8 มิ.ย. เวลา 16:25 • การศึกษา
".....นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น......"
ด้วยความเข้าใจอันน้อยนิดของผม ประโยคทั้งหมดที่ยกมาคือท่านสอนการทำสมาธิด้วยวิธีอานาปานสติ ซึ่งแน่นอนครับว่าท่านตรัสเป็นภาษาบาลี แล้วพระสาวกก็นำมาบันทึกไว้ เมื่อพุทธศาสนาเข้ามาเมืองไทย จึงได้แปลดังนี้
ซึ่งความสำคัญของการทำสมาธิโดยใช้ลมหายใจเป็นวิหารธรรม (หรือพูดง่าย ๆ คือเป็นเครื่องสังเกตุ) ก็คือให้นั่งในท่าขัดสมาธิ นั่งหลังตรง ซึ่งเข้าใจว่าในสมัยก่อนไม่มีเก้าอี้หรือใด ๆ การนั่งให้สบายที่สุดและมั่นคงที่สุดคือการนั่งท่าสมาธิตามที่เรารู้จัก เพราะบางครั้งการนั่งสมาธิ หากฝึกบ่อย ๆ จนชำนาญ การนั่งในท่านี้จะทำให้ร่างกายไม่โยกซ้ายเอียงขวา หรือล้มคว่ำคะมำหงายได้ง่าย ๆ นั่นเองครับ
แต่ใจความสำคัญของรูปประโยคนี้ อยู่ที่ "ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า" แปลว่าให้มีสติอยู่กับปัจจุบัน ไม่ใช่ว่ากำลังจะนั่งสมาธิกลับใจลอยคิดไปไหนต่อไหน "เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า" และประโยคขยายก็คือ หายใจเข้าสั้นหรือยาว ให้รู้ว่าหายใจเข้า หายใจออกสั้นหรือยาว ให้รู้ว่าหายใจออก ไม่ใช่หายใจออกเข้าแต่หลงคิดถึงเรื่องอื่น ครับ
การทำสมาธิโดยการนั่งสมาธินั้น ครูอาจารย์ท่านได้สอนไว้ว่า เป็นการฝึกซ้อมเอาไว้ก่อน เพราะเป็นการตัดอายตนะออกไปหลายช่อง เหลือไว้อย่างน้อยก็ช่องใจ ให้เราคุ้นชินกับการรวมสติอยู่ในอารมณ์อันเดียว เมื่อชำนาญแล้วจึงลงสู่สนามจริง คือในชีวิตประจำวันที่อายตนะทำงานทั้ง 6 ช่องทาง โอกาสที่จิตจะไหลไปก็จะง่ายกว่าตอนนั่งสมาธิสังเกตุลมหายใจมากครับ แต่หากทำอยู่บ่อย ๆ ฝึกบ่อย ๆ เดี๋ยวเราก็มีสติอยู่ในชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น ๆ เองครับ
หากมีจุดไหนที่ผมผิดพลาดไป ผมก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ครับ
โฆษณา