8 มิ.ย. เวลา 00:24 • หุ้น & เศรษฐกิจ

🎯 ภาคแรงงานสหรัฐฯแข็งแกร่งจริงหรือภาพลวงตาหลัง Nonfarm พุ่ง

มาคุยกันในประเด็นร้อนที่สุดในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากตัวเลขภาคแรงงานอย่าง Nonfarm Payroll พุ่งกว่า 2.72 แสนตำแหน่ง มากกว่าคาดการณ์ที่ 1.8 แสนตำแหน่ง สวนทางกับตัวเลขภาคแรงงานอื่นๆที่ออกมาในสัปดาห์เดียวกันทั้งหมด
เกิดอะไรขึ้นกันแน่ แล้วตัวเลขไหนเชื่อถือได้มากกว่ากัน และภาพรวมของตลาดแรงงานในสหรัฐฯเป็นอย่างไรกันแน่ เฟดควรจะเอายังไง ตลาดหุ้นไปต่อไหม เดี๋ยวนิคกี้จะบอกให้ค่ะ
✅ อย่าลืมกด Like กด share กด follow เป็นกำลังใจ และเป็นค่าขนมให้นิคกี้ด้วยนะคะ 🥹
📌 มา recap ตัวเลขภาคแรงงานที่ออกมาในสัปดาห์ที่แล้วกันก่อนค่ะ (ภาพรวมทั้งสัปดาห์อยู่ในรูปแรกค่ะ)
1️⃣ (รูปที่สอง) เราเปิดต้นสัปดาห์ด้วยตัวเลขตำแหน่งงานเปิดใหม่จาก JOLTs ค่ะ ที่ออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ โดยออกมาที่ 8.059 ล้านตำแหน่ง ต่ำกว่าคาดที่ 8.37 ล้านตำแหน่ง ซึ่งถือว่าเป็นการลดลงอย่างรวดเร็วมากค่ะ โดยตอนนี้เป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบกว่า 3 ปีแล้วนั่นเอง (เส้นสีแดงด้านบน)
นอกจากนี้พอมาดูที่ เส้นสีดำ ด้านล่าง ซึ่งจะเป็นเส้นที่บอกว่าตอนนี้ มีตำแหน่งงานเปิดใหม่ เทียบกับ คนว่างงาน ว่าเป็นกี่เท่า เราก็จะพบอีกว่ามันลดลงเรื่อยๆค่ะ จนตอนนี้เหลือแค่ 1.2 เท่า เท่านั้นเอง หมายความว่า คนว่างงาน 1 คน จะมีงานรองรับ 1.2 งานเท่านั้น
เท่ากับว่างานหายากขึ้น และการต่อรองค่าจ้างทำได้ยากขึ้น ซึ่งจะผิดกับก่อนหน้านี้ที่สัดส่วนนี้เคยสูงถึง 2 เท่าเลยทีเดียวค่ะ
2️⃣ (รูปที่ 3) ตัวเลข ADP Nonfarm ที่ออกมาต่ำกว่าคาด (เส้นสีส้ม) โดยบริษัทเอกชนในสหรัฐฯจ้างงานเพิ่มขึ้น 1.52 แสนตำแหน่ง ต่ำกว่าคาดที่ 1.72 ตำแหน่ง และเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือนมกราคมค่ะ (ตัวนี้ต่างจาก nonfarm payroll เพราะนับเฉพาะบริษัทเอกชนเท่านั้น และจัดทำโดยคนละหน่วยงานกันค่ะ)
นอกจากนี้ ในกราฟด้านล่าง ยังมีสัญญาณของการชะลอตัวลงของค่าจ้างอีกเช่นกันค่ะ โดยกราฟแท่งคือ การขึ้นค่าจ้างสำหรับคนย้ายงาน ส่วนเส้นสีขาวคือ การขึ้นค่าจ้างสำหรับคนที่อยู่ที่เดิมต่อ
เราจะพบว่าการขึ้นค่าจ้างสำหรับคนย้ายงานปรับตัวเป็นขาลงอีกครั้งแล้วค่ะ หลังจากมีเด้งขึ้นไปนิดหน่อยในช่วงต้นปี (อันนี้ปกติ เพราะต้นปีเป็นช่วงที่คนเปลี่ยนงานกันบ่อย) นอกจากนี้ในส่วนของ การขึ้นค่าจ้างสำหรับคนที่อยู่ต่อ อันนี้ค่อยๆลดลงมาเรื่อยๆตั้งแต่ปีที่แล้วค่ะ
3️⃣ ย้อนกลับไปดู (รูปแรก) ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ออกมาสูงกว่าคาดที่ 2.29 แสนคน และตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างานต่อเนื่องก็สูงกว่าคาดเช่นกันที่ 1.792 ล้านคน สะท้อนว่างานใหม่หายากมากขึ้นเรื่อยๆค่ะ
นอกจากนี้ตัวเลข ต้นทุนค่าจ้างต่อหน่วย หรือ unit labor cost ก็ขยายตัวต่ำกว่าคาดเช่นกันที่ 4.0% ในไตรมาสที่ 1 สะท้อนว่าต้นทุนค่าจ้างไม่ได้ขยายตัวมากมายขนาดนั้นค่ะ
4️⃣ มาถึงตัวเลขที่ประกาศเมื่อคืนนี้ (ในรูปที่ 4) ซึ่งก็คือ ตัวเลข Nonfarm Payroll หรือการจ้างงานนอกภาคการเกษตร ที่ออกมาพุ่งกว่า 2.72 แสนตำแหน่ง มากกว่าคาดการณ์ที่ 1.8 แสนตำแหน่ง (เส้นสีส้ม)
ซึ่งถ้าเราดูข้อมูลเป็นเดือนๆไป จะรู้สึกว่าเยอะจังเลย แต่พอมากางเป็นเส้นยาวๆ ก็จะพบแนวโน้มว่ามันก็เป็นขาลงอยู่เช่นกันค่ะ
ส่วนอีกตัวที่ตลาดตกใจคือ Average Hourly Earnings หรือค่าจ้างเฉลี่ยรายชั่วโมง ที่ขยายตัว 4.1% มากกว่าคาดที่ 3.9% เช่นกัน สะท้อนว่าค่าจ้างปรับตัวขึ้นอีกครั้ง ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ดีต่อเงินเฟ้อค่ะ
มาดูกันต่อใน (รูปที่ 5) จะเป็นการเจาะลึกตัวโครงสร้างของค่าจ้างค่ะ
เส้นสีชมพู คือ รายได้ทั้งหมด
แท่งสีส้ม คือ ชั่วโมงการทำงาน
แท่งสีฟ้า คือ ค่าจ้าง (ค่าจ้างเฉลี่ยรายชั่วโมง แต่เป็นแบบ MoM)
แท่งสีขาว คือ การจ้างงาน
ตัวที่สำคัญสุดคือ เส้นสีชมพู เพราะเป็นตัวที่บอกว่า รายได้ทั้งหมดจริงๆเพิ่มขึ้นแค่ไหนค่ะ (เราดูแค่ค่าจ้างเฉยๆไม่ได้ เพราะบางทีค่าจ้างเพิ่ม แต่ดันโดนลดชั่วโมงการทำงาน ลด OT ลง สุดท้ายรายได้ลดลงก็มี อย่างเช่นเดือนก่อนหน้าเป็นต้นค่ะ)
ซึ่งถ้าดูจากเดือนล่าสุดพบว่า เส้นสีชมพูขยายตัว 0.5% โดยมาจากส่วนของค่าจ้าง (สีฟ้า) ถึง 0.4% และการจ้างงาน (สีขาว) 0.1% ส่วนอันที่หายไปคือ สีส้ม หรือชั่วโมงการทำงานค่ะ
นิคกี้ไปหาคำตอบมาให้เมื่อคืนว่าเกิดอะไรขึ้น ได้คำตอบมาว่า สาเหตุที่ค่าจ้างขึ้นเป็นเพราะ ในหลายๆรัฐเริ่มบังคับใช้ค่าแรงขึ้นต่ำอันใหม่นั่นเองค่ะ เลยทำให้ค่าจ้างเพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นแบบนี้ไปอีกซักพักจนกว่าจะขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำกันครบทุกรัฐค่ะ
นอกจากนี้เอง พอชั่วโมงการทำงานมันเท่าเดิม แค่การจ้างงานเพิ่มขึ้น สะท้อนอีกว่า นายจ้างไม่ได้อยากจ้างทำ OT (เพราะต้องจ่ายในเรทที่แพงกว่าชั่วโมงการทำงานปกติ) แต่เลือกที่จะจ้างคนเพิ่มแทนนั่นเองค่ะ
ดังนั้นถ้าถามว่าตัวเลขนี้สะท้อนว่าตลาดแรงงานแข็งแกร่งจริงๆ ไหมก็ต้องตอบว่าไม่เชิงค่ะ
5️⃣ อัตราการมีส่วนร่วมในภาคแรงงานลดลง (รูปที่ 6) สะท้อนว่ามีแรงงานตัดสินใจเลิกหางานทำค่ะ เหตุผลที่ต้องตามต่อคือเพราะอะไร? หางานทำไม่ได้? ทักษะไม่ตรง? หรืออย่างอื่น? อันนี้เป็นสิ่งที่เฟดต้องกังวลเพราะอยู่ดีคนก็ไม่มีงานทำเพิ่มขึ้นมาเฉยๆค่ะ และคนกลุ่มนี้จะไม่ได้หางานทำแล้วอีกด้วย
6️⃣ อัตราการว่างงานพุ่งแตะระดับ 4% สะท้อนว่าคนว่างงานเพิ่มขึ้น (รูปที่ 7)
ในรูปมี 2 เส้นค่ะ เส้นสีน้ำเงินคือ U-3 หรืออัตราการว่างงานที่เราเห็นกันเป็นประจำ ส่วนเส้นสีขาวคือ การจ้างงานชั่วคราวในภาคบริการค่ะ
⚠️ แกนซ้ายของกราฟในรูปนี้สำหรับเส้นสีขาวกลับด้านนะคะ ถ้าเส้นเป็นขาขึ้น แปลว่าตัวเลขต่ำลงค่ะ
ที่น่าสนใจคือ เส้นสีขาวค่ะ เส้นสีขาวจะเป็น leading indicator ของเส้นสีน้ำเงินค่ะ หรือพูดง่ายๆคือ ถ้าการจ้างงานชั่วคราวในภาคบริการเริ่มลดลงเมื่อไหร่ อีกซักพักอัตราการว่างงานจะพุ่งขึ้นค่ะ
ซึ่งจากรูปเราจะเห็นแล้วว่า เส้นสีขาวพุ่งไปรอแล้ว (การจ้างงานลดลง เพราะแกนกลับด้าน) ดังนั้นมีโอกาสสูงที่เราจะได้เห็นอัตราการว่างงานพุ่งขึ้นเร็วๆนี้
7️⃣ ทำไมถึงสำคัญ ให้ดู (รูปที่ 8)
รูปนี้คือ Sahm Rule ที่เอาไว้พยากรณ์ recession ได้อย่างแม่นยำค่ะ วิธีคำนวณขออนุญาติไม่เล่านะคะ ไม่งั้นยาวแน่ๆ แต่เอาแบบสั้นๆคือ ถ้าอัตราการว่างงานพุ่งจากระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี เร็วเกินไป เศรษฐกิจจะเกิด recession ค่ะ
ซึ่งอย่างที่เล่าไปในข้อที่แล้ว อัตราการว่างงานพุ่งเตะเลข 4% แล้วนั้นเองค่ะ ที่สำคัญคือ ถ้าตัวเลขยังอยู่ที่ 4% หรือมากกว่าไปอีกแค่ 2 เดือน เราจะเข้าสู่กฏข้อนี้เลยค่ะ หรือพูดง่ายๆคือ จะเกิด recession นั่นเองค่ะ (จากสถิติโมเดลนี้แม่นยำ 100% ค่ะ แม่นกว่า inverted yield curve)
8️⃣ อีกตัวเลขที่ประกาศพร้อมกันแต่คนไม่พูดถึงคือ Hosehold Employment ที่หดตัวถึง -408,000 ตำแหน่ง สวนทางกับ Nonfarm ค่ะ (รูปที่ 9)(เส้นสีขาว)
📌 สำหรับใครที่ไม่ทราบ Household Employment จะเป็นการไปถามตามบ้านว่า แต่ละคนมีงานทำหรือไม่ เพิ่มขึ้นมากี่คน ส่วน Nonfarm จะไปถามนายจ้างว่า จ้างงานเพิ่มขึ้นกี่ตำแหน่ง ดังนั้น Household Employment จะเป็นตัวที่บอกจำนวนคนที่ทำงานได้แม่นยำกว่าค่ะ และเป็นตัวที่เอาไปคำนวณใน อัตราการว่างงานค่ะ
ส่วน Nonfarm จะมีปัญหาการนับซ้อนหรือ double count เยอะ เพราะ ถ้านาย A ไปทำ Part-time อยู่ 2 แห่ง เวลาไปถามนายจ้าง นายจ้างแต่ละที่จะตอบว่าจ้างเพิ่ม 1 ตำแหน่ง พอไปรวมในผลลัพธ์ จาก 1 จะกลายเป็น 2 คนค่ะ
คำถามคือ เราควรเชื่อตัวไหนมากกว่ากัน คำตอบคือ Nonfarm น่าจะบอกตัวเลขสูงเว่อร์เกินไปนั่นเองค่ะ เพราะปัญหา double count นี่แหละ ซึ่งเมื่อเราไปดูใน (รูปที่ 10) เราจะพบว่าตอนนี้ จำนวนคนสหรัฐฯที่ทำงานมากกว่า 1 แห่ง สูงสุดในรอบ 30 ปีเลยทีเดียวค่ะ สะท้อนว่าตัวเลข Nonfarm มีปัญหา double count กระจุยกระจายเลยค่ะ
9️⃣ ตัวเลข Nonfarm มีปัญหาในการจัดทำมาตั้งแต่ปีที่แล้วค่ะ (ดูในรูปที่ 11)
รูปนี้มีทั้งหมด 2 เส้น โดย concept จะคล้ายๆกัน คือ เป็นอัตราการเกิดและตายของธุรกิจค่ะ มีไว้เพื่อเอามา revise ตัวเลข Nonfarm ทีหลังค่ะ
สีส้ม ขอเรียกสั้นๆว่า bls
ส่วนสีขาว ขอเรียกว่า QCEW
ปัญหาคือ bls เป็นตัวเลขที่ประกาศได้เร็วหลังจาก nonfarm แต่ละเดือนออกมาค่ะ แล้วก็จะเอา bls เนี่ยแหละมา revise ตัวเลข nonfarm ของเดือนก่อนๆ
ส่วน QCEW จะออกมาค่อนข้างช้ามาก ช้ากว่าครึ่งค่อนปีค่ะ และจะเอามา revise ตัวเลข nonfarm ย้อนหลังทีเดียวตอนขึ้นปีใหม่
ปัญหาหลักมันอยู่ที่ถ้าเป็นภาวะปกติ bls กับ QCEW มันจะไปด้วยกันค่ะ ดังนั้นการเอา revise ข้อมูลจะไม่ค่อยต่างกันเยอะ แต่ปรากฏว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา ข้อมูล QCEQ ของไตรมาสที่ 4/23 เพิ่งประกาศออกมา แต่ดันทิ้งดิ่งลงมาเลยนั่นเองค่ะ
แล้วประเด็นสำคัญคือ QCEW มันเป็นตัวเลขที่เชื่อถือได้สุดๆนั่นเอง เพราะครอบคลุมตำแหน่งงานถึง 95% ของทั้งสหรัฐฯ (มันเลยประกาศช้า เพราะเก็บข้อมูลแบบละเอียดยิบ)
ดังนั้นจริงๆแล้ว ตัวเลข Nonfarm ที่เราเห็นในตอนนี้จะอยู่สูงกว่าความเป็นจริงนั่นเองค่ะ เพราะเดี๋ยวพอขึ้นปีใหม่ ตัวเลขเก่าทั้งปีจะถูก revise อีกครั้งโดย QCEW นั่นเองค่ะ
ซึ่ง Bloomberg คาดไว้ว่าตัวเลข Nonfarm ของปีที่แล้วจะถูก revise down กว่า 7 แสนตำแหน่ง และปีนี้อีกว่า 1 ล้านตำแหน่ง หรือพูดง่ายๆคือ เราอาจจะต้องหักออกคร่าวๆเดือนละ 1 แสนตำแหน่งนั่นเองค่ะ
ดังนั้นตัวเลขจริงๆของเดือนนี้อาจจะอยู่แค่ 1.72 แสนตำแหน่งเท่านั้น ไม่ใช่ 2.72 แสนตำแหน่ง ซึ่งเราจะเห็นว่ามันจะออกมาต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 1.8 แสนตำแหน่ง ‼️
📌 ไปอ่านคำอธิบายเต็มได้ในลิงค์ด้านล่างค่ะ
🎯 ตลาดหุ้นสหรัฐฯเอาไงต่อดี
สรุปๆแล้ว ตัวเลข Nonfarm จะอยู่ต่ำกว่าที่เราเห็นพอสมควรค่ะ และตลาดแรงงานมีการชะลอตัวลงแล้วนั่นเองค่ะ แต่ยังเป็นสิ่งที่นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่รู้ค่ะ ดังนั้นเราจึงเห็น ตลาดตอบรับโดยการขายหุ้นและพันธบัตรออกมาเมื่อคืน และปรับลดคาดการณ์การลดดอกเบี้ยครั้งแรกของเฟดออกไปอีกค่ะ
อย่างไรก็ตาม ถ้าเราดูในภาพรวมๆแล้ว บวกกับ Nonfarm ที่น่าจะเชื่อถือได้น้อยลง เราจะพอบอกได้ว่าตลาดแรงงานชะลอตัวลงแล้ว และตลาดหุ้นกับเฟดอาจจะมองโลกในแง่ดีเกินไปนิด และอาจจะเจอเรื่อง shock ได้เมื่อเวลาผ่านไปค่ะ เพราะเรามีโอกาสที่อยู่ดีๆตัวเลขแรงงานจะอ่อนแรงอย่างกะทันหันค่ะ และสุดท้ายเฟดจะต้องกลับมารีบลดดอกเบี้ย ซึ่งส่วนตัวแล้วคิดว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยในเดือนกันยายนค่ะ เพราะตัวเลข QCEW ของ ไตรมาส 1/24 จะประกาศในเดือนสิงหาคมนี้ค่ะ
แต่ถ้าถามว่าจะแย่ถึงขนาดเกิด recession ไหม ก็ยังคิดว่าไม่ใช่ภาพนั้นในตอนนี้ค่ะ แต่ก็อยากให้ทุกคนระวังตัวกันไว้ด้วยเฉยๆค่ะ เผื่อผิดพลาด เราจะได้ปรับพอร์ตกันได้ทันค่ะ
ดังนั้นในตอนนี้ สิ่งที่นิคกี้มองไว้คือ ภาคแรงงานชะลอตัวลง เศรษฐกิจเติบโตน้อยลง แต่ไม่เกิด recession เงินเฟ้อค่อยๆลงอย่างช้าๆ และเฟดจะค่อยๆลดดอกเบี้ยลง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลดีต่อตลาดหุ้นค่ะ แนะนำ buy on dip ค่ะ 😊
โฆษณา