงทุน
- ลูกค้าสามารถต่อรองราคาสินค้าได้หรือไม่
- ลูกค้าเปลี่ยนไปใช้สินค้าของบริษัทอื่นได้ง่าย หรือมีต้นทุนในการเปลี่ยนสูงหรือไม่
- ลูกค้ามีความอ่อนไหวต่อราคามากน้อยแค่ไหน
- บริษัทมีแต่ลูกค้ารายใหญ่ไม่กี่เจ้าหรือไม่
4. อำนาจต่อรองจากซัพพลายเออร์
วิเคราะห์ว่าบริษัทมีอำนาจต่อรองกับผู้ขายวัตถุดิบได้ดีแค่ไหน ระหว่างบริษัทกับซัพพลายเออร์ใครมีอำนาจต่อรองมากกว่ากั
แต่ก็มีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณา เช่น หากบริษัทสั่งผลิตในปริมาณมากก็มีอำนาจต่อรองกับซัพพลายเออร์สูงขึ้น แต่หากเป็นสินค้าที่สำคัญทางซัพพลายเออร์จะมีอำนาจต่อรองมากกว่า
หากบริษัทมีอำนาจต่อรองกับซัพพลายเออร์มาก จะทำให้มีต้นทุนการผลิตต่ำ และมีกำไรเพิ่มสูงขึ้น
ประเด็นที่ต้องวิเคราะห์กับหุ้นที่เราจะลงทุน
- บริษัทมีอำนาจต่อรองกับซัพพลายเออร์มากน้อยแค่ไหน
- สินค้าที่ผลิตกับซัพพลายเออร์เป็นสินค้าที่สำคัญมากน้อยแค่ไหน มีสินค้าอื่นสามารถทนแทนได้หรือไม่
- สินค้านั้นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตหรือไม่ และมีซัพพลายเออร์กี่เจ้าที่สามารถผลิตได้
- มีจำนวนซัพพลายเออร์มากน้อยแค่ไหน
- การเปลี่ยนซัพพลายเออร์ มีต้นทุนสูงหรือไม่
5. สินค้าทดแทน
วิเคราะห์ว่ามีสินค้าหรือบริการใดที่สามารถทดแทนได้บ้าง มีอย่างอื่นที่ดีกว่าเข้ามาทดแทนสินค้าหรือบริการที่มีอยู่ได้ไหม ทั้งสินค้าหรือบริการที่คล้ายกันหรือเหมือนกัน ซึ่งจะทำให้ลูกค้ามีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น เช่น สมาร์ทโฟนแทนกล้องดิจิตอล สมาร์ทวอทช์แทนนาฬิกาอะนาล็อก น้ำเปล่าแทนชากาแฟ
ถือเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญและไม่ควรมองข้าม เพราะทำให้บางธุรกิจก็เคยประสบปัญหาหรือล้มละลายไปเลยก็มี ดังนั้น เราจึงควรคำนึงถึงโอกาสที่จะโดนสินค้าอื่นมาแทนที่ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว
หากอุตสาหกรรมมีสินค้าหรือบริการที่สามารถใช้ทดแทนได้มาก ทำให้การแข่งขันสูงขึ้น การแย่งส่วนแบ่งการตลาดและแบ่งผลกำไรจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากเมื่อลูกค้ามีตัวเลือกซื้อมาก จึงไม่จำเป็นต้องยึดติดอยู่สินค้าใดสินค้าหนึ่ง
ประเด็นที่ต้องวิเคราะห์กับหุ้นที่เราจะลงทุน
- สินค้านั้นสามารถมาทดแทนได้มากน้อยแค่ไหน
- ลูกค้าหาสินค้าทดแทนได้ง่ายหรือยาก
- การเปลี่ยนไปใช้สินค้าทดแทน มีต้นทุนสูงหรือไม่
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงจะพอเข้าใจคอนเซ็ปและการนำไปใช้วิเคราะห์หุ้นแล้ว ซึ่งธุรกิจที่แข็งแกร่งจะต้องเอาชนะให้ครบทั้ง 5 ด้านนี้ ทั้งมีอำนาจต่อรองกับลูกค้าและซัพพลายเออร์ได้สูง คู่แข่งรายใหม่เข้ามาแข่งขันได้ยาก มีสินค้าทดแทนน้อย และเป็นผู้นำตลาดอีกด้วย
โฆษณา