12 มิ.ย. เวลา 04:10 • การศึกษา
ประเทศไทย

ประชุม Global Sustainable Development

เลือกไทยเจ้าภาพครั้งแรก
เพราะมหาลัยไทยเข้าใจความยั่งยืน
ไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานใหญ่ Global Sustainable Development Congress ประจำปี 2567 นักวิชาการ หน่วยงานรัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา กว่า 3,000 คนทั่วโลกเข้าร่วม เร่งขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปพร้อมกัน ด้าน Times Higher Education (THE) องค์กรจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก ชื่นชมมหาวิทยาลัยไทย โดดเด่น มีศักยภาพ เป็นผู้นำขับเคลื่อนชุมชน สังคม
จากความท้าทายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติทางสภาพอากาศ ความขัดแย้ง การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และผลกระทบจากโควิด-19 ที่ยังคงมีอยู่ ตอนนี้ทั่วโลกเดินมาสู่ครึ่งทางของหมุดหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ในแต่ละประเทศตกลงร่วมกันว่าจะบรรลุเป้าหมายภายในปี ค.ศ. 2030
แต่เมื่อดูรายงานของ UN Global Compact กลับพบว่า ความก้าวหน้าของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ระบุว่า มีเพียง 15% เท่านั้นที่เป็นไปตามแผน อีก 48% เป็นไปอย่างล่าช้า และอีก 37% ไม่มีความคืบหน้า บางส่วนยังถดถอยลงจากตัวเลขเมื่อปี ค.ศ. 2015 ซึ่งเป็นปีที่ Agenda 2030 ได้รับรองด้วย ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ทุกส่วนต้องร่วมมือ และเร่งมือกันมากขึ้น
มหาวิทยาลัยไทยติดอันดับโลกด้าน SDGs
สถาบันอุดมศึกษา มีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยไทยที่มีความโดดเด่นด้านงานวิจัย และการทำงานร่วมกับชุมชน สังคม จึงส่งผลให้ติดอันดับการจัดมหาวิทยาลัยโลกด้าน SDGs
ที่ผ่านมา Times Higher Education (THE) องค์กรจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก จากประเทศอังกฤษ ได้เผยแพร่ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) หรือ ‘THE Impact Rankings’ โดยที่การจัดอันดับข้างต้น ใช้การประเมินตัวชี้วัดภายใต้ 4 ขอบเขตหลัก ได้แก่
1. งานวิจัย (Research)
2. นโยบายและแนวทางปฏิบัติภายในมหาวิทยาลัย (Stewardship)
3. การเชื่อมโยงกับสังคมในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และระดับโลก (Outreach)
4. การเรียนการสอน (Teaching)
ภาพรวมปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยจากประเทศไทยส่งข้อมูล และได้รับการจัดอันดับทั้งสิ้น 65 แห่ง เพิ่มขึ้นจาก 51 เเห่ง จากปี พ.ศ. 2565 เเละ 26 เเห่ง ในปี พ.ศ. 2564 โดยพบว่ามีทั้งมหาวิทยาลัยรัฐขนาดใหญ่ มหาวิทยาลัยเอกชน มหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยราชมงคล จากจังหวัดต่าง ๆ นับเป็นความก้าวหน้าสำคัญของภาควิชาการในการมีส่วนร่วมขับเคลื่อน SDGs
ไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุม SDGs
จากนักวิชาการ และสถาบันอุดมศึกษาทั่วโลก
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดงานใหญ่ Global Sustainable Development Congress ประจำปี 2567 ครั้งแรก ซึ่งเป็นการผนึกกำลังระหว่าง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกอย่าง Times Higher Education (THE) ระหว่างวันที่ 10-13 มิถุนายน พ.ศ. 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ซึ่งงานนี้มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 3,000 คนจากทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ มหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐ ธุรกิจ องค์กรพัฒนาเอกชนและภาคประชาสังคม ที่ตบเท้าเข้าร่วมการประชุม เพื่อพัฒนาแนวทางในการแก้ไขวิกฤตด้านความยั่งยืนระดับโลกอย่างเร่งด่วน ผ่านการส่งเสริมความร่วมมือและนวัตกรรม
 
มุ่งเน้นไปที่ 6 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
1. การศึกษา เพศสภาพและความเหลื่อมล้ำ
2. สุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดี และประชากร
3. การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน
4. ระบบอาหาร ที่ดิน น้ำ และมหาสมุทรที่ยั่งยืน
5. เมืองและชุมชนยั่งยืน
6. การปฏิวัติเชิงดิจิทัลสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม จะมีการเผยแพร่ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีการดำเนินงาน เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) หรือ THE Impact Rankings ของปีล่าสุดที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะในประเทศไทย ซึ่งเป็นการจัดอันดับที่โดดเด่นที่ประเมินมหาวิทยาลัย โดยพิจารณาจากการมีส่วนร่วมขององค์กรต่าง ๆ ต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ
อ่านรายละเอียดข่าวเพิ่มเติมได้ที่ลิงก์
#SDGs
#GlobalSustainableDevelopmentCongress
#TimesHigherEducationTHE
#มหาวิทยาลัย
#ยั่งยืน
#ESGuniverse
โฆษณา