11 มิ.ย. เวลา 03:44 • ปรัชญา
วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

ลดอาชญากรรมด้วยการดำรงตนตามหลัก "สังคหวัตถุ๔"

ปัจจุบันนี้สังคมมีความเอารัดเอาเปรียบและขาดการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกันอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะสังคมในเมืองหลวง เมืองหลักและเมืองรอง ที่ขับเคลื่อนไปด้วยเงินตรา แต่สภาพเศรษฐกิจกลับมีแต่ความซบเซา ฐานันดรของผู้คนเกิดความเหลื่อมล้ำที่เห็นได้ชัด เพราะผู้คนส่วนหนึ่งขาดคุณธรรมสังคหวัตถุสี่ จึงพากันเอาเปรียบผู้ที่ด้อยกว่า ทำให้ผู้ด้อยต้องดิ้นรนอย่างหนักจนมีบางกลุ่มถึงขั้นหลวมตัวก่อกรรมทำชั่วเพื่อให้ตัวเองมีกินมีใช้
#พระพุทธศาสนา #สังคหวัตถุ4 #ธรรมะ
ดังนั้น สังคหวัตถุ 4 จึงจำเป็นจะต้องถูกนำมาใช้ในสังคมปัจจุบันโดยด่วนที่สุด ก่อนที่สังคมของเราจะเน่าเฟะและเต็มไปด้วยอาชญากรรมไปมากกว่านี้
สังคหวัตถุ 4 หมายถึง หลักธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจของผู้อื่น ผูกไมตรี เอื้อเฟื้อ เกื้อกูล หรือเป็นหลักการสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน มีอยู่ 4 ประการ ได้แก่
1. ทาน คือ การให้ การเสียสละ หรือการเอื้อเฟื้อแบ่งปันของๆตนเพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่น ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว ไม่เป็นคนเห็นแก่ได้ฝ่ายเดียว คุณธรรมข้อนี้จะช่วยให้ไม่เป็นคนละโมบ ไม่เห็นแก่ตัว เราควรคำนึงอยู่เสมอว่า ทรัพย์สิ่งของที่เราหามาได้ มิใช่สิ่งจีรังยั่งยืน เมื่อเราสิ้นชีวิตไปแล้วก็ไม่สามารถจะนำติดตัวเอาไปได้ ทั้งนี้ ก็ต้องเสียสละในขอบเขตที่ตัวเราต้องไม่ลำบากด้วย
2. ปิยวาจา คือ การพูดจาด้วยถ้อยคำที่ไพเราะอ่อนหวาน พูดด้วยความจริงใจ ไม่พูดหยาบคายก้าวร้าว พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์เหมาะสำหรับกาลเทศะ พระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญกับการพูดเป็นอย่างยิ่ง เพราะการพูดเป็นบันไดขั้นแรกที่จะสร้างมนุษย์สัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้น วิธีการที่จะพูดให้เป็นปิยวาจานั้น จะต้องพูดโดยยึดถือหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
เว้นจากการพูดเท็จ (โกหกโดยไม่สนว่าคนอื่นจะเดือดร้อนหรือเสียเปรียบเพื่อให้เราได้ผลประโยชน์)
เว้นจากการพูดส่อเสียด (พูดยุแยงตะแคงรั่ว ยุยงส่งเสริมให้คนอื่นทุกข์ใจหรือผิดใจกัน)
เว้นจากการพูดคำหยาบ (พูดเพื่อการหาเรื่องคนหรือเพื่อกระตุ้นให้อีกฝ่ายมามีเรื่องกับตน หรือ ให้อีกฝ่ายดูเสียภาพพจน์)
เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ (พูดไปเรื่อยแล้วเป็นผลเสีย คือ คนฟังอึดอัดใจ รำคาญใจ พูดไปเรื่อยไม่ดูกาละเทศะ เช่น พูดกับพระว่า "ลูกดิฉันเรียนเก่งมาก กำลังได้ทุนไปเรียนต่อ หลวงพ่อว่าไง ทึ่งที่ลูกดิฉันเก่งล่ะสิ" เป็นต้น)
3. อัตถจริยา คือ การสงเคราะห์ทุกชนิดหรือการประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น เช่น การตักบาตรแก่พระสงฆ์ การให้ทุนการศึกษาเด็กยากไร้ การบริจาคให้สถานสงเคราะห์เด็กกำพร้า การเบิกงบมาอย่างซื่อสัตย์เพื่อบริหารประเทศจนเกิดโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้ประชาชนสะดวกสบาย เป็นต้น
4. สมานัตตา คือ การเป็นผู้มีความสม่ำเสมอ หรือมีความประพฤติเสมอต้นเสมอปลาย คุณธรรมข้อนี้จะช่วยให้เราเป็นคนมีจิตใจหนักแน่นไม่โลเล รวมทั้งยังเป็นการสร้างความนิยม และไว้วางใจให้แก่ผู้อื่นอีกด้วย ซึ่ง สมานัตตานี้นั้น หาได้ยากยิ่งในหมู่นักปกครองประเทศในปัจจุบัน เช่น บางคณะ ตอนหาเสียงพูดสัญญาไว้อีกอย่าง พอตอนมาทำหน้าที่กลับทำอีกอย่างหนึ่ง หรือที่เรียกว่า "ตระบัดสัตย์" ผิดศีลข้อ "มุสาวาทาเวรมณี" อย่างใหญ่หลวง หากสิ้นชีพไปก็ย่อมลงสู่ทุคติ อบาย วินิบาต นรก
แอ๊ดมินภุชงค์ แห่งเพจเฟ๊ซบุ๊คธรรมะแฟนตาซี
โฆษณา