Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
GEO-HIS | ภูมิประวัติศาสตร์
•
ติดตาม
13 ก.ค. เวลา 13:00 • ประวัติศาสตร์
กำเนิดแนวคิดยุคเรืองปัญญาในดินแดนไทย
ยุคเรืองปัญญา (Age of Enlightenment) หรือเรียกให้เป็นที่เข้าใจชัดเจนในบริบทสังคมว่า ยุคแห่งการใช้เหตุผล (Age of Reason) นับแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16-18
เป็นที่เข้าใจกันว่าแนวคิดปรัชญาสมัยเรืองปัญญา อาทิ เหตุผลนิยม (Rationalist) มนุษยนิยม (Humanism) ทุนนิยม (Capitalism) และวิทยาศาสตร์ในการแสวงหาความรู้ กำเนิดขึ้นและรุ่งเรืองอยู่ในยุโรปและอาณานิคมยุโรปในอเมริกา
ตัดมาที่ฝั่งตะวันออก ประวัติศาสตร์กระแสหลักมักอธิบายว่า ทวีปเอเชียยังเป็นช่วงของอาณาจักรโบราณ อยู่ในโลกจารีตและไม่ได้เฉิดฉายมากนักในการศึกษาประวัติศาสตร์สากลช่วงนี้
แล้วเอเชียจึงมีบทบาทในเวทีโลกอีกทีในคริสต์ศตวรรษถัดไป คือช่วงอาณานิคมที่อิทธิพลยุโรปครอบงำทั้งทวีปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันแนวคิดต่าง ๆ ในยุคเรืองปัญญาของยุโรปจะไม่เข้ามาในเอเชียเลย
ตัวอย่างเช่น จีนในศตวรรษที่ 18 รัชสมัยของจักรพรรดิเฉียนหลง ที่ถือว่าเป็นฮ่องเต้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอีกพระองค์ในประวัติศาสตร์จีน
มิชนารีและพ่อค้าวาณิชย์จากหลายประเทศเข้ามาในจีน มีการแปลตำราทางคณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ แผนที่มากมายจากยุโรปเป็นภาษาจีน
แมตเตโอ ริชชี่ (Matte Ricci) นักบวชเยซูอิตที่เข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในจีนในปลายศตวรรษที่ 17 - ต้นศตวรรษที่ 18 เขามีบทบาทสำคัญในการนำองค์ความรู้จากตะวันตกเข้ามาในจีน
จีนภายใต้ราชวงศ์ชิงความอนุรักษ์นิยมสูง มีแนวคิดว่าจักรวรรดิของตนยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกไม่มีอาณาจักรใดเทียบเท่า ทำให้จีนรับวิทยาการจากต่างชาติเข้ามาน้อย
นอกจากนี้ การกำหนดให้เมืองท่ากว่างโจว เป็นเมืองท่าเพียงแห่งเดียวที่ติดต่อกับต่างชาติได้ ทำให้การค้าขายกับต่างชาติไม่ขยายตัวมาก ไม่เอื้อต่อแนวคิดทุนนิยมและเสรีนิยม
ต่อมาเมื่อจีนพ่ายแพ้สงครามฝิ่นต่ออังกฤษ มุมมองโลกทัศน์ของชนชั้นนำจีนจึงเปลี่ยนไป และถูกชาติตะวันตกบีบให้มีการค้าเสรี
การปรับปรุงประเทศที่เป็นไปอย่างล่าช้า ประกอบกับแนวคิดเสรีนิยมที่ขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ นำไปสู่การปฏิวัติซินไฮ่ในปี 1912 โค่นล้มระบบราชวงศ์ในที่สุด
ส่วนญี่ปุ่น มีการรับวิทยาการอย่างมากจากโปรตุเกสในศตวรรษที่ 16 ต่อมาญี่ปุ่นดำเนินนโยบายปิดประเทศไม่ทำการค้ากับชาติอื่น ยกเว้นจีน และฮอลันดา
ญี่ปุ่นจึงรับวิทยาการต่าง ๆ จากตะวันตกผ่านฮอลันดาแทน องค์ความรู้จากตะวันตกแยกออกเป็นอีกสาขาวิชาหนึ่ง และเป็นรากฐานสำคัญทำให้การปฏิรูปประเทศในรัชสมัยของจักรพรรดิเมจิประสบความสำเร็จจนเป็นมหาอำนาจในเวลาต่อมา
รังงากุ เป็นองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและการแพทย์ที่ญี่ปุ่นรับจากตะวันตก ผ่านทางฮอลันดาในช่วงปิดประเทศยุคเอโดะ
สำหรับเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยุโรปชาติต่าง ๆ โดยเฉพาะอังกฤษ ฝรั่งเศส และฮอลันดา เข้ามาแข่งขันขยายอิทธิพลในภูมิภาค
ชาติยุโรปสนับสนุนอาณาจักรต่าง ๆ ทำสงครามกัน สนับสนุนการกบฏหรือการแย่งชิงอำนาจภายใน รวมถึงเข้าไปตั้งถิ่นฐานและสถาปนาเมืองทางการค้า ซึ่งพัฒนาเป็นอาณานิคมในเวลาต่อมา
อิทธิพลแนวคิดสมัยเรืองปัญญาในภูมิภาคจึงแพร่หลายหลังจากตกเป็นอาณานิคม ที่ชาติยุโรปจัดให้มีการศึกษากับประชากรบางส่วน จึงเกิดปัญญาชนที่ต่อมาหลายคนมีส่วนสำคัญในการเรียกร้องเอกราช
อินเดียสมัยราชวงศ์โมกุล ในศตวรรษที่ 18 เข้าไปมีส่วนร่วมกับสงครามในยุโรปหลายครั้ง ทำให้ยุโรปหลายชาติเข้ามาแผ่อิทธิพลและตั้งสถานีการค้าในอินเดีย
สำหรับอาณาจักรสยาม การเปลี่ยนแปลงเริ่มขึ้นภายหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ช่วงปลายศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา
หลังสงครามยุทธหัตถีในปี 1592 กรุงศรีอยุธยาเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะก็ไม่มีสงครามขนาดใหญ่อีกเลย ราว 175 ปี การค้าและการสร้างสรรค์ศิลปะวัฒนธรรมจึงขยายตัวอย่างมาก
โลกทัศน์ของคนในสังคมเป็นแบบจารีต ชุดความรู้มีลักษณะเป็นเรื่องความเชื่อมากกว่าวิทยาศาสตร์
ตัวอย่างแนวคิด เช่น บุญ-กรรมกำหนดชะตากรรม ไสยศาสตร์ต่าง ๆ การตีความพระพุทธศาสนาไปทางความเชื่อมหัศจรรย์ต่าง ๆ การอธิบายโลกและจักรวาลด้วยไตรภูมิ เป็นต้น
แม้จะติดต่อค้าขายกับต่างชาติอย่างกว้างขวาง แต่การค้าหลายอย่างถูกผูกขาดอยู่กับพระคลังสินค้า จึงไม่เกิดการค้าแบบเสรี และแนวคิดสมัยเรืองปัญญาที่กำลังเฟื่องฟูในยุโรปจึงไม่เข้ามาด้วย
เมื่อเกิดการเสียกรุงครั้งที่สอง ในปี 1767 ชนชั้นปกครองจึงไม่คิดว่าโลกในอุดมคติเช่นนี้จะถูกทำให้พังทลายลง
ในแง่เศรษฐกิจโดยเฉพาะในช่วงรัชกาลที่ 2 - 4 เศรษฐกิจเติบโตขึ้นมากเนื่องจากภาวะสงครามที่ลดลง การค้ากับจีนเพิ่มขึ้น และตลาดยุโรปที่ขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ หลังสงครามนโปเลียน
ขุนนางและชาวจีนจำนวนมากได้ประกอบการลงทุนค้าขาย เป็นการกระตุ้นการคิดอย่างมีเหตุผล
ความคิดที่ว่าสามารถร่ำรวยได้จากการค้า ทำให้มีความเชื่อมั่นในตนเอง นำไปสู่ลักษณะแบบมนุษยนิยม
แตกต่างกับสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่ได้สินค้ามาจากระบบไพร่ที่ไม่ต้องลงทุน
ประกอบกับการเข้ามาของแรงงานจีนจำนวนมาก ซึ่งทำงานมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบไพร่เดิม
ระบบเศรษฐกิจเพื่อการค้าจึงเริ่มพัฒนาขึ้น โดยเฉพาะการปลูกน้ำตาล
นอกจากนี้ การที่อังกฤษสามารถยึดครองอินเดียได้ทั้งหมด ทำสงครามชนะพม่าในปี 1826 และชนะสงครามฝิ่นเหนือจีนในปี 1842 ทำให้ศูนย์กลางความเจริญของโลกทัศน์ชนชั้นนำสยามเปลี่ยนไป จากอินเดียและจีน เป็นโลกตะวันตก
ลักษณะวรรณกรรมในช่วงนี้เป็นไปเพื่อความบันเทิงและเกี่ยวข้องกับทางโลก ตรงข้ามกับสมัยอยุธยาที่วรรณกรรมมีหน้าที่ทางศาสนาและความศักดิ์สิทธิ์ ตัวละครมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น มีเนื้อหาและวิธีคิดของชาวบ้านปรากฎ
ตัวอย่างวรรณกรรมในยุคนี้ เช่น ขุนช้างขุนแผน ไกรทอง ตัวละครหลักเป็นเศรษฐี มากกว่าเป็นเทวดาถูกส่งมาเกิดแบบอยุธยา
รูปแบบของฉันทลักษ์ของชาวบ้าน เช่น กลอน มีความเป็นระเบียบแบบแผนและได้รับความนิยม เทียบกับอยุธยาที่ประพันธ์เป็นกาพย์ ฉันท์ โคลง ที่ประพันธ์ยากกว่า
บวงสรวงศาลเจ้าผีบายศรีตัง เห็นคนทรงปลงจิตอนิจจัง ให้คนทั้งปวงหลงอบาย
นิราศพระประธม ของสุนทรภู่ ให้ความสำคัญกับไสยศาสตร์น้อยลง
อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่เริ่มต้นในกลางศตวรรษที่ 19 ช่วงรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา
เมื่อสยามทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่งกับอังกฤษ ในปี 1855 และสนธิสัญญาในลักษณะเดียวกันกับชาติตะวันตกอีกหลายชาติ การค้าแบบเสรีตามแนวทางทุนนิยมจึงเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในสยาม
เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องการแรงงานมากขึ้น เป็นอีกสาเหตุนำไปสู่การเลิกระบบทาสและไพร่ ไปเป็นแรงงาน และยังเป็นผลมาจากการก่อตัวของแนวคิดเสรีนิยมอีกด้วย
แนวคิดทางวิทยาศาสตร์ขยายตัวมากขึ้น มีการตีความพระพุทธศาสนาให้เป็นเหตุผลยิ่งขึ้น ทำให้เกิดศาสนาพุทธ นิกายธรรมยุติ
จะเห็นได้ว่า สมัยกรุงธนบุรีและช่วงรัชกาลที่ 1 อันเป็นช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกับปลายสมัยเรืองปัญญาในยุโรป ช่วงนี้โลกทัศน์ของชนชั้นนำเริ่มเปลี่ยนไปเนื่องจากโลกเก่าอย่างอยุธยาล่มสลายลง
ต่อมาในช่วงรัชกาลที่ 2 - 4 เศรษฐกิจที่ขยายตัวจากการค้าขายโดยขุนนางและชาวจีน และการใช้ระบบแรงงาน ทำให้เกิดแนวคิดมนุษยนิยม
ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงที่แนวคิดสมัยใหม่คาบเกี่ยวและท้าทายแนวคิดเก่า ๆ โดยแนวคิดจากตะวันตกไม่ได้เข้ามาโดยตรง แต่ผ่านการค้าที่ขยายตัว
แนวคิดสมัยเรืองปัญญาจากยุโรปเข้ามาอย่างเข้มข้นในช่วงที่ภัยอาณานิคมขยายมามีผลกระทบต่อสยาม คือช่วงกลางรัตนโกสินทร์ เกิดความคิดแบบวิทยาศาสตร์และการศึกษาที่ขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้สังคมเข้าสู่ยุคสมัยใหม่นั่นเอง
สุริยุปราคาที่บ้านหว้ากอ ปี 1868
อ้างอิง :
นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์. (2543). ปากไก่และใบเรือ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: แพรวสำนักพิมพ์.
อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์. (2538). การเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นผู้นำไทย ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 - พ.ศ. 2475. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
Sebastian Conrad. (2012). Enlightenment in Global History: A Historiographical Critique. Retrieved July 10 ,2024,
from
https://academic.oup.com/ahr/article-abstract/117/4/999/33183?redirectedFrom=fulltext&login=false
ประวัติศาสตร์
ความรู้
ประวัติศาสตร์ไทย
1 บันทึก
7
1
7
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย