แต่ถ้าคุณ A ใช้สิทธิที่มีทั้งหมดที่ภาครัฐให้ เพื่อลดหย่อนภาษีเต็มจำนวน เช่น ซื้อกองทุน RMF และทำประกันชนิดต่าง ๆ … คุณ A จะต้องจ่ายภาษีทั้งหมด เท่ากับ 2,134,540 บาท
ทีนี้ลองมาดูตัวอย่างของคุณ B ที่จดทะเบียนทำธุรกิจเป็นนิติบุคคลชื่อ B Company โดยสมมติให้บริษัทนี้ มีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 1,000,000 บาท และมีคุณ B เป็นเจ้าของ รวมถึงเป็นพนักงานคนเดียวของบริษัท และใช้บริษัทนี้เป็นตัวแทนในการรับงานแสดง, งานรีวิวสินค้า และงานโฆษณา
ในการคิดภาษีของบริษัทที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลนั้น จะคำนวณจากฐานกำไรสุทธิ โดยในกรณีนี้ สมมติให้ B Company มีกำไรสุทธิเท่ากับ 10,000,000 บาท (ซึ่งเท่ากับรายได้สุทธิของคุณ A) แต่ภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่ B Company ต้องจ่าย จะเท่ากับ 1,805,000 บาท
หลายท่านอาจสงสัยกันว่า ทำไม B Company ถึงไม่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ 20% หรือ 2,000,000 บาท
คำตอบก็คือ B Company มีการจดทะเบียนเป็น SME เพราะมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5,000,000 บาท และมีรายได้ไม่เกิน 30,000,000 บาทต่อปี โดยภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับ SME มีอัตราการเก็บแบบขั้นบันได และมีอัตราเรียกเก็บสูงสุดที่ 20%
แต่รู้ไหมว่า คุณ B ยังสามารถทำให้ B Company จ่ายภาษีได้น้อยลงไปยิ่งกว่านี้อีก โดยสมมติว่า B Company เลือกจ่ายเงินเดือนให้แก่คุณ B ซึ่งเป็นทั้งเจ้าของและลูกจ้างเพียงคนเดียวของบริษัท เป็นเงินเดือน เดือนละ 75,000 บาท เท่ากับว่ารายได้ทั้งปีของคุณ B จะเท่ากับ 900,000 บาท
แล้วตรงนี้ก็จะนับ 900,000 บาท ว่าเป็นค่าใช้จ่ายเพียงอย่างเดียวของ B Company ซึ่งเท่ากับว่า กำไรของบริษัทนี้จะเหลือ 9,100,000 บาท และในกรณีนี้ ถ้าคุณ B ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเต็มจำนวนตามกฎหมาย ก็จะไม่ต้องเสียภาษีเลย ขณะที่ภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่ B Company ต้องจ่าย จะเท่ากับ 1,625,000 บาท
จากตัวอย่างข้างต้น พอจะเห็นได้ว่า เมื่อมีการปรับให้ B Company จ่ายเงินเดือนให้แก่คุณ B ส่วนต่างของภาษีที่ต้องจ่ายระหว่าง นิติบุคคล กับ บุคคลธรรมดา ก็จะมากถึง 509,540 บาท