13 มิ.ย. เวลา 02:02 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจ UK?

อีกไม่นานสหราชอาณาจักรก็จะมีการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ในเดือนหน้าแล้ว เรามาดูกันว่าเศรษฐกิจของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 6 ในช่วงที่ผ่านมานั้นเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเหล่านี้อาจกลายเป็นปัจจัยตัดสินผลการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่กำลังจะถึงนี้
-เงินเฟ้อขึ้นง่าย แต่รายได้ปรับขึ้นยาก
เงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงแตะระดับสูงสุดเมื่อ 18 เดือนก่อน ได้ทำให้อำนาจซื้อของประชาชนลดลง และถึงแม้ว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของราคาเมื่อดูโดยรวมตลอดปีนั้นเริ่มชะลอตัวลงบ้างแล้ว และค่าจ้างตอนนี้ก็เริ่มเติบโตเร็วกว่าเงินเฟ้อเป็นเวลา 9 เดือนติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม ค่าจ้างที่แท้จริงก็ไม่ค่อยจะปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2010
นั่นหมายถึงว่าประชาชนไม่ได้รู้สึกได้ประโยชน์ หรือร่ำรวยขึ้นเลย
การที่รายได้เพิ่มขึ้นไม่ค่อยดี ทำให้ชีวิตของคนอังกฤษในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาก็เลยไม่ค่อยจะดีนัก ซึ่งทุกคนได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้าไม่ว่าจะรวยหรือจน แก่หรือเด็ก
ในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา รายได้ที่แท้จริงซึ่งไม่รวมโบนัส ขึ้นมาเพียง 3.2% หรือ 19 ดอลลาร์สหรัฐฯ นักวิชาการประมาณการว่าค่าเฉลี่ยของค่าจ้างที่แท้จริงต่อสัปดาห์เมื่อปีที่แล้ว น่าจะอยู่ที่ 205 ปอนด์สเตอร์ลิง (ราวๆ 262 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งต่ำกว่าระดับรายได้ที่ควรจะเป็น ถ้าค่าจ้างที่แท้จริงเติบโตในอัตราเดียวกับก่อนเกิดวิกฤติการเงินในปี 2008
เมื่อผลิตภาพเติบโตแบบอ่อนแอ ก็ทำให้เกิดการชะงักของค่าจ้างที่แท้จริงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แม้กระทั่งช่วงก่อนที่อัตราเงินเฟ้อจะพุ่งสูงที่สุดในรอบ 4 ทศวรรษด้วยซ้ำ
-มาตรฐานการครองชีพก็แย่
การเติบโตของผลิตภาพที่อ่อนแอ ซึ่งส่วนมากจะวัดจาก GDP ต่อจำนวนชั่วโมงการทำงาน ได้ขัดขวางการเติบโตของเศรษฐกิจหลายๆ ประเทศนับตั้งแต่ช่วงวิกฤติการเงินโลก
แต่ปรากฏว่า สหราชอาณาจักรนั้นค่อนข้างจะแย่กว่าประเทศข้างเคียงอยู่สักหน่อย สะท้อนให้เห็นผ่านการที่รายได้ถูกกระทบเข้าเต็มๆ และยังส่งผลกระทบไปยังมาตรฐานการครองชีพด้วย
ในระหว่างปี 2010 ถึง 2022 การเติบโตของ GDP ต่อหัวของสหราชอาณาจักร น้อยกว่าสหรัฐฯ และเยอรมนี แต่ก็ยังดีกว่าประเทศในกลุ่ม G7 อื่นๆ
1
จากข้อมูลของ IFS ในช่วง 12 ปีก่อนปี 2007 พบว่าค่าเฉลี่ยของรายได้คนอังกฤษวัยทำงานเพิ่มขึ้นกว่า 40% มากกว่าในสหรัฐฯ ถึง 3 เท่า และมากกว่าในเยอรมนีถึง 7 เท่า
แต่ในทางกลับกัน พอช่วง 2007 ถึง 2019 รายได้โดยเฉลี่ยในสหราชอาณาจักร กลับเพิ่มขึ้นเพียง 6% เท่านั้น น้อยกว่าในสหรัฐฯ ถึงครึ่งหนึ่ง และน้อยกว่าในเยอรมนีถึง 7 เท่า
-เงินปอนด์สเตอร์ลิงอ่อนค่า 14%
นอกจากนี้ สกุลเงินของ สหราชอาณาจักร ยังอ่อนค่าลงในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา โดยอ่อนค่าลงไปถึง 14% เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ นับตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2010 ซึ่งเป็นช่วงที่พรรคอนุรักษ์นิยมได้เข้ามาดำรงตำแหน่ง
1
การที่สหราชอาณาจักรตัดสินใจเลือกที่จะออกจากสหภาพยุโรปนั้น ก็เป็นสิ่งที่คอยตามหลอกหลอนทั้งเงินปอนด์ และการลงทุนภายในประเทศมาโดยตลอดเกือบทศวรรษ เมื่อเงินปอนด์อ่อนค่าลงก็ทำให้อัตราเงินเฟ้อรุนแรงขึ้น ซึ่งส่งผลให้เงินเฟ้อในสหราชอาณาจักร พุ่งขึ้นสูงสุด แซงสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ในยูโรโซน เนื่องจากต้นทุนสินค้านำเข้าสูงขึ้น
2
อาจกล่าวได้ว่า Brexit นำมาสู่ความไม่แน่นอนที่ใหญ่และยาวนานที่สหราชอาณาจักรต้องเผชิญจากผลการตัดสินใจครั้งนี้ ซึ่งจากการวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่าทำให้การลงทุนลดลง กระทบต่อผลผลิตและผลิตภาพการผลิต
2
-คนอังกฤษเป็นเจ้าของบ้านได้น้อยลง
ในขณะที่ค่าจ้างที่แท้จริงโตได้ยาก แต่ราคาบ้านกลับพุ่งขึ้นสูงเอาๆ ทำให้ความฝันของชาวอังกฤษหลายคนที่อยากมีบ้านเป็นของตัวเองนั้นเริ่มจะไกลเกินเอื้อม
แม้ว่าจากช่วงที่ราคาเฉลี่ยของบ้านพุ่งสูงที่สุดในเดือนกันยายน 2022 อยู่ที่ 291,716 ปอนด์สเตอร์ลิง (ราวๆ 373,236 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ก็เริ่มลดลงมาบ้างแล้วในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา อยู่ที่ 284,691 ปอนด์สเตอร์ลิง (ราวๆ 364,242 ดอลลาร์สหรัฐฯ) แต่ราคาก็ยังคงสูงเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับระดับรายได้
โดยเฉลี่ยแล้ว บ้านมีราคาเกือบ 7 เท่าของรายได้ต่อปีหลังหักภาษีของคนอังกฤษ ถ้าพูดง่ายๆ คือหากคนอังกฤษอยากซื้อบ้านสักหลัง ก็ต้องทำงานเก็บเงินอย่างน้อย 7 ปี โดยที่ไม่ต้องกินต้องใช้จ่ายอะไรเลย
โอกาสที่จะเป็นเจ้าของบ้านสักหลังเลยเหมือนจะไกลเกินเอื้อม
ในปี 2021 62% ของครัวเรือนในอังกฤษมีบ้านเป็นของตัวเอง ซึ่งลดลงจากในช่วงปี 2008 - 2009 ซึ่งสัดส่วนคนที่มีบ้านอยู่ที่ 68%
กลายเป็นว่าคนอังกฤษนับล้านติดอยู่กับการเช่าบ้าน ซึ่งค่าเช่าปรับตัวสูงขึ้นไปอีก ทำให้โดยเฉลี่ยแล้วครัวเรือนส่วนใหญ่ใช้จ่ายเงินไปกับค่าเช่าถึง 29% ของรายได้หลังหักภาษี จากที่ในปี 2010 อยู่ที่ 24%
ทั้งหมดนี้คือสถานการณ์เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรแบบคร่าวๆ ที่อาจเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ประชาชนใช้ตัดสินใจในการเลือกตั้งที่จะถึงในเดือนกรกฎาคมนี้ ต้องมารอดูกันต่อไปว่า หลังการเลือกตั้ง สหราชอาณาจักรจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน และปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตอนนี้จะได้รับการแก้ไขอย่างไร…
ผู้เขียน: ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : บริษัท ก่อการดี จำกัด
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
Reference
โฆษณา