8 มิ.ย. 2024 เวลา 07:52 • ประวัติศาสตร์

กษัตริย์จอร์จที่ 4 สุภาพบุรุษคนแรกของอังกฤษที่มีทั้งคนชื่นชอบและรังเกียจ

ในหลายๆครั้งที่กษัตริย์หรือผู้ปกครองประเทศจะมีนิสัยหรือพฤติกรรมที่โดดเด่นจนคนทั่วไปสามารถจดจำได้ เช่นเดียวกับกษัตริย์จอร์จที่ 4 แห่งอังกฤษที่ได้ชื่อว่าเป็นสุภาพบุรุษคนแรกของอังกฤษ(หรือสภาพบุรุษคนแรกของยุโรป) แต่แทนที่เขาจะได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เขากลับเป็นหนึ่งในกษัตริย์ที่ชาวอังกฤษรังเกียจ เพราะนิสัยอีกด้านของเขาที่เต็มไปด้วยเรื่องอื้อฉาว
เขาถูกยกย่องว่าเป็นสุภาพบุรุษเพราะบุคคลิกของเขาที่เป็นคนฉลาดรอบรู้ แต่งตัวดี มีอารมณ์ขันและรู้จักมารยาทในการเข้าสังคม ในขณะเดียวกัน เขากลับมีชื่อเสียงด้านลบตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น จากความดื่มเก่ง ชอบสังสรรค์ปาร์ตี้ เกียจคร้านไม่สนใจกิจการของบ้านเมือง สนใจแต่เรื่องผู้หญิงและสร้างหนี้สินมากมาย ซึ่งมาจากการสร้างบ้านคาร์ลตัน บ้านหลังแรกของเขาในปี1783 หรือเมื่อเขาอายุ 21 ปี ซึ่งเขาใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือยในการปรับปรุงบ้าน ซื้อเฟอร์นิเจอร์และงานศิลปะหรูหราราคาแพง
เรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับผู้หญิงครั้งใหญ่ของจอร์จเกิดขึ้นช่วงต้นปี 1784 เขาตกหลุมรักสตรีท่านหนึ่ง นามว่ามาเรีย ฟิตเซอร์เบิร์ต ซึ่งมีอายุมากกว่าเขา 6 ปี เป็นม่ายมาแล้ว 2 ครั้งและนับถือนิกายคาทอลิก ซึ่งกฎหมายของอังกฤษระบุอย่างชัดเจนว่า รัชทายาทสามารถแต่งงานได้เฉพาะกับผู้ที่นับถือโปรเตสแตนต์เท่านั้น ฉะนั้น การแต่งงานของเจ้าชายจอร์จกับนางมาเรียจึงไม่มีทางเป็นไปได้เลย
อย่างไรก็ตาม ทั้งสองคนได้แต่งงานกันอย่างลับๆในเดือนธันวาคม ปี1785 แต่ข่าวลือเรื่องการแต่งงานกลับแพร่สะพัดไปทั่วและแน่นอนว่า กษัตริย์จอร์จที่ 3 บิดาของเขาไม่พอใจในเหตุการณ์นี้เป็นอย่างมาก
การ์ตูนล้อเลียนเจ้าชายจอร์จ ตีพิมพ์ในปี 1792 โดย James Gilray
เจ้าชายจอร์จยังใช้ชีวิตอย่างเสเพล ใช้เงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย ทั้งกินทั้งดื่มจนกลายเป็นคนอ้วนและไม่แข็งแรง แถมยังมีเมียน้อยอีกหลายคนรวมถึงลูกนอกสมรส ซึ่งภาพลักษณ์ยิ่งดูแย่ลงไปอีกเมื่อเทียบกับบิดาของเขาที่เป็นคนสมถะและถ่อมตัว แต่อีกด้านหนึ่งเขายังคงเป็นสุภาพบุรุษที่มีรสนิยมยอดเยี่ยมและพิถีพิถันในการแต่งกายให้ดูดีอยู่เสมอแม้จะมีน้ำหนักถึง 108 กก. แถมยังมีความเชี่ยวชาญในการเข้าสังคมและวางตัวดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันความเป็นสุภาพบุรุษของเขาไว้ได้ดี
จอร์จได้รับข้อเสนอให้แต่งงานกับเจ้าหญิงแคโรไลน์แห่งบรันสวิก ซึ่งเขาตระหนักดีว่าการแต่งงานอย่างถูกกฎหมายจะเป็นผลดีกับตัวเองในอนาคต ในที่สุดเขาตกลงแต่งงานกับเจ้าหญิงแคโรไลน์ ในวันที่ 8 เมษายน 1795 แต่ชีวิตคู่กลับมีแต่ปัญหาเพราะนิสัยที่ต่างกันมาก จอร์จเป็นคนรสนิยมดีและมีมารยาท ในขณะที่แคโรไลน์พูดจาหยาบคายและไม่สนใจทั้งเรื่องมารยาทหรือแฟชั่น ในปีต่อมา แคโรไลน์ให้กำเนิดลูกสาว1คน คือเจ้าหญิงชาร์ล็อตต์ และทั้งคู่ก็แยกกันอยู่โดยที่ไม่ได้หย่ากันตามกฎหมาย
งานแต่งงานของเจ้าชายจอร์จและเจ้าหญิงแคโรไลน์ ในเดือนเมษายน ค.ศ.1795
ในขณะเดียวกัน กษัตริย์จอร์จที่3 ผู้เป็นบิดาเริ่มมีอาการป่วยวิกลจริตตั้งแต่ปลายทศ.1790 จนไม่สามารถปฏิบัติงานได้ รัฐสภาจึงแต่งตั้งเจ้าชายจอร์จเป็นผู้สำเร็จราชการตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 1811 แต่ทว่า จอร์จมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศน้อยกว่าพ่อของเขาเสียอีก เขาปล่อยให้รัฐสภาดูแลเรื่องการเมืองอย่างเต็มที่ ซึ่งกลายเป็นเรื่องดีเพราะจะนำไปสู่หลักการปกครองสมัยใหม่ ที่สมาชิกสภาเป็นผู้บริหารประเทศโดยตรงโดยไม่มีการแทรกแซงจากกษัตริย์
อย่างไรก็ตาม จอร์จกลับมีอิทธิพลอย่างมากในแง่ของศิลปวัฒนธรรม เขามีความสนใจและชื่นชอบในศิลปะหลายๆด้านและพร้อมสนับสนุนทั้งในด้านสถาปัตยกรรม ดนตรี วรรณกรรม รวมทั้งวิทยาศาสตร์อย่างเเข็งขัน โดยปรารถนาให้อังกฤษเป็นผู้นำในเรื่องศิลปะและสไตล์อย่างเช่นฝรั่งเศส
แนวทางศิลปะในยุคของจอร์จเรียกว่า“Regency Style” หรือสไตล์รีเจนซี่ ซึ่งมาจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการของเขานั่นเอง สไตล์รีเจนซี่เป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะแนวนีโอคลาสสิก กอธิก มีกลิ่นอายความเป็นเอเชียอย่างจีนและอินเดีย ที่มีความสง่างามและทันสมัย ซึ่งใช้ได้กับทั้งสถาปัตยกรรม การตกแต่งภายใน เฟอร์นิเจอร์หรือแม้แต่เครื่องแต่งกาย สิ่งก่อสร้างสไตล์รีเจนซี่ถูกสร้างขึ้นในหลายๆแห่งเพื่อรองรับประชากรที่เพิ่มมากขึ้นอย่างเช่น regent’s park และ regent street ในกรุงลอนดอน
ถนนรีเจ้นท์ในปัจจุบัน 1ในถนนช็อปปิ้งยอดนิยมมากที่สุดในลอนดอน
นอกจากนี้ เขายังเป็นผู้นำในด้านของแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ จอร์จปรับปรุงบ้านพักริมทะเลของเขาในเมืองไบรตันให้กลายเป็นสถานที่ซึ่งมีความโดดเด่นแปลกตาที่สร้างสีสันให้แก่เมือง “Royal Pavilion” ที่ผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมสไตล์อินเดีย จีนและมัวร์ ทําให้ไบรตันกลายเป็นเมืองตากอากาศที่คึกคัก ซึ่งส่งผลให้ผู้คนนิยมพักผ่อนตามอย่างเขาและกําเนิดรีสอร์ทริมทะเลใหม่ๆขึ้นอีกหลายแห่ง
Royal Pavilion ที่เมืองไบรตัน
แม้จอร์จจะมีส่วนช่วยให้เกิดความรุ่งเรืองของศิลปวัฒนธรรม แต่ก็มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ไม่พอใจในตัวเขา เพราะเขาเอาแต่ผลาญเงินไปกับการก่อสร้างต่างๆเพื่อสนองความต้องการอันไม่รู้จักพอ รวมไปถึงงานเลี้ยงหรูหราสิ้นเปลือง ในขณะที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและชีวิตอันยากลําบากของแรงงานในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมกลับไม่ได้รับการเหลียวแลจากเขาแม้แต่น้อย
จอร์จดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการอยู่เกือบ 10 ปี จนกระทั่งบิดาของเขาสวรรคตในวันที่ 29 มกราคม 1820 เขาก้าวขึ้นเป็นกษัตริย์อย่างเป็นทางการในวัย 57 ปี แต่กลับอ่อนแอเกินอายุและเริ่มใช้ฝิ่นในการรักษาอาการป่วย เขาวางแผนจัดงานพิธีราชาภิเษกอย่างยิ่งใหญ่และหวังว่าจะช่วยให้เขาได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ซึ่งบประมาณในการจัดงานพิธีสูงถึง 243,000 ปอนด์หรือประมาณ 22 ล้านปอนด์ในปัจจุบัน แต่ก็ถือว่าคุ้มค่าเพราะพิธีราชาภิเษกในเดือนกรกฎาคมปี 1821 กลายเป็นงานยอดนิยมแห่งปี
พิธีราชาภิเษกของกษัตริย์จอร์จที่ 4 ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1821
จอร์จยังคงมีผลงานการสนับสนุนศิลปะอย่างต่อเนื่อง ทั้งการสร้างพระราชวังบักกิงแฮมขึ้นใหม่ทั้งหมด ปรับปรุงพระราชวังวินด์เซอร์ ก่อตั้ง Royal Society of Literature(RSL)ในปี 1820 บูรณะ Royal collection of Pictures บริจาคหนังสือของกษัตริย์จอร์จที่ 3 ให้กับพิพิธภัณฑ์แห่งชาติอังกฤษ นอกจากนี้เขายังเป็นผู้อุปถัมภ์ศิลปิน นักดนตรีและนักวิทยาศาสตร์อีกหลายคน ซึ่งถือเป็นกษัตริย์ที่มีส่วนสำคัญที่ช่วยพัฒนาให้ศิลปะหลายๆแขนงมีความรุ่งเรืองมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์อังกฤษ
ด้านนอกของปราสาทวินด์เซอร์ที่ปรับปรุงในสไตล์กอธิก
ในบั้นปลายชีวิต จอร์จต้องทนทรมานกับโรคภัยต่างๆ ทั้งเกาต์ ภาวะหลอดเลือดแข็งตัว ช่วงหลังๆเขามีอาการต้อกระจกจนตาเกือบบอด และต้องใช้ฝิ่นจำนวนมากเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด แต่เขาก็ยังโปรดปรานอาหารที่หรูหรา โดยสั่งให้เมื่อเช้าเป็นสเต็กเนื้อ เสิร์ฟพร้อมกับบรั่นดีและแชมเปญ แม้ร่างกายจะไม่สู้ดีแล้วก็ตาม
ในที่สุดจอร์จสวรรคตในวันที่ 26 มิถุนายน ปี 1830 โดยมีสาเหตุหลักมาจากภาวะหลอดเลือดในท้องแตกและยังพบเนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะและหัวใจโต ทั้งนี้ทายาทที่ถูกกฎหมายเพียงคนเดียวของเขาคือเจ้าหญิงชาร์ล็อตต์ สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ปี 1817 ดังนั้น บัลลังก์จึงถูกส่งต่อให้กับน้องชายของเขาเจ้าชายวิลเลียม
เรื่องราวของกษัตริย์จอร์จที่ 4 มักถูกเล่าออกเป็น 2แง่มุมเช่นนี้เสมอ และไม่ว่าผู้คนจะตัดสินว่าเขาคือสุภาพบุรุษผู้มีรสนิยมดีที่สนับสนุนศิลปะ หรือคนฟุ้มเฟ้อ เห็นแก่ตัวไม่สนใจบ้านเมือง ก็ต้องยอมรับในผลงานที่ช่วยส่งเสริมและยกระดับศิลปะของอังกฤษให้ก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก อิทธิพลของสไตล์รีเจนซี่ยังคงอยู่จนถึงปี 1837 สถานที่หลายๆแห่งที่สร้างในยุคนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสําคัญที่ทําเงินให้ประเทศ แม้แต่การละเลยกิจการรัฐก็ยังมีผลดี เพราะทําให้ระบอบรัฐสภามีความเข้มแข็งยากที่กษัตริย์คนใดจะแทรกแซงได้
ข้อมูลอ้างอิง
โฆษณา