8 มิ.ย. เวลา 08:02 • หนังสือ

📚 Slow Productivity วิถีการทำงานแนวใหม่ที่ช่วยให้เราสำเร็จได้แบบไม่ burn out 🔥

Slow Productivity
The Lost Art of Accomplishment without Burnout
 
โดย Cal Newport
👉🏻 ในโลกปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แน่นอนว่าการมี “productivity” เป็นเรื่องที่ค่อนข้างสำคัญทีเดียว ซึ่งในช่วงหนึ่งทุกคนจะให้ความสนใจกับวิธีการที่ทำอย่างไรให้เรามี productivity สูงสุด มีหนังสือมากมายออกมาพูดเรื่องของ “productivity hacks” หรือ how-to ทำอย่างไรให้ productive สุด ๆ ครับ
แต่ในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมาที่เราเจอวิกฤตการณ์โรคระบาดอย่างโควิด 19 ที่ทำให้สังคมเกิดการทำงานรูปแบบใหม่ขึ้นซึ่งก็คือ การ work from home หรือ ทำงานจากบ้าน หรือ จะจากที่ไหนก็ตามที่ไม่จำเป็นต้องเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศตลอดเวลาอีกต่อไป
 
การทำงานที่บ้าน หรือ “work from home” นี่แหละครับเป็นตัวจุดชนวนให้คนเราเริ่มจะแยกระหว่างเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวไม่ออก
การมีเทคโนโลยีที่ทำให้เราสามารถทำงานได้ตลอดเวลา หรือติดต่อคุยงานได้ตลอดเวลาโดยไร้ข้อจำกัดนั้นดูจะเป็นข้อดี แต่ในทางกลับกันกลับทำให้มนุษย์เรารู้สึกว่าต้องทำงานตลอดและไม่มีเวลาได้พัก เหนื่อยล้าหรือเกิดอาการที่เรียกว่า “burn out” หรือหมดไฟนั่นเองครับ 🔥
ในผลการสำรวจมนุษย์ออฟฟิศในช่วงหลังพบได้ว่า อาการ burnout เป็นปัญหาที่เริ่มลุกลามมากขึ้นเรื่อย ๆ และเริ่มกลายเป็นปัญหาสำคัญครับ 💡
ในช่วงหลัง ๆ เราเลยได้เห็นแนวความคิดใหม่เกิดขึ้นมาเกี่ยวกับการทำงานให้น้อยลงแต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น การจัดลำดับความสำคัญของงานและเวลาที่มีอย่างจำกัด การเลือกทำงานที่สำคัญและมีผลกระทบกว้างกว่าแทนที่จะทำทุกอย่างในเวลาเดียวกัน
หนังสือเล่มดังเล่มหนึ่งเลยที่นำแนวคิดนี้ขยายเป็นวงกว้างก็คือหนังสือ “Four Thousands Week” ที่เขียนโดยคุณ Oliver Burkeman ที่ทางเพจสิงห์นักอ่านเราเคยรีวิวไปแล้วครับ 😃
“Slow Productivity” ที่เขียนโดย Cal Newport ก็เป็นอีกเล่มหนึ่งที่ออกมาสนับสนุนแนวคิดนี้เช่นกัน
 
โดยผู้เขียนได้เสนอแนวทางการทำงานแบบใหม่ที่ไม่ยึดติดกับคำว่า “Productivity” แบบเดิม ๆ ที่เราเข้าใจกันว่า เราต้องทำงานให้ได้เร็วและมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
Cal Newport ได้บอกไว้ว่า คนทำงานในปัจจุบันโดยเฉพาะมนุษย์ออฟฟิศ นั้น เรียกว่าเป็น “Knowledge worker” เป็นการทำงานที่เราใช้ความรู้ ใช้สมองทำงานเป็นหลัก ไม่เหมือนกับการทำงานในยุคก่อนที่เป็นยุคของเกษตรกรรม หรือ อุตสาหกรรม ที่เน้นผลผลิตให้ได้ออกมามากที่สุด
……………................................................
 
“What does Productivity mean?”
 
คำว่า “productivity” ที่จริงแล้วเกิดมาจากยุคของเกษตรกรรมต่อเนื่องด้วยอุตสาหกรรมที่มนุษย์เราต้องการสร้างผลผลิตให้ได้มากที่สุด
3
แต่กับงานในยุคปัจจุบันนั้นดูเหมือนว่า คำว่า productivity แบบที่เราเคยเข้าใจมานั้นจะใช้ไม่ได้ เพราะงานในปัจจุบันนั้นมีลักษณะต่างจากยุคก่อนมาก งานที่ต้องใช้ความคิด ใช้การตัดสินใจ การจัดการ ซึ่งแต่ละองค์กรอาจจะมีการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยวางรูปแบบ วิธีการทำงานให้เกิดความถูกต้อง รวดเร็วในรูปแบบเดียวกัน
แต่อย่างไรก็ตาม มนุษย์แต่ละคนก็ยังเป็นคนที่ต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง งานแต่ละอย่างไม่ได้มีรูปแบบลักษณะงานในยุคเกษตรกรรมหรืออุตสาหกรรมการผลิตที่เกิดการทำซ้ำ ๆ อีกต่อไป
1
Peter Drucker ปรมาจารย์ด้านการจัดการ ผู้เขียนหนังสืออย่าง “Effective Executive” ตั้งแต่ปี 1967 นั้นได้กล่าวไว้ว่า “The knowledge worker cannot be supervised closely or in details” “He can only be helped, but he must direct himself.”
1
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แนวความคิด productivity แบบดั้งเดิมมีอิทธิพลต่อยุคปัจจุบันค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดเวลาทำงานแบบ 8 ชั่วโมงต่อวัน หรือ 5 วันต่อสัปดาห์
 
การที่ต้องทำตัวให้ดูยุ่งเวลาอยู่ที่ออฟฟิศให้หัวหน้าเห็นว่าเราทำงานเยอะ การที่ต้องตอบกลับอีเมล์อย่างรวดเร็ว เพราะหากตอบช้าก็ดูเหมือนเราจะทำงานไม่มีประสิทธิภาพ
📍 Cal Newport เรียกความเชื่อเหล่านี้ว่ามันคือ “Pseudo-Productivity” ครับ ซึ่งก็คือการที่เราใช้แค่กิจกรรมที่เรามองเห็นได้นั้นวัดความมี productivity ของแต่ละคน ซึ่งในการทำงานแบบยุคปัจจุบันนั้นเค้ามองว่าไม่น่าจะถูกต้อง
……………................................................
 
“A Slower Alternative”
Cal Newport จึงได้เสนอแนวคิดการทำงานในรูปแบบใหม่ที่ตัวเขาอยากจะผลักดันให้มันเป็นมาตรฐานการทำงานแบบใหม่ในปัจจุบัน โดยแนวคิดที่ว่า ให้เราทำอะไรให้ช้าลง ใช้เวลากับงานที่ทำอย่างเต็มที่ ทำงานให้เหมือนกับที่เราเป็นมนุษย์จริง ๆ ที่มีสมดุลในด้านต่าง ๆ ของการใช้ชีวิต ไม่เพียงทำแต่งาน ซึ่งจะยั่งยืนและอยู่ได้นานกว่า
ผู้เขียนจึงเสนอไอเดีย ที่เค้าเรียกว่า “Slow Productivity” ที่ประกอบไปด้วยหลักการสามข้อดังนี้ครับ
🔵 Do fewer things ทำไม่ต้องเยอะ แต่เลือกสิ่งที่สำคัญ ให้เราพอมีเวลาเหลือทำอย่างอื่นบ้าง
 
🟢 Work at a natural pace ทำงานแบบไม่เร่งรีบมากจนเกินไป
 
🟡 Obsess over quality ให้ความสำคัญกับคุณภาพของงาน
1
……………................................................
 
“หลักการของการทำน้อย ๆ (Do Fewer Things)”
 
👉🏻 ในการทำงานในรูปแบบ knowledge work นั้น Cal บอกว่าไม่ว่าเราจะทำงานชิ้นใหญ่หรือชิ้นเล็กก็ตาม เราจะมีเวลาส่วนหนึ่งที่เราต้องใช้จัดการ ประสานงานในเรื่องงานนั้น ๆ ที่เค้าเรียกว่า “Administrative overhead” ซึ่งผู้เขียนเรียกสิ่งนี้ว่า “Overhead tax”
1
ยิ่งเรารับงานจำนวนเพิ่มมากขึ้น แน่นอนว่า overhead tax จะเพิ่มขึ้นสูงตามเช่นกัน 📈
ยิ่งในปัจจุบันที่การทำงานมีการปรับรูปแบบการทำงานแบบ work from home หรือ remote work เพิ่มมากขึ้น คนที่ทำงานด้วยกันไม่เจอกัน overhead tax ส่วนนี้ก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นตามครับ เพราะเราต้องใช้เวลามากขึ้นในการพูดคุย ประสานงาน
💡 ยกตัวอย่าง หากเรานั่งทำงานอยู่ด้วยกัน เวลาเรามีคำถาม เราก็แค่ลุกขึ้นถาม หรือเดินไปถาม บางคนอาจจะตระโกนถาม เพียงแปปเดียวเราก็ได้คำตอบแล้ว แต่เมื่อทำงานคนละที่ เราจำเป็นต้องส่งข้อความหา อีเมล์หา หรือโทรหาเลยหากเราต้องการด่วน ซึ่งเราก็ไม่อาจทรายได้ว่าอีกฝั่งจะตอบเราหรือรับสายเราหรือไม่ ทำให้การที่เราจะตัดสินใจอะไรก็จะช้าลง
1
การที่เราเลือกทำจำนวนงานที่น้อยลง (หากเราเลือกได้) นอกจากจะช่วยให้เรามีเวลาเหลือมากขึ้น มันจะช่วยให้งานของเราน่าจะมีคุณภาพที่ดีขึ้นด้วยครับ
ในยุคสมัยก่อน ๆ การทำงานแบบ multi-tasking หลาย ๆ อย่างพร้อมกันอาจดูเป็นคนมีประสิทธิภาพ แต่จากผลการวิจัยหลาย ๆ อย่างในปัจจุบันนั้นแสดงให้เห็นว่าการที่เราทำงานให้เสร็จทีละอย่างนั้น ทำให้เราทำงานนั้น ๆ ได้ดีกว่าและมีคุณภาพมากกว่าครับ
1
หากเราลองสังเกตตัวเราเองดู เราจะเห็นได้ว่าระหว่างงานไหนที่ให้เวลาเราทำอย่างเต็ม กับงานที่ด่วนจำเป็นต้องรีบทำส่งนั้น งานที่เราได้ใช้เวลาเต็มที่มักจะออกมาดีกว่า
อย่างไรก็ตาม มันก็มีปัญหาอยู่ว่าในวิธีการทำงานแบบปัจจุบันนั้น การที่เราจะขอทำงานน้อยลง หรือไม่รับงานเพิ่มนั้น ดูจะทำให้เราดูเป็นคนขี้เกียจ หรือไม่ขยันในสายตาคนอื่นเลยครับ แล้วเราจะทำอย่างไรกันดี?
Cal เลยได้ให้เทคนิคในการทำงานไว้ดังนี้ครับ
• ให้จำกัดเป้าหมาย โครงการ หรือสิ่งที่เราจะทำในแต่ละวัน โดยเฉพาะเวลาที่เราจะรับงานหรือโครงการใหม่ ๆ มาทำ ให้เราสำรวจตัวเราเองก่อนว่าเรามีเวลาที่จะทำงานนั้น ๆ หรือไม่ โดยดูตารางงานและทำ time block หรือล็อคเวลาสำหรับทำงานนั้น ๆ ไว้เลย หากเราไม่สามารถหาเวลาที่จะลงได้ ก็แสดงว่าเราไม่ควรที่จะตกลงรับงานชิ้นนั้น ๆ ครับ
4
• ให้เราพยายามใช้ efforts ให้น้อยที่สุดสำหรับพวกงานเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยเราสามารถทำได้หลายวิธี เช่น รวบรวมงานเล็ก ๆ น้อย ๆ หรืองานที่เป็นพวกงานแอดมินมาทำรวมกัน เพื่อเป็นการลด overhead tax ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น หรือทำการตั้งเวลา time block ที่ทำงานงานเหล่านี้ไว้ให้เป็น routine เป็นประจำเวลาเดิมทุกวัน ทำให้เราคุ้นชินและใช้เวลาน้อยลง
2
• หลีกเลี่ยงงานลักษณะที่จะสร้างงานเพิ่มขึ้นไปจากงานนั้น ๆ (Task Engines) หากไม่จำเป็น ทำให้ง่ายเข้าไว้ เช่น งานที่ต้องจัด workshop หรือ conference ที่เราต้องมีการเตรียมงานต่าง ๆ มากมาย
• ลิสต์งานทั้งหมดที่เราได้รับมา ไว้เป็นแบบ “public task list” ให้คนอื่นได้เห็นว่าเรามีงานมากน้อยขนาดไหนอยู่ขณะนี้ เมื่อไหร่ก็ตามที่ใครจะให้งานคุณเพิ่ม ก็อาจจะให้เขาเอาข้อมูลไปวางไว้ที่ task list ตรงนั้น การที่เราให้เค้าเขียนและเตรียมข้อมูลอย่างเป็นทางการให้สมบูรณ์ก่อนนั้นนอกจากจะช่วยให้เราได้ข้อมูลที่ครบและทำงานนั้นเสร็จได้เร็ว ก็อาจจะทำให้เขาร้สึกว่าต้องใช้เวลาเตรียมข้อมูลเยอะและอาจจะเปลี่ยนใจไม่ให้งานนั้นคุณทำเพิ่มก็เป็นไปได้ครับ (อันนี้เจ๋งดี)
• นอกจากนี้ยังมีอีกวิธีที่ลดงานได้ก็คือการจ้างคนอื่นทำนั่นเองครับ เช่น พวกงานทำบัญชีในบริษัท การออกแบบเว็บไซต์ ที่เราเองอาจจะไม่ได้เชี่ยวชาญ ก็จ้างมืออาชีพมาทำก็จะประหยัดเวลาเราได้ครับ
• การใช้ Pull strategy แทนที่ Push strategy
👉🏻 หลักการของ Pull strategy คือ การดึงงานใหม่มาทำก็ต่อเมื่อเราพร้อมเท่านั้นครับ ต่างกับ Push Strategy ที่ได้แนวคิดมาจากการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมสมัยก่อนที่แต่ละคนทำงานเสร็จก็ส่งต่อไปเรื่อย ๆ ยัง station ถัดไป ซึ่งก็อาจจะเกิดปัญหางานไปค้างเป็นคอขวดอยู่ที่กระบวนการใดกระบวนการหนึ่งได้ครับ
 
การนำหลักการของ pull-based assignment มาใช้จะช่วยให้แต่ละคนนั้นรับงานใหม่เพิ่มได้ก็ต่อเมื่อเขามีเวลาว่างเหลือที่จะทำนั่นเองครับ
วิธีการง่าย ๆ ที่เขาแนะนำในการจัดการคือ เราลองทำ list ของงานขึ้นมาสองส่วนคือ “holding tank” กับ “active list” โดย active list ของแต่ละคนนั้นจะถูกจำกัดไว้เสมอและเมื่อไหร่ที่ทำงานเสร็จ active list ลดลง ก็ดึงงานจาก holding tank เข้ามาเพิ่มได้
• นอกจากนี้วิธีการรับงานใหม่เข้ามาเพิ่ม หรือ intake procedure นั้น เราก็ควรจะมีครับ โดย
✅ ขอข้อมูลที่ต้องใช้ในการทำงานนั้น ๆ ให้ครบ
 
✅ ดูจำนวนงานทั้งหมดที่มีใน active list ของเรา
 
✅ ประเมินเวลาที่เราจะสามารถทำงานนั้น ๆ เสร็จและบอกคนที่ให้งานมา หากทำงานไปแล้วเราพบว่างานมีแนวโน้มจะล่าช้าก็จำเป็นต้องแจ้งเจ้าของงานเช่นกันครับ เพื่อสร้างความเชื่อใจและความโปร่งใสครับ
……………..
 
“หลักการของการทำงานแบบไม่เร่งรีบจนเกินไป (Work at A Natural Pace)”
หลักการข้อที่สองก็คือการทำงานแบบที่ไม่ต้องเร่งรีบจนเกินไปและใช้เวลากับงานแต่ละชิ้นให้เต็มที่และเหมาะสม
• เราจำเป็นต้องมีแผนระยะยาวสำหรับตัวเราที่ชัดเจน อย่างเช่น แผนระยะยาว 5 ปี ทำให้เรามองภาพระยะยาวมากกว่าระยะสั้น
• การวางแผนงานอะไรซักอย่างให้เราเผื่อเวลาไว้ซักหน่อย เพราะคนเรามักจะประเมินแผนงานไว้เข้าข้างตนเอง หรือ underestimate เป็นประจำ หนังสือถึงกับบอกว่าให้เรา double your timelines เลยนะครับ (อันนี้ไม่แน่ใจว่าเยอะไปมั้ย และส่วนตัวมองว่า อาจจะทำจริงได้ค่อนข้างยาก 555)
• อีกข้อหนึ่งคือให้เราพยายาม balance งานในแต่วันให้ไม่เยอะจนเกินไป เพราะอย่างแรกงานที่เราระบุไว้ว่าทำเพียง 1 ชั่วโมง อาจใช้เวลาทำจริงถึงสองชั่วโมง หากเราจัดตารางนี่แน่นจนเกินไปโดยไม่มีช่องว่างเลย ก็ทำให้เรารู้สึกว่าแน่นเกินไปได้ครับ
อีกเรื่องคือ ตารางการประชุมก็เช่นกันหากเป็นไปได้ พยายามหลีกเลี่ยงการประชุมทั้งวัน แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เราต้องเข้าประชุมเต็มทั้งวัน ให้เราพยายาม balance โดยให้วันอื่นเป็นวันที่เราใช้เวลาทำงานของเราเองครับ (งดประชุม)
1
• ในระยะยาวผู้เขียนแนะนำให้เราลองใช้การจัดแผนงานแบบ seasonal คือ ให้เราจัดแผนงานให้มีช่วงหนักเบาสลับกันไปเป็นช่วง ๆ ครับ เราจะได้ไม่รู้สึกว่า burn out จนเกินไป
• อีกข้อที่น่าทดลองดูก็คือ เขาลองให้เราหาสถานที่หรือจัดสถานที่ให้เหมาะกับงานที่เราจะทำ บางทีการนั่งทำงานที่บ้าน ก็ดูจะไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเพราะมีสิ่งรบกวนเรามากมาย ลองเปลี่ยนไปหาสถานที่สงบ ๆ ที่ให้เราใช้เวลากับการทำงานได้เต็มที่และสบายใจดูครับ
……………................................................
 
“เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ (Obsess over quality)”
 
การทำงานที่มุ่งเน้นการผลิตงานที่มีคุณภาพนั้นอาจจะจำเป็นต้องใช้เวลาที่มากขึ้น ทำให้ในระยะสั้นนั้นเราอาจสูญเสียโอกาสรับงานเพิ่มหรือทำเยอะขึ้น แต่ในระยะยาวนั้นงานที่มีคุณภาพจะช่วยสร้างคุณค่าให้กับเรามากกว่า (รายได้ที่มากกว่าด้วย) พร้อมทั้งให้อิสระกับเรามากกว่าอีกด้วยครับ ตัวอย่างวิธีการทำงานที่ให้เราเน้นคุณภาพสามารถทำได้ดังต่อไปนี้ครับ
1
• ให้เราลองไปศึกษาศาสตร์อื่นที่ไม่เกี่ยวกับงานที่เราทำดูบ้าง มันจะช่วยทำให้เราได้มุมมองใหม่ ๆ
• ไปเข้ากลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องที่เราสนใจหรือทำงานอยู่เพื่อที่จะพูดคุย แลกเปลี่ยนความเห็นกับคนอื่น ๆ
• ลงทุนในอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ช่วยให้เราทำงานได้ดีขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนในสมุดจดดี ๆ สักเล่มก็จะช่วยให้เราทำงานได้ดีขึ้นบ้างแล้วครับ
• เอาตัวเราเป็นประกันในการทุ่มเททำงานใด ๆ ไปเลย (Bet on yourself) กดดันให้เราอยู่ในสถานะที่ถอยไม่ได้ วิธีการนี้เป็นการกดดันตัวเองให้เราทำเต็มที่ หนังสือเขายกตัวอย่างกรณีของ Bill Gates ที่ยอมดร็อปเรียนจาก Harvard เพื่อมาก่อตั้ง Microsoft ครับ แต่สำหรับคนทั่วไปอาจจะไม่จำเป็นต้องถึงขนาดนั้นนะครับ
• หาเวลาที่เหมาะ ๆ ที่เราสามารถให้เวลาและมีสมาธิกับงานที่เราทำได้เต็มที่
• ให้เราประกาศต่อสาธารณะไปเลยว่าเราจะทำอะไรให้สำเร็จ เพราะมันจะทำให้เรามุ่งมั่นมากกว่าปกติ เพราะหากเราทำไม่ได้ เราก็ต้องรู้สึกอับอายบ้างไม่มากก็น้อย หรือที่เขาเรียกว่า “social cost”
• ให้หาคนมาลงทุนในสิ่งที่เราทำ เพราะมันจะเป็นตัวกระตุ้น (motivator) ชั้นดีที่จะทำให้เราพยายามสร้างงานที่มีคุณภาพออกมาได้เช่นกันครับ
……………..
 
📌 บทสรุปของหนังสือ “Slow Productivity” นั้นได้ให้แนวทางการทำงานในรูปแบบใหม่กับคนทำงานสมัยใหม่ที่ใช้ความรู้เป็นหลัก หรือที่เรียกว่า “knowledge worker” สามารถสรุปได้ว่าไม่จำเป็นต้องทำงานหลายอย่าง และไม่ต้องไม่เร่งรีบ ให้ทำงานโดยเน้นที่คุณภาพของงานนั้นเป็นหลัก ก็เป็นแนวคิดที่น่าทดลองครับเพราะอย่างที่เราทราบว่า อาการ burn out ของคนทำงานนั้นเริ่มจะมากขึ้นเรื่อย ๆ และอาจส่งผลกระทบในระยะยาวของ performance ของพนักงานและองค์กรได้
อย่างไรก็ตามการที่เราจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานในรูปแบบใหม่จำเป็นต้องใช้เวลา เนื่องจากลักษณะของ “pseudo-productivity” นั้นอยู่ติดกับสังคมเรามานาน
หนังสือเล่มนี้ก็มีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้พวกเราได้ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่ที่ไม่ได้เน้นปริมาณแต่เน้นคุณภาพเป็นหลัก เพราะมีความเชื่อว่าในระยะยาวการทำงานที่พอเหมาะ แต่มีคุณภาพที่ดีนั้นให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า ทำให้เรามีความสุขมากกว่าด้วยครับ
เราอาจจะไม่สามารถกำหนดรูปแบบการทำงานในองค์กรได้ทั้งหมด แต่เราเองสามารถเลือกที่จะบริหารจัดการงานที่เราต้องทำได้ การทำงานให้ได้มากที่สุดไม่ได้ตอบโจทย์การทำงานในปัจจุบันอีกต่อไป แต่ความสำคัญและคุณภาพของงานต่างหากที่เราจำเป็นต้องเข้าใจว่าจะจัดการกับมันอย่างไร 💡
✅ แน่นอนว่างานที่เราทำเป็นส่วนหนึ่งกับชีวิตเราโดยแทบที่จะแยกขาดออกจากกันได้ยาก เราจะทำอย่างไรให้เราสามารถทำงานได้อย่างมีความสุขและได้ใช้ชีวิตอย่างที่เราต้องการ นี่คือคำถามที่เราแต่ละคนจำเป็นต้องหาคำตอบและหาความสมดุลของของมันให้ได้ และหากเราหาจุดที่เหมาะสมได้เราก็น่าจะมีความสุขมากขึ้นครับ...🌈
1
#BookReview #รีวิวหนังสือ #สิงห์นักอ่าน
 
ป.ล. ถ้าไม่อยากพลาดการติดตามการรีวิวหนังสือดี ๆ แบบละเอียดยิบ ฝากกด Like กดติดตามเพจ รวมถึงยังติดตามได้อีกหนึ่งช่องทาง facebook : สิงห์นักอ่าน
โฆษณา