13 มิ.ย. เวลา 07:27 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

Twenty-Four D เรื่องสามัญประจำบ้านของญี่ปุ่น

เมื่อ 70 ปีที่แล้ว 24 ดวงตาออกฉายปีเดียวกับ 7 เซียนซามูไร และก็อดซิลล่า ถือเป็นช่วงยุคทองของหนังญี่ปุ่นที่ออกไปสร้างกระแสทั้งกวาดรางวัลระดับโลกมากมาย ไม่ต้องพูดถึง 7 เซียนซามูไร เพราะทุกคนรู้จักกันดีอยู่ถึงความยิ่งใหญ่ แต่สำหรับ 24ดวงตาแล้ว ต้องบอกว่าเป็นอีกหนังล้ำค่าของญี่ปุ่น
ผู้กำกับคือเคสุเกะ คิโนชิตะ ได้รับการยอมรับในระดับโลกว่าเป็นผู้กำกับในระดับมาสเตอร์คลาสอีกคนของญี่ปุ่น ตัวหนัง 24 ดวงตา ได้รับรางวัลลูกโลกทองคำหนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม รวมไปถึงถูกจัดอันดับให้เป็นหนังญี่ปุ่นดีที่สุดตลอดกาลในลำดับที่ 6 โดยผู้อ่านนิตยสาร Kinema Junpo ส่วนในด้านการทำเงินนั้น 24 ดวงตาก็ทำเงินเอาชนะก็อดซิลล่าไปได้อีก
ตอนที่ 24 ดวงตาออกฉายเมื่อปี 1954 นั้น สามารถเรียกน้ำตาคนญี่ปุ่นท่วมจอ เพราะน่าจะกินใจประชาชนที่เพิ่งผ่านสงครามมาไม่ถึง 10 ปี แต่สำหรับผู้ชมต่างประเทศนั้นมีบางสื่อถึงกับยกย่องว่า ถ้าใครไม่ได้น้ำตาซึมเพราะหนังเรื่องนี้เป็นเพราะเขามีก้อนหินในหัวใจ จากนั้นก็มีการถ่ายทำ 24 ดวงตาเป็นเวอร์ชั่นต่างๆ ทั้งหนังและละครไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง เรียกได้ว่า 24 ดวงตากลายเป็นวัฒนธรรมร่วมสมัยของญี่ปุ่นเป็นเรื่องสามัญประจำบ้านที่คนทั้งญี่ปุ่นจะต้องรู้จัก
24 ดวงตาเป็นนิยายที่เขียนขึ้นโดยนักเขียนสตรี ซากาเอะ สึโบอิ ซึ่งตีพิมพ์หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ไป 7 ปี บรรยายถึงความยากลำบากและโศกนาฏกรรมของสงครามที่กระทำต่อผู้คน โดยผ่านมุมมองของครูที่ต้องไปสอนอยู่ในโรงเรียนชุมชนบ้านแหลมของเกาะห่างไกล
เดิมทีซากาเอะ มีความตั้งใจจะเขียนเรื่องเล่าจากมุมมองของเด็กๆ 12 คน เกี่ยวกับประสบการณ์การเลี้ยงดูที่พวกเขาได้รับจากพ่อแม่ ไอเดียนี้มีมาก่อนที่สงครามจะสิ้นสุดลง จึงเป็นไปไม่ได้เลยเนื่องจากสถานการณ์ทางสังคมในภาวะสงคราม
แต่พอหลังจากความคิดเริ่มสุกงอม ผ่านความเลวร้ายของรัฐชาตินิยม สงคราม เศรษฐกิจตกต่ำทั้งระหว่างและหลังสงคราม ทำให้เธอเปลี่ยนใจจากเรื่องเล่ามุมมองของเด็กมาเป็นบทบันทุกประวัติศาสตร์ผ่านสาตตาของครูเป็นศูนย์กลาง แต่ยังคงเก็บเรื่องราวของเด็กวัยเดียวกันจำนวน 12 คนที่เกิดและเติบโตในหมู่บ้านเล็กๆ เอาไว้ โดยที่ตัวเรื่องกินความยาวนาน 18 ปี ตั้งแต่ปี 1928 ถึงปี 1946
เธอตีพิมพ์นิยายเรื่องนี้ในนิตยสารเป็นตอนๆ จนจบเรื่องในปี 1952 และพิมพ์รวมเล่มในปีเดียวกัน ส่วนตัวหนังของเคสุเกะ คิโนชิตะออกสร้างหลังจากหนังสือตีพิมพ์ 2 ปี
ปี 1928 ฮิซาโกะ โออิชิ ครูใหม่ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาได้บรรจุเป็นครูในเกาะบ้านเกิด แต่ที่เกาะแห่งนี้มีชุมชนบ้านแหลมที่เดินทางลำบาก จึงต้องแบ่งโรงเรียนออกเป็น 2 ส่วนคือโรงเรียนหลักและโรงเรียนย่อย เด็กๆบ้านแหลมจะเรียนที่โรงเรียนย่อยจนถึงป.4 จากนั้นจึงไปเรียน ป.5-6 ที่โรงเรียนหลัก คุณครูโออิชิผูกพันกับเด็กเรียน ป.1 อย่างรวดเร็ว เด็กๆก็รักเธอมาก
ดวงตาที่ปลอดโปร่ง ไร้เดียงสาของเด็กๆ เป็นดวงตาที่ส่งกำลังใจให้คุณครูสาวมีความสุข และเธอคิดเสมอว่าต้องการให้เด็กๆ เติบโตขึ้นมาอย่างปลอดภัย สำหรับเธอแล้วดวงตา 12 คู่ เท่ากับ 24 ดวงตาที่เป็นทั้งความหวัง ความปรารถนาดี แต่จะเป็นเช่นไรเมื่อเด็กเหล่านี้เติบโตมาในเกาะที่ห่างไกล ยากจน ลำบาก อีกทั้งยังมีสงครามใหญ่รออยู่ตรงหน้า
24 ดวงตาได้กินความถึง 18 ปีระหว่างปี 1928 ถึง 1946 จากความสดใจร่าเริงของหนังค่อยทวีความเข้มข้นขึ้นตามสถานการณ์ของโลกภายนอก และจบลงด้วยงานเลี้ยงที่เปรียบเสมือนงานคืนสู่เหย้า เด็กๆ ของคุณครูเติบโตขึ้นเพียงใดก็ยังคงเป็นเด็กๆ ชั้นป.1 อยู่เช่นเดิม
นอกจากเนื้อเรื่องที่กินใจแล้ว  สิ่งที่ทำให้เรื่องราวมีพลังอันยิ่งใหญ่ คือ ทิวทัศน์อันงดงามตระการตาของเกาะโชโดชิมะ งานด้านภาพที่เป็นขาวดำกลับทำให้รู้สึกดูพิศวง น่าค้นหา และงดงามยิ่ง ส่วนนักแสดงฮิเดโกะ ทาคามิเนะ ที่รับบทเป็น ฮิซาโกะ โออิชิ นั้นยอดเยี่ยมจริงๆ ทรงพลังมากๆ
ในหนังจะมีเพลงเด็กๆ ที่คนญี่ปุ่นทุกคนรู้จักเล่นซ้ำๆ กันสามถึงสี่เพลง แต่มีอยู่เพลงหนึ่งที่เล่นซึ่งถึง 6 ครั้ง ได้แก่ เพลง Nanatsu no Ko ซึ่งเขียนเนื้อเพลงโดยยูจิ โนกูชิ ผู้เป็นกวี นักเขียน เขาเขียนเนื้อเพลงนี้ตีพิมพ์ในปี 1921 แล้วกลายเป็นที่นิยมทันที โดยเนื้อเพลงจะเกี่ยวกับอีกากับลูกน้อย 7 ตัว ซึ่งแทนความรู้สึกของพ่อแม่ที่มีต่อลูกๆ และการที่พวกเขาพบว่าพวกเขาน่ารักอย่างไม่มีเงื่อนไข แต่มันก็น่าเศร้าเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีท่วงทำนองอีกเพลงหนึ่งที่ดังคลอตามจนรู้สึกได้คือเพลงโอลด์ แลง ซายน์ (Auld Lang Syne) เพลงนี้เรามักจะใช้ในการเริ่มต้นปีใหม่ ส่วนชื่อของเพลง "Auld Lang Syne" นั้นหมายถึงเมื่อเนิ่นนานมา หรือวันที่ผ่านไป เมื่อรวมกับเนื้อเพลงที่ว่าด้วยเรื่องของการให้อภัย และการลืมเรื่องบาดหมางที่ผ่านมา มันทำให้เกิดความหมายว่าเรื่องสะเทือนใจได้ผ่านพ้รไปแล้ว แล้วเราจะเริ่มต้นใหม่ได้อย่างไร เหมือนเป็นคำถามที่ผู้กำกับเคสุเกะ คิโนชิตะ พยายามดึงออกมาจากส่วนลึกของหนัง
นี่เป็นหนังในดวงใจอีกเรื่องของผม เคยดูมานานมาก ประทับใจมากๆ จนต้องซื้อหนังสือมาอ่าน คราวนี้มาให้ดูอีกที มีซับไทยดูสบาย แล้วจะพลาดได้อย่างไร
ดูได้ในเทศกาลหนังญี่ปุ่นออนไลน์ ถึง 19 มิ.ย. นี้
10/10
โฆษณา