12 มิ.ย. เวลา 05:30 • หนังสือ

พลังแฝงของคนธรรมดา นำพาชีวิตสู่ความสำเร็จ #สรุปหนังสือ HIDDEN POTENTIAL

หากพูดถึง “ความเก่ง” หลายคนก็อาจจะมองว่ามันเป็นพรสวรรค์ที่ติดตัวใครคนนั้นมาตั้งแต่เกิด แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป บางครั้งคนที่เก่งมากๆ ก็อาจเคยเป็นแค่คนธรรมดาสักคนหนึ่งที่มีความสามารถในระดับค่าเฉลี่ยหรือบางทีอาจแย่ยิ่งกว่านั้นเสียอีก
4
สำหรับใครที่มีความฝันที่ยิ่งใหญ่แต่มองว่าตนเองเป็นเพียงคนธรรมดา ไม่กล้าคิด ไม่กล้าฝัน ไม่กล้าลงมือทำตามความฝันที่อยู่ในหัว ก็ต้องบอกว่าคนเราล้วนมีศักยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่กันทั้งนั้น ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญเสียยิ่งกว่าความสามารถตามธรรมชาติของเราก็คือการมีใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ และยิ่งไปกว่านั้น บนโลกใบนี้ยังมีแนวทางการเรียนรู้หลายอย่างที่จะช่วยเร่งเราไปให้ถึงฝั่งฝันได้ ดังนั้นอย่ากลัวที่จะฝันใหญ่
2
ในบทความนี้เราจะพาไปสำรวจแนวทางที่จะช่วยให้ค้นพบศักยภาพสูงสุดของตัวเอง และกล้าที่จะฝันใหญ่แม้เป็นเพียงแค่คนธรรมดา ไปกับหนังสือ HIDDEN POTENTIAL โดย Agam Grant
ไม่สำคัญว่าเริ่มที่จุดไหน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมเรามีความเชื่อว่าความเก่งนั้นมาจากพรสวรรค์ตั้งแต่เกิด เราจึงมักจะเชิดชูและให้ค่าเด็กที่มีพรสวรรค์หรือเด็กที่มีความสามารถพิเศษมากกว่าใครๆ เช่น คนที่ร้องเพลงเพราะ เล่นดนตรีดี หรือเล่นกีฬาได้อย่างโดดเด่น จนหลงลืมไปว่าคนอื่นๆ ที่ไม่มีพรสวรรค์ใดๆ ก็สามารถสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้เช่นกัน
ซึ่งเรื่องนี้ใช่ว่าจะไม่มีใครศึกษา เพราะมีการสำรวจโดยนักจิตวิทยา โดยมีการสัมภาษณ์เจาะลึกกลุ่มเป้าหมาย 120 คนที่มีทักษะเป็นเลิศจนได้รับรางวัลต่างๆ เช่น นักคณิตศาสตร์เหรียญทอง นักว่ายน้ำระดับโอลิมปิก และนักเทนนิสระดับโลก พบว่ามีคนที่ประสบความสำเร็จเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่เคยถูกจัดว่าเป็น “เด็กอัจฉริยะ” มาก่อน แม้ว่าจะเรียนเก่งตอนประถมหรือมัธยม แต่ก็ไม่ได้เก่งโดดเด่นเหนือใคร นักกีฬาหลายคนก็ไม่ได้ทำสถิติดีตั้งแต่ครั้งแรกๆ หลายคนก็ต้องผ่านความพ่ายแพ้มาหลายครั้งกว่าจะขึ้นมาเป็นผู้เล่นระดับท็อปได้
การไปถึงจุดที่เรียกว่าประสบความสำเร็จของใครหลายๆ คนไม่ได้มาจากความสามารถที่โดดเด่น แต่กลับเป็นความมุ่งมั่นที่เหนือเกินกว่าใคร และหลายครั้งความมุ่งมั่นก็ไม่ได้มาจากตัวเอง แต่มาจากคนรอบตัว เช่น โค้ชหรือครูที่ทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องไม่น่าเบื่อ
3
อาจกล่าวได้ว่าเรามักจะประเมินศักยภาพคนผิด เราไปดูตอนจุดเริ่มต้น กล่าวคือพรสวรรค์โดยกำเนิด แต่หลายคนไม่ได้เก่งแต่เกิดก็ประสบความสำเร็จได้ เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งตัดสินใครถ้ายังไม่เห็นศักยภาพที่แฝงอยู่ทั้งหมดของคนคนนั้น
“ไม่สำคัญว่าเริ่มที่จุดไหน แต่สำคัญว่าคุณไปได้ไกลแค่ไหน” เป็นหนึ่งในประโยคที่มาจากหนังสือเล่มนี้ที่อ่านแล้วรู้สึกประทับใจและรู้สึกว่าเห็นด้วยเป็นอย่างมาก เพราะถึงแม้ว่าเราจะเริ่มต้นดี ก็ไม่ได้หมายความว่าจะดีไปตลอดหรือจะพบกับจุดจบที่สวยงามเสมอไป และบางคนไม่ได้โดดเด่นมาตั้งแต่ต้นแต่อาจมาเบ่งบานระหว่างทางก็ได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นเราควรวัดกันที่ระยะทางที่ก้าวเดินไปได้จะดีกว่า
1
“ทักษะแห่งอุปนิสัย” คือสิ่งที่ปลูกฝังได้ตั้งแต่วัยเด็ก
ตอนนี้เราเข้าใจแล้วว่าความเก่งไม่ใช่แค่พรสวรรค์ แต่ปัญหาคือเราไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรจึงจะพัฒนาตัวเองไปสู่ศักยภาพสูงสุดและคว้าความสำเร็จอันยิ่งใหญ่มาได้
สำหรับใครที่เป็นเช่นนี้อยู่ ก็ต้องเริ่มอย่างนี้ว่าการเรียนรู้ในห้องเรียนสำคัญเป็นอย่างมาก โดยมีงานวิจัยหนึ่งที่มีการสุ่มเลือกนักเรียนกว่า 11,000 คน ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงเกรด 3 จากโรงเรียน 79 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนสำหรับผู้มีรายได้น้อย ซึ่ง “ราจ เซตตี” นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังก็ได้วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รวบรวมมาในการศึกษานี้ว่ามีปัจจัยอะไรบ้างหรือไม่ที่มีอิทธิพลต่อความสำเร็จในระยะยาวของเด็ก
2
ซึ่งสิ่งที่พบก็คือ เซตตีสามารถทำนายความสำเร็จของเด็กนักเรียนได้เพียงแค่ดูว่าใครเป็นคนสอนเด็กคนนั้นในระดับอนุบาล สำหรับใครที่ได้เรียนกับครูที่มีประสบการณ์สูงก็จะมีรายได้มากกว่าเพื่อนคนอื่นๆ โดยครูเตรียมอนุบาลที่เก่งกว่าค่าเฉลี่ยช่วยเพิ่มรายได้ตลอดชีพของนักเรียนถึง 320,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 11.7 ล้านบาท) โดยตัวเลขนี้จะยิ่งเพิ่มขึ้น หากครูผู้สอนมีประสบการณ์มากยิ่งกว่านี้
นอกจากนี้ครูอนุบาลเก่งๆ ยังมีส่วนช่วยพัฒนาทักษะสำคัญๆ ให้กับนักเรียน ซึ่งจะติดตัวไปในระยะยาวอีกด้วย เช่น
[ ] การทำงานเชิงรุก : กล้าถาม-ตอบ
[ ] พฤติกรรมเอื้อสังคม : เข้ากันได้ดีกับคนอื่น
[ ] ความมีวินัย : ปฏิบัติตนอย่างเหมาะสม
[ ] ความมุ่งมั่น : กล้าเผชิญกับปัญหายากๆ
เมื่อพูดถึงทักษะเหล่านี้หลายคนอาจจะคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่แท้จริงแล้วมันเป็นสิ่งที่ได้รับการปลูกฝังมาช่วงอนุบาลต่างหาก และแน่นอนว่าการเรียนรู้ทักษะแห่งอุปนิสัยเหล่านี้มีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จของนักเรียนในอีกหลายปีถัดมา
ทักษะแห่งอุปนิสัยเหล่านี้ไม่สามารถเกิดขึ้นเองได้ แต่เราจะต้องมีโอกาสและแรงจูงใจในการหล่อเลี้ยงให้มันเติบโตขึ้นมา เพราะฉะนั้นแล้วสำหรับใครที่อยากก้าวไปสู่ศักยภาพสูงสุดของตัวเอง ก็ต้องบอกว่านี่คือข่าวดี เพราะทั้งหมดทั้งมวลนี้บ่งชี้ว่า “ความเป็นเลิศ” นั้นขึ้นอยู่กับ “ทักษะด้านอุปนิสัย” ของเรา
อุปนิสัยคือความสามารถในการให้ความสำคัญกับค่านิยมที่เรายึดถือมากกว่าสัญชาตญาณ หรือก็คือมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิธีการที่เราคิด รู้สึก และประพฤติตน ทักษะทางด้านอุปนิสัยจะช่วยให้เราเอาชนะนิสัยใจคอที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อตัวเราได้ เช่น ความหุนหันพลันแล่น
1
ทักษะด้านอุปนิสัยไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวเรามาแต่กำเนิด แต่คือวิธีการที่เราเลือกปฏิบัติตน และเราสามารถปลูกฝังสิ่งเหล่านี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสำเร็จให้กับตัวเองได้ตั้งแต่วันนี้
อ้าแขนรับความอึดอัดใจ
ทักษะด้านอุปนิสัยที่สำคัญที่จะช่วยปลุกศักยภาพแฝงของเราให้ก้าวไปสู่ฝันอันยิ่งใหญ่ได้ก็คือ “การอ้าแขนรับความอึดอัดจากการเรียนรู้”
การที่เราจะพัฒนาอุปนิสัยของตัวเองให้ดีขึ้นได้ไม่ใช่เรื่องง่าย เราไม่สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้เพียงแค่คิดว่าอยากพัฒนาให้ดีขึ้นแต่เราจะต้องลงมือทำและฝ่าฟันบททดสอบและความเจ็บปวดไปให้ได้ เพราะบททดสอบและความเจ็บปวดจะทำให้จิตวิญญาณของเราแข็งแกร่งและมีไฟที่ลุกโชนมากยิ่งขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าจะนำพาเราให้ก้าวเข้าใกล้ความสำเร็จมากยิ่งขึ้น
2
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ อย่างเช่นการเรียนภาษา เราอาจคิดว่าคนที่พูดและคิดได้หลายภาษาคืออัจฉริยะ เป็นคนที่เก่งผิดมนุษย์มนามาตั้งแต่เกิด แต่ในความเป็นจริงแล้วก็มีหลายคนที่แรกเริ่มมามีความคิดฝังหัวมาตลอดว่าตัวเองไม่ฉลาดพอที่จะเรียนรู้ภาษาที่สอง หรือบางคนก็เรียนมาตั้งนานแต่พูดได้นิดหน่อย หรือบางคนก็อาจจะมองว่าตัวเองไม่มีพรสวรรค์ด้านนี้เอาเสียเลย
1
แต่เขาเหล่านั้นก็ผ่านพ้นมาจนสามารถพูดภาษาที่สองและภาษาอื่นๆ ตามมาได้ เพราะกล้าที่จะเผชิญกับ “ความไม่สะดวกใจ” เช่น ความไม่สะดวกใจที่จะพาตัวเองลงสังเวียนจริงเพื่อฝึกภาษา และความไม่สะดวกใจที่จะเรียนรู้ด้วยวิธีการใหม่ๆ การทำตัวให้คุ้นชินกับความไม่สะดวกใจเหล่านี้จะช่วยปลดล็อกศักยภาพแฝงในการเรียนรู้ของเราได้ นี่คือทักษะด้านอุปนิสัยรูปแบบหนึ่งของความมุ่งมั่น ซึ่งจำเป็นต้องมีความกล้าสามประการด้วยกัน คือ
1
1. กล้าที่จะละทิ้งวิธีการเดิมๆ ซึ่งก็คงเป็นอย่างที่ เท็ด ลาสโซ นักจิตวิทยา กล่าวไว้ว่า “ถ้าหนทางไหนสบายเกินไปก็แปลว่าเรากำลังมาผิดทาง” ฉะนั้นอย่าหลีกเลี่ยงวิธีการใหม่ๆ ที่เรารู้สึกไม่สะดวกใจ เพราะมันจะเป็นการจำกัดการเติบโตของตัวเองโดยไม่รู้ตัว
2
2. กล้าที่จะเอาตัวเองลงสนามแม้ไม่พร้อม การจะเรียนภาษาให้ได้ภาษาต้องกล้านำเอาสิ่งที่เรียนรู้มาไปใช้ในชีวิตจริง ถ้าแค่นั่งอ่านหรือนั่งฟังเฉยๆ เราจะไม่มีวันคิดและพูดภาษาใหม่ๆ ได้คล่อง การเรียนดนตรีก็เช่นกัน ถ้าแค่คิดว่าอยากเล่นเปียโนเก่งและแค่อ่านหนังสือสอนเล่นเปียโนเฉยๆ เราก็จะไม่มีวันเล่นได้ เราต้องกล้าที่จะลงมือปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ขึ้นมา
1
3. กล้าที่จะทำผิดพลาดมากกว่าคนอื่น หากพูดถึงการใช้ภาษาก็ต้องบอกว่ามันต้องมีประหม่ากันบ้างเมื่อใช้ครั้งแรก และก็อาจทำให้เราพูดผิดไปบ้าง หลายคนจะกลัวเรื่องนี้ เพราะเวลาทำพลาดเราจะเกิดความอายขึ้นมา ซึ่งความอายนี้เกิดขึ้นมาจากการที่เรากลัวว่าจะถูกคนอื่นมองในแง่ลบ แต่เราอย่าไปกลัวผิดพลาด ยิ่งผิดเราก็ยิ่งได้เรียนรู้ และมันจะเริ่มกวนใจเราน้อยลง อาจจะเริ่มจากการเรียนรู้ในกลุ่มเล็กๆ หรือสถานการณ์ชวนอึดอัดเบาๆ ก่อน แล้วค่อยขยายให้กว้างขึ้นไปเรื่อยๆ
การอ้าแขนรับความอึดอัดใจด้วยวิธีการที่กล่าวมาข้างต้นนี้จะทำให้เราเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด
ดูดซับและปรับตัวดังเช่นฟองน้ำ
ย้อนกลับไปเมื่อครึ่งพันล้านปีก่อน ณ ตอนนั้นมีภูเขาไฟระเบิดเกิดขึ้นซึ่งสร้างความเสียหายให้กับโลกของเราเป็นอย่างมาก เรียกได้ว่าเป็นหายนะครั้งใหญ่ของโลกเลยก็ว่าได้ เพราะสัตว์โลกกว่า 75 สายพันธุ์ได้ถูกกวาดล้างไป แต่เหนือสิ่งอื่นใดมีหนึ่งเผ่าพันธุ์ที่ยังคงอยู่รอดและสามารถเติบโตได้ดีกว่าเดิม นั่นคือ “ฟองน้ำทะเล” ซึ่งเป็นเพียงสัตว์ชั้นต่ำที่ไม่มีสมอง ระบบประสาท อวัยวะภายใน หรือกล้ามเนื้อ ทุกวันนี้ฟองน้ำทะเลขึ้นชื่อว่าเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่สุดกลุ่มหนึ่งของโลก
2
แล้วฟองน้ำทะเลมีดีอย่างไร? คำตอบคือถึงแม้ว่ามันจะมีร่างกายที่อ่อนนุ่มและมีรูพรุน แต่ก็มีโครงสร้างกระดูกที่แข็งแรงทนทานและมีความยืดหยุ่นสูง เมื่อถูกสัตว์อื่นแทะหรือได้รับความเสียหายจากกระแสน้ำที่พัดผ่านเข้ามาอย่างแรง บางครั้งมันก็ไม่ตาย หนำซ้ำยังสามารถฟื้นคืนสภาพได้
1
นอกจากนี้มันยังมีความสามารถในการดูดซับอาหารและออกซิเจน รวมถึงสามารถปรับตัวเพื่อกรองเอาสารพิษที่เป็นอันตรายออกไปได้อีกด้วย และด้วยความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมเช่นนี้นี่เองที่ทำให้เหล่าฟองน้ำทะเลมีชีวิตอยู่ได้นานกว่า 2,000 ปี
1
ความสามารถในการปรับตัวเช่นนี้สำคัญสำหรับสัตว์โลกอย่างเช่นฟองน้ำทะเล และในขณะเดียวกันก็สำคัญกับมนุษย์ด้วยเช่นกัน โดยความสามารถในการปรับตัวดังเช่นฟองน้ำทะเลนั้นถือเป็นหนึ่งในทักษะด้านอุปนิสัยที่อยู่ในส่วนของการทำงานเชิงรุกนั่นเอง
หากใครอยากดึงศักยภาพซ่อนเร้นของตัวเองออกมา ก็จะต้องดึงฟองน้ำทะเลในตัวออกมา เราจะต้องเรียนรู้ที่จะดูดซับ คัดกรอง และปรับตัวขณะทำงานให้ได้เฉกเช่นฟองน้ำทะเล
ตัวอย่างหนึ่งที่สามารถเห็นได้คือชีวิตของ เมลโลดี ฮ็อบสัน ที่เป็นลูกคนสุดท้องของคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีลูกถึงหกคน ฮ็อบสันเป็นคนที่มีชีวิตวัยเด็กไม่ราบรื่นเท่าไรนัก เพราะครอบครัวมีปัญหาทางด้านการเงิน จนบางครั้งก็ต้องใช้ชีวิตอยู่ในบ้านแบบไม่มีไฟฟ้าหรือสัญญาณโทรศัพท์
ฮ็อบสันเป็นคนที่เรียนล้าหลังเพื่อนอยู่เสมอ เธอมีปัญหาเรื่องสมาธิและการปรับตัว อ่านหนังสือก็ไม่ค่อยออกจนต้องเรียนซ่อม แต่เธอก็มีความฝันว่าอยากเรียนมหาวิทยาลัยในเครือไอวีลีก
อย่างไรก็ดี ในท้ายที่สุดแล้วเธอสามารถดึงศักยภาพแฝงของตัวเองออกมาได้ ปัจจุบันเธอเป็นซีอีโอร่วมของสถาบันการลงทุนที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังได้รับการเสนอชื่อให้เป็นหนึ่งใน 100 ผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดของนิตยสารไทม์อีกด้วย
1
ทำไมฮ็อบสันถึงก้าวมาถึงความสำเร็จระดับนี้ได้ทั้งๆ ที่จุดเริ่มต้นของเธอไม่ได้สวยงามนัก?
ประการแรก ฮ็อบสันมีความเชี่ยวชาญด้าน “การดูดซับ” กล่าวคือเมื่อเข้าเรียนหรือเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เธอมักจะถามคำถามอย่างรอบคอบและจดบันทึกอย่างละเอียด เธอมองว่าทุกการปฏิสัมพันธ์คือโอกาสในการดูดซับความรู้ เธอมีความมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่ตัวเองสนใจ ราวกับว่าเธอคือฟองน้ำดีๆ นี่เอง
2
ประการที่สอง ฮ็อบสันมีความสามารถในการ “กรอง” เธอเข้าใจว่าการทำงานอย่างชาญฉลาดมีความสำคัญพอๆ กับการทำงานหนัก เธอมักจะพิจารณาถึงโอกาสที่อาจเกิดขึ้นอย่างที่ถ้วน หากสิ่งใดไม่เหมาะกับตัวเองก็จะกรองสิ่งนั้นทิ้งไป ความสามารถนี้ทำให้ฮ็อบสันตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพและช่วยผลักดันให้เธอไปถึงเป้าหมาย
ประการสุดท้าย ฮ็อบสันมีความสามารถในการ “ปรับตัว” ครั้งหนึ่งที่ปรึกษาของฮ็อบสันที่มีชื่อว่า บิลล์ แบรดเลย์ ได้ให้คำแนะนำแก่เธอว่า การที่เธอพยายามจะยึดครองทั้งห้องเอาไว้คนเดียว จะทำให้เธอกลายเป็นพวก “หวงบอล” แบบที่ใครหลายคนเป็นเมื่ออยู่ในสนามบาสเกตบอล กล่าวคือเล่นชู้ตคนเดียวโดยไม่ยอมส่งบอลให้เพื่อน
ซึ่งพอได้ยินคำแนะนำเช่นนั้นเธอก็นำมาปรับพฤติกรรมของตัวเองให้เป็นไปในทิศทางที่ดียิ่งขึ้น เธอหันมาใส่ใจเพื่อนฝูงมากขึ้น พูดง่ายๆ ว่าสิ่งนี้ช่วยปรับเปลี่ยนทักษะทางสังคมของเธอให้ดีขึ้นมาก หลังจากนั้นประโยชน์จากสายสัมพันธ์อันดีก็ตามมา หนึ่งในนั้นคือพอแบรดเลย์เห็นว่าเธอควรค่าแก่การให้เขาเป็นโค้ชให้เธอต่อไปเพราะเธอรู้จักปรับตัว เขาก็ได้แนะนำให้เธอรู้จักกับผู้ก่อตั้งสตาร์บัค ซึ่งสุดท้ายเธอก็ได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการบริษัท
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าเราควรจะเก็บเอาคำพูดของคนอื่นมาคิดไปเสียหมด เราต้องมีความสามารถในการพิจารณาว่าข้อมูลใดควรดูดซับและข้อมูลใดควรกรองทิ้งไปเสีย
โอบรับความไม่สมบูรณ์แบบ
อีกหนึ่งแนวคิดที่น่าสนใจของหนังสือเล่มนี้คือ ผู้เขียนเสนอว่าการจะปลดล็อกศักยภาพแฝงได้ เราจะต้องหยุดไขว่คว้าหาความสมบูรณ์แบบ เราจำเป็นต้องแบกรับความบกพร่องไว้ให้ได้ เพราะมันจะยิ่งทำให้เราเติบโตและก้าวไปสู่จุดสูงสุดของอาชีพ
หลายคนมักจะยึดติดกับความสมบูรณ์แบบ โดยความสมบูรณ์แบบในที่นี้หมายถึงการมีเป้าหมายหรือความต้องการว่าตัวเองจะต้องไม่ทำสิ่งใดผิดพลาดเลย เด็กหลายคนคงเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี เพราะต้องเจอกับความกดดันจากพ่อแม่ พ่อแม่คาดหวังให้ลูกของตนเองสมบูรณ์แบบ ไร้ที่ติ เราจึงเรียนรู้ไปเองว่าเราจะต้องทำผิดพลาดให้น้อยเราถึงจะมีคุณค่าในสายตาพ่อแม่ ยิ่งพลาดน้อยยิ่งภาคภูมิใจมาก กลับกันยิ่งพลาดมาก ความภาคภูมิในใจตัวเองก็จะยิ่งลดตามลงไปมากอีกหลายเท่าตัว
หากย้อนกลับไปช่วงสมัยเรียน หลายคนก็คงจะเข้าใจถึงเรื่องนี้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากใครเป็นนักเรียนเกรด A เพราะถึงแม้ว่าจะเรียนเก่งแค่ไหน แต่ถ้าทำข้อสอบผิดพลาดไปนิดเดียว หรือเกรดตกไปสักนิด ก็คงจะเอาแต่ตำหนิติเตียนตนเองและรู้สึกว่าคุณค่าในตัวเองหดหายไปมาก เพราะทำดีแค่ไหนก็ยังรู้สึกว่าไม่ดีพอจนกว่าจะทำสิ่งตรงหน้าได้ดีแบบ 100%
แต่สุดท้ายแล้วการยึดติดกับความสมบูรณ์แบบนั้นไม่ได้เป็นผลดี อันที่จริงเพอร์เฟกชันนิสต์ไม่ได้เก่งกว่าใคร อาจทำได้แย่กว่าคนทั่วไปเสียด้วยซ้ำ โดยมีงานวิจัยชี้ว่าคนทำงานระดับท็อปจริงๆ ไม่ได้เป็นนักเรียนที่เก่งมากเท่าไร ส่วนใหญ่เกรดเฉลี่ยกลางๆ ส่วนคนที่เป็นเพอร์เฟกชันนิสต์พอทำงานจริงก็ไม่ค่อยมีผลงานโดดเด่นอะไร
โดยนักวิจัยชี้ว่า เหล่าเพอร์เฟกชันนิสต์มักจะทำผิดพลาดสามเรื่องด้วยกัน
หนึ่ง ชอบหมกมุ่นอยู่กับรายละเอียดที่ไม่จำเป็น ใส่ใจแต่ปัญหาเล็กๆ จนไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วควรให้ความสำคัญกับปัญหาไหนกันแน่
สอง ชอบเลี่ยงสถานการณ์ยากๆ หรือสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคยเพราะกลัวว่าจะล้มเหลว จนสุดท้ายก็ไม่ได้พัฒนาทักษะใหม่ๆ
สาม ชอบตำหนิตัวเองเมื่อทำพลาดจนไม่สามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้
อาจกล่าวได้ว่าการยึดติดกับความสมบูรณ์แบบเป็นการกักขังเราไว้ในกรง ทำให้เราติดอยู่กับมุมมองแคบๆ และมักจะเลี่ยงความผิดพลาดอยู่เสมอ จนทำให้เราไม่สามารถเรียนรู้และไปต่อได้ สุดท้ายก็ไม่สามารถดึงศักยภาพแฝงของตัวเองออกมาได้
ไม่ว่าใครก็เผชิญกับเรื่องนี้ได้ แม้ว่าเราจะคิดว่าตัวเองไม่ได้เป็นเพอร์เฟกชันนิสต์ก็ตาม พอเราทำสิ่งใดผิดพลาด เราก็จะเริ่มกลัวและไม่กล้าลองสิ่งใหม่ๆ คอมฟอร์ตโซนของเราก็จะเล็กลงเรื่อยๆ สุดท้ายเราก็จะไม่สามารถดึงศักยภาพแฝงของตัวเองออกมาได้เช่นกัน
ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้ เราควรตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและมีความท้าทายแทนการตั้งว่าจะทำให้ดีที่สุด เพราะการบอกตัวเองว่าทำให้ดีที่สุดจะทำให้ไม่รู้ว่าเราควรพยายามอย่างไรหรือควรพยายามขนาดไหน ไม่รู้ว่าตัวเองควรก้าวไปยังจุดไหน
1
การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและท้าทายจะทำให้เรารู้ว่าเราควรทำอะไรและควรทำแค่ไหน เช่น สมมติว่าเราอยากเป็นนักดำน้ำเก่งๆ แรกเริ่มอย่าเพิ่งตั้งว่าตัวเองจะต้องได้คะแนนกระโดดน้ำเต็ม 10 เราไม่จำเป็นต้องตั้งเป้าที่สมบูรณ์แบบที่สุด แต่ให้ตั้งเป้าที่สูงและชัดเจนก็พอ เช่น ตั้งว่าจะต้องได้ 6.5 คะแนนในท่าพื้นฐาน หากเป็นท่าที่ซับซ้อนขึ้นมาหน่อยก็ตั้งว่าต้องทำให้ถึง 5 คะแนน หรือหากเป็นท่าใหม่ๆ แค่ทำให้ได้มากกว่า 0 คะแนนก็พอ
การทำเช่นนี้จะทำให้เราลดความคาดหวังลงมา จะตำหนิตัวเองน้อยลงและโฟกัสไปที่ความก้าวหน้าของตัวเองมากขึ้น
อย่าลืมว่าการตำหนิตัวเองไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น มีแต่เราจะอ่อนแอลงกว่าเดิม เราต้องใจดีกับตัวเองบ้าง เพราะมันคือหนทางที่จะช่วยให้เราเรียนรู้จากความผิดหวังตรงหน้า คนเราไม่ได้เติบโตขึ้นจากการเอาแต่โทษตัวเอง แต่เติบโตขึ้นเพราะเราทำผิดพลาดและกล้าที่จะโอบรับความผิดพลาดนั้นไว้ต่างหาก การสะดุดล้มครั้งเดียวไม่ได้หมายความว่าเราจะล้มเหลวไปตลอดทั้งชีวิต
1
หนังสือเล่มนี้พยายามจะบอกเราว่า แม้ว่าเราจะเป็นคนธรรมดา เราก็สามารถคว้าสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ เพราะคนเรามีศักยภาพแฝงซ่อนอยู่ในตัว อยู่ที่ว่าเราจะสามารถดึงมันออกมาได้หรือเปล่า ซึ่งหนังสือเล่มนี้ก็ได้มอบแนวทางที่น่าสนใจหลายอย่าง
หนึ่งในนั้นคือการแนะนำว่าให้ปลูกฝังและพัฒนาทักษะด้านอุปนิสัย โดยอุปนิสัยที่สำคัญๆ เลยคือเราจะต้องอ้าแขนรับความอึดอัดใจจากการเรียนรู้ ต้องทำตัวให้เหมือนฟองน้ำทะเลที่ดูดซับและปรับตัวได้ และต้องโอบรับความไม่สมบูรณ์แบบไว้ ทั้งสามสิ่งนี้จะช่วยเปิดประตูไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “ศักยภาพแฝง”
ต้องบอกว่าหนังสือเล่มนี้เป็นอีกหนึ่งเล่มที่ควรค่าแก่การอ่าน เพราะก็อย่างที่หลังปกกล่าวไว้ว่าอ่านจบแล้วมันจะทำให้เรา “กล้าฝันใหญ่ขึ้น” ภายในหนังสือยังมีความรู้อีกมากมายที่ยังไม่ได้ถูกพูดถึงในบทความนี้ ซึ่งกำลังรอให้ทุกคนได้ออกค้นหาและสำรวจด้วยตัวเอง สุดท้ายนี้ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกคนจะสามารถคว้าความฝันอันยิ่งใหญ่ของตัวเองเอาไว้ได้
3
อ้างอิง
- หนังสือ HIDDEN POTENTIAL : Adam Grant
#สรุปหนังสือ
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
1
โฆษณา