13 มิ.ย. 2024 เวลา 00:03 • ศิลปะ & ออกแบบ

MOCA : ภาพ ภควัทคีตา .. บทเพลงแห่งพระผู้เป็นเจ้า : ประทีป คชบัว

"มหาสงคราม"
สงคราม 18 วัน ระหว่างฝ่าย “ปาณฑพ” กับฝ่าย “เการพ” ฝ่ายเการพมีทหาร 11เหล่าทัพ ประจันหน้ากับฝ่ายปาณฑพ 7 เหล่าทัพ
มหากาพย์บรรยายถึงกองทัพของทั้งสองฝ่าย โถมประทะเข้าบดขยี้กันว่า เสมือนหนึ่ง มหาสมุทรสองมหาสมุทรประทะกันแต่เพียงชั่วระยะสั้นๆ
“กรรณะ” พยากรณ์ว่า ฝ่ายตนจะปราชัย สงครามไม่ใช่อะไรทั้งสิ้น แต่ “เป็นการสังเวยคมอาวุธที่ยิ่งใหญ่”
โดยมี “กฤษณะ” เป็นเสมือนหนึ่ง นักบวชชั้นสูง รับการบูชายัญ
ทั้งสองฝ่ายตกลงอดทนรอกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนของสงคราม กล่าวคือ .. ไม่ใช้อาวุธสวรรค์รบกับมนุษย์ ไม่รบเมื่อตะวันตกดิน ไม่โจมตีใครก็ตามที่ถอยหนีไร้อาวุธ หงายหลัง หรือล้มลง
.. แต่ในที่สุดกฎทุกข้อที่ได้ตั้งไว้กลับถูกละเมิด
ไม่นานนักก่อนการประจัญบานเริ่มขึ้น “อรชุน” เกิดความลังเลไม่แน่ใจเมื่อเห็นคนาญาติและครูซึ่งตอนนี้กลายเป็นศัตรู ตามคำสาปแช่ง
“อรชุน” สลดใจเกินกว่าจักข่มใจเข้าสู้รบได้ “การเข่นฆ่าญาติตนเองจะดีไปได้อย่างไร ชัยชำนะจักมีค่าอะไร ถ้าเพื่อนและบุคคลที่รักของเราทั้งหมดถูกฆ่า…เราจักพ่ายแพ้ต่อบาปหากว่าเราสังหารโหดฝ่ายรุกราน ภาระที่สมบูรณ์ของเราแน่นอนว่าต้องอภัยให้พวกเขาแม้กระทั่งว่า ถ้าพวกเขามืดบอดต่อธรรมะอันเนื่องมาจากความละโมบในทำนองเดียวกันเราเองไม่ควรลืมธรรมะเสีย”
“กฤษณะ” สารถีรถม้าศึกของอรชุน จึงยกโอวาทแก่อรชุนขณะหยุดอยู่ในแดนกันชนระหว่างกองทัพทั้งสองฝ่าย เนื้อความตอนนี้คือ “ภควัทคีตา” ที่ทุกคนรู้จักกันดี เป็นเครื่องนำทางสู่การกระทำที่เด็ดเดี่ยวและเฉียบขาด
ตรงจุดนี้ไม่เหมือนวีรบุรุษในมหากาพย์ทั้งหลาย “อรชุน” คิดก่อนลงมือกระทำ .. “อรชุน” ลังเลก่อนลงมือเข่นฆ่า เพราะต้องการถอนตัวออกจากการมีชีวิตอยู่และหน้าที่ความรับผิดชอบ (เป็นความตรึงเครียดระหว่างธรรมะและโมกษะ ความหลุดพ้น) แต่ “กฤษณะ” ตรัสแก่ “อรชุน” ว่า ในฐานะนักรบ การสู้รบคือธรรมะของอรชุน ความขัดแย้งที่แท้จริงทุกวันนี้เกิดจากอัตตาที่มีอยู่ใน “สมรภูมิแห่งจิตวิญญาณ”
.. อย่ากังวลกับความตาย ซึ่งเป็นเพียงก้าวเดียวเล็กๆ สู่วัฏจักรที่ไร้จุดจบและยิ่งใหญ่แห่งชีวิต มนุษย์ทั้งไม่ฆ่าและไม่ถูกฆ่า เพียงแต่จิตวิญญาณละร่างเดิมและเข้าร่างใหม่เท่านั้นเอง เฉกเช่นบุคคลหนึ่งเปลี่ยนเครื่องแต่งกาย ความตายเป็นเพียงภาพมายา
นักรบ .. จักปฏิบัติหน้าที่ของตนเยี่ยงไรโดยไม่กระทำผิด ร่างกายแปดเปื้อนด้วยโลหิตศัตรู ความลับคือต้องแยกให้ออก กล่าวคือ กระทำหน้าที่ของพระองค์โดยไม่ต้องกังวลกับผลลัพธ์ส่วนบุคคล
"ชัยชำนะและความพ่ายแพ้ ความปีติยินดีและความปวดร้าว ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นเฉกเช่นเดียวกัน ลงมือเถิด แต่อย่าสะท้อนให้เห็นถึงผลของการลงมือกระทำนั้น จงละความปรารถณาเสีย จงแสวงหาทางแยกแยะ"
.. เราต้องกระทำสิ่งที่ถูกต้อง โดยไม่ปรารถนาความสำเร็จ หรือกลัวความพ่ายแพ้
.. “จงลงมือกระทำโดยไม่ปรารถนาผลลัพธ์และโดยไม่เอาตัวเองไปพัวพันกับบ่วงกรรม”
กฤษณะตรัสแก่อรชุนว่า .. การกระทำความดีจักไม่ทำให้ใครขึ้นสวรรค์ไปได้ ถ้าหากว่าความปรารถนาสวรรค์นั้นเป็นแรงจูงใจเพียงประการเดียวให้กระทำความดี ความปรารถนาทำให้มีการเกิดใหม่ หากยังมีความปรารถนาใดคงอยู่เมื่อเราตายไปแล้ว เราก็จักกลับไปสู่ชีวิตในอีกชาติภพหนึ่ง
ยิ่งกว่านั้น “ยุธิษฐิระ” ตรัสแก่ “เทราปที” ระหว่างการเนรเทศว่า พระองค์ปฏิบัติธรรมะโดยไม่หวังรางวัล หากแต่เพราะว่าเป็นสิ่งที่คนดีต้องกระทำ .. หลังยุทธนาการ “ยุธิษฐิระ” มีช่วงวิกฤตที่คล้ายคลึงกันนี้ เมื่อท้าวเธอปฏิเสธการปกครองบ้านเมืองเสียชั่วคราว ด้วยความรู้สึกสิ้นหวังถึงการเข่นฆ่าอย่างโหดร้ายที่ทรงเป็นต้นเหตุ
“การกระทำเกิดขึ้นจากการบัญชาโดยตรงของเทพสูงสุดหรือตัวแทน เราเรียกว่า “อกรรมะ” การกระทำเยี่ยงนี้ไม่ก่อให้เกิดการสนองตอบทั้งดีและไม่ดีตามมา เช่นเดียวกับทหารอาจลงมือสังหารเพราะคำสั่งบังคับบัญชาจากเบื้องบนและไม่ต้องรับผิดชอบต่อการอาชญากรรม
.. แต่ถ้าทหารนายนั้นสังหารเพื่อนร่วมรบ เขาจักต้องรับโทษตามกฎหมาย ทำนองเดียวกัน บุคคลที่รู้สึกนึกคิดเช่นเดียวกับกฤษณะ ล้วนกระทำไปตามบัญชาแห่งพระผู้เป็นเจ้า ไม่ใช่เพื่อจุดมุ่งหมายของตนเอง”
“บุคคลเยี่ยงนั้นจักมีความปีติยินดีในปรารถนาราคะก็หามิได้ หากแต่พึงพอใจอยู่ในตัวเอง ความทุกข์ใดก็รบกวนเขาไม่ได้ ไม่แม้กระทั่งความสุขทางวัตถุใดๆ ก็ตาม เขาปราศจากซึ่งการแยกแยะความกลัวและความโกรธ และมักดำรงตนอยู่ห่างไกลจากการครองคู่ทั่วไปในโลกีย์วิสัย … จิตใจของเขาแนบแน่นอยู่กับเทพเจ้าสูงสุด ปกติธรรมดาเขาจึงสงบ”
.. หนทางไปสู่เสรีภาพมีอยู่สองสายนั่นคือการหลุดพ้น (โมกษะ) และกระทำหน้าที่ของตนโดยไม่ปรารถนาสิ่งใด เพราะว่าไม่มีใครสามารถสละการกระทำทุกอย่างในชีวิตเสียได้ .. ดังนั้นการทำงานโดยไม่ยึดติดเป็นอารมณ์จึงดีกว่า
.. **นักปราชญ์บางท่านคิดว่าการประพันธ์ ภควัทคีตา นี้ เป็นไปเพื่อประชันกับความท้าทายทางศาสนาจากเชนและพุทธ ซึ่งอุบัติขึ้นในศตวรรษที่หกก่อนคริสต์ศตวรรษ ศาสนาทั้งสองนี้สอนให้หลุดพ้นบาปด้วยการสละโลกีย์ โดยการบำเพ็ญตนอย่างเคร่งครัดในศาสนาเชนและการอุทิศชีวิตเป็นพระในศาสนาพุทธ
“กฤษณะ” ยกอรรถกถาว่า ความรู้ที่ท้าวเธอยกมาสอนนั้นมีมาแต่โบราณกาล เคยตรัสไว้หลายล้านปีล่วงมาแล้ว “อรชุน” ตรัสถามว่า “หม่อมฉันจักยอมรับได้อย่างไร เท่าที่เห็นพระองค์ประสูติมาในโลกนี้เมื่อไม่นานมานี้เท่านั้น”
“กฤษณะ” อธิบายว่า การกำเนิดก็เป็นภาพมายาเช่นกัน เนื่องจากมนุษย์เกิดนับครั้งไม่ถ้วน แต่ในกรณีของกฤษณะ ท้าวเธอเสด็จมาทุกยุค
.. “โอ อรชุนเอ๋ยเมื่อใดก็ตามความชอบธรรม (ธรรมะ) หย่อนยาน และความอยุติธรรม (อธรรมะ) บังเกิดขึ้นแล้ว เราจักส่งตัวเองมาเพื่อพิทักษ์คนดีและนำคนทำชั่วไปทำลายเสีย เพื่อสถาปนาธรรมะให้มั่นคง เราจุติลงมาเกิดยุคแล้วยุคเล่า … เกิดมาเพื่อทำลายผู้ทำลายล้าง”
“กฤษณะ” เปิดเผยธรรมชาติอันเป็นสากลเกี่ยวกับสวรรค์ของท้าวเธอให้ “อรชุน” เห็นเป็นนิมิต ภาพอันงดงามแห่งทวยเทพมากมายมหาศาล แผ่ขยายออกไปเอนกอนันต์
บัดนี้เมื่อตัดสินใจกระทำหน้าที่ของตนได้แล้ว “อรชุน” จึงนำกองทหารเข้าสู่ยุทธนาการ บนเนินเขามองลงมายังสมรภูมิ
“ธฤษตราษฎร์” สดับคำรัสแห่ง “กฤษณะ” ผ่านการช่วยเหลือของ “สัญชัย” ซึ่งได้รับพรประทานความสามารถในการเห็นทุกสรรพสิ่ง และได้ยินทุกสรรพสำเนียงที่บังเกิดขึ้นในสมรภูมิ ถ่ายทอดต่อให้กษัตริย์บอดได้รับทราบ
“ธฤษตราษฎร์” วรกายสั่นระริกด้วยความหวาดหวั่น เมื่อได้สดับถึงการปรากฏองค์ในร่างมนุษย์ของ “กฤษณะ” ตื่นตระหนกว่า คงไม่มีอะไรหยุดยั้งฝ่าย “ปาณฑพ” ได้ ด้วยมีบุคคลผู้มีฤทธิ์เยี่ยง “กฤษณะ” ร่วมอยู่ด้วย ... แต่ “ธฤษตราษฎร์” ยังค่อยคลายใจลงอยู่เมื่อทราบว่า “กฤษณะ” เองก็ไม่สามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างให้สำเร็จได้ดังมโนปรารถนา เช่น ไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งได้ด้วยสันติวิธี
ก่อนยุทธนาการ “ยุธิษฐิระ” เสด็จเยี่ยมครูทั้งสองของพระองค์ “ภีษมะ” และ “โทรณะ”
“โอ บุรุษผู้ไม่มีใครพิชิตได้หม่อมฉันขอคารวะ เราจักสู้รบกัน กรุณาประทานราชานุญาตและอวยชัยให้พวกหม่อมฉันด้วยเถิดพระเจ้าข้า” จากอาการแห่งความเคารพเยี่ยงนี้ บุรุษทั้งสองอธิษฐานให้ฝ่ายปาณฑพได้ชัยชำนะ ถึงแม้ว่าต้องสู้รบอยู่ในฝ่ายเการพด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
ธรรมะของนักรบคือต้องสู้รบอย่างมีเกียรติ ไม่ใช่ทำทุกวิถีทางให้ได้มาซึ่งชัยชำนะ จึงกล่าวว่า “วิถีแห่งนักรบคือยึดมั่นอยู่กับชัยชำนะ ไม่ว่าบนวิถีนั้นมีธรรมะหรืออธรรมะอยู่ก็ตาม”
โฆษณา