10 มิ.ย. เวลา 07:15 • สิ่งแวดล้อม

ชวนรู้จัก 'นกชนหิน' สัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ของประเทศไทย

‘นกชนหิน’ (Helmeted Hornbill) เป็นหนึ่งในนกเงือก 13 ชนิดที่พบได้ในประเทศไทย ปัจจุบันมีการกระจายตัวตามพื้นที่ป่าทางใต้ของไทย นกชนหินถือเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า และระบบนิเวศเป็นอย่างดี เนื่องจากนกชนหินหรือนกเงือกเป็นตัวกระจายเมล็ด (Seed disposal) ที่สำคัญ หรือที่เราเรียกกันว่า ‘นักปลูกป่า’ นั่นเอง
และล่าสุดจากมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 21 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ ‘นกชนหิน และวาฬสีน้ำเงิน’ เป็นสัตว์ป่าสงวน เพื่อป้องกันและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย
วันนี้แอดมินจะพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับ ‘นกชนหิน’ สัตว์ป่าสงวนน้องใหม่ ที่ไม่ได้มีดีแค่หัว!
‘นกชนหิน’ เป็นนกเงือกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดจาก 13 ชนิด โดยมีขนาดลำตัวตั้งแต่หัวถึงปลายหางประมาณ 110-127 เซนติเมตร ตัวผู้มีน้ำหนัก 3,060 กรัม และตัวเมียมีน้ำหนักประมาณ 2,610 ถึง 2,840 กรัม นกชนหินจะมีลักษณะพิเศษตรงขนหางคู่กลางจะยาวและเรียวกว่าคู่อื่นๆ ซึ่งยาวประมาณ 30-45 เซนติเมตร
นกชนหินตัวผู้จะมีลักษณะคอเป็นหนังสีแดงเข้ม ส่วนตัวเมียหนังคอสีฟ้าอ่อนแกมม่วง ปลายปากและโหนกด้านหน้ามีสีเหลือง ส่วนที่เหลือจะมีสีแดงเข้ม ปลายขนปีกบินขาว และนกชนหินจะมีปากที่ค่อนข้างสั้น ซึ่งแตกต่างจากนกเงือกชนิดอื่นที่ค่อนข้างแหลมและเรียวยาว
ด้วยนกชนหินมีลักษณะโหนกที่แตกต่างจากนกเงือกชนิดอื่น คือ มีโหนกที่ตันเกือบทั้งชิ้น คล้ายกับนอแรด นกชนหินจึงถูกคุกคามจากการล่าเอาโหนกไปขายโดยมนุษย์ เพื่อนำไปทำเป็นเครื่องประดับ หรืองานศิลปะต่างๆ และในปัจจุบันนกชนหินถูกล่าโดยมนุษย์มากขึ้น ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้นกชนหินมีจำนวนประชากรลดลงอย่างต่อเนื่อง
เสียงร้องของนกชนหินตัวผู้ สามารถดังไปไกลถึง 2 กิโลเมตร! เสียงดังกังวาน โดยเริ่มจากเสียง ‘อู๊ก’ ติดต่อกัน จากนั้นค่อยๆ เร่งจังหวะขึ้นเรื่อยๆ ก่อนถึงจุดพีคสุดตอนท้าย คล้ายกับเสียงหัวเราะ และในบางครั้งจะมีเสียงตัวเมียร่วมร้องด้วย โดยระดับเสียงตัวเมียจะสูงกว่าตัวผู้เล็กน้อย พบได้บ่อยในช่วงฤดูผสมพันธุ์
อ้างอิง
- Helmeted Hornbill – มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก : https://bit.ly/3SdWu3w
โฆษณา