Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ศูนย์ประสานงาน DOU
•
ติดตาม
12 มิ.ย. เวลา 01:55 • การศึกษา
มหาวิทยาลัยธรรมกาย แคลิฟอร์เนีย (เรียนคอร์สออนไลน์)
หลักธรรมเพื่อทำกิจของกัลยาณมิตรให้สำเร็จ
กัลยาณมิตร คือมิตรแท้ ซึ่งไม่เพียงแต่หมายถึงการทำตนให้เป็นมิตรที่ดี เพื่อนที่ดีทั่ว ๆ ไปเท่านั้น แต่ยังหมายถึงกัลยาณมิตรผู้คอยชี้เส้นทางสวรรค์และนิพพาน เหมือนดังพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงทำหน้าที่ยอดกัลยาณมิตรของโลก แนะนำเหล่าเวไนยสัตว์ให้ข้ามพ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏไปสู่ฝั่งนิพพาน ซึ่งผู้ที่จะได้ชื่อว่าเป็นกัลยาณมิตรที่แท้จริงนั้นจะต้องฝึกฝนตนเองให้มีคุณสมบัติของความเป็นกัลยาณมิตร นั่นคือ กัลยาณมิตรธรรม 7 ประการ ดังนี้
1. ปิโย น่ารัก คือ น่าเข้าใกล้ เราเป็นคนมีนิสัยน่ารักหรือไม่ เพราะถ้าเราเป็นคนมีบุคลิกที่ใครเห็นใครก็รัก ดูแล้วชวนให้สบายใจ เราก็จะทำหน้าที่กัลยาณมิตรต่อผู้อื่นได้ไม่ยาก
2. ครุ น่าเคารพ คือ เราเป็นคนน่าเคารพหรือไม่ ซึ่งการทำตัวให้น่าเคารพ ก็คือ เราต้องเป็นคนมีความประพฤติดี ให้คนที่เข้ามาอยู่ใกล้เราไม่รู้สึกว่าเราอันตราย แต่กลับรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย พึ่งพาได้ เชื่อถือได้
3. ภาวนีโย น่าเจริญใจ คือ เราเป็นคนน่าสรรเสริญหรือไม่ ซึ่งการที่เขาจะสรรเสริญเราได้ก็ต่อเมื่อเราต้องเป็นผู้มีภูมิรู้ภูมิธรรม ดังนั้น ต้องหมั่นศึกษาธรรมะ และหาความรู้จนเก่งทั้งทางโลกทางธรรม
4. วัตตา รู้จักพูดให้ได้ผล คือ เป็นคนฉลาดพูด ฉลาดในการแนะนำสั่งสอน ฉลาดในการเตือนสติ ฉลาดในการให้กำลังใจ ฉลาดในการชักชวนโน้มน้าวให้แก้ไขข้อผิดพลาดต่าง ๆ โดยผู้ฟังคำพูดจากเราไม่รู้สึกโกรธ แต่กลับอยากทำความดีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
5. วจนักขโม อดทนต่อถ้อยคำ คือ เป็นคนอดทนต่อถ้อยคำไม่ว่าใครจะพูดไม่ดีแค่ไหนก็สามารถสงบนิ่ง เยือกเย็น ไม่ขุ่นเคือง ไม่โกรธได้
6. คัมภีรัญจะ กะถัง กัตตา แถลงเรื่องล้ำลึกได้ คือ สามารถอธิบายธรรมได้ลึกซึ้ง จนผู้ฟังสามารถปฏิบัติธรรมได้อย่างถูกต้อง ทั้งในด้านปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ซึ่งถ้าเราจะสามารถทำตรงนี้ได้ ก็ต้องหมั่นศึกษาธรรมะ และปฏิบัติธรรมให้มาก ๆ
7. โน จัฏฐาเน นิโยชะเย ไม่ชักนำในทางเสื่อมเสีย คือ ไม่ชักนำไปในทางที่ไม่ดี หรือไม่แนะนำเขาให้ดำเนินชีวิตด้วยความประมาท หากเราฝึกฝนอบรมตนเองให้มีคุณสมบัติครบทั้ง 7 ข้อได้ เราก็จะประสบความสำเร็จในการชักชวนคนมาทำความดีได้อย่างง่าย ๆ และในที่สุดแล้ว เราจะเห็นว่าการทำหน้าที่กัลยาณมิตรนั้นคนที่ได้ประโยชน์อย่างสูงสุด ก็คือตัวเราเอง
เมื่อฝึกฝนตนเองกระทั่งมีคุณธรรมตามหลักกัลยาณมิตรธรรม 7 ประการ คือ มีความน่ารัก น่าเคารพ น่าเจริญใจ รู้จักพูดให้ได้ผล อดทนต่อถ้อยคำ แถลงเรื่องล้ำลึกได้ และไม่ชักนำไปในทางที่เสื่อมเสีย ดังกล่าวแล้ว หากปรารถนาจะพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้นอีก
และเพื่อทำกิจของกัลยาณมิตรต่อผู้อื่นให้สำเร็จจะต้องอาศัยหลักธรรมอีกหมวดหนึ่ง คือ อิทธิบาท 4 ควบคู่ไปด้วย โดยที่ อิทธิบาท 4 โดยนัยยะ อิทธิ แปลว่า ฤทธิ์หรือความสำเร็จ บาท แปลว่า เส้นทางไป ทางดำเนินไป อิทธิบาท ก็คือ “ทางดำเนินไปสู่ความสำเร็จ” ประกอบด้วยหลักธรรม 4 ประการ คือ
1. ฉันทะ (รักในสิ่งที่ทำ) แปลว่า ความพอใจรักใคร่ คือ เต็มใจทำ หมายถึง มีความต้องการที่จะทำมีใจรักที่จะทำ มีใจใฝ่รักที่จะทำหน้าที่กัลยาณมิตรอยู่เสมอ และตั้งใจอย่างแรงกล้าต่อการทำหน้าที่กัลยาณมิตรทั้งต่อตนเองและผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา
2. วิริยะ แปลว่า ความเพียร ที่จะประกอบความดี คือ แข็งใจทำ ขยันทำสิ่งนั้นด้วยความพยายาม อดทนไม่ท้อถอย อะไรจะเกิดขึ้นก็แข็งใจทำ มีความแกล้วกล้า ขยันทำความดี มีการศึกษาศิลปวิทยาต่อการทำหน้าที่กัลยาณมิตร คุณธรรมข้อนี้ เป็นเครื่องพยุงความพอใจ มิให้ท้อถอยในการทำหน้าที่กัลยาณมิตร การทำหน้าที่กัลยาณมิตรทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ไม่ใช่เรื่องง่ายมักจะเจอปัญหาและอุปสรรคอยู่เสมอ จึงจำเป็นต้องใช้ความเพียรพยายามทำหน้าที่กัลยาณมิตรเรื่อยไป จนกว่าจะสำเร็จตามความตั้งใจไว้เบื้องต้น
3. จิตตะ แปลว่า เอาใจฝักใฝ่ในความดี คือ ตั้งใจทำ มีใจจดจ่อในการทำหน้าที่กัลยาณมิตรด้วยความฝักใฝ่ เอาใจใส่อย่างมีสมาธิ หมายถึงมีความผูกใจ สนใจ ไม่ทอดธุระ ในการทำหน้าที่กัลยาณมิตร พอใจพากเพียรกระทำอยู่ มีสติคุ้มจิตให้กระตุ้นความเพียรต่อการทำหน้าที่กัลยาณมิตรทั้งต่อตนเองและผู้อื่น สม่ำเสมอ ไม่ทำ ๆ หยุด ๆ เหมือนกิ้งก่าวิ่ง ๆ หยุด ๆ
4. วิมังสา แปลว่า ความตริตรองพิจารณาเหตุผลในการเป็นและทำหน้าที่กัลยาณมิตร คือ เข้าใจทำ มีความรู้ความสามารถในสิ่งที่ทำ ทำด้วยความพิจารณา หมั่นตรวจสอบพัฒนางานการเป็นและทำหน้าที่กัลยาณมิตรให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป มีการวางแผน วัดผล ตลอดจนหาวิธีแก้ไขปรับปรุงปัญหาอุปสรรคของการทำหน้าที่กัลยาณมิตร โดยใช้ปัญญาสอดส่องเทียบเคียงเปรียบเทียบ ทั้งเหตุทั้งผลของการเป็นและทำหน้าที่กัลยาณมิตรที่ตนกระทำแล้ว คือ ย้อนกลับไปดูว่าตนได้ทำเหตุปลูกฉันทะ ใช้วิริยะ ได้ตั้งจิตตะ ในการทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรอยู่ในระดับใด
คุณธรรมทั้ง 2 หมวดนี้ คือกัลยาณมิตรธรรม 7 ประการ และอิทธิบาท 4 มีบริบูรณ์แล้ว จะทำให้บุคคลนั้นเป็นและทำหน้าที่กัลยาณมิตร ซึ่งไม่เหลือวิสัย การศึกษาหลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนเกิดความเข้าใจก็จะสามารถแก้ไขปัญหาและพัฒนาการทำหน้าที่กัลยาณมิตรได้อย่างแท้จริง
นั้นก็เพื่อน้อมนำมาปฏิบัติให้เข้าใจความเป็นจริงของโลกและชีวิต สามารถกำจัดทุกข์ มีความสุข ประสบความสำเร็จในชีวิตทั้งในโลกนี้โลกหน้า และการทำหน้าที่กัลยาณมิตรต้องออกมาจากจิตใจ เป็นธรรมชาติ โดยไม่ต้องฝืนใจ และไม่ฝืนต่อความรู้สึก
อ้างอิง:
พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย (ที.ปา. (ไทย) 11/ 306/ 277 มจร.)
เอกสารประการเรียนรายวิชาการทำหน้าที่กัลยาณมิตร DF102
พุทธศาสนา
ประวัติศาสตร์
ข่าวรอบโลก
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย