12 มิ.ย. เวลา 03:00 • ประวัติศาสตร์

ตามหาสะพาน 2-3-4-5 ที่หายไปจากถนนจันทน์

หากท่านเดินทางไปบริเวณถนนจันทน์ ท่านจะสังเกตเห็นรถสองแถวแดงเขียนว่า สะพาน 3-4-5 แล้วเกิดความสงสัยว่า สะพานนี้อยู่ตรงส่วนใดของถนนจันทน์ แล้วยังคงมีสะพานหลงเหลืออยู่หรือไม่
รถสองแถว จาก FB - ติดป้ายโฆษณาตุ๊กตุ๊ก ราคาถูก ทั่วกรุงเทพ TUKUP
ถนนจันทน์เป็นถนนความยาว 3.5 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างถนนนางลิ้นจี่กับถนนเจริญกรุง เดิมเป็นตรอกขนาดเล็ก พอให้รถสัญจร เรียกว่า “ตรอกจันทน์”
จากหลักฐานแผนที่กรุงเทพ ค.ศ.1896 พบเพียงวัดลุ่มลคร (วัดลุ่มเจริญศรัทธา) ตั้งอยู่กลางทุ่งนา สันนิษฐานว่าตรอกจันทน์ตัดในช่วง ค.ศ.1912 หลังการก่อสร้างมัสยิดดารุ้ลอาบีดีนและกุโบร์ได้ไม่นาน
แผนที่กรุงเทพ ค.ศ.1896 แสดงให้เห็นถึงวัดลุ่มลคร
แผนที่กรุงเทพมหานคร ค.ศ.1932 แสดงให้เห็นถึงตรอกจันทน์คู่ขนานไปกับคลองกรวยกับคลองแขก มีสะพานข้ามคลองอยู่ประมาณ 10 สะพาน แต่มีสะพานหลักๆ อยู่ 5 สะพานดังต่อไปนี้
สะพาน 1
สะพาน 1 - เป็นสะพานข้ามคลองย่อยที่แยกมาจากคลองกรวย ปัจจุบันคลองย่อยถูกถมกลายเป็นซอยจันทน์ 46 และ 59
สะพาน 2
อยู่ห่างจากสะพาน 1 ประมาณ 200 เมตร เป็นสะพานข้ามคลองกรวย อยู่ใกล้ซอยจันทน์ 32 ปัจจุบันสะพานถูกรื้อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ยังมีชื่อของ “ตลาดสะพาน 2” ซึ่งตั้งอยู่ที่ซอยจันทน์ 43
ตลาดสะพาน 2
สะพาน 3
สะพาน 3 - อยู่ห่างจากสะพาน 2 ประมาณ 600 เมตร เป็นสะพานข้ามคลองแขก ปัจจุบันคลองแขกได้ถมเพื่อขยายถนน ส่วนถนนที่เชื่อมสะพานได้ขยายออกไปเป็นซอยจันทน์ 18/7 ที่สามารถออกไปสาทรซอย 11 กับซอยจันทน์ 27 ที่สามารถออกไปซอยจันทน์ 43 (วัดไผ่เงิน) ได้
แยกสะพาน 3
สะพาน 3 เป็นย่านการค้าที่สำคัญ เนื่องจากมีตลาดคุณหญิงบุญมีตั้งอยู่ใกล้ๆกัน เป็นที่ตั้งสำนักงานเขตสาทร และเป็นจุดพบปะของผู้โดยสารจากเจริญกรุง, นราธิวาสราชนครินทร์ และสาทร ทำให้เป็นสะพานที่คึกคักมากที่สุด ในหมู่บรรดาสะพานข้ามคลองถนนจันทน์
สะพาน 4
สะพาน 4 - เป็นสะพานข้ามคลองคู่ขนานถนนสาธุประดิษฐ์ ปัจจุบันถูกถมเมื่อขยายถนนสาธุประดิษฐ์ แต่ยังคงมีชื่อ คลินิกเพื่อนคุณ สาขาจันทน์สะพาน 4 เป็นหลักฐานหลงเหลือการมีอยู่ของสะพานแห่งนี้
คลินิกเพื่อนคุณ สาขาจันทน์สะพาน 4
สะพาน 5
สะพาน 5 - ถนนจันทน์เส้นเดิมจะเลี้ยวขวาขนานไปกับคลองช่องนนทรีประมาณ 350 เมตร ก่อนจะข้ามสะพานเพื่อเชื่อมต่อถนนนางลิ้นจี่ที่แยกอมร เมื่อมีการตัดถนนนราธิวาสราชนครินทร์ในช่วง พ.ศ. 2535-2539 ทำให้สะพาน 5 ดั้งเดิมถูกรื้อถอน และสร้างใหม่เพื่อเชื่อมกับถนนจันทน์เส้นใหม่ที่แยกจันทน์-นราธิวาส กลายเป็นสะพานแห่งเดียวที่หลงเหลืออยู่ ส่วนถนนจันทน์เส้นเดิมกลายเป็น “ถนนจันทน์เก่า"
แยกจันทน์-นราธิวาส
หลักฐานที่หลงเหลือการเป็นสะพาน 5 ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ สาขาถนนจันทน์ สะพาน 5 และร้านก๋วยจั๊บน้ำใสสะพาน 5
ธนาคารกรุงเทพสาขาถนนจันทน์ สะพาน 5
ถนนจันทน์จากเดิมที่มีชาวมุสลิมตั้งรกรากเป็นกลุ่มแรก เริ่มมีชาวไทยเชื้อสายจีนจากบางรักและเยาวราช เข้ามาตั้งถิ่นฐานมากขึ้น ทำให้มีการขยายถนน ถมคลอง และรื้อสะพานทิ้ง ต่อมาเมื่อมีการสร้างทางพิเศษศรีรัชพาดผ่านถนนจันทน์ และเปิดใช้งานด่านถนนจันทน์ในปี พ.ศ.2539
ทำให้ถนนสายนี้เริ่มคึกคักมากขึ้น เป็นเส้นทางลัดระหว่างถนนสายสำคัญในด้านเศรษฐกิจทั้งถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ถนนสีลม และถนนสาทร เป็นถนนที่ขึ้นชื่อในด้านย่านการค้าสะพาน 3 และแหล่งรวมร้านข้าวต้มปลาหลากหลายเจ้า แต่ชื่อของสะพาน 3 4 และ 5 ยังคงมีอยู่ เพื่อระลึกถึงการคมนาคมในอดีต
โฆษณา